รสอมฤต บทที่ 1 : พบเจอหนุ่มแปลกหน้า

รสอมฤต บทที่ 1 : พบเจอหนุ่มแปลกหน้า

โดย : กฤษณา อโศกสิน

Loading

รสอมฤต นวนิยายเรื่องล่าสุดที่ร้อยเรียงเรื่องราวและทุกตัวอักษร โดย กฤษณา อโศกสิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ. 2531 นักเขียนอาชีพผู้สร้างคุณูปการมากมายให้กับวงการวรรณกรรมและประเทศไทยมานานกว่า 50 ปี นวนิยายออนไลน์ทรงคุณค่าที่ อ่านเอา อยากให้ผู้รักการอ่าน ได้อ่านออนไลน์

*******************************

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

ร้อยรัดกำลังยื่นมือออกไปด้วยหมายจะหยิบโถเล็กมีลวดลายที่หล่อนเองก็ไม่รู้ว่า อายุของของเก่าชิ้นนี้ยาวนานเพียงไร ด้วยว่ามิได้ต้องตาเพราะเก่าเพียงไหน แต่ต้องใจด้วยความงามของลวดลายบนเนื้อกระเบื้องมากกว่า

หากก็มีมือใครอีกคนยื่นออกมาพร้อมกัน

หล่อนก็เลยหันไปมอง

จึงพบดวงตาสองคู่ของสองคนกำลังจับจ้องพร้อมยิ้มนิดๆอย่างหยิบยื่นไมตรีจิตจริงใจ

“คนไทยหรือเปล่าครับ” ผู้ที่ยืนชิดเอ่ยถาม “ถ้าใช่…ก็ถือว่ามาเที่ยวนี้โชคดี ได้พบคนไทยถึงสองคน”

“อีกคนใครคะ” หญิงสาวถามไถ่…สบสายตากับคนที่ยืนถัดไป

“เราบังเอิญพักโรงแรมเดียวกันน่ะฮะ” คนแรกบอก “พบกันเมื่อวานซืนที่ห้องอาหาร พอดีใจตรงกันคือตั้งใจมาดูตลาดของเก่าเหมือนกัน วันนี้ก็เลยให้รถโรงแรมมาหย่อนไว้นี่ แล้วคุณล่ะครับ พักที่เดียวกับเราหรือเปล่า”

พลางเขาก็เอ่ยชื่อที่พัก

“คนละที่ค่ะ…” ร้อยรัดตอบความ “พักกับเพื่อนอีกคน เดินดูของอยู่โน่น”

หญิงสาวบอกกล่าวพร้อมนัยน์ตามองเลยไปไกลที่ที่เพื่อนยืนเลือกสินค้า

ตลาดขายของเก่าแห่งเมืองอองบวส (Amboise) แออัดขนัดแน่นด้วยวัตถุนานาราคาดี แม้จะเคยมีเจ้าของ โดยเจ้าของจะเป็นใครก็ช่างเถิด ขอให้เป็นของประเสริฐมีระดับไม่แพงนักรวมทั้งหาไม่ง่าย ผู้ซื้อที่กำลังเดินขวักไขว่หนาตาในยามเช้าวันนี้ ต่างก็พร้อมจ่ายเพื่อเก็บไว้ จะเพียงแต่ตั้งโชว์หรือนำไปจำหน่ายต่อเพื่อเอากำไรทั้งในและนอกประเทศก็ย่อมเสริมส่งคุณค่าให้ของเก่าตลาดนี้ที่งามอย่าง ‘มีคลาส’ ได้เดินทางทั้งใกล้และไกลไปอยู่กับเจ้าของใหม่ผู้เพียบด้วยจิตวิญญาณแห่งคนรักของเก่า

“คุณตั้งใจจะซื้ออะไรล่ะครับ ผมช่วยเลือกให้ได้” คนแรกท่าทางเป็นหนุ่มโก้ เห็นได้จากผมหวีเรียบ นัยน์ตาที่แลผ่านแว่นสีน้ำเงินจางมีราคาดูวาววับ หนวดเส้นบางขริบไว้ทั้งเหนือริมฝีปากและคางอย่างเท่ ช่วยให้เขาทั้งเก๋และดูกร่างรวมกันไป…เอ่ยถาม

ตรงกันข้ามกับอีกคนที่เขาว่าเขาพบในโรงแรม

คนนี้เป็นหนุ่มผิวคล้ำ คิ้วดำยาว นัยน์ตานิ่ง ไม่สวมแว่น คงเห็นว่าแดดสายแห่งปลายเดือนพฤษภาคมไม่ถึงกับระคายนัยน์ตา จะได้เลือกสรรสินค้าบนแผงลอยตรงหน้าซึ่งก็คือเครื่องแก้วเครื่องกระเบื้องได้ถนัด แก้วนั้นก็มีสารพัดอย่าง ทั้งเรียบและเจียระไน มีแก้วน้ำแก้วไวน์แก้วบรั่นดีแก้วค็อกเทล เครื่องกระเบื้องมีทั้งจานชามเป็นชุดของฝรั่งเศสแท้ เขียนสีมีลวดลายทั้งดอกไม้ นก ผีเสื้อ พวงมาลา ผู้คนในชุดยาวกรอมเท้าหรูหรา รวมทั้งสินค้าประเภทอื่นอีกหลากหลาย

เรียกร้องความชื่นบานชื่นใจให้คนรักของเก่าได้เดินชม

“ก็ขึ้นอยู่กับว่าอะไรสวยน่ะค่ะ” ร้อยรัดตอบพร้อมยิ้มพราย อาจด้วยนัยน์ตาโตกลมใสของหล่อนก็ได้คือเสน่ห์…ดึงดูดเพศชายให้สนใจแต่แรกเห็น พร้อมด้วยแสงเย็นจากริมฝีปากสีอ่อน งอนช้อยตรงกลีบมุม “คงต้องสนใจทุกประเภทแหละค่ะ ทั้งของเล็กของใหญ่ที่เอาไปแต่งบ้านได้”

พอดีหล่อนมองเลยไปจึงแลเห็นผู้ที่ยืนถัดไปมียิ้มนิดๆผุดขึ้นในแสงตาเรียบเต็ม ราวน้ำในสระที่ไม่มีสิ่งใดกล้ำกราย

“ถ้างั้นผมช่วยเลือก” คนแรกกระวีกระวาด หยิบถ้วยกระเบื้องบลูแอนด์ไวท์ที่ปากกว้างสี่นิ้วครึ่ง รอบถ้วยทำเป็นพรึงลูกกรงซ้อนตั้ง เขียนสีน้ำเงินเข้มรูปสร้อยดอกไม้ไว้รอบขอบ พร้อมจานรองลวดลายเดียวกัน “ชุดนี้ดีไหมฮะ”

“ดีค่ะ” หญิงสาวพยักหน้า “คุณเลือกของเก่งนะคะ”

“ผมมีร้านไงฮะ”

“อ้อ”

แต่ผู้ที่ยืนฟังไม่มีทีท่าจะอ้อตาม ราวกับรู้จักกันดีแล้ว ถ้าอีกฝ่ายไม่หันไปเอ่ย

“ผมก็เลยยังไม่ได้แนะนำตัวว่า คุณแม่ผมมีร้านขายโบราณวัตถุอยู่กรุงเทพฯ…นี่ผมก็เลย…เอ้อ…มาลองเตร่ๆดู เพราะรู้ข่าวว่าจะมีของเก่ามาเปิดแผงขายที่นี่ คือเขาจะมาขายแค่ปีละสองครั้ง ครั้งละวันเดียวเท่านั้นครับ”

ยังไม่ทันจะจบคำ วันทาก็วิ่งมาละล่ำละลัก

“ร้อย…เราชอบชุดชาร้านโน้นจัง ลายสวยมาก สำหรับแปดที่นะจ๊ะ ไม่รู้ว่าเยอะไปไหม จะขนไปยังไง”

“กระเป๋าเธอเหลือที่ไหมล่ะจ๊ะ”

“คุณจะไปไหนกันอีกหรือเปล่าล่ะฮะ…ฝากไปในกระเป๋าผมก็ได้ มีที่พอ”

วันทาก็เลยหันมาสบตาเพื่อนเชิงถาม

‘นี่มันใครกัน’

ร้อยรัดก็เลยหันไปทางสองชาย

“คุณช่วยแนะนำตัวให้เพื่อนฉันทราบหน่อยดีกว่า เป็นต้นว่า ชื่ออะไร จะได้เรียกถูกไงคะ”

“ผมชื่อโจม อีกคนชื่อปูนปั้น” คนท่าทางเท่ตอบ

“ปูนปั้น” ร้อยรัดหันไปเบิกตาโตกลมใส่เขา “ชื่อ…เอ้อ…แปลกดีจังค่ะ…ไม่เคยได้ยินเลย”

“ก็…” คนนัยน์ตานิ่งเริ่มไม่นิ่ง หากก็ไม่ระวิงระไวเหมือนอีกคน “พระท่านตั้งให้น่ะครับ…ตามกฏเกณฑ์การตั้งชื่อ”

“อ้อ…เข้าใจแล้วค่ะ…ชื่อคุณไม่มีอักษรกาลกิณี”

“ว่าแต่คุณสองคนชื่ออะไรล่ะฮะ” โจมถามไถ่

ร้อยรัดก็เลยบอก พลางดูนาฬิกา

“เห็นจะต้องรีบซื้อรีบไปแล้วละค่ะ…รถจะมารับสิบโมงครึ่งไปปราสาทชองบอด์”

“อ้าว…ผมกับคุณปั้นก็กำลังจะไปเหมือนกัน” โจมบอกกล่าว ยิ้มเห็นฟันซ้อนกันตรงมุมปาก ช่วยให้ดูเก๋ “เราจ้างเขาไปส่งถึงปารีสเลยครับ เพียงแต่ขอแวะชาโตชองบอด์กับพระราชวังฟองเตนโบลสักหน่อยแค่นั้น ถึงปารีสค่ำก็ไม่เป็นไร ผมจองโรงแรมไว้เรียบร้อยแล้ว แล้วคุณล่ะฮะ”

“ก็คงแวะเท่าที่จะแวะได้ค่ะ”

“มีรถมาด้วยไหม ถ้าไม่มีก็ไปด้วยกันได้นะฮะ…ผมกับคุณปั้น ก็แค่สองคน คุณอีกสองรวมเป็นสี่ รถผมเบนซ์แวนหกที่นั่งสบายๆครับ”

“ขอบคุณค่ะ” ร้อยรัดตอบอ่อนหวาน “ฉันก็จ้างรถมาเหมือนกันค่ะ”

หล่อนน่ะหรือจะกล้านั่งไปกับชายแปลกหน้าตามลำพัง แม้จะมีด้วยกันสองคนก็ตาม

“ถ้างั้นซื้อของเสร็จต่างคนต่างไป แล้วพบกันที่ชาโตนะครับ” โจมหยอดไว้ทั้งยิ้มและปรายนัยน์ตา

 

ร้อยรัดเพียงแต่ซื้อของเล็กเติมอีกไม่กี่ชิ้น เนื่องด้วยเมื่อคืนหล่อนชวนสองสามีภรรยาเจ้าของโรงแรมเล็กแต่ใหญ่ด้วยบริการอันเป็นที่พักทุกครั้งที่เดินทางมาฝรั่งเศส มาช่วยกันเลือกสรรสินค้าจนกระทั่งจ่ายเงินเรียบร้อย ขนกลับไปเก็บไว้ที่ที่พักจนเสร็จสิ้น เพียงเพื่อจะใช้ชั่วโมงนาทีที่เหลืออยู่พาวันทาเวียนชมเมืองอองบวส เมืองหน้าด่านแห่งฝั่งแม่น้ำลัวร์ (Loire) จะได้มีชีวิตชีวาส่งท้ายปลายฤดูใบไม้ผลิ โดยเฉพาะเมื่อวานซืนที่สองสาวมีโอกาสเข้าชมพิพิธภัณฑ์เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo Da Vinci) ได้เข้ารวมกลุ่มกับผู้สูงอายุวัยคุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยายผู้พร้อมใจกันแต่งกายย้อนยุคสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งมายืนเรียงรายกันบนลานเล็กๆฝั่งตรงข้ามพิพิธภัณฑ์ เนื่องด้วยเมื่อวานเป็นวันฉลองของพิพิธภัณฑ์พอดี ครั้นแล้วต่างก็ควงแขนกันเต้นโฟล์ค แดนซ์ ราว 8-10 คู่ คุณยายผู้หนึ่งแลเห็นนักท่องเที่ยวชาวเอเซียยืนอยู่ จึงพยักพเยิดให้เข้าไปถ่ายรูปหมู่ด้วยกัน

ครั้นถึงเมื่อวาน จึงไปชมปราสาทเชอนองโซ (Chenonceau) หนึ่งในปราสาทงดงามแห่งลุ่มแม่น้ำลัวร์ ซึ่งตั้งอยู่กลางแม่น้ำ เชอร์ (Cher)

“ว่าแต่ว่า นี่เราคิดถูกหรือเปล่าที่จะลาออกเสียน่ะ” วันทาเอ่ยหลังจากรถเริ่มแล่นออกจากลาน มุ่งตรงไปยังที่หมายคือ ปราสาทชองบอด์ (Chambord)

“ไม่รู้เหมือนกัน…” ร้อยรัดพึมพำ “เกิดเสียดายเงินแสนขึ้นมาอีกแล้วซีใช่ไหม…ก็น่าเสียดายถ้าไม่คิดว่างานหนัก”

“งานหนักเป็นบ้า” อีกฝ่ายถอนหายใจ “ใครต่อใครคงนึกซีนะว่าเป็นนางฟ้าบนเครื่องบินนี่มันแสนโก้ เงินก็หนา…เฮ้อ…นี่…ถ้าไม่เริ่มเจ็บหลังปวดไหล่ก็คงยังไม่คิดจะลาออกหรอกจ้ะ”

วันทาชวนร้อยรัดมาฝรั่งเศสคราวนี้ หมายใจมาเที่ยวส่งท้ายโดยนำวันลาพักที่ยังเหลือมาใช้ให้หมดก่อนตัดสินใจอีกครั้ง

“เสียดายเงินเดือนกับเบี้ยเลี้ยงแทนเหมือนกัน” ร้อยรัดพึมพำเมื่อนึกถึงรายได้แสนกว่าของเพื่อนที่ทำให้วันทาสามารถผ่อนรถใหม่ได้ มีเงินให้พ่อแม่ใช้เดือนละสองหมื่น ก็ยังเหลือเก็บ

“แต่ถ้าเราไม่รีบลาออกตั้งแต่ตอนนี้ แก่อีกหน่อยก็คงหางานทำยาก โดยเฉพาะนี่มันเข้ายุคอะไรแล้ว เธอก็รู้” เพื่อนสาววัย 26 ปี แก่กว่าร้อยรัด 2 ปีมีกังวล “อย่างร้อยน่ะสบาย มีร้านของตัวเอง ได้เดินทางมาดูของสวยของงามเข้าร้าน เท่ากับทำงานด้วยเที่ยวด้วยพร้อมกัน”

“ทำงานที่รักที่ชอบ มันก็เลยดีไปร้อยแปด” หญิงสาวบอกอย่างคนเดินทางไปกลับปีละสองสามครั้งจนอยู่ตัว มีปริญญาสาขามัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กับสาขาคอมพิวเตอร์เป็นประกัน

“นายนั่นเขาก็มีร้านเหมือนกัน ขายโบราณวัตถุเหมือนกัน แต่เธอก็ไม่ยักบอกเขา”

“ไม่ต้องบอกก็ได้ เราเองก็ยังไม่รู้ว่าสองคนนั่นคือใคร”

“เออจริง” วันทาคล้อยตาม “เธอนี่รอบคอบดีจัง”

“คนสมัยนี้น่าไว้ใจนักหรือไง” หญิงสาวหัวเราะ

รถแล่นจากกลางเมืองพาไปถึงปราสาทชองบอด์ก่อนเที่ยง ทั้งคู่ก็เลยรีบไปต่อแถวซึ่งเริ่มแน่น เข้าไปกินอาหารที่ร้านในบริเวณด้านหน้าชาโต หากก็ได้ยินเสียงดังขึ้นข้างๆ เมื่อหันไปจึงพบโจม เขายิ้มแจ่มใสฟันขาว

“ผมซื้อตั๋วเตรียมไว้ให้คุณสองคนด้วยแล้วละครับ”



Don`t copy text!