ข้ามมหาสาคร บทที่ 2 : รอลม

ข้ามมหาสาคร บทที่ 2 : รอลม

โดย : กฤษณา อโศกสิน

Loading

” ข้ามมหาสาคร ” นวนิยายพีเรียด โดย กฤษณา อโศกสิน ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ เรื่องราวความรักโรแมนติกของสองหนุ่มสาวที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการไปจนถึงความรักชาติรักแผ่นดินและการต่อกรกับชาติตะวันตกที่จ้องจะเข้ามาครอบครอง นิยายออนไลน์อีกหนึ่งเรื่องที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้อ่านออนไลน์ได้จบลงแล้ว ผู้อ่านใจดี มอบไว้ให้อ่านกัน 5 บทค่ะ และหากใครอยากเก็บไว้อ่านได้บ่อยๆ เท่าที่ต้องการ #ข้ามมหาสาคร นวนิยายโดย กฤษณา อโศกสิน วางจำหน่ายแล้วนะคะ

🛳 ข้ามมหาสาคร โดย กฤษณา อโศกสิน
▪️ นวนิยายแนวรัก-โรแมนติก-พีเรียด
▪️ ราคาปก 340 บาท
▪️ จำนวน 400 หน้า
▪️ รับส่วนลด 15-30% จากโปรโมชั่นปัจจุบัน

▪️ ทดลองอ่าน http://bit.ly/ทดลองอ่านนิยายGROOVE

อาจจะมีเพียงความรักของ ‘กันตัง’ เท่านั้น ที่จะพาเธอฝ่าคลื่นลมแห่งโชคชะตา และเดินทางไปถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย…

สั่งซื้อได้ที่
▪️ Website : groovebooks.com
▪️ Facebook : bit.ly/สั่งซื้อนิยายGROOVE
▪️ Line@ : https://lin.ee/e2UAsQ3 หรือ @groovepublishing (มี @ข้างหน้าด้วยนะ)

************************

– 2 –

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

ลูกเรือค่อนข้างตกใจเหมือนกัน ด้วยเกรงกัปตันเซปาด่าแบบนับคำไม่ทัน ดังนั้นจึงยังไม่เหหัวเรือออกมา แต่ส่งเสียงกระโชกกระชั้น

“มึงเป็นผู้ใดจึงบังอาจ” คนกรรเชียงท้ายส่งภาษามลายู เนื่องด้วยเล็งแลดูแล้ว

ดวงหน้าชายผู้นี้ไม่กระเดียดคนจีนแม้สักน้อย คนจีนซึ่งส่วนใหญ่เป็นจีนฮกเกี้ยนที่ทยอยกันลง ‘เรือหัวเขียว’ จากทะเลจีนใต้สู่ภาคใต้ของอ่าวสยามนั้น

ส่วนใหญ่จะทิ้งเมียชาวจีนด้วยกันไว้เบื้องหลัง รอนแรมมาตามลำพังกับเสื่อผืนหมอนใบ มาขึ้นบกตามเมืองชายฝั่งของแผ่นดินอันอุดม จึงมากหลายที่มาได้หญิงสยามเป็นภริยา ออกลูกหลานสืบมาจนบัดนี้

แต่หน้าตาชายตรงหน้ามิใช่ลูกครึ่งสยาม-จีน

หากก็มิค่อยจะใช่มลายูแท้เหมือนเขา…กะลาสีนึกในใจ

อายุอานามคงไม่เกิน 25 ปี ผิวสองสีอมน้ำตาลอ่อนเนียนแน่น แลเห็นขาแขนเนื้อกล้ามทุกส่วนสัด

“กูเป็นลูกเรือหาปลาแถวนี้” อีกฝ่ายปริปากอย่างมิอ่อนน้อมถ่อมตน ดูจะเป็นคนไม่ยอมใคร “แต่บังเอิญคลาดกัน มันนัดให้มารอตั้งแต่วาน”

“แล้วมึงนอนที่ใด”

“ปีนขึ้นไปบนไม้นั่น” ชายแปลกหน้าบุ้ยใบ้ให้ดูไม้ป่าสูงตรง มีค่าคบ “ก็แล้วมึงเล่า จะไปไหน”

“กูมากะนายท่าน เจ้าที่ดินที่นี่ หลวงประกาศบุรี มึงต้องเคยได้ยินชื่อเสียงของท่านแน่ๆ”

อีกฝ่ายไม่ตอบ เพียงแต่พยักหน้า อึดใจหนึ่งจึงเอ่ย

“กูคงไม่มีงานทำอีกหลายเพลา มึงมีงานใดก็บอกมา กูช่วย”

กะลาสีมองตากัน ครั้นแล้วคนพายหัวก็พยักหน้า

“ก็ได้ ลองดู…แต่กูไม่รู้นะว่าคุณหลวงจะเอามึงรือไม่”

“ไม่เป็นไร…ถ้าไม่รับ กูก็ลงท่าหน้า…แค่มึงมาส่งกูหน่อยเท่านั้น”

จึงเป็นอันว่าครู่ต่อมา เรือเล็กก็พาทั้งสามมาขึ้นที่สำเภาของคุณหลวงผู้บัดนี้ทนแสงอาทิตย์ที่ค่อยๆแรงขึ้นไม่ไหว จึงชวนลูกชายลูกสาวบุญธรรมแลตาปันจังลงไปนั่งในเคบินด้านล่างที่มีประตูไม้ทึบแลบันไดหนึ่งขั้น พาไปสู่ห้องยาวอันพร้อมพรั่งทั้งที่นั่งแลที่นอนอย่างสบาย

จนกระทั่ง กะลาสีพาชายแปลกหน้าเข้ามาทางประตูท้ายเรือพร้อมย่ามใบหนึ่ง

“นั่งลง” ดาบออกคำสั่งเมื่อเห็นอีกฝ่ายยังคงยืนค้ำปากทาง แลดูแต่ละเบาะตรงปลายสุดห้องอันวกเลี้ยวมาขนานกันทั้งสองฟาก โดยหลวงประกาศฯนั่งเป็นสง่าบนเบาะกลาง สองข้างมีทั้งคนแก่แลหนุ่มสาว

เป็นเรือสำเภาสองเสาที่กว้างสบาย…ชายหนุ่มเพียงแต่นึกในใจ ขณะมองกวาดถ้วนทั่วจนถึงเนื้อตัวหญิงหนึ่งซึ่งนั่งเคียงชายเกือบชรา

นั่นเอง เขาจึงนั่งลงตรงปากประตูอันเปิดกว้าง รับลมเย็นเบื้องนอกที่กำลังโบกโบย

กัปตันเซปาจึงสั่งให้ออกเดินทาง…มินานต่อมากำปั่นสองเสานาม ‘ดูรา’ ก็แล่นตามลมลงใต้ท่ามกลางแดดสายอันแรงร้อนเป็นลำดับ

“เจ้าชื่อไร” คุณหลวงถามไถ่

“ชื่อกันตังขอรับ” ชายหนุ่มในผ้าหยักรั้งเก่าคร่ำลงเสียงขณะเบี่ยงนัยน์ตาไปทางขวา ที่มีชายสูงอายุนั่งหน้าเด็กหนุ่มเด็กสาวนั่งถัดไป

โดยพลัน ภาพอันโหดอำมหิตก็เลื่อนเข้ามา

เด็กสาวผู้นี้รือมิใช่คือบุตรีขุนเทพอักษร คหบดีในรัชกาลก่อนแห่งตะกั่วทุ่ง ขณะกำลังมุ่งขนดีบุก รังนก ข้าวสารออกไปขายยังหมู่เกาะในทะเลชวา เนื่องด้วยได้ราคาดีกว่าขายที่เมืองใกล้ๆปลายแหลมมลายู

แม้รู้ว่าคงต้องฝ่าดงโจรสลัด หากก็คงทะนงในกองเรือจำนวน 4 ลำ ที่กำกับไปเป็นขบวน มีปืนไฟ ดาบ ธนู ปืนสั้น ปืนยาว กับชาวเรือเจนทะเลครบครัน จนลืมครั่นคร้ามโจรใหญ่นามสะลอแม ผู้มิเคยแพ้ใคร

อย่าว่าแต่นายเรือแลลูกเรือแค่ 70  คนเท่านี้ แม้มากกว่า…สะลอแมก็เอาชนะได้

หากนั่นก็มิใช่เรื่องราวที่ควรเก็บมาใส่ใจ

หญิงรุ่นสาวงามเลิศเฉิดโฉมนั่นต่างหากคือต้นเค้าที่นำเขามาในครานี้

“กันตัง” คุณหลวงทวนคำยิ้มๆขณะที่ดาบกับด่านพลอยยิ้มด้วย

“คือต้นกันตังขอรับ” เจ้าตัวหมายถึงไม้เนื้ออ่อนมีลักษณะเหมือนต้นข่า

“เจ้าเป็นคนมลายูหรืออย่างไร”

“พ่อกระผมเป็นมลายู แม่กระผมเป็นสยามขอรับ แม่เป็นลูกชาวทะเลสยาม รับจ้างหาปลา”

คุณหลวงฟังแล้วพิศวงครามครัน

ด้วยว่าชายนี้พูดจาราวเคยเล่าเรียนเขียนอ่านมานานพอแลมากพอ ดังนั้นจึงต่อถ้อยสืบไป

“เจ้าอ่านหนังสือออกรือไม่”

“กระผมเรียนภาษาสยามตอนยังเล็กขอรับ หลังจากนั้นพ่อก็ส่งไปเรียนภาษาอังกฤษที่เกาะพริ้นซ์ ออฟ เวลส์คือเกาะปีนังขอรับ”

เพียงแค่ฟังคำตอบ คุณหลวงก็ถึงแก่บอกกล่าว

“ถ้าเช่นนั้น เจ้าควรจะเปลี่ยนเสื้อผ้าเสียใหม่ นุ่งห่มให้รัดกุมจงดี แล้วเข้ามานั่งตรงหน้าข้านี่…”

“ขอรับ” กันตังตอบคำพลางปิดประตูไม้ทึบที่กั้นระหว่างท้ายเรือกับห้องในเรือ

“พริ้นซ์ ออฟ เวลส์” ดาบทวนคำขณะมองหน้าบิดา เมื่อเอ่ยถึงชื่อที่อังกฤษเพิ่งเปลี่ยนหลังจากมามีอำนาจปกครองเกาะปีนัง “มันก็หาใช่ชั่วไม่”

“เดี๋ยวลองคุยกะมันดู เผื่อเก็บไว้เป็นผู้ช่วยกัปตัน” คุณหลวงว่าพลางหันมาพยักพเยิดกับชายสูงวัย “ดีรึไม่ปันจัง นานทีปีหนจะได้เจอผู้คนมีวิชา”

“ดีขอรับ” ตาปันจังคล้อยตาม

เนื่องด้วยเขาเองก็เป็นผู้รู้รอบ ประวัติศาสตร์ขอบแดนตลอดเขตนี้รือเขตไหน ตาปันจังถ่ายทอดมาจากพระเถระรูปหนึ่งบนเกาะถลางได้หมดจด

เพียงไม่กี่อึดใจ บานไม้ทึบก็เปิดออกอีกครั้ง

ผืนผ้าหยักรั้งหายไป ชายแปลกหน้าในกางเกงครึ่งแข้งสีใบไม้แห้ง ผ้าเคียนเอวตาหมากรุกผูกทิ้งชาย ท่อนบนยังคงเปลือยเปล่า ก้าวเข้ามาพลางคุกเข่า พนมมือตัวตรงพร้อมกล่าวคำ

“กระผมคงไม่ได้เจอเรือคนที่จ้างจับปลาอีกแล้วละขอรับ…ถ้าใต้เท้าใคร่ให้กระผมช่วยทำงานในนี้ ก็จะเป็นพระคุณอย่างสูง”

“เจ้าทำงานใดได้บ้างนอกจากจับปลา”

“ได้ขอรับ…ได้ทุกอย่าง…ตั้งแต่เป็นกัปตันจนถึงช่างประจำเรือ”

“เจ้าเป็นช่างด้วยยังงั้นรึ” คุณหลวงค่อนข้างดีใจ เนื่องด้วยชอบใช้สอยผู้มีฝีมือทางช่างเป็นอย่างยิ่ง…

เนื่องด้วย ‘ช่างดี’ มักใช้ได้สารพัดจริงๆ

ยิ่งออกมาแล่นใบในทะเลเช่นนี้ กัปตันต้องมีผู้ช่วยเผื่อไว้

“เป็นขอรับ”

“เคยลงเรือใดที่ว่าใหญ่สุด”

ชายหนุ่มนัยน์ตาคม คิ้วดำยาวอึ้งไปอึดใจ ในที่สุดก็ตอบ

“ลงกำปั่นสามเสาออกไปทางทะเลชวาขอรับ”

“เจ้าว่าเจ้าทำประมง เรือใหญ่ขนาดนั้นเชียวรึ”

“บางเดือนก็ไม่ได้ทำขอรับ…เอ้อ…สุดแต่ใครจะว่าจ้าง…”

คราวนี้ผู้ฟังพยักหน้าเนื่องด้วยรู้ดี

การค้าทางเรือที่ต้องใช้ใบโดยใบเรือนั้นขึ้นอยู่กับอำนาจของฟ้าดินได้แก่ลมมรสุมประจำฤดู ผู้ที่มากับเรือจำเป็นต้องมาให้ตรงกับเดือนที่อำนวยให้ ดังเช่นเดือน 6 ถึงเดือน 9 นี้ นับเป็นเดือนของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่จะพัดจากเส้นศูนย์สูตรข้ามมหาสมุทรอินเดียเข้ามา ส่วนลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือก็จะพัดจากเมืองจีนข้ามทะเลจีนใต้ตั้งแต่เดือน 12 ถึงเดือน 5 หากสำเภาจีนตั้งใจไปอินเดียก็จะมิอาจถึงอินเดียได้ดังปรารถนา ฝ่ายสำเภาที่มาจากอาหรับ อินเดีย หวังข้ามไปให้ถึงเมืองจีน ก็มิอาจถึง จึงทั้งสองฝ่ายต่างก็จำเป็นต้องมาแวะพัก ‘รอลม’ ณ ‘ที่พักครึ่งทาง’

นั่นก็คือ แหลมมลายู อันเป็นดินแดนที่ลมมรสุมสองสายพัดมาบรรจบกัน

เดือน 10 แลเดือน 11 จึงเป็นวันเวลาที่ลมสงบ

เรือใช้ใบทุกลำที่บรรทุกทั้งสินค้าแลผู้คนต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรมจึงต่างก็ต้องหยุดการเดินทาง ก้าวลงจากเรือเพื่อทำกิจอื่นตามความชื่นชอบส่วนตน ณ ดินแดนแห่งนี้ที่ไม่มีประเทศใดขนาบข้าง

จึงกลายเป็นสถานที่เปิดโล่ง เป็นทวารบานโปร่งตา เป็นที่นัดพบของผู้คนจากสองฟากมหาสาคร

“ส่วนใหญ่แล้ว ใครเป็นคนจ้างเจ้า…เจ๊ก แขกรือฝรั่ง” คุณหลวงถามไถ่

 



Don`t copy text!