“ข้ามมหาสาคร” กับนายท้ายเรือ ‘กฤษณา อโศกสิน’

“ข้ามมหาสาคร” กับนายท้ายเรือ ‘กฤษณา อโศกสิน’

โดย : กฤษณา อโศกสิน

Loading

” ข้ามมหาสาคร ” นวนิยายพีเรียด โดย กฤษณา อโศกสิน ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ เรื่องราวความรักโรแมนติกของสองหนุ่มสาวที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการไปจนถึงความรักชาติรักแผ่นดินและการต่อกรกับชาติตะวันตกที่จ้องจะเข้ามาครอบครอง นิยายออนไลน์อีกหนึ่งเรื่องที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้อ่านออนไลน์

************************

– เกริ่นนำ –

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

นับแต่ปลายพ.ศ. ๒๕๕๙ ที่นิตยสารทุกฉบับปิดตัวลงไป แต่ดิฉันยังมีพล็อตงานเขียนเหลืออยู่อีก ๓ พล็อตด้วยกัน คือ วังอาชาไนย, ข้ามมหาสาคร กับพล็อตสุดท้ายที่ยังหาชื่อเรื่องเหมาะใจไม่ได้ แต่ก็วางไว้ก่อนได้

พอดีกับเว็บออนไลน์เว็บหนึ่งมาขอให้เขียนลงเป็นตอนๆ พร้อมกับเลือกเรื่องวัง

จึงลงมือเขียน ‘วังอาชาไนย’ เป็นอันดับแรก จนเกือบจบ ๒ ภาคก็ได้ข่าวว่าน้องนักเขียน ๓ คนคือ ‘ปิยะพร ศักดิ์เกษม’ ‘กิ่งฉัตร’ ‘พงศกร’ ได้ร่วมกันจัดตั้งเว็บออนไลน์ชื่อ ‘อ่านเอา’ ขึ้นมา เพื่อให้นักเขียนมีเวทีนำเสนอผลงาน รวมทั้งขอให้ดิฉันส่งเรื่องมาร่วมด้วย เพียงแต่ไม่มีค่าตอบแทน

ดิฉันตอบรับด้วยความยินดี

จึงจำเป็นต้องผูกเรื่องใหม่อีกเรื่องหนึ่งอย่างกะทันหัน

ความตั้งใจขณะนั้นที่ผุดขึ้นมาก็คือ

ปรารถนาจะใช้โอกาสนี้ตอบแทนอุปการคุณ แด่ผู้อ่านที่เคยติดตามอ่านงานของดิฉันตลอดมาอย่างยาวนาน

ส่วนอีกโอกาสนั้นก็คือ ต้อนรับนักเขียนและผู้อ่านรุ่นใหม่

ด้วยความตั้งใจให้เป็นเรื่องรักเบาๆ ของหนุ่มสาว ๓ คนที่ ‘ไม่’ บังเอิญร่วมทางไปกับผู้สูงวัย คือปู่กับย่าของฝ่ายหญิง

นั่นก็ด้วยเหตุที่เห็นว่าสิ่งแวดล้อมของบ้านเมืองค่อนข้างไม่ปกติ ผู้อ่านน่าจะได้มีนวนิยายเบาๆ เข้ามาช่วยผ่อนคลายความเคร่งเครียดอึดอัด

หนึ่งในหลายประเภทของการบันเทิง ก็ได้แก่การอ่านงานเริงรมย์

‘ขอบน้ำจรดขอบฟ้า’ จึงเริ่มต้นขึ้น

จนผ่านออกมาเป็นรูปเล่ม

ต่อด้วย ‘ขอบฟ้าจรดขอบน้ำ’ อันเป็นภาคสืบเนื่อง

ครั้นแล้วคุณหมอพงศกร จินดาวัฒนะ หรือ ‘พงศกร’ จึงขอให้ดิฉันต่อตามด้วย ‘ข้ามมหาสาคร’ ที่เคยเกริ่นไว้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

 

มีคำถามที่หลายท่านคงอยากถาม รวมถึงอยากได้คำตอบดังนี้

๑. ชื่อ ‘ข้ามมหาสาคร’ มาจากความคิดใด

๒. เนื้อเรื่องทำนองไหน

๓. หนักสมองหรือไม่

๔. ตอนจบสุขหรือเศร้า

 

สี่คำถามเหล่านี้ เข้าข่ายถามเองตอบเองทั้งสิ้น แต่เมื่อผู้อ่านได้รับคำอธิบายแล้วก็คงจะหมดกังขา

๑. เริ่มคำตอบแรกก็สามารถบรรยายได้อย่างเต็มปากว่า ดิฉันรักชอบเรือสำเภามานาน จนกระทั่งมีโอกาสอ่าน ‘สำเภากษัตริย์สุลัยมาน’ เขียนโดยท่านอาจารย์ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์ ความประทับใจจึงบันดาลให้เกิดจินตนาการบรรเจิดขึ้นมา พอดีได้เดินทางท่องเที่ยวไปกับสมาคมประวัติศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ เยือนตุรกี อียิปต์ อิหร่าน โดยมี ดร.จุฬิศพงศ์ เป็นผู้บรรยายให้รู้แจ้งเกี่ยวกับความเป็นไปของประเทศทั้งสาม เมื่อกลับมาจึงเริ่มเขียนนวนิยายเรื่อง ‘ข้ามบรรพกาล’ ที่นำเอาความเป็นไปที่เป็นจริงจาก ‘สำเภากษัตริย์สุลัยมาน’ กับ ‘ขุนนางท่าขวา’ เขียนโดย ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ เข้ามาสานกับจินตนาการของตนเอง

ผูกเป็นเรื่องราวในปัจจุบันกับอดีตสลับกันแสดงให้เห็น ‘บาป’ ซึ่งเป็นของจริง ย่อมตามติดบุคคลไปทุกภพทุกชาติ

ครั้นต่อมาจึงมีโอกาสเป็นเจ้าของเอกสารสองฉบับ ฉบับหนึ่งเขียนโดยพลเอกยุทธนา แย้มพันธุ์

อีกฉบับคัดลอกมาจากบันทึกของร้อยโทเจมส์ โลว์ ทูตอังกฤษผู้มากับเรือใบสองเสา ตั้งใจมาเจรจาความเมืองกับเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เกี่ยวเนื่องด้วยการพิพาทเรื่องเมืองไทรบุรี

ทั้งสองฉบับมีอำนาจปลุกเร้าจินตนาการให้สะเทือนสะท้านขึ้นมา จึงขอเอกสารจากเพื่อนที่ทำงานด้านประวัติศาสตร์ เพื่อนจึงรวบรวมหนังสือส่งมาให้เพื่อเพิ่มเติมความรู้

หนึ่งในนั้นมี ‘พงศาวดารรัชกาลที่ ๒’ รวมพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ ๓ เข้าไว้ด้วย พงศาวดารฉบับนี้จึงช่วยส่งเสริมเอกสารของทูตอังกฤษให้ชัดขึ้น

ดิฉันจึงสามารถสานเรื่องราวที่อยากเขียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทั้งด้านการค้าและการเมืองของประเทศต่างๆ จำเพาะในทะเลอันดามัน ทะเลชวา ทะเลจีนใต้ให้ได้ภาพ ‘มหาสาคร’ ตามสมควร

๒. แต่ความจริงใจที่ต้องขอเรียนไว้ล่วงหน้าก็คือ นวนิยายเรื่องนี้ แท้จริงแล้วคือนวนิยายที่ว่าด้วย ‘ความรัก’ ล้วนๆ … ความรักที่สวนทางกับหอกดาบ

๓. ประวัติศาสตร์ที่นำมาปรุงคู่กันไป เป็นเพียงความพอใจของผู้เขียนที่รักชอบแนวนี้ จึงหาทางสอดแทรกไว้เท่านั้น เพียงเพื่อเป็นตัวการผูกโยงพาความรักเข้ามา

๔. เป็นความรักที่ดิฉันเองเขียนไป ก็หาทางออกให้พระเอกนางเอกไป

๕. แต่รับรองได้ว่าถึงอย่างไร ‘ความเป็นไปไม่ได้’ หรือ ‘ไม่น่าจะเป็นไปได้’ ย่อมต้องเป็นไปได้ เมื่อนายท้ายเรือคือ ‘กฤษณา อโศกสิน’

โควิด – 19 มาคราวนี้ ทำให้ค่อนข้างเปรี้ยวแกมขม (เล็กน้อย)

 

กฤษณา อโศกสิน

กันยายน ๒๕๖๓

 



Don`t copy text!