ข้ามมหาสาคร บทที่ 1 : รอนแรม
โดย : กฤษณา อโศกสิน
” ข้ามมหาสาคร ” นวนิยายพีเรียด โดย กฤษณา อโศกสิน ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ เรื่องราวความรักโรแมนติกของสองหนุ่มสาวที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการไปจนถึงความรักชาติรักแผ่นดินและการต่อกรกับชาติตะวันตกที่จ้องจะเข้ามาครอบครอง นิยายออนไลน์อีกหนึ่งเรื่องที่ อ่านเอา อยากให้คุณได้อ่านออนไลน์ได้จบลงแล้ว ผู้อ่านใจดี มอบไว้ให้อ่านกัน 5 บทค่ะ และหากใครอยากเก็บไว้อ่านได้บ่อยๆ เท่าที่ต้องการ #ข้ามมหาสาคร นวนิยายโดย กฤษณา อโศกสิน วางจำหน่ายแล้วนะคะ
🛳 ข้ามมหาสาคร โดย กฤษณา อโศกสิน
▪️ นวนิยายแนวรัก-โรแมนติก-พีเรียด
▪️ ราคาปก 340 บาท
▪️ จำนวน 400 หน้า
▪️ รับส่วนลด 15-30% จากโปรโมชั่นปัจจุบัน
▪️ ทดลองอ่าน http://bit.ly/ทดลองอ่านนิยายGROOVE
อาจจะมีเพียงความรักของ ‘กันตัง’ เท่านั้น ที่จะพาเธอฝ่าคลื่นลมแห่งโชคชะตา และเดินทางไปถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย…
สั่งซื้อได้ที่
▪️ Website : groovebooks.com
▪️ Facebook : bit.ly/สั่งซื้อนิยายGROOVE
▪️ Line@ : https://lin.ee/e2UAsQ3 หรือ @groovepublishing (มี @ข้างหน้าด้วยนะ)
************************
– 1 –
นางคาดอกด้วยผ้าขาวผืนบางแล้วจึงพันทับด้วยแพรยาวสีนวล ตวัดปลายชายแพรไปพาดไว้เหนือบ่าซ้าย พลางลุกขึ้นจากหน้าคันฉ่องประดับมุกที่หลวงประกาศบุรี บิดาเลี้ยงซื้อมาจากเรือสำเภาจีนอันแล่นอยู่แถวมะละกาเมื่อปีที่แล้ว ขณะนางอายุเต็ม 14 พร้อมถ้อยคำอันชวนให้ตรึงตราจนบัดนี้
‘นี่นับเป็นคันฉ่องอันงามที่สุดเท่าที่พ่อเคยพบมา เลยซื้อหามาให้เจ้าในคราวที่เริ่มจะเป็นผู้ใหญ่ จะได้เก็บไว้ใช้ส่องหน้าส่องกายทุกเพลา นอกจากนี้ก็จะต่อเรือกำปั่นสองเสาให้เจ้านั่งออกไปชมทะเลที่ไกลออกไปจากหน้าบ้าน’
ครั้นแล้วในวันนี้…ที่นางอายุเกือบเต็ม 15 ปี กำปั่นสองเสาที่ต่อด้วยไม้สักจากอู่ต่อเรือเมืองตรัง ก็แล่นเข้ามาลอยลำท้าทายอยู่กลางน้ำลึกห่างจากศาลาท่าน้ำกว้างของคหบดีใหญ่แห่งตะกั่วป่าผู้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในฐานะผู้ส่งส่วยสาอากรเป็นประจำทุกปี มิใช่ทุก 3 ปีที่เคยกระทำกันสืบมา
เพียงแต่ดูรายืนขึ้น นางกระออม ยายแท้ๆก็นำเข็มกลัดทองคำอันยาว กึ่งกลางประดับดวงตรากลมจำหลักรูปสุนัขอันเป็นตราประจำเมืองตะกั่วป่ามากลัดมุมสไบบนแผ่นหลัง กันมิให้ผืนแพรเลื่อนไหล
“เดี๋ยวใครๆก็คงชมลูกเสียงหลงไปเลยละมัง” ผู้เป็นยายตรวจตราเรียบร้อยแม้กระทั่งกำไลทองข้อเท้า ต่อจากนั้นจึงถอยห่างออกมา ไล่สายตาขึ้นลงตามเรือนกายบางระหงของสาวน้อยผู้งดงามราวนางใน นุ่งโจงกระเบนอันเป็นผ้าดอกขัดมันของเบงกอลที่บิดาอีกนั่นแหละขอแบ่งซื้อมาจากเจ้าท่าเมืองตรัง อันเป็นท่าเรือใหญ่รับ-ส่งสินค้าเข้าสินค้าออก ฝ่ายคุณหลวงนั้นอยู่ในฐานะเจ้าของเหมืองดีบุกคนสำคัญแห่งตะกั่วป่า
ดีบุกหรือแท้จริงชาวสยามเรียกว่า ‘ตะกั่วดำ’ นี้ ไม่จำกัดว่ากี่หาบ ต้องส่งเป็นส่วยไปยังบางกอกเป็นประจำ รวมทั้งกระดองเต่าที่ได้มาจากเกาะลังกาวีแลเกาะใกล้เคียง หากก็ไม่มากสักเท่าไร ไม่เท่ากับรังนกนางแอ่น งาช้าง เกลือแลข้าวสาร
ดังนั้น จึงเท่ากับว่าเมืองที่อยู่ริมฝั่งทะเลตะวันตกของสยามอันมีมหาสาครกว้างขวางยาวไกล แล่นไหลล่องผ่านช่องแคบมะละกา ทะลุสู่ทะเลชวาแลทะเลจีนใต้ที่มีอ่าวสยามอยู่เหนือขึ้นไปนี้ ได้กลายเป็นปริมณฑลอันไพศาลที่เรือสำเภาหรือกำปั่นจากจีน จากหมู่เกาะชวา จากอินเดีย เปอร์เซีย เลยไปถึงยุโรป จะต้องเดินทางมาเปิดสัมพันธไมตรีกับราชอาณาจักรนี้ถ้วนหน้า
ดูราก็เลยมีผ้างามเนื้อแปลกสำหรับนุ่งแลห่มโดยบิดาเลี้ยงซื้อหาจากเรือสำเภาที่มาเข้าเทียบท่าเมืองตรังอันมีเพื่อนสนิทดำรงตำแหน่งเจ้าท่าแห่งกรมท่าขวาซี่งเป็นด่านเก็บภาษีขาเข้าแลขาออกด้านฝั่งทะเลตะวันตก
หลวงประกาศบุรีนั่งคอยอยู่แล้วบนยกพื้นหน้าเรือนใหญ่ ที่มีเรือนเล็กแยกออกไปทั้งสองข้าง ข้างละสองหลัง ทุกชานกว้างแลแคบแล่นถึงกัน หลังกลางเป็นที่พักของเขากับนางพร้อม เมียใหญ่กับดาบลูกชายคนโต ส่วนหลังข้างขวาให้นางสำริดแลนางบุญเลี่ยมเมียน้อยอยู่กับลูกของนาง
ครั้นแล้ว จึงมอบเรือนหน้าข้างซ้ายให้ตาปันจัง ยายกระออม พร้อมด้วยดูรา ลูกบุญธรรมพักอาศัย
วันนี้ คุณหลวงกับลูกทั้งสี่แลตาปันจัง จึงได้ฤกษ์ลงกำปั่นสองเสา ออกแบบใหม่ที่เพิ่งต่อเสร็จไปด้วยกัน
มีกัปตันแลผู้ช่วยชาวมลายูสิบนาย ผู้พูดแลฟังภาษาสยามได้ไหลลื่นไม่ติดขัดเป็นนายท้ายแลลูกเรือ
“อากาศกำลังดีทีเดียวขอรับ” กัปตันเซปาเอ่ยเมื่อหันไปมองโดยรอบโค้งฟ้าขาวระเรื่อเจือสายเมฆเบาบาง ทอดไกลไปในนภากาศ พาดด้วยแสงทองผ่องใส ลมรำเพยเชยชื่นผ่านสายวารี…ขณะที่ทุกคนสุดแสนจะตื่นเต้น
ดาบ พี่ชายคนโต ลูกนางพร้อมลูบคลำขอบเรือลำใหม่ด้วยสีหน้ามิวายเป็นสุข
ด่าน ลูกนางสำริด พี่คนที่สองกับด้าวน้องสุดท้อง อายุ 14 ลูกนางบุญเลี่ยม ต่างก็เห่อเรือลำใหม่ที่บิดาต่อให้เป็นส่วนตัว ดูรา…น้องบุญธรรมที่เกิดจากขุนเทพอักษรแลนางเทียน ผู้ดูแลเมืองตะกั่วทุ่ง ผู้ถูกสะลอแม โจรสลัดใหญ่ฆ่าตายในระหว่างพาเรือสำเภาลงใต้ไปสู่ช่องแคบมะละกา ทิ้งลูกหญิงวัย 5 ขวบไว้กับตายาย
หลวงประกาศบุรีในฐานะสหายสนิทจึงพาเด็กหญิงมาเลี้ยงดูเป็นบุตรบุญธรรม
ตั้งนามใหม่ให้ด้วย
สิบปีที่ผ่านไป คุณหลวงจึงสุดแสนเป็นสุขทุกขณะ ด้วยได้ดูแลฟูมฟักลูกของสหายผู้ยิ่งเติบใหญ่ก็ยิ่งทวีความรักใคร่ผูกพัน
“เราจะไปถึงพังงาได้รือเจ้าคะ คุณพ่อ” สาวน้อยจึงถามไถ่บิดาผู้นั่งเป็นสง่าอยู่บนดาดฟ้า “แล้วเราจะได้เจอพวกฝรั่งรือไม่”
“เจอซีลูก…ก็นี่เรากำลังจะไปดูลาดเลาชาวอังกฤษที่คนสอดแนมบอกมาเมื่อสิบวันก่อนอย่างไรเล่าว่า พวกเขาจะมาพูดจาทางไมตรีกะเจ้าเมืองไทรบุรี” เศรษฐีแห่งตะกั่วป่ามักเต็มใจเล่าขานให้นางฟังถึงความที่ใคร่รู้…มิจำเพาะตาปันจังผู้อาวุโสสมองใสไวปัญญาเท่านั้นที่เป็นแหล่งเรื่องราวแต่เก่าก่อน สมัยที่ย้อนขึ้นไป “ที่ตอนนี้คือลูกชายเจ้าพระยานครศรีธรรมราชอย่างไรล่ะลูก”
“อ้อ…เจ้าค่ะ…ได้ยินพี่ดาบพูดแว่วๆอยู่เหมือนกัน”
พี่ชายน้องชายบุญธรรมต่างก็ไม่อยู่นิ่ง ทั้งสามวิ่งไปวิ่งมาระหว่างหัวแลท้ายเรือ เนื่องด้วยเช้าวันนี้ นอกจากอากาศจะอาบด้วยแสงสีสดใสแล้ว ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่กำลังพัดข้ามมหาสมุทรอินเดียระหว่างเดือน 6 ถึง เดือน 9 ก็ยังเป็นใจให้ใบเรือสองเสาชูรับแรงลมอย่างพอดี
ดาบอายุ 22 ปี ด่าน 19 อีกทั้งด้าว น้องเล็กต่างก็หมายใจจะได้พบฝรั่งที่บิดาเอ่ยถึงมาหลายเพลา
นั่นก็เนื่องด้วยหลวงประกาศบุรีมีความคิดทันสมัย ผ่านอุปสรรคทางด้านค้าดีบุก รังนก ข้าวสารแลเกลือจากการส่งเรือสำเภาสามลำออกไปยังเมืองจีน เวียดนาม ลาวแลอินเดียมาแล้วอย่างหนัก
โดนโจรสลัดปล้นสินค้าสะบักสะบอมก็รู้รสแล้ว จึงมิวางใจผู้ใด
เมื่อมีลูกชายก็ใคร่สอนสั่งรวมทั้งบังคับให้เรียนวิชาทั้งภาษาสยาม ภาษาจีน แลภาษาอังกฤษ
‘เจ้าจะได้สืบอาชีพของพ่อต่อไปได้ด้วยไหวพริบปฏิภาณ ดูแลน้องสาวของเจ้าดุจดังน้องในไส้ ด้วยว่านางคือเลือดก้อนเดียวของขุนเทพฯเพื่อนรักนักเลงของพ่อ ที่พ่อเองก็สู้มันไม่ได้’
คราใดที่บิดาเอ่ยคำ ลูกชายทั้งสามก็มักจะหวนรำลึกถึงท่านขุนร่างใหญ่ แต่งกายรัดกุม นุ่งโจงกระเบนไหมตาหมากรุกแลสวมเสื้อแขนสั้นอยู่เสมอ ไว้หนวดเป็นแนวยาวเหนือริมฝีปาก ดวงตาโตคม ด้วยว่าเค้าโครงดวงหน้ามีเชื้อสายทมิฬที่อยู่ทางใต้ของชายฝั่งโคโรแมนเดลที่เรียกกันทั่วไปว่า ‘จูเหลี่ย’
“คุณพ่อขอรับ” ด้าววิ่งเข้ามานั่งขัดสมาธิขณะที่กำปั่นสองเสาเอียงกะเท่เร่ไปทางซ้าย เขาจึงเอียงตามด้วยความชำนาญในการนั่งสำเภา “แล้วนี่เราจะไปจนถึงไทรบุรีรืออย่างไรขอรับ”
“เราก็แวะพักกลางทางเรื่อยไป”
“คงไม่เจอโจรสลัดดอกนะขอรับ”
“ถ้าเจอ…” บิดาถามยิ้มๆ “เจ้าจะว่าอย่างไร”
ภายในเรือมีทั้งปืนแลมีดดาบอันยาวที่ขุนนางสยามแทบทั้งนั้นต้องซื้อหามาไว้ป้องกันตัว อย่างน้อยผู้ติดตามมิว่ากี่นายต่างก็ต้องถือดาบหรือท่อนเหล็กท่อนไม้ไว้คุ้มกันนายหรือป้องกันตนเองทุกเพลา
“ลูกก็จะสู้กับมันแล้วละขอรับ”
ดูราฟังพลาง ความเศร้าก็ผุดขึ้น เมื่อนึกถึงคราที่บิดามารดาหายไป ครั้นแล้วตากับยายก็ร้องไห้สะอึกสะอื้นขณะบอกกล่าว
‘พ่อกะแม่เจ้าถูกโจรสลัดฆ่าตาย’
“ลูกก็จะสู้กะมันเจ้าค่ะ” นางจึงเปล่งเสียงออกมาอย่างอาฆาตจนตาปันจังผู้นั่งถัดออกไปหัวเราะเห็นฟันดำอย่างเอ็นดู
หลวงประกาศบุรีจึงดึงตัวหล่อนไปกอดไว้ด้วยสุดแสนจะใจหายขึ้นมาเมื่อนึกถึงร่างขุนเทพอักษรแลนางเทียนผู้ถูกจอมโจรสะลอแมโยนลงเรือเล็ก ให้ลูกน้องนำมาพาดไว้กับป่าละเมาะ ติดกับหน้าผาแห่งหนึ่ง
“เบื่อดาดฟ้าหรือยังล่ะลูก” บิดาถาม “ถ้าเบื่อจะลงไปที่ห้องเคบินข้างล่างก็ได้นา”
“ยังดีกว่าเจ้าค่ะ ข้างล่างร้อนอ้าว ข้างบนเย็นดี”
แต่ทันใดนั้น เสียงกัปตันเซปาก็ดังลอดมาถึง
“คุณหลวงขอรับ ดูเหมือนจะมีใครบนฝั่งกำลังโบกผ้าแดงให้จอดรับนะขอรับ”
“ใครกันล่ะกัปตัน” ผู้เป็นใหญ่ในเมืองเล็กร้องถาม
“ไม่ทราบขอรับ…ผู้ชายขอรับ”
“เฮอะ” คุณหลวงทำเสียงขำ “เจ้าคิดว่าจะมีผู้หญิงที่ไหนอุตริมายืนล่อเหยื่ออยู่แถวนี้งั้นรึ…ว่าแต่ว่า…ถ้าเจ้าอยากรับก็ถามไถ่เสียก่อนดีรึไม่ ให้ลูกน้องปลดเรือเล็กพายไป…จอดเรือใหญ่ไว้กลางทะเลนี่แหละนะ ลมกำลังมาดีทีเดียว”
เพียงชั่วครู่ กะลาสีที่ติดมาทั้งสิบคนก็ช่วยกันปลดเรือเล็กลงลอยแล้วสองคนพายเข้าฝั่ง แต่กว่าจะถึงชายผู้ถือผ้าแดงแลถุงย่ามยืนตระหง่านอยู่บนตลิ่งก็อีกพักใหญ่
“เจ้าเป็นใคร” ลูกเรือร้องถาม…แดดเริ่มจ้าขึ้นจนชอนลูกตา
ชายท่าทางผ่าเผยในผืนผ้ามอมแมมหยักรั้ง ท่อนบนเปลือยเปล่า ผมตัดสั้นเกือบเกรียนเอาแต่กวักมือ จนกระทั่งเรือเล็กเข้าไปเทียบแทบโขดหิน จึงรีบโดดลงนั่งจนเรือเอียงโดยมิเอ่ยวาจาว่ากระไร