ลายรักบนพักตรา บทที่ 3 : หัวโขนกำมะลอ
โดย : จรัสพร
ลายรักบนพักตรา โดย จรัสพร เรื่องราวของสามพี่น้องผู้ถือกำเนิดมาในครอบครัวศิลปินทำหัวโขนที่แม้ลวดลายบนหัวโขนจะแสนงดงาม หากชีวิตของสามพี่น้องกลับไม่สวยงามอย่างโขนบนเวที คลื่นลมที่พัดผ่านเข้ามาในชีวิตครั้งแล้วครั้งเล่า จะหล่อหลอมให้พวกเขาเป็นไม้แกร่งหรือพังทลาย อ่านออนไลน์กันได้ในอ่านเอา เว็บไซต์ที่มีนิยายสนุกๆ มากมาย
**************************
แม่พิกุลกับลูกสาวคนโตยกอาหารมาเตรียมตั้งสำรับบนเสื่อปูผ้าขาว เอกรงค์ยกจานข้าวและหม้อข้าวตามมา ส่วนน้องเล็กอย่างบรรจงวาดเตรียมขันอะลูมิเนียมใบใหญ่ที่ทำน้ำแข็งไว้ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น แล้วเทน้ำใส่ให้เกือบเต็มขันหยดน้ำยาอุทัยเล็กน้อย ครูทศนั่งยิ้มดูลูกเมียช่วยกันจัดสำรับ
“วันชาติปลาทูอีกแล้ว…”
เอกรงค์มองกับข้าวที่แม่และพี่สาวยกมาวางแล้วอุทานออกมาดังๆ กับข้าววันนี้มีสามอย่างคือ น้ำพริกปลาทูโขลกเจือน้ำปลาร้าเล็กน้อย แนมผักลวกและไข่ต้ม ต้มยำปลาทูใส่ใบกะเพรา และปลาทูทอดสำหรับคลุกข้าวให้บรรจงวาด อาหารในสำรับนั้นถูกจัดมาอย่างน่ากินก็จริง แต่ที่เด็กชายโวยออกมานั้นเพราะว่าสัปดาห์นี้มีเมนูปลาทูติดกันสามวันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นฉู่ฉี่ปลาทูของเมื่อวาน ปลาทูต้มเค็มของเมื่อวันก่อน แล้วแม่ยังเอาเนื้อปลาทูต้มเค็มที่เหลือมาทำยำปลาทูให้พ่อแกล้มเหล้าเมื่อวานอีก
“ไม่เห็นเป็นไรเลย เค้าชอบกินปลาทูให้เค้ากินทุกวันก็ได้” รักสมุกพูดออกมาแล้วเตรียมคดข้าวใส่จานตามหน้าที่
“จริงด้วยวาดก็ชอบปลาทู วันชาติปลาทูก็ต้องร้องเพลงชาติปลาทูสิ ประเทศปลาทู รวมเลือดเนื้อชาติปลาทู…”
บรรจงวาดลอยหน้าลอยตาล้อพี่ชายแต่อีกฝ่ายไม่สนใจ ตักน้ำพริกปลาทูราดข้าวแล้วหยิบมะเขือลวกส่งเข้าปากตามเคี้ยวตุ้ยๆ อย่างเอร็ดอร่อย
เด็กๆ ไม่มีใครสังเกตสีหน้าแม่ที่เดินเลี่ยงเข้าครัวไปอย่างเงียบๆ มีแต่พ่อเท่านั้นที่เห็นและลุกเดินตามแม่ไป
“ตอนนี้เราต้องประหยัดนะพี่ มีปลาทูกินก็ดีแล้ว ของก็แพงขึ้นทุกวัน แล้วไหนจะต้องเก็บเงินไว้เตรียมซื้อเสื้อผ้า ถุงเท้า รองเท้าให้ลูกตอนเปิดเทอมอีก ดีที่วาดรับช่วงจากรักได้ของเอกก็ต้องซื้อใหม่หมด” แม่พูดเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นกับพ่ออย่างอ่อนใจ
“พี่เข้าใจแม่พิกุล เอาอย่างนี้แม่พิกุลห่อข้าวให้พี่ไปกินที่ทำงานนะ จะได้ประหยัดอีกสักวันละ 10 บาทพอเอามาจุนเจือได้บ้าง”
ตั้งแต่นั้นมาแม่จะเตรียมกล่องข้าว 4 กล่องของพ่อและของลูกทุกวัน กับข้าวก็จะมีไข่เจียวบ้าง ไข่ต้มบ้างยืนพื้น แล้วก็จะมีผักสดกับน้ำพริกมะขาม น้ำพริกตาแดง น้ำพริกผัดต่างๆ แล้วแต่จะยักย้ายทำ
แม้จะพยายามประหยัดอย่างไรเงินก็ยังไม่พอใช้อยู่ดี วันหนึ่งบรรจงวาดไปตลาดกับแม่เดินผ่านร้านน้าสาลี อีกฝ่ายตะโกนเรียกให้เข้าไปคุยกัน แม่มีท่าทีอิดออดแต่น้าสาลีลากเข้าร้านไปจนได้
“ผมยาวไม่เป็นรูปแล้วดัดสักหน่อยซอยสักนิดนะแม่พิกุล”
“ไม่หรอกจ้ะแม่สาลี ฉันว่าจะปล่อยให้ยาวแล้วรวบเอาดีกว่า”
แม่พยายามบ่ายเบี่ยงเพราะช่วงนี้ต้องประหยัดสุดๆ เงินทุกบาททุกสตางค์ต้องเอาไว้ใช้เป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว แต่เมื่อโดนน้าสาลีคาดคั้นหนักเข้า แม่จึงยอมเปิดปากว่าตอนนี้ค่อนข้างฝืดเคือง น้าสาลีจึงพูดกับแม่เรื่องงานที่เคยขอให้พ่อรับทำแต่พ่อไม่ยอมทำ
“ฉันมีงานรายได้ดีจะแนะนำให้แม่พิกุลทำนะ แต่ไม่รู้ครูทศจะว่ายังไง”
“งานอะไรหรือจ๊ะแม่สาลี ถ้าเป็นงานสุจริตฉันทำทั้งนั้นแหละจ้ะ”
“แม่พิกุลรู้จักหัวโขนกำมะลอไหม แบบที่ใช้รำแก้บนน่ะ มีคนเค้ามาหาคนรับจ้างทำจะเอาไปส่งขายต่างจังหวัด สั่งทีละเยอะเลย ฉันเคยบอกครูทศนานแล้วแต่ครูไม่ยอมทำ ฉันเห็นว่าเครื่องไม้เครื่องมือที่บ้านก็มีอยู่ครบ ถ้าแม่พิกุลจะทำฉันจะบอกให้”
ปกติแม่พิกุลจะเป็นช้างเท้าหลังตามสามีมาตลอด แต่เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องลุกขึ้นมาใช้ไม้แข็ง รับทำหัวโขนกำมะลอจนได้ ครูทศนั้นถึงแม้จะไม่พอใจนักแต่ก็อยู่ในภาวะจำยอม
งานหัวโขนกำมะลอนั้น ถ้าจะเปรียบก็คือของทำเทียมให้มีส่วนละม้ายกับหัวโขนที่เป็นงานศิลปะ หัวหุ่นทำด้วยกระดาษแข็ง ประดับด้วยกระดาษอังกฤษสีเงิน สีทอง สีแดง สีเขียวและสีฟ้า โรยกากเพชร และห้อยพวงมาลัยกระดาษ แม้แม่พิกุลจะมีรสนิยมในการจับคู่สีอยู่บ้างหากแต่ครูทศนั้นถือว่า งานกำมะลอไม่ควรจะมาปะปนอยู่กับงานศิลปะชั้นสูงอย่างหัวโขนที่ทำอยู่ เรื่องหัวโขนกำมะลอนี้เป็นเรื่องที่ครูทศรู้สึกไม่สบายใจทุกครั้งที่เห็น เหมือนเอางานชั้นครูมาอยู่รวมกับงานกำมะลอแบบไม่รู้ที่ต่ำที่สูง งานศิลปะหัวโขนนั้นว่ากันว่าครูแรง ถ้ามีการผิดครูกันขึ้น คนผู้นั้นก็จะมีอันเป็นไป แต่เขาไม่แน่ใจว่าการที่เอางานกำมะลอมาทำอยู่ในบ้านนั้นจะส่งผลอะไรกับครอบครัวเขาบ้างหรือไม่ หัวโขนกำมะลอจึงเปรียบเสมือนหอกข้างแคร่หรือหนามตำใจเขาอยู่ทุกวัน
บรรจงวาดอยากรู้ว่าถ้าแม่มองเห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยังจะรับทำหัวโขนกำมะลออยู่หรือไม่
ครูทศขนอุปกรณ์ทำหัวโขนของส่วนตัวขึ้นมาใช้พื้นที่นอกชาน ซึ่งมีบริเวณกว้างทำงานแทนพื้นที่ชั้นล่างที่ยกให้แม่พิกุลทำหัวโขนกำมะลอ รักสมุกนั้นแยกลงไปช่วยแม่ทำงานอย่างเต็มตัว
เอกรงค์กับบรรจงวาด พ่อให้หัดทำหัวโขนกับพ่อต่อ ตอนนี้สองพี่น้องสามารถเรียนไปพร้อมๆ กันได้แล้ว ทั้งปั้นหน้าหุ่นและปิดหุ่น ซึ่งเวลาทำงานปิดหุ่นบรรจงวาดจะวิ่งขึ้นวิ่งลงเอางานไปให้แม่ช่วยดูตลอด แม่จะช่วยสอนการใช้ไม้กวดหุ่นให้กระดาษข่อยที่แปะไปเรียบเนียนเสมอกันอย่างไร้ที่ติ
ถ้าพี่รักสมุกได้ฝีมือทำอาหารและงานบ้านงานเรือนจากแม่ บรรจงวาดเองก็ได้รับฝีไม้ลายมือทางงานช่างจากแม่มาเหมือนกัน
“วาดปิดหุ่นได้สวยเกือบเหมือนแม่ทำแล้วนะลูก” คำชมจากพ่อทำให้หัวใจน้อยๆ ของบรรจงวาดพองฟู
เวลาผ่านไปเกือบปีตอนนี้บ้านของเราไม่ฝืดเคืองอีกแล้ว ปลาทูหายหน้าหายตาไปจากสำรับจนเอกรงค์ถามหา พ่อหิ้วเป็ดย่างมาให้ได้กินกันแทบทุกสิ้นเดือน แม่ซื้อเตาแก๊สมาไว้ใช้ในครัว แล้วยังซื้อหม้อหุงข้าวไฟฟ้ามาใช้ซึ่งเป็นเรื่องที่ทันสมัยมากในยุคนั้น
เดี๋ยวนี้แม่มีทองใส่และมีเข็มขัดนาคคาดเอว แม่จะใส่เสื้อผ้าชีฟองลายดอกพอดีตัว ด้านในเป็นเสื้อยกทรงแบบเต็มตัวตัดด้วยผ้าฝ้ายติดลูกไม้จากร้านพรรณีแปดริ้ว นุ่งผ้าโสร่งปาเต๊ะคาดเข็มขัดนาค ความบางของเสื้อทำให้มองเห็นเข็มขัดนาคที่คาดอยู่เป็นการบอกถึงฐานะกลายๆ
ที่ตื่นเต้นกันมากที่สุดคือ ครูทศซื้อโทรทัศน์ขาวดำเครื่องใหญ่เอาไว้ให้ลูกๆ ได้ดูกัน เอกรงค์ถึงกับกระโดดโลดเต้นดีใจที่ไม่ต้องไปอาศัยดูที่ร้านค้าอีก
เมื่อมีโทรทัศน์ครูโสภณกับแม่สาลีก็เพิ่มเวลามาสังสรรค์ดูมวยตู้บ่ายวันเสาร์อีกรอบ แม่พิกุลก็จะละมือจากการทำงานมาทำยำเนื้อย่าง ต้มยำไก่บ้าน และกุ้งเต้นเป็นกับแกล้ม แม่สาลีนั้นมาถึงก่อนเข้าไปช่วยแม่พิกุลในครัว ไม่นานนักครูโสภณก็เดินเข้ามา เขาเห็นรักสมุกนั่งวาดหน้าหัวโขนกำมะลออยู่ก็หยิบขึ้นมาพิจารณา แล้วถือติดมือขึ้นมาบนบ้านด้วย ครูทศนั่งพอกหัวหุ่นอยู่ตรงที่ประจำเมื่อเพื่อนรักเดินเข้ามาหา
“ครูทศเคยหยิบงานของลูกดูบ้างหรือเปล่า บอกตรงๆ ผมเสียดายเส้นของหนูรักนะ วาดเส้นไพร เส้นฮ่อ ได้คมจริงๆ เด็กคนนี้มือนิ่งมาก ทำไมปล่อยให้ลูกไปทำงานกำมะลอเสียเล่า”
ครูทศหยิบงานของลูกสาวคนโตขึ้นมาพิจารณาดูเงียบๆ แล้วไม่พูดอะไร จริงๆ เขาเองไม่เคยเห็นด้วยกับการทำหัวโขนกำมะลอเลยสักนิด เพราะคิดอยู่เสมอว่างานทำหัวโขนของตระกูลเขานั้นเป็นศิลปะชั้นสูง ไม่ควรเอางานอีกประเภทมาทำร่วม ยิ่งเมื่อได้เห็นฝีมือวาดลายเส้นของลูกสาวคนโตแล้ว ครูทศเกิดความเสียดายจับใจ
“แม่พิกุล พี่มีเรื่องจะขอ…”
ค่ำนั้นเขาจึงเอ่ยปากกับภรรยาเรื่องลูกสาวคนโต แม่พิกุลเองก็เห็นด้วยกับสามี แต่ลูกสาวคนโตนั้นเปรียบเสมือนหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ หากขาดไปแล้วใครจะมาช่วยทำงาน
“ฉันเข้าใจนะพี่ ลูกเป็นคนมือนิ่งทำงานละเอียดควรได้เรียนงานชั้นครู ตอนนี้เราพอจะลืมตาอ้าปากได้บ้างแล้วแต่ก็ยังต้องส่งลูกเรียนอยู่ งานนี้รายได้ดีฉันคงต้องหาทางทำต่อละพี่”
อาจจะเป็นด้วยชะตาลิขิต วันรุ่งขึ้นลุงองอาจและป้าอ่อนญาติของแม่พิกุลมาจากพระนครศรีอยุธยา พาลูกชายชื่อไม้เอกอายุประมาณ 15 ปี มาฝากอาศัยอยู่ที่บ้าน
“ไม้เอกปีนี้มันจบ ม.ศ.3 อยากเรียนวิทยาลัยสารพัดช่าง เลยจะเอามาฝากเอาไว้กับพ่อทศ แม่พิกุล มีอะไรก็ใช้งานวานสอยมันได้ อยากให้มันได้วิชาทำหัวโขนจากพ่อทศด้วย เรื่องค่ากินค่าอยู่ไม่ต้องห่วงเดี๋ยวฉันจะส่งมาให้เอง”
ลุงองอาจรูปร่างสูงใหญ่เหมือนคนโบราณ ลุงเป็นกำนันมีบุญคุณกับแม่เมื่อคราวตากับยายตาย ลุงช่วยจัดการเรื่องที่นารักษาผลประโยชน์ไม่ให้โดนญาติๆ โกง ครูทศมองลักษณะของไม้เอกแล้วสูบบุหรี่นิ่งอยู่ ส่วนแม่พิกุลนั้นดีใจเพราะจะได้มีคนมาช่วยทำงานแทนลูกสาว จึงรีบตกปากรับคำด้วยความยินดี ไม้เอกนั้นเรียกได้ว่าเป็นคนรูปหล่อ ร่างสันทัด ผิวคล้ำ ผมหยักศก คิ้วเข้ม จมูกโด่งเป็นสัน นั่งเก็บมือเก็บเท้าเรียบร้อย แม่พิกุลรู้สึกถูกชะตากับเด็กคนนี้เป็นพิเศษ
“ดีเลยจ้ะ พี่อาจ พี่อ่อน ฉันกำลังหาคนช่วยงานอยู่พอดี เรื่องค่ากินค่าอยู่ไม่เป็นไรอยู่ด้วยกันกินด้วยกัน เดี๋ยวจัดให้นอนตรงห้องข้างล่างนี่แหละ กว้างขวางพอนอนได้อยู่ หรือพี่ทศว่ายังไง”
“แล้วแต่แม่พิกุลเห็นว่าเหมาะก็แล้วกัน” ครูทศตอบเรียบๆ
แม่พิกุลพูดถึงห้องที่ใช้ทำงานชั้นล่างซึ่งเป็นพื้นที่ที่ใช้วาดหน้าโขนและโรยกากเพชร มีบริเวณกว้างขวางอยู่พอสมควร แล้วหันมาถามสามีพอเป็นพิธีเพราะเชื่อว่าอย่างไรก็ต้องตกลงอยู่แล้ว ครูทศกับลุงองอาจคุยกันอย่างถูกคอ แม่จึงชวนป้าอ่อนไปเข้าครัวเตรียมทำกับข้าวมื้อเย็น
ป้าอ่อนมีของฝากจากอยุธยามาหลายชะลอม แม่พิกุลสั่งให้ไม้เอกกับลูกชายจอมซนช่วยกันขนไปไว้ในครัว ของฝากนั้นมีทั้งกระจับต้มที่มีลักษณะเหมือนเขาควาย ซึ่งเอกรงค์เห็นแล้วชอบอกชอบใจจะหิ้วไปครอบครองไว้คนเดียว แม่พิกุลเลยมอบหมายให้เขาแกะกระจับเอาแต่เนื้อออกมาทำแกงบวด เขาจึงชวนพี่ชายคนใหม่ไปนั่งแกะกระจับกันตรงนอกชาน
“เดี๋ยวแกะกระจับเสร็จฉันจะพาพี่ไม้ไปเที่ยวในสวนนะ รับรองสนุกอย่าบอกใครเลย”
“ไปสิไปกัน แล้วเอ้อ…น้องรักกับน้องวาดไปด้วยหรือเปล่า”
“จะเอาไปทำไม เกะกะ ไปกันสองคนนี่แหละสนุกดี”
เอกรงค์ตอบ เขาดีใจมากที่มีพี่ชายเข้ามาอยู่ในบ้าน ก่อนนั้นมีแต่พี่น้องผู้หญิงจะเล่นอะไรก็ไม่สนุก เขาจึงติดพี่ไม้แจ ในขณะที่ไม้เอกก็เล่าเรื่องท้องทุ่ง ท้องนาให้น้องชายฟังอย่างเพลิดเพลิน
ในครัวนั้นแม่กับพี่รักยังสาละวนกับของฝาก โดยมีป้าอ่อนนอนพังพาบดูอยู่อย่างอารมณ์ดี บรรจงวาดค่อยๆ คลานเข้ามาอย่างสนใจ ของฝากชะลอมหนึ่งเป็นสารพัดไข่ ทั้งไข่ห่านฟองโตที่เกิดมาบรรจงวาดเพิ่งเคยเห็น มีไข่เป็ดไล่ทุ่งที่เมื่อตอกมาแล้วไข่แดงจะมีสีส้มสด ไข่เต่านา และไข่นกกระทาใบจิ๋ว ที่พอผู้ใหญ่เผลอบรรจงวาดก็แอบหยิบไข่นกกระทาไปใส่กล่องกระดาษปูสำลีเอาไว้ ตั้งใจจะฟักให้มันเป็นตัวแล้วจะเลี้ยงไว้ดูเล่น รออยู่หลายวันไข่ไม่ฟักมดมาเจาะกินเหลือแต่เปลือกกลวงๆ มีมดเดินออกมาเต็มไปหมด
นอกจากไข่แล้วยังมีปลาร้า แมงดานา และปลาเกลือซึ่งป้าอ่อนทำเอง ปลาเกลือของป้าอ่อนคือปลาช่อนที่ตัดหัวแล้วทาเกลือตากแดดจนแห้ง ส่วนหัวที่ตัดแล้วนำมาร้อยเป็นพวงเอาไว้ต้มโคล้งหรือต้มยำ มีชะลอมผักสดพื้นบ้านที่ป้าอ่อนเก็บมาฝาก ทั้งใบบัวบก สันตะวา ผักปรัง ผักบุ้งไทยยอดอวบ มีผักดองไว้สำหรับจิ้มน้ำพริก ประเภทหอมดอง กุ่มดอง ผักเสี้ยน ผักหนามดอง ยังไม่รวมพวกผลไม้ทั้งสด ทั้งเชื่อมอีกมากมาย แม่มองของฝากแล้วหัวเราะกับป้าอ่อน
“กวาดมาหมดอยุธยาเลยไหมล่ะพี่อ่อน ดูสิตั้งมากมายก่ายกอง ขนมาทำไมนักหนาทางนี้ก็พอมีกินไม่ขาดอยู่หรอก”
“ของทางนี้จะอร่อยกว่าของบ้านเราได้ยังไง นี่พุทราแผ่น พุทราแห้งเชื่อม ของโปรดแม่พิกุล ฉันเห็นอะไรก็คิดถึงแม่พิกุล พ่อทศ และหลานๆ เลยขนมันมาหมดนั่นแหละ”
บรรจงวาดนั่งมองของฝากที่แม่กับพี่สาวช่วยกันหยิบออกจากชะลอมด้วยความสนใจ ป้าอ่อนหันมาเห็นเข้าก็พยักหน้าเรียกให้เข้ามาใกล้
“หนูคนเล็กมาหาป้าสิลูก ชื่อวาดใช่ไหมจ๊ะ”
ป้าอ่อนอายุประมาณ 45 ปี อ้วนขาวเป็นผู้ใหญ่ที่เห็นปุ๊บก็รู้ได้เลยว่า ต้องเป็นคนใจดีมากๆ เด็กหญิงมีความรู้สึกอยากไปนอนหนุนตักนุ่มๆ ของป้ามากจึงคลานเข้าไปใกล้ ป้าอ่อนใส่เสื้อผ้าลูกไม้โทเรสีฟ้า นุ่งผ้าถุงลายเทพนมสีเหลืองแกมน้ำตาลคาดเข็มขัดนาคเหมือนแม่ เมื่อเข้าไปใกล้ก็เห็นเชี่ยนหมากวางอยู่ข้างตัว ด้วยความเป็นเด็กจึงนั่งมองอย่างสนใจใคร่จะรื้อดูว่าในตะกร้านั้นมีอะไร ป้าอ่อนหันมาถามราวกับรู้ใจ
“สนใจเชี่ยนหมากป้าเหรอลูก แม่เค้าไม่กินหมากนี่นะเลยไม่เคยเห็น มา มาดูใกล้ๆ”
“ค่ะป้า เดี๋ยววาดตำหมากให้ ใส่อะไรก่อนคะ” บรรจงวาดรีบอาสาด้วยความดีใจ หยิบตะบันหมากออกมา
“ฟันฟางป้ายังดีอยู่ เคี้ยวหมากได้ไม่ต้องตำหรอกลูก”
“หาเรื่องซนอีกละสิวาด” แม่เอ็ดเบาๆ ด้วยความเกรงใจป้าอ่อน
ในเชี่ยนหมากนั้น มีซองพลูสำหรับใส่ใบพลู กรรไกรหนีบหมาก ตะบันหมาก เต้าปูน ไม้ควักปูน มีด กระปุกใส่ยาฉุน ตลับสีผึ้ง ป้าสอนให้เจียนหมากสด แล้วนำใบพลูมาป้ายด้วยปูนแดงหยิบการบูรมาโรยใส่เล็กน้อยแล้วจีบพลูม้วนให้สวยงาม ป้าเอาสีผึ้งมาสีปากแล้วค่อยๆ เอาหมากกับพลูใส่ปากเคี้ยวกร้วม น้ำหมากซึมเยิ้มออกมาทำให้ปากเป็นสีแดงสวย ป้าอ่อนหันไปคุยกับแม่ด้วยความคิดถึงไม่ได้สนใจอะไรอีก
บรรจงวาดเห็นป้าเคี้ยวหมากน่าอร่อยจึงจัดของตัวเองบ้างตามที่เข้าใจว่าจะอร่อย ป้ายปูนแดงน้อยๆ โรยการบูรเยอะๆ จะได้เย็นๆ ซ่าๆ แล้วเอาใส่ปากท่าเดียวกับที่เห็นป้าทำเป๊ะ…แล้วเคี้ยวไป เคี้ยวไป เคี้ยวไป…
“โอ้กกกกก…”
“อ้าวนั่นแม่วาดเป็นอะไรน่ะลูก ยันหมากละสิ โอ๊ยลูกคนนี้” แม่หันมาเห็นพอดีจึงร้องเอ็ดออกมา
“อย่าเพิ่งเอ็ดลูก ไปเอาน้ำมาให้บ้วนปากก่อนไป๊” ป้าบอกแม่แล้วรีบมาดูหลานคนเล็ก
“นี่ค่ะป้า” รักสมุกรีบเอาขันไปตักน้ำฝนมาส่งให้ป้าอ่อนอย่างรวดเร็ว
หลังจากคายหมากออกมาจนหมดแล้ว ป้าจับให้บ้วนปาก เด็กหญิงก็มานั่งซึมน้ำลายยืดอยู่พักใหญ่กว่าจะหาย รู้สึกเข็ดขยาดกับการกินหมากนับแต่นั้นมา
อาหารมื้อเย็นอร่อยเป็นพิเศษด้วยฝีมือแม่พิกุลและป้าอ่อน มีแกงส้มผักบุ้ง น้ำพริกปลาร้าแนมผักสด ยำไข่เต่า อาหารชนิดนี้บรรจงวาดเพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรก
ป้าอ่อนตั้งกระทะใส่น้ำใส่เกลือป่นลงไปนิดนึง พอน้ำเดือดก็เอาไข่เต่าลูกรีๆ คล้ายเม็ดขนุนใส่ลงไป เอาฝาหม้อปิดสักพักใหญ่นำมาแกะเปลือกออกไข่ขาวจะเป็นวุ้นสีขุ่นไข่แดงสุก ป้าซอยหอม ซอยพริกขี้หนู บีบมะนาว เมื่อลองชิมดูพบว่ามันอร่อยมากและไข่แดงก็หอมมัน
บรรจงวาดเป็นคนกินง่าย ชอบลองกินของแปลกๆ ขณะที่รักสมุกเบือนหน้าหนีอาหารแปลกหน้าที่พลัดหลงมาในสำรับตลอด
“ตัวกินเข้าไปได้ยังไงอะวาด มันไม่หยึยๆ เหรอ ไข่ขาวยังเป็นเมือกๆ อยู่เลย”
“อร่อยดีออกพี่รัก ไข่แดงก็มัน ไข่ขาวนุ่มๆ เข้ากับน้ำยำดีจะตาย”
เอกรงค์กับไม้เอกวิ่งตัวเปียกหิ้วกุ้งแม่น้ำเข้ามาในครัวตอนใกล้ค่ำ จึงได้กับข้าวพิเศษอีกอย่างคือกุ้งแม่น้ำเผาที่ไปงมมาได้หลายตัว ป้าอ่อนติดเตาถ่านจับกุ้งมาผ่ากลางเห็นมันที่หัวเยิ้มเป็นสีสด แล้วนำมาเผาบนตะแกรงหอมฟุ้งไปทั้งเรือน แม่ให้ลูกสาวคนโตเด็ดพริกขี้หนูสวนมาตำกับกระเทียมบีบมะนาวปรุงรสด้วยน้ำปลาดีและน้ำตาลปึก ได้น้ำจิ้มรสเด็ดไว้กินกับกุ้งเผา
ครูทศกับลุงองอาจตั้งวงเหล้า กับแกล้มค่อยๆ ทยอยมาเทียบ ไม่นานนักครูโสภณกับน้าสาลีก็มาสมทบ วงสังสรรค์วันนี้จึงครึกครื้นเป็นพิเศษ ป้าอ่อนกับน้าสาลีดูจะเข้ากันได้ดีแม้จะเพิ่งพบกันครั้งแรก ถ้อยทีถ้อยหยอกล้อกันอย่างสนุกสนาน เรื่องที่เอามาเย้ากันเป็นเรื่องในอดีตว่ากันว่าก่อนที่แม่พิกุลจะแต่งงานกับครูทศ ลุงองอาจก็เคยมาติดพันแม่พิกุลอยู่เหมือนกัน แต่ต้องพ่ายให้หนุ่มหล่อจากเมืองกรุง
“เอาจริงๆ นะถ้าแม่พิกุลเค้าไม่แต่งกับครูทศ ฉันก็คงไม่ได้เป็นเมียกำนันหรอกแม่สาลีรู้ไหม ฮ่า ฮ่า ฮ่า” ป้าอ่อนเล่าอย่างอารมณ์ดีเพราะได้น้ำเมาเข้าไปบ้างแล้ว
“ฉันเลยอกหักไงพี่อ่อน เห็นอกฉันไหมเนี่ย อวบ อวบ อย่างนี้มันหักดังเป๊าะ เพราะครูทศเค้าไปแต่งแม่พิกุลมาไง” แม่สาลีเล่าบ้าง
“ก็ฉันรอดามอกให้อยู่นี่แม่สาลีก็ไม่ปลงใจเสียที เห็นไหมนั่นคานทองรออยู่แล้วนะ” ลุงโสภณถือโอกาสขายขนมจีบน้าสาลีต่อ
เรื่องในอดีตเมื่อมันผ่านไปแล้วนำมาเล่าเรียกเสียงหัวเราะในวงเหล้าไม่มีใครถือสาอะไร ลุงองอาจกับครูโสภณก็กลายเป็นเกลอกันในเวลาไม่นานนัก แม่พิกุลนั่งยิ้มอย่างมีความสุขคอยบริการทุกคน
เด็กๆ แยกมาตั้งวงกินข้าวกัน ทุกคนตกลงจะเรียกพี่ไม้เอกว่าพี่ไม้จะได้ไม่ซ้ำกับพี่เอกรงค์ พี่ไม้ดูจะเอาใจน้องๆ เป็นพิเศษ แกะกุ้งให้ทุกคนจัดการเอาหัวกุ้งมาไว้ในจานตัวเองแล้วแอบหัวเราะ
บรรจงวาดเห็นพี่ไม้เอาข้าวคลุกมันกุ้งที่หัวกินอย่างเอร็ดอร่อย เลยเอื้อมไปหยิบหัวกุ้งในจานพี่ไม้มากินบ้าง คราวนี้พี่เอกก็หยิบพี่ไม้ไม่ว่าอะไร แต่พอพี่รักเอื้อมมือไปหยิบพี่ไม้กลับจับมือพี่รักเอาไว้ แกล้งดึงหัวกุ้งกลับมา พี่รักหน้าแดงก้มหน้างุดรีบหยิบจานลุกจากวงข้าวทันทีทั้งๆ ที่ยังไม่อิ่ม ทั้งหมดนั้นอยู่ในสายตาครูทศที่คอยลอบมองอยู่
“ลูกพี่องอาจนี่ตามันคมกริบเชียวนะครูทศ ไม่เบาหรอกเด็กคนนี้” ครูโสภณพูดกับครูทศขณะลุกจากวงมาสูบบุหรี่
“สังเกตเหมือนกันเหรอ ผมก็ดูๆ อยู่ จะปฏิเสธก็พูดไม่ออก” ครูทศตอบเพื่อนรัก
“ผมมาพูดให้ครูคิดมากหรือเปล่านี่…”
ครูทศและครูโสภณกลับมานั่งดื่มกินต่ออย่างสนุกสนานราวกับไม่มีอะไรในใจ ไม่นานนักเสียงหวานพลิ้วของไวโอลินคู่ใจของครูทศก็ดังขึ้นเป็นเพลงหวงรัก ซึ่งครูโสภณขึ้นเป็นต้นเสียง แม่สาลี กำนันองอาจ แม่อ่อน ส่งเสียงร้องประสานกันไปอย่างสนุกสนาน แม่พิกุลนั่งยิ้มอย่างมีความสุข
เมื่อเงยหน้าไปพบพระจันทร์เสี้ยวบนท้องฟ้ายามราตรี แม่สาลีจึงขอให้ครูทศเล่นเพลงแรมพิศวาส เสียงหวานๆ ของแม่สาลีเอื้อนร้องออกมาอย่างไพเราะ ท่ามกลางคืนเดือนแรมในความทรงจำของบรรจงวาด