ให้หัวใจได้นำทาง บทที่ 4 : ถนนสยาม…แรกเจอก็ตกหลุมรัก

ให้หัวใจได้นำทาง บทที่ 4 : ถนนสยาม…แรกเจอก็ตกหลุมรัก

โดย : ปรียนันทนา

Loading

ให้หัวใจนำทาง นวนิยายรักโรแมนติกโดย ปรียนันทนา เรื่องราวของปารัณ ชายหนุ่มที่ไปทำงานยังเมืองแบรสต์ ประเทศฝรั่งเศส และได้พบกับถนนสยาม ซึ่งราชฑูตโกษาปานเคยไปถวายพระราชสาส์น และเรื่องเหลือเชื่อก็เกิดขึ้น เมื่อเขานิมิตว่าเคยเป็นหนึ่งในคณะราชฑูต และได้พบรักกับสาวฝรั่งเศส นิยายออนไลน์ ที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้ อ่านออนไลน์  ได้ลงจนจบบริบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางผู้เขียนใจดีมอบ 5 บทแรกไว้ให้อ่านกันที่อ่านเอาและหากติดใจอยากอ่านต่อ คุณผู้อ่านสามารถสั่งซื้อได้ที่เพจ มีน พงษ์ไพบูลย์

……………………………………………………..

-4-

 

ห้องพักขนาดสองห้องนอนพร้อมทั้งห้องนั่งเล่นและส่วนครัวดูกว้างขวางสะอาดตา ประเมินด้วยสายตาของชายหนุ่มแล้วค่าเช่าคงหนักหนาพอสมควรหากผู้เช่าเป็นเพียงนักเรียนทุนทั่วไป แต่สำหรับณฐแล้วปารัณคิดว่าที่นี่ออกจะธรรมดาเกินไปด้วยซ้ำเพราะรุ่นน้องของเขาคนนี้มีฐานะที่บ้านไม่ธรรมดาเลย ธุรกิจปล่อยเช่าที่ดินริมน้ำเจ้าพระยาของครอบครัวรวมถึงอสังหาริมทรัพย์สามารถทำให้ณฐไม่จำเป็นต้องรับราชการประจำกินเงินเดือนเช่นทุกวันนี้ หากแต่เพื่อนรุ่นน้องของเขากลับยินดีและเต็มใจที่จะสอบเข้ารับราชการทันทีที่เรียนจบในหน่วยงานทางด้านวิทยาศาสตร์เพราะเขาสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล ณฐเคยบอกเขาว่ามีต้นตระกูลสืบขึ้นไปได้ถึงสมัยรัชกาลที่ 4 แต่ปารัณจำรายละเอียดไม่ได้มากนัก เขารู้แต่ว่าบรรพบุรุษของณฐเคยทำงานด้านวิทยาศาสตร์สมัยแผ่นดินรัชกาลที่ 4 และมีความเกี่ยวข้องกับพระที่นั่งภูวดลทัศไนยด้วย

“โห นี่เหรอห้องเล็กๆ ของนาย” ปารัณออกปากแซวรุ่นน้องเมื่อนั่งลงบนโซฟาเบาะผ้าหนานุ่มหน้าโทรทัศน์

“ความจริงพี่นอนนี่ก็ได้นะ ไม่ต้องจัดห้องหรอก” เขาทำท่าจะล้มตัวนอนจริงจังตามที่พูด

“ได้ไงกัน ผมอุตส่าห์กลับมาเตรียมห้องทั้งวันเลยนะ” ณฐส่งขวดน้ำแร่ให้ปารัณแล้วนั่งลงตรงเก้าอี้อาร์มแชร์ข้างกัน

“เออ พูดเล่น แกก็บ้าจี้เชื่อนะไอ้ณฐ”

“ว่าแต่พี่จะไปมั้ยเนี่ยงานดนตรีน่ะ”

“ก็น่าไปนะ แต่เริ่มขี้เกียจ”

“อ้าว ไหงงั้น นี่ผมนัดเพื่อนไว้ด้วยนะ”

“แกก็ไม่บอก งั้นเดี๋ยวพี่ขออาบน้ำแป๊บนึง” ปารัณลุกขึ้นหยิบเป้แล้วเดินตรงไปในห้องนอนที่ณฐจัดไว้ให้ ก่อนจะได้ยินเสียงพูดของรุ่นน้องไล่หลังมาโดยที่เขาไม่ทันได้ใส่ใจนัก

“รีบๆ หน่อยนะพี่ เดี๋ยวยัยมนเพื่อนผมกลับซะก่อน”

ณฐหันไปหยิบรีโมตโทรทัศน์ขึ้นมาเปิดอย่างสบายอารมณ์ระหว่างรอรุ่นพี่ของเขา พรุ่งนี้เขาต้องไปเรียนตอนเช้า ส่วนมนสิชาก็คงต้องไปมหาวิทยาลัยเช่นกัน แม้ว่าทางไปโรงเรียนภาษาของณฐจะต้องเดินผ่านบ้านหญิงสาวแต่เขารู้ดีว่าเธอคงไม่อยากให้คนไม่สนิทคุ้นเคยเข้าไปในบ้านเป็นแน่ คิดแล้วณฐลุกขึ้นเดินไปตรงเคาน์เตอร์เล็กภายในห้องระหว่างส่วนครัวด้านนอกกับห้องนั่งเล่นเพื่อหยิบขนมมัดเดอแลนซึ่งเขามีติดไว้สำหรับรับประทานคู่กับชาร้อนตอนบ่าย หากแต่วันนี้เลยเวลาดื่มชามานานแล้วและเขาก็คิดว่าคงจะพาพี่รัณไปหาอะไรรับประทานนอกบ้าน โชคดีที่พี่รัณมาถึงแบรสต์วันนี้ทำให้ได้เห็นบรรยากาศคึกคักของเมืองเพราะเทศกาลดนตรีมีแค่ปีละหนึ่งวันเท่านั้น ณฐหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเพื่อจะโทร.บอกมนสิชาให้รอเขาก่อน เมื่อได้ยินเสียงสัญญาณเขารออย่างตั้งใจหากผ่านไปอึดใจกลับไม่มีเสียงตอบรับสายเลย คงเป็นเพราะเสียงดังทั่วบริเวณทำให้กลบเสียงเรียกเข้าโทรศัพท์เป็นแน่ ณฐตัดสินใจส่งข้อความทิ้งไว้ที่โทรศัพท์ของเพื่อนแล้วคิดว่าจะเสี่ยงไปเจอเธอในจุดที่คิดว่ากลุ่มเพื่อนของมนสิชาจะอยู่ที่นั่น

เขาเดินไปหยิบเสื้อแจ็กเกตในห้องนอนก่อนจะออกมานั่งรอปารัณที่เดิม ครู่หนึ่งเพื่อนรุ่นพี่ก็เดินออกมาจากห้องนอนด้วยใบหน้าสดชื่นกว่าเมื่อชั่วโมงที่แล้วอย่างเตรียมพร้อม

“ปะ พร้อมละ” ปารัณไม่ลืมอุปกรณ์คู่กายซึ่งก็คือกล้องถ่ายรูปเพราะเขาสะพายติดตัวไว้เสมอ

“ไปพี่ เดี๋ยวจะพาไปเดินชมเมืองเล็กๆ แต่มีเสน่ห์”

“แล้วนี่งานเค้าเลิกกี่โมง เราออกกันเกือบสองทุ่มแล้วนะ”

“ดึกๆ เลยฮะ น่าจะเที่ยงคืนตีหนึ่งละมั้ง”

“พี่ก็คิดอย่างนั้นละ ถามเผื่อไว้เฉยๆ”

สองหนุ่มที่มีความชอบเหมือนกันแต่อยู่คนละสายงานเดินเรื่อยลงมาจากหอพักของณฐ จุดขึ้นรถประจำทางอยู่ไม่ไกลหากก็ต้องเดินสักนิด ทั้งคู่เดินผ่านร้านอาหารแถวท่าเรือซึ่งตอนนี้กำลังคึกคัก ปารัณยกกล้องขึ้นมาบันทึกแสงสียามค่ำคืนอย่างถูกใจ

“สวยแฮะ ข้อดีของเมืองติดทะเลคือมีท่าเรือ”

“ใช่ พี่อยากนั่งเรือมั้ยล่ะ”

“ทำไม แกอย่าบอกนะว่าซื้อเรือไว้ขับเล่นวันหยุดน่ะ”

“จะบ้าเหรอ ใครจะทำอย่างนั้น ผมมาอยู่แค่แป๊บเดียวอีกไม่กี่เดือนก็กลับละ จะซื้อให้เปลืองเงินทำไม ยืมคนแถวนี้เอาไม่ดีกว่าเหรอ”

“คนแถวนี้ หมายถึงใครอะ”

“เอาน่า เดี๋ยวพี่ก็ได้รู้จักเองละ”

“มาอยู่ไม่กี่เดือนท่าทางจะรู้จักคนเยอะนะ” ปารัณแซวรุ่นน้องด้วยเข้าใจว่าคนที่ณฐเอ่ยถึงคงจะเป็นสาวคนใดคนหนึ่งที่ณฐสนใจอยู่แน่

“อ๋อ เพื่อนใหม่น่ะพี่ เป็นคนที่นี่ละ อยากให้พี่รู้จักด้วย”

“คนที่นี่แล้วพี่จะคุยรู้เรื่องได้ไงวะณฐ พี่พูดฝรั่งเศสไม่ได้ ส่วนภาษาอังกฤษก็ไม่ได้คล่องอะไรมากมาย กลัวจะคุยกันจนเมื่อยมือซะก่อนจะเข้าใจ”

“ไม่หรอก เพื่อนผมพูดไทยได้”

“อ้าวเหรอ ก็ดีสิ”

ปารัณพูดขณะเดินขึ้นรถโดยสารประจำทางเพื่อไปถนนสยาม เขาไม่ได้ติดใจสงสัยว่าเหตุใดเพื่อนของณฐจึงพูดภาษาไทยเพราะเข้าใจว่าคงเป็นฝรั่งที่พูดภาษาไทยได้ เขาเคยเห็นชาวต่างชาติที่สนใจเมืองไทยจนถึงกับไปเรียนภาษาเพื่อจะได้พูดคุยกับคนไทยให้เข้าใจวัฒนธรรมมากขึ้นด้วย และที่สำคัญบางคนก็ติดใจหลงใหลกระทั่งย้ายไปอยู่เพื่อตั้งรกรากในเมืองไทยก็มีมากมายให้เห็นมาแล้ว เพราะฉะนั้นการที่เพื่อนฝรั่งคนหนึ่งของณฐพูดภาษาไทยจึงไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ในความคิดของปารัณ เขากวาดสายตามองภายในรถก็พบว่ายังมีบรรดาวัยรุ่นที่ออกจากบ้านทยอยขึ้นมาเป็นระยะซึ่งคงมีจุดหมายปลายทางเช่นเดียวกับเขาและณฐ

เวลาผ่านไปไม่กี่นาทีเขาและรุ่นน้องก็ได้กลับมาที่เดิมที่ผ่านมาเมื่อเย็น  ปารัณคิดว่าเวลานี้เหมาะสมแก่การเดินเล่นชมเทศกาลและฟังดนตรีมากกว่าเมื่อเย็นเพราะบรรยากาศดูสนุกสนานเข้าที่ อาจเพราะแสงสีที่ลงตัวจากทั้งเวทีและไฟถนน รวมทั้งลานจัตุรัสหน้าศาลากลางที่มีน้ำพุอยู่ด้านบน ส่วนทางเดินที่ลาดต่ำลงนั้นก็เป็นจุดรวมของกิจกรรมมากมายรวมทั้งมีรถอาหารอยู่ตามมุมต่างๆ ใบหน้าของชาวเมืองเปื้อนยิ้มอย่างมีความสุขพาให้ใจเขารู้สึกสนุกตามไปด้วย

“โอ้โห คึกคักมากเลยณฐ ถ้าไม่ได้มาคงเสียดายแย่” เขาหันไปบอกณฐอย่างขอบคุณ

“นั่นสิพี่ ผมก็เพิ่งเคยมาครั้งแรกเหมือนกัน ตอนแรกก็คิดว่าจะไม่แต่ทุกคนที่เจอรอบตัวถามกันมาทั้งอาทิตย์ผมเลยต้องพลอยรู้เรื่องไปกับพวกเค้าด้วย” ณฐเริ่มตะโกนแข่งกับเสียงดนตรีที่ดูเหมือนยิ่งดึกก็ยิ่งดังไปด้วย

“ดีแล้วๆ ขอบใจมากที่พามา ว่าแต่เราจะกินอะไรดี” ปารัณถามเพราะท้องเริ่มร้อง

“เออ เกือบลืม ผมจะพาพี่มากินนี่เลย พี่ต้องชอบ”

ณฐรีบพาปารัณเดินตรงไปที่รถขายอาหาร ก่อนจะหันมาทำหน้าภูมิใจในสิ่งที่นำเสนอแก่เพื่อนรุ่นพี่

“มาที่นี่พี่ต้องกินนี่เลย แครปฮะ”

“กูว่าละ”

“อะไรนะพี่ ว่าไงนะไม่ได้ยิน” ณฐตะโกนเสียงดังแข่งกับเสียงดนตรี

“ฮ่า ฮ่า ฮ่า ไม่มีอะไรหรอก กินเถอะๆ” สีหน้าภูมิใจนำเสนอของรุ่นน้องทำให้ปารัณไม่อยากขัดความรู้สึกจริงใจที่ณฐมีให้ เพราะหากเขาบอกความจริงว่าเมื่อกลางวันเขาเพิ่งรับประทานแครปเบรอตาญที่ปารีสมาณฐอาจรู้สึกผิดหวังนิดหน่อยแต่ความสนุกอาจลดลงมากก็เป็นได้

“พี่เอาอะไรดี นี่รู้มั้ยว่าแคว้นเบรอตาญมีแครปเป็นอาหารประจำถิ่นเลยนะ มาแล้วต้องกินให้ได้ วันนี้กินที่นี่ก่อนเดี๋ยววันอื่นผมพาพี่ไปกินที่ร้านอร่อย”

“เหรอ มีอะไรบ้าง เหมือนที่กรุงเทพมั้ยล่ะ หมูหย็องน้ำพริกเผาน่ะมีมั้ย”

“ไม่มีหรอกพี่ ถ้าเป็นไส้คาวมีแต่ไข่ แฮม เห็ด ชีส อะไรพวกนั้น ส่วนหวานผมจะแนะนำอันนี้เลย คาราเมลเนยเค็ม นี่เป็นเมนูยอดนิยมของแคว้นเหมือนกันเพราะคาราเมลเนยเค็มที่นี่อร่อยมากจริงๆ พี่”

“นี่นายจะมาทำวิจัยเรื่องอะไรกันแน่ณฐ เรื่องแครปหรือเรื่องวิทยาศาสตร์เนี่ย”

“เรื่องวิทยาศาสตร์ทางทะเลสิพี่ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้ทำต้องเรียนภาษาก่อนและการเรียนให้เข้าใจเราก็ต้องรู้จักศัพท์ซึ่งอาหารก็เป็นการเรียนรู้ที่ดีอย่างหนึ่งเลยนะ”

“อ้อมซะไกล พอเหอะเดี๋ยวจบไม่ลง” ปารัณรู้สึกอารมณ์ดีจนเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่เมื่อได้มาเจอคนคุ้นเคยอย่างเพื่อนรุ่นน้องเช่นณฐ “ว่าแต่เราเดินแค่ตรงนี้หรือว่ามีที่อื่นให้เดินอีกล่ะ”

“เดี๋ยวกินเสร็จถ้าพี่อยากเดินเล่นผมว่าเราเดินลงไปตรงถนนสยามกันก็ได้นะ หน้าร้อนยังไม่มืิดง่ายๆ หรอก”

“นั่นสิ นี่สองทุ่มกว่ายังสว่างอยู่เลย” เขาบอกขณะหันไปมองรอบกายที่ผู้คนกำลังเดินขวักไขว่ก่อนจะกลับมามองอาหารที่สั่งอย่างจดจ่อ

“อะนี่ของพี่” ณฐส่งแครปร้อนๆ ที่เพิ่งเสร็จให้ปารัณ ชายหนุ่มเลือกไส้สามอย่างคือแฮมกับเห็ดและไข่ เมื่อกัดเข้าไปคำแรกก็สัมผัสได้ถึงความแน่นของเครื่อง ส่วนแป้งสาลีดำที่ห่อภายนอกก็เข้ากันเป็นอย่างดี

“หือ อร่อย”

“ก็แหงอยู่แล้ว ผมบอกแล้ว”

สองหนุ่มยืนรับประทานและเดินเล่นไปด้วยหลังจากที่พวกเขาจัดการอาหารเย็นได้หมดเกลี้ยงภายในเวลาอันรวดเร็ว แครปชิ้นที่สองถือเป็นธรรมเนียมในการรับประทานที่ต้องต่อด้วยของหวานทำให้หนังตาของปารัณเริ่มหย่อนเพราะความง่วง เขาเห็นณฐสอดส่ายสายตามองหาบางอย่างแต่ก็ไม่ได้สนใจ ด้วยพะวงแต่เรื่องเกี่ยวกับถนนสยามซึ่งมีประวัติอันยาวนานเกี่ยวเนื่องด้วยประเทศไทยในสมัยที่ผู้คนยังรู้จักในนามว่า ‘สยาม’ นั่นเอง

 

ถนนสยามที่เมืองแบรสต์ทอดยาวไปไกลแต่ก็ไม่สุดสายตาของปารัณเพราะต่อจากถนนยังมีสะพานข้ามแม่น้ำไปอีกฝั่งของเมืองได้ เขารู้สึกถูกใจชื่อถนนพร้อมทั้งรู้สึกภูมิใจขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้ราวกับตนเองเป็นส่วนหนึ่งในที่มาของชื่อ ณฐเล่าให้ฟังว่าถนนเส้นนี้เป็นถนนที่คณะราชทูตจากสยามในสมัยกรุงศรีอยุธยาแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชพร้อมด้วยคณะเคยมาเยือนหรือจะเรียกว่ามาเหยียบบนผืนแผ่นดินฝรั่งเศสครั้งแรกก็ที่ถนนสายนี้ แต่ตอนปี ค.ศ.1686 ถนนนี้ยังชื่อว่าถนนแซงต์ ปิแอร์ ถนนได้ถูกเปลี่ยนชื่อเพื่อเป็นอนุสรณ์ในเหตุการณ์ครั้งนั้นในปี ค.ศ.1742  หรือเมื่อสองร้อยกว่าปีที่ผ่านมา

“ท่านโกษาปานพร้อมด้วยอุปทูตและตรีทูต รวมทั้งคณะมีประมาณ 30 คน เคยมาเหยียบที่นี่มาแล้วนะพี่”

ณฐเล่าให้ปารัณฟังด้วยแววตาเป็นประกายอย่างมีความสุขซึ่งปารัณก็รู้สึกไม่ต่างกัน

“รู้ละเอียดเหมือนกันนะเราน่ะ”

“ผมหาอ่านน่ะ อ้อ ครูที่โรงเรียนสอนภาษาก็เอาบทความมาให้อ่านด้วย  พูดถึงเรื่องคณะทูตเดินขบวนจากเรือขึ้นบกมาที่ตึกซึ่งเป็นที่พัก มีชาวเมืองแบรสต์ออกมายืนรอดูกันเยอะเลย แต่ละคนก็ตื่นเต้นกับคณะราชทูตที่แต่งตัวสวยงามแล้วก็มีสีสันแบบชาวตะวันออก คิดดูสิพี่ แถวนี้อากาศก็ครึ้มๆ คนยังแต่งตัวสีทึมๆ พอได้เห็นสีสันสดใส มีสีทองวาววับคงจะตื่นเต้นกันเนอะ”

“ก็จริง และถ้าหากคิดกลับกันล่ะ เป็นไปได้มั้ยที่คนจากสยามก็อาจจะตื่นเต้นกับบรรยากาศทึมๆ ขรึมๆ แถวนี้ด้วย”

“พี่รัณพูดถูกใจผม ผมก็เคยคิดเล่นๆ เหมือนกันนะ”

เก้าอี้นั่งหินทรงกลมกลางถนนสยามยามนี้มีเพียงชายหนุ่มจากดินแดนสยามตัวจริงกำลังนั่งชมบรรยากาศริมถนนเพื่อซึมซับความรู้สึกร่วมกัน  ปารัณมองร้านรวงที่เริ่มปิดไฟไกลออกไปสุดตา เสียงคนพูดคุยกันหน้าร้านตรงหน้าซึ่งเป็นร้านขายเครื่องเขียน คุณลุงคุณป้าเดินมาส่งยิ้มให้เขาอย่างเป็นมิตรสร้างความรู้สึกคุ้นเคยและสนิทสนมทีละน้อยแก่เมืองที่เขาเพิ่งมาเยือนเป็นครั้งแรก ปารัณยอมรับว่าเขารู้สึกตกหลุมรักเมืองแบรสต์หรือหากจะว่าไปนั่นคือถนนสยามอย่างไม่ทันรู้ตัวเข้าเสียแล้ว

 

เสียงโทรศัพท์ปลายสายดังอยู่นานหลายนาทีจนคนต้นสายต้องต่อไปอีกครั้ง มนสิชาถือสายรออย่างใจจดใจจ่อเพื่อจะคุยกับมารดาซึ่งกำลังจะเดินทางกลับมาแบรสต์ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า หญิงสาวรู้สึกกังวลที่ติดต่อแม่ไม่ได้หลายวันมีเพียงพี่ชายของหล่อนที่ส่งข่าวว่าแม่ไม่อยู่และจะกลับมากรุงเทพฯ อีกสองวันซึ่งตรงกับวันนี้นั่นเอง

“ฮัลโหล  มนเหรอลูก” เสียงอ่อนโยนจากมารดาช่วยให้หญิงสาวคลายความกังวลลงได้ในที่สุด

“แม่คะ ทำไมหนูโทรหาไม่ได้เลย แม่ไปไหนมา”

“ใจเย็นลูก แหม แม่ก็พูดอยู่นี่ไง”

“ตกลงแม่ไปไหนมาคะ”

“ก็ไปพัทยาไง แต่ไม่รู้ทำไมติดต่อกันไม่ได้เพราะแม่ก็ไม่ได้ปิดโทรศัพท์นะ”

“อ้าว เหรอคะ แล้วไปทำอะไรพัทยาล่ะแม่ อย่าบอกนะคะว่า…”

“คราวนี้พี่หวานจะมาอยู่กับเราสักพักนะ รอแฟนมารับ”

“พี่หวาน คนไหนคะแม่”

“ก็พี่หวานที่เคยอยู่ที่บ้านกับยายไง ตอนนี้มาทำงานที่พัทยาแล้วเจอแฟนเป็นคนฝรั่งเศส พี่เค้าก็เลยอยากมาอยู่ที่นี่ ใครห้ามก็ไม่ฟัง นี่แอบไปทำวีซ่ามาเรียบร้อย แม่เลยบอกให้มาอยู่ด้วยกันก่อนแล้วค่อยหาทางขยับขยาย”

“แล้วแฟนเค้าเป็นใครคะ ทำงานอะไร”

“ก็เป็นคนฝรั่งเศส  ทำงานบริษัทที่เมืองแรนน์”

“อ๋อ ก็ไม่ไกลกัน”

มนสิชาเริ่มชินกับการที่ตั้งแต่เล็กจนโตเธอมักมีพี่สาวหลายคนมาพักด้วย  สมัยเด็กเธอเข้าใจว่าพี่ๆ เหล่านั้นเป็นเพื่อนกับแม่หรือไม่ก็เป็นเด็กไทยที่อยากมาเรียนต่อ เมื่อโตขึ้นมาเธอเริ่มรับรู้ทีละนิดว่าพี่สาวเหล่านั้นมาจากหลายจังหวัดในประเทศไทย หากแต่ทุกคนล้วนมีทางผ่านเดียวกันนั่นคือพัทยา มนสิชาค่อยรับรู้ทีละนิดจนกลายเป็นความคุ้นชินและเข้าใจในที่สุดว่าไม่ว่าใครก็ต่างอยากมีชีวิตที่ดี ไม่ว่าในช่วงหนึ่งของชีวิตแต่ละคนอาจเคยทำบางอย่างที่ไม่น่าจดจำหากเมื่อพวกเขาเลือกได้หนทางที่ดีกว่าย่อมรออยู่เสมอ นอกจากนี้เหตุผลที่เธอเข้าใจพวกเขาเหล่านั้นคงเป็นเพราะแม่ของเธอด้วยนั่นเอง แม้ว่าแม่เคยทำงานในสถานที่และเวลาอโคจรมาก่อนหากแต่ก็เป็นเพียงแคชเชียร์ในบาร์ มนสิชาไม่แปลกใจหากมีใครคิดว่าแม่ของเธอมีอาชีพแอบแฝงที่ไม่พึงประสงค์เพราะคนเรามีความคิดต่างจิตต่างใจ แต่สิ่งที่เธอยอมรับไม่ได้คือการไม่รับฟังและตัดสินโดยไม่ดูว่าเนื้อแท้ของคนคนนั้นเป็นเช่นไรต่างหาก

“มนโทรมาก็ดีเลย งั้นแม่วานให้จัดห้องให้พี่เค้าหน่อยนะลูก”

“ได้สิแม่ พรุ่งนี้หนูจะเปลี่ยนผ้าปูที่นอนให้ใหม่เลย ว่าแต่พี่หวานเค้าจะมากี่วันน่ะแม่ หนูจะได้บอกพ่อค่ะ”

“แม่ก็ไม่แน่ใจนะ แต่ว่าเค้าคงอยู่ไม่นานหรอก รอแฟนบอกทางบ้านแล้วคงมารับไปน่ะ”

“ไม่มีปัญหาค่ะแม่”

“งั้นอีกสองวันเจอกันนะลูก”

“ได้ค่ะแม่ คิดถึงแม่นะคะ”

สิ้นเสียงสัญญาณจากปลายสายเจ้าเหมียวอ้วนก็กระโดดขึ้นมานั่งบนตักหญิงสาวอย่างรู้จังหวะ ขนสั้นสีเทาเป็นเงางามสะท้อนแสงไฟ เจ้าแมวเหมียวผู้ไม่รับรู้เรื่องราวของมนุษย์หากก็ทำหน้าที่เสมือนเครื่องช่วยผ่อนคลายจิตใจได้โดยที่มันก็คงไม่รู้ตัว มนสิชายิ้มเอ็นดูเมื่อมองดูเจ้ากรีแซตต์ขณะกำลังหลับบนตักของหล่อนอย่างสบาย ความกังวลเรื่องที่จะต้องบอกบิดาหายไปทันที แต่พรุ่งนี้เรื่องแจ้งข่าวก็คงเป็นเรื่องที่หญิงสาวต้องเผชิญหน้าเพียงลำพังกับบิดาอย่างแน่นอน

ข้อความในกล่องข้อความแจ้งเตือนขึ้นมาบนหน้าจอโทรศัพท์ ชายหนุ่มจำภาพโปรไฟล์ผู้ส่งได้ดีเพราะเขาเป็นคนถ่ายภาพนี้ให้กับหญิงสาวเอง  น่าแปลกที่เธอยังไม่ได้เปลี่ยนรูปแต่หากมองแบบเป็นกลางก็คงไม่มีเหตุผลอะไรมากไปกว่าเธอไม่ค่อยได้ใช้เฟซบุ๊กนั่นเอง

“รัณ คุยได้ป่าว”

“อือ”

“ทำไรอะ”

“กำลังจะนอน รียาตื่นเช้าจัง”

“รัณก็นอนดึกเนอะ”

“อืม”

“เที่ยวหนุกมั้ย”

“ก็ดี รียาเป็นไงมั่งเรื่องเรียน”

“ดี”

ภาพหมู่หญิงชายกลุ่มใหญ่ถูกส่งมาทันทีเมื่อเขาเริ่มถามไถ่ถึงเรื่องของเธอ

“เพื่อนในห้อง”

“เยอะเนอะ”

“เกือบสามสิบคน รัณส่งรูปมามั่งดิ งานนิทรรศการเป็นไง”

“ผ่านมาหลายวันแล้ว ก็ดี”

เขานึกถึงวันแรกที่เปิดนิทรรศการซึ่งนรียาคงลืมไปแล้ว หากเมื่อถามถึงเหตุการณ์วันนั้นชายหนุ่มก็อยากตอบออกไปว่ามันผ่านไปได้ด้วยดีโดยที่เขาไม่จำเป็นต้องมีคนร่วมแบ่งปันความรู้สึก แม้ลึกลงไปเขาก็อยากมีใครสักคนเช่นกัน

“งั้นรัณไปนอนเถอะ รียาไม่กวนละ ฝันดีนะ”

ปารัณยังนั่งดูรูปที่หญิงสาวส่งมาอย่างพินิจพิจารณาก่อนจะปิดเครื่องเจ้ารุ่นน้องตัวดีก็เดินมาหยิบโทรศัพท์ไปดูอย่างถือวิสาสะ แต่ก็เป็นการถือวิสาสะที่ทำให้เขาเข้าใจได้ทันทีว่าเหตุใดนรียาจึงบอกเลิกเขาอย่างง่ายดายเมื่อก่อนจากลากันครั้งล่าสุด



Don`t copy text!