หนึ่งในหล้า บทที่ 1 : ชีวิตเริ่มต้นหลังเกษียณ
โดย : กฤษณา อโศกสิน
หนึ่งในหล้า นวนิยายชุดโหราศาสตร์ของ กฤษณา อโศกสิน เล่าถึง ‘ยุคทอง’ ชายหนุ่มผู้มีดาวพฤหัสเป็นดาวสำคัญที่มีอิทธิพลโน้มนำชีวิตของเขาจนได้พบกับหญิงสาวนาม ‘ปรางสี’ จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์เกิดขึ้นเพราะความตั้งใจหรืออิทธิพลของดวงดาว และเขาจะเลือกเดินบนเส้นทางใด นวนิยายออนไลน์ที่อ่านเอาอยากให้คุณได้อ่านออนไลน์
เช้าวันนี้นับเป็นวันแรกคืนแรกแห่งศักราชของการเกษียณอายุราชการที่เขาเองเคยนึกไม่ออกมานานครัน จนกระทั่งถึงรุ่งอรุณของวันที่ 1 ตุลาคม 2562 คือวันนี้ที่ดูเหมือนจะไม่มีสิ่งใดผิดแปลกแตกต่างไปจากวันวานที่เขาต้องเดินสายอำลาทุกคนในกรม มิว่าผู้ใหญ่ผู้เยาว์ พ่อค้าแม่ค้าคนดังผู้เป็นเจ้าประจำ ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กเสิร์ฟ
ครั้นแล้วก็มาถึงวันอันสงัดสงบแกมเงียบเหงาเอาการเมื่อเขาลืมตาขึ้นตอน 6.00 น. อันถือเป็นกิจวัตรที่จะต้องอาบน้ำแต่งตัว ขับรถออกจากบ้าน มีอัจฉรานั่งคู่…ไปสู่หน่วยราชการที่เขาและเธอทำงานอยู่ใกล้กัน โดยแวะส่งภรรยาก่อน ต่อจากนั้นจึงจะถึงตนเองที่ต้องนำรถเข้าไปจอด ณ ลานอันแออัดคับคั่งใกล้ๆตึกที่ทำการ
อัจฉราอ่อนกว่าเขาสามปี ดังนั้น กว่าจะเกษียณอายุก็อีกสามปี ครั้นถึงวันที่เขาเกษียณฯ เธอจึงต้องขับพาหนะไปทำงานด้วยตนเอง ทิ้งเขาไว้บ้านกับเด็กรับใช้คนหนึ่ง
‘แต่พ่อก็ไม่เหงาหรอก เชื่อซี่’ เมียของเขาเคยปลอบใจ ‘แค่ที่พ่อมีตำราโหรไว้อ่าน มีคนโทร.มาคุย เผลอๆมาเองมาถามดวง ก็เพลินไปถึงไหนๆแล้ว’
‘แขกมากก็รำคาญเหมือนกัน…’
‘จริง…เงินก็ไม่ได้’ ภรรยาว่า ‘ก็พ่อทำไมไม่คิดเงินมั่งล่ะ เกษียณออกมานี่ต้องคิดเงินมั่งแล้วนะ’
‘ไม่คิด’ เขาก็เลยบอกเรียบๆสั้นๆอย่างมั่นใจเหมือนทุกครั้ง ‘ไม่คิดเพราะอะไร ก็เพราะแต่ละคนที่มา ส่วนใหญ่ก็มักจะเดือดร้อนกันทั้งนั้น ไม่เดือดเรื่องงานก็เรื่องครอบครัว เรื่องศัตรู’
เช้านี้ อัจฉราก็เลยเข้ามาโอบบ่าเขาหลังจากอาบน้ำแต่งตัว กินอาหารเช้าง่ายๆเสร็จสรรพ เตรียมขับรถคันเก่าไปรับราชการ
‘ไปละนะพ่อนะ…ถ้าพ่อเหงา ก็โทร.ไปคุยกะทิน’ เธอบอกง่ายๆ พลางลงบันได สักครู่จึงได้ยินเสียงสตาร์ตรถ ครั้นแล้วพาหนะสีน้ำเงินเข้มคันเล็กก็แล่นออกจากประตูเลื่อนอัตโนมัติ
หากก็ทำให้อินทรียืนงงไปเป็นครู่…กว่าจะอาบน้ำ สวมเสื้อเนื้อบางผ่าหน้า กางเกงผ้าฝ้ายสีน้ำเงินเก่าๆยาวครึ่งแข้งลงนั่งกินอาหารเช้าที่มีข้าวต้มหมูสับ กับผัดผักกาดขาว ตามด้วยกาแฟดำไม่ใส่ครีมและน้ำตาลโดยไม่ลืมแถมโยเกิร์ตอีกหนึ่งถ้วยจนอิ่มพอดี
หันรีหันขวางอยู่เหมือนกัน เพราะเช้านี้ไม่เหมือนเช้าของทุกวัน ไม่เหมือนแม้แต่เช้าวันเสาร์และอาทิตย์ที่เขามักจะออกเดินไปตามถนนลาดยางในซอยเพื่อทะลุแถวตลาดใหญ่ใกล้ๆนั้น นั่นก็เนื่องด้วยเป็นคนชอบซื้อสิ่งละอันพันละน้อยจากโรงกว้างอันเป็นที่รวมของแท่นก่ออิฐถือปูน จูงใจให้เพลิดเพลินเจริญอารมณ์ในสินค้าทั้งสดและแห้งหลากหลาย ได้แก่เนื้อวัว เนื้อหมู กุ้ง ปลาเป็นๆที่ขังไว้ในกะละมังสังกะสีหรือถังไม้ ถัดไปคือผักสารพัดชนิด ดอกไม้สารพัดชื่อทั้งไทยและฝรั่ง กับอีกเอนกอนันต์ของกินที่ทำสุกจากเตาใหม่ๆ ดังเช่นห่อหมกปลาช่อน หรือปลากราย หมูทอดกระเทียมพริกไทย ปลาดุกแดดเดียว ทั้งย่างแล้วและยังดิบ…มะนาว ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด อันเป็นเครื่องปรุงสำคัญนอกเหนือไปจากความเป็นสมุนไพรที่ซ่อนความเป็นยารักษาโรคไว้ด้วยอีกโสดหนึ่ง ซึ่งช่วยตกแต่งชุมชนค้าขายภายใต้หลังคามุงกระเบื้องหรืออีกหลายแห่งก็มุงสังกะสีให้กลายเป็นสถานที่น่าท่องเที่ยวเกี่ยวเก็บประจำวัน สลับกันไปกับห้องกว้างปรับอากาศอันดาษดาด้วยสินค้าเช่นกัน หากแต่ต่างกันไปตามความต้องการของแต่ละบุคคล ซึ่งชนชั้นกลางอย่างเขาไม่เคยเสียเวลาเกี่ยงงอนว่าตลาดไหนดีกว่า
อินทรีไม่เคยเก็บเอาความเดียดฉันท์มาบั่นทอนตนเอง
เรื่องชอบ-ไม่ชอบ พอใจ-ไม่พอใจ รักใครเกลียดใครจึงมักจะแวบผ่านเพียงในใจในความรู้สึกแค่ครั้งคราว
ที่จริง เขาเองก็เคยวางแผนไว้บ้างแล้วเช่นกันว่า ถ้าเกษียณอายุเมื่อใด ก็จะต้องหาทางใช้ความรู้ที่แต่ก่อนคืองานอดิเรกให้มากกว่านี้ เพื่อประคองชีวีบั้นปลายให้สงบสบายไร้พิษภัยเมฆหมอก
อาจจะลองเขียนหนังสือแนวโหราศาสตร์สักเล่มหนึ่ง ซึ่งหนักไปในทางเก็บเล็กผสมน้อย ค่อยๆนำเอาดวงชะตาใครต่อใครทั้งที่เด่นดังด้วยความดี ทั้งมีสีสันแต่ดันไม่ขึ้น รวมทั้งอื่นๆอีกหลายประเภท อันถูกกิเลสมนุษย์พัดพา มาสะสมไว้ในเล่มเดียว
กำลังจะเลี้ยวจากซอยเล็กออกซอยใหญ่ที่ต้องข้ามฟากไปตลาด ก็พลันได้ยินเสียงเรียก
“คุณลุงครับ จะไปไหนฮะ”
ครั้นเขาหันไปมอง จึงพบสายตาคู่หนึ่งกำลังจับจ้องพร้อมยิ้มกว้าง
“ไปไหนครับ ไปกับผมก็ได้ ผมไปส่ง”
“อ้าว…ยุคเองเหรอ” อินทรีก็เลยหยุดเดิน พลางชี้มือ “ไม่ต้องเลยลูก ลุงไปไม่ไกล เดี๋ยวก็ถึง”
“ขึ้นมาดีกว่าคุณลุง ผมพาคุณลุงข้ามฟากส่งหน้าซอยได้เลยนี่ครับ…คือผมก็กำลังจะไปทางขวา ต้องไปวกเลี้ยวทางโน้นอยู่แล้ว”
ดังนั้น ชายวัยหกสิบจึงอ้อมไปก้าวขึ้นนั่งอย่างรีบด่วน กันคนขับหัวร้อนคันหลังกดแตรไล่
ในที่สุด เจ้าของรถก็พาเขาเลี้ยวซ้ายออกสู่ถนนใหญ่อันคับคั่ง
“เป็นไงมั่งลูก…งานการไปถึงไหนแล้ว” ผู้อาวุโสก็เลยไต่ถาม
“ผมก็ว่าจะไปคุยกับคุณลุงเหมือนกัน” ยุคทองบอกกล่าว ขณะที่อีกฝ่ายหันมามองเขาผู้อยู่ในกางเกงขายาวดำ เสื้อขาวผูกไทดำ “พ่อก็ว่าจะไป…แต่งานรัดตัวเลยยังไปไม่ได้กันทั้งคู่”
ชายหนุ่มเล่าพลางหัวเราะนิดๆ
“ตอนนี้ลุงก็ว่างแล้ว…” อินทรีพึมพำ
“แล้วไม่คิดจะทำอะไรต่อหรอกหรือฮะ”
“จะให้ลุงทำอะไรล่ะ…ในเมื่อ…งานที่เกษียณออกมาก็เป็นงานที่หนักไปทางเอกสารมากกว่า” ผู้สูงวัยบอกกล่าวกับชายหนุ่มวัย 27 ปี ผู้เป็นลูกชายของญาติข้างอัจฉรา บ้านก็อยู่ห่างกันไม่กี่ซอย แต่ร้อยวันพันปีก็แทบจะไม่ได้พบปะเพราะต่างคนต่างก็อัดแน่นไปด้วยธุระส่วนตน “ว่าแต่ว่ายุคตอนนี้ไปถึงไหน ยังทำอยู่ที่เก่าหรือลาออกไปตั้งแต่ตอนนั้น”
“ผมก็ทำอย่างที่คุณลุงแนะไว้น่ะฮะว่าอย่าลา”
“งั้นหรือ…ตกลงลาดีหรือไม่ลาดี”
“ที่คุณลุงทายไว้น่ะดีสุดเลยครับ…พ่อเองก็ไม่สนับสนุนให้ออก” ยุคทองเล่าความ “คือตอนที่ผมมาปรึกษาคุณลุงนั่น มันก็เกือบสองปีมาแล้วนะครับ…”
“อือ…เราไม่ได้เจอกันตั้งนานขนาดนี้เลยหรือ ลุงแทบไม่อยากเชื่อเลยนะ” อินทรีพูดเรื่อยๆ “ยุคใหม่นี่อะไรๆดูมันเร็วจัง…”
“ใช่ฮะ…ผมก็ว่าเร็ว”
“ที่ยุคว่า ไม่ลาออกแล้วดีกว่าน่ะ ดียังไง”
“พอเหลือผมคนเดียว…ผู้จัดการใหญ่ก็เลยขึ้นเงินเดือน เลื่อนตำแหน่งให้”
“สมชื่อยุคทองไหมล่ะ” ฝ่ายผู้ใหญ่ยิ้มแย้ม
“คุณลุงตั้งชื่อเยี่ยมมากครับ…ใครๆก็ชอบชื่อผมทั้งนั้น” ชายหนุ่มก็เลยย้ำอีกครั้ง หลังจากบอกกล่าวมาแล้วหลายหนเกี่ยวกับชื่อที่อินทรีตั้งให้
“ตกลงผู้จัดการเขาเลื่อนตำแหน่งอะไรให้ยุคล่ะ”
“ก็ให้เป็นผู้ช่วยก่อน แล้วนี่ก็เพิ่งเลื่อนเป็นที่ปรึกษาอาวุโสฮะ” ชายหนุ่มบอกอย่างภูมิใจเมื่อเอ่ยเลยไปถึงผู้จัดการชาวเดนมาร์ค
“เขาให้ยุคทำอะไร” อินทรียังคงถามต่อ เนื่องจากวิญญาณความใฝ่รู้มีอยู่เสมอในตัวเอง ดังนั้นจึงมักไม่ปล่อยให้ผ่านมาแล้วผ่านไป
“ให้หา ‘ผู้บริหาร’ ไปป้อนตามบริษัทต่างๆน่ะครับ” อีกฝ่ายตอบพลางพารถตามคันหน้าไปเรื่อยๆจนใกล้จะถึงทางเลี้ยวขวา
“แล้วเลือกจากคุณสมบัติอะไรมั่ง” ผู้ถามถามพลางนึกแวบไปถึงคำว่า ‘ดวงชะตา’
“หลายอย่างครับคุณลุง คือเราก็ต้องสัมภาษณ์เขาน่ะฮะ” อีกฝ่ายเล่าอย่างเต็มใจพลางบอก “แล้วนี่เย็นวันศุกร์ผมก็ต้องไปกระบี่อีกฮะ ไปตามหาผู้บริหาร”
“เออแฮะ…น่าสนใจเหมือนกัน ทำไมต้องไปถึงกระบี่ล่ะ” อินทรีก็เลยถามอย่างพลอยรู้สึกตื่นเต้นไปด้วยกัน
“คุณลุงเคยไปกระบี่ไหมครับ”
“ไม่เคย”
“ผมก็ไม่เคย แต่ก็ต้องไป”
ผู้อาวุโสกว่าถึงแก่งงงันในคราวนี้
เหตุไฉนการตามหาผู้จะมาทำงานจึงถึงกับต้องไปตาม ก็นี่คืออาชีพของคนคนนั้นมิใช่หรือ
เมื่อเป็นอาชีพของเขาคนนั้น ย่อมชอบที่เขาเองจะต้องขวนขวายมารายงานตัว มิใช่รอให้บริษัทส่งคนไปตามหา
แต่ยุคทองก็แถมท้ายเป็นรายละเอียดไว้ว่า
“คืองี้ครับ…คือตอนนี้คนที่ว่านี่เขาไปเยี่ยมญาติที่นั่น…ผมเองถึงจะติดต่อบอกไป ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะดึงเขาไว้ได้เพราะเขาเองก็มีอีกราวสามสี่บริษัทน่าสนใจรอให้เลือก”
“อือ…ตำแหน่งที่ยุคทำนี่ก็น่าสนุกเหมือนกันนา” ผู้อาวุโสครึมคราง
“นี่ถ้าคุณลุงอายุไม่ถึงหกสิบ ผมก็กะทาบทามไปเป็นผู้บริหารแล้วละฮะ” ฝ่ายเด็กบอกกล่าวอย่างเพิ่งรู้สึกเช่นนั้นขึ้นมาจริงๆ
ยิ่งทำให้ผู้สูงวัยมิวายตื่นตัวกระตือรือร้น หากก็แค่เปรยเบาๆ
“แค่ปริญญาตรีบริหารธุรกิจในประเทศเนี่ยนะ”
“ปริญญาอะไรก็ได้อยู่แล้วครับ คุณลุง แต่ถ้าถึงปริญญาโท ปริญญาเอกจะหางานง่ายขึ้นไงฮะ”
“เศร้าเลย”
“อดีตหัวหน้าส่วนงานส่งเสริมเผยแพร่ของคุณลุงก็ไม่ได้ด้อยอะไรซะนักหนานี่ครับ…เพียงแต่จะเจอกับบริษัทที่เขาต้องการพอดีหรือไม่แค่นั้น…เพราะประสบการณ์เพียบนี่ก็สำคัญ”
“ก็แล้วประกาศนียบัตรครึ่งใบด้านโหราศาสตร์ของลุงล่ะ” อีกฝ่ายก็เลยแกล้งถาม
คราวนี้ยุคทองอึ้งไป หากก็ตอบเชิงเอาใจ
“บางบริษัทเขาก็มีโหรประจำนะครับ แต่เขามักอยู่กันนาน ถึงแก่เท่าไหร่ก็ยังอยู่ได้ ไม่เหมือนฝ่ายอื่น”
อินทรีก็เลยคลี่คลายความกังวลใจของชายหนุ่ม
“เปล่าหรอก ลุงก็พูดไปงั้นเองแหละ” ผู้อาวุโสบอกกล่าวอย่างจริงใจ “คือพอเห็นการจราจรวุ่นวายขนาดนี้ ก็คิดว่าอยู่บ้านน่าจะดีที่สุด อยากเขียนตำราอะไรก็เขียนไป มีเวลาค้นคว้าเหลือเฟือ พอถึงตาเบื่อ ก็ออกไปเตร็ดเตร่ได้สบาย”
“ว่าแต่ว่า…” ชายหนุ่มเอ่ยหลังจากพารถเลี้ยวขวา พลางชะลอเข้าเทียบบาทวิถีซ้ายมือ “คุณลุงอยากไปกระบี่ไหมล่ะครับ ดีกว่าอยู่เปล่าๆ”
คราวนี้ เขาเองก็นึกขึ้นมาได้ว่า น่าไป
“เออ…ก็เข้าท่าดีเหมือนกัน พอดีวันหยุดจะได้พาป้าเขาไปด้วย”
“แต่เราต้องไปเครื่องบินนะครับ…”
“บินก็บินซี จะแคร์อะไร” ‘คุณลุง’ ตอบด้วยอารมณ์ที่เริ่มกระปรี้กระเปร่าสดชื่น
“โอย…ดีใจจังครับที่คุณลุงคุณป้าจะไปด้วย”
“ค่าเครื่องบินไปกลับกระบี่เท่าไหร่ ออกไปก่อน เจอกันวันเดินทาง ลุงใช้ให้” อีกฝ่ายบอกกล่าวทันใด ไม่มีลังเลรีรอ
ขณะที่ยุคทองชะลอรถให้อินทรีก้าวลงตรงหน้าตลาด พร้อมด้วยสีหน้าข้าราชการเกษียณอายุสว่างไสวท้าทายแดดเช้า