ศรีนาง ตอนที่ 1 : อาภัพ

ศรีนาง ตอนที่ 1 : อาภัพ

โดย : เมษาริน

Loading

ศรีนาง โดย เมษาริน นวนิยายที่อ่านเอานำมาให้ทุกคนได้อ่านออนไลน์ทาง anowl.co กับชะตาชีวิตของ ศรีนาง สาวชาวบ้านผู้อาภัพเพราะบิดามารดาจากไปด้วยโรคร้าย และนั่นเป็นแรงผลักดันให้เธออยากเป็นหมอ แต่เธอขาดก็คือโอกาสดีๆ นั้น กระทั่งโชคชะตาชักนำให้เธอช่วยชีวิตนายทหารหนุ่มชาวกรุง ผู้ทำให้ชีวิตของเธอไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

มีนาคม พุทธศักราช 2529

“ไก่เถือน เหอ ขันเทือนทั้งบ้าน

ลูกสาวขี้คร้าน นอนให้แม่ปลุก

ฉวยได้ด้ามขวาน แยงวานดังพลุก

นอนให้แม่ปลุก ลูกสาวขี้คร้าน

เสียงร้องเพลงชาน้อง (1) อันคุ้นชินมาพร้อมกับอะไรบางอย่างกระทุ้งฝาเรือนเสียงดังปังทำหญิงสาววัยต้นสะดุ้งตื่นทั้งที่ยังเช้าอยู่มาก หลังตั้งสติ สาวน้อยวัยเพียงสิบแปดปีรีบพับผ้าห่มวางบนหมอน เก็บพับฟูกที่เย็บเองชิดมุมหนึ่งของผนัง ตามด้วยมุ้งสี่มุมเก่าคร่ำคร่ามีรอยปะชุนบ่งบอกว่าใช้มานานหลายปี

“นอนกินบ้านกินเมือง นอนให้ตายโหง…” คนพูดเปลี่ยนจากบทกลอนคำร้องเป็นกระแทกเสียงแข็ง บ่นลอยๆ ส่วนคนฟังรู้ดีว่าหมายถึงใคร สิ่งแรกที่แม่เฒ่าหรือยายทำทุกเช้าคือดุด่า…ด่าทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิด ด่าเพียงเพราะเห็นว่าเธอเป็นตัวแทนพ่อกับแม่ คนที่แม่เฒ่ายกมาสรรเสริญทุกครั้งที่มีโอกาส…

‘อัปรีย์ กูฉิบหายก็เพราะพ่อแม่มึง’

ถ้าจิตใจอ่อนไหวเหมือนไผ่ต้องลมเธอคงร้องไห้ฟูมฟายขอตายตามพ่อกับแม่ไปนานแล้ว แต่สิ่งที่ ‘ศรีนาง’ มีติดตัวนอกจากสติปัญญาคือความอดทน

หญิงสาวขยับเคลื่อนไหวในความมืดอย่างคล่องแคล่ว เธอไม่ได้จุดตะเกียงเพราะเสียดายน้ำมันก๊าด อาศัยแสงจันทร์นวลบนท้องฟ้ายามใกล้รุ่งซึ่งทอดแสงอุ่นลอดฝาบ้าน

บ้าน…ศรีนางเรียกสิ่งก่อสร้างที่มีเพียงสี่เสา หลังคามุงสังกะสี ฝาทำจากเศษไม้เหลือๆ ว่าบ้าน อดีตตรงนี้เคยเป็นเรือนข้าวหรือยุ้ง แต่เพราะเหตุจำเป็นบางอย่างทำให้เธอต้องอัปเปหิตัวเอง ย้ายจากเรือนหลังใหญ่ริมคลองมาอยู่ในนี้ ยังดีที่เจ้าบ้านยังปรานี ไม่ไล่ให้ไปอยู่ในคอกหมูหรือเล้าไก่

ศรีนางวิ่งลงบันไดที่มีเพียงสามขั้นเร็วๆ แล้วเดินตัดลานบ้านซึ่งแม่เฒ่าตื่นตั้งแต่ตีสี่กว่าๆ เพื่อกวาดใบไม้ร่วงเมื่อคืน ภาพแรกที่ศรีนางเห็นทุกเช้าคือยายจันทร์ถือไม้กวาดทางมะพร้าว กวาดลานดินจนเรียบกริบไร้ใบไม้ร่วงและไม่ต้องสงสัย นางใช้ด้ามไม้กวาดเคาะฝาเรือนข้าวเพื่อปลุกหลานสาวให้ลุกมาช่วยงาน

กิจวัตรประจำวันของศรีนางคือเดินจากเรือนเล็กๆ ที่ใช้ซุกหัวนอนข้ามลานดินตรงไปเรือนหลังใหญ่ริมคลอง เดินผ่านใต้ถุนสูงที่มีแคร่ไม้ไผ่ แวะล้างหน้าล้างตาจากโอ่งมังกรสีแดงใบใหญ่ ก่อนใช้บันไดหลังตรงเข้าครัวเพื่อหุงข้าวให้สมาชิกที่อาศัยบนเรือนนี้

ยายจันทร์ เป็นเจ้าของบ้านใหญ่ริมคลองอิปัน นางเป็นลูกสาวคนเล็กของท่านขุนนา ในอดีตท่านขุนเป็นข้าราชการที่คนในพื้นที่ให้ความเคารพยำเกรง แม้รูปกายภายนอกจะเป็นชายไทยรูปร่างสูงใหญ่ ผิวเข้ม หน้าตาน่าเกรงขาม ทว่าท่านขุนเป็นคนใจดี ใจถึง และเป็นที่พึ่งของคนในปกครอง

ท่านขุนนามีลูกสี่คน ทั้งหมดเป็นผู้หญิง ยายจันทร์เป็นลูกคนสุดท้อง ท่านขุนนาจึงรักและเอ็นดูกว่าใคร ก่อนท่านจากไปด้วยโรคชราได้ยกบ้านใหญ่หลังนี้รวมถึงที่ดินในตลาดให้ยายจันทร์ ทว่าบ้านริมคลองเป็นสมบัติเพียงชิ้นเดียวที่ยายจันทร์รักษาไว้ได้

“นุ้ย”

ศรีนางที่กำลังซาวข้าวในกระทะใบบัวชะงัก เธอหันไปตามเสียงเรียก ยิ้มหวานอวดฟันขาว ส่งให้ดวงหน้าเรียวเล็กสะอาดหมดจดน่ามองกว่าเดิม เธอเช็ดมือกับผ้าถุงก่อนเอ่ยถามคนมาใหม่เสียงใส

“พ่อเฒ่าเอาไหรม่าย” หญิงสาวพูดใต้ด้วยสำเนียงพื้นถิ่น เธอส่งยิ้มประจบประแจงก่อนพลิกลิ้นเปลี่ยนไปพูดภาษากลางโดยไม่ติดสำเนียง “ตาจ๋าจะเอาอะไรจ๊ะ”

“นุ้ยต้มน้ำร้อนให้หน่อย ตาจะชงชา อ้อ หุงข้าวเสร็จแล้วก็ไปหาตานะ” ตาสายคุยกับหลานสาวด้วยภาษากลาง ท่านเกิดและเติบโตบนที่ราบสูง พื้นเพเป็นคนจังหวัดอุดรธานี ตอนหนุ่มๆ นั่งรถไฟลงใต้มาเรื่อยๆ จนกระทั่งพบรักกับลูกสาวคนเล็กของท่านขุนนา

ตาสายไม่เหมือนชายชราวัยย่างเลขหกทั่วไป ผู้สูงวัยไว้ผมยาวระต้นคอ ขมวดเป็นปมเล็กๆ ไว้ท้ายทอย เครื่องแต่งกายก็ทันสมัยคือสวมกางเกงขาสั้นเสมอเข่าที่มีกระเป๋าใส่ของมากมาย ศรีนางรู้ว่าในกระเป๋าของตาสายมีใบจาก ยาเส้น ไม้ขีด และยาทัมใจหลายซอง ตามักใส่เสื้อเชิ้ตผ้าฝ้ายสาลูสีกากี มองเผินๆ เหมือนบุรุษไปรษณีย์ แต่ความพิเศษกว่านั้นคือตาสายมีสิบเอ็ดนิ้ว คือมีนิ้วหัวแม่มือซ้ายเพิ่มมาอีกหนึ่ง

เพราะความแตกต่างกระมัง ทำให้ตาสายไม่เหมือนคนปกติทั่วไป ท่านมีสัมผัสที่หกและมีวิชาคาถาติดตัว ตาสายยึดอาชีพ ‘หมอบ้าน’ มาหลายสิบปี นอกจากตรวจดวงชะตา ดูฤกษ์งามยามดี ตั้งศาลพระภูมิ สะเดาะเคราะห์ แต่ที่ใครๆ ต่างยกให้ตาสายเป็นหมอเทวดาคือวิชารักษาคนโดนงูกัดหรือเรียกว่าหมองูนั่นเอง

ตาสายไปๆ มาๆ อีสานใต้ตั้งแต่หัวดำจนหัวหงอก จึงมีสำเนียงภาษาที่ใช้ผสมปนเปจนแยกไม่ออก เมื่อพูดกับหลานสาวคนเล็ก ตาสายมักใช้ภาษาไทยกลาง เพราะเห็นว่าหลานฉลาดและใฝ่รู้ ตาสายดูลายมือเป็นก็จริง แต่ท่านยึดมั่นในปณิธาน คือไม่ดูดวงให้ลูกหลานเด็ดขาด ทว่าทุกครั้งที่มองหน้าศรีนาง ตาสายลอบถอนใจ หลานสาวคนเล็กหน้าตาจิ้มลิ้มน่าเอ็นดู ตาโต แก้มป่อง จมูกเล็ก ใบหูบาง รูปหน้าเรียว

ศรีนางไม่เหมือนสาวใต้ ไม่เหมือนสาวอีสาน เครื่องหน้าแปลกตาด้วยเชื้อสายหลากหลาย บางมุมก็คล้ายแม่ซึ่งเป็นลูกผสมอีสานใต้ บางมุมก็คล้ายพ่อที่เป็นลูกหลานสายตรงของชาวจีนฮกเกี้ยนที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาอยู่เมืองไทย แต่ลักษณะ ‘โหงวเฮ้ง’ ตามตำราที่เคยร่ำเรียน บอกไว้ว่าเป็นหญิงอาภัพ

ในวัยเพียงสิบแปด…ศรีนางก็กำพร้า เมื่อพ่อแม่จากไปก่อนวัยอันควรทั้งคู่ ทิ้งลูกสาวคนเดียวไว้กับปู่ย่าตายาย

ภาพที่ปรากฏในห้วงภวังค์จิตของตาสายมักคลุมเครือเต็มไปด้วยหมอกควัน แม้แต่ชายผู้มีญาณสัมผัสลึกลับ ยังไม่อาจทำนายอนาคตหลานสาวคนเล็ก

“ไม่โร้อีเรียนทำไหร่ จบแล้วถึงทำพรือ รับจ้างหุงข้าวเหอะ”

คนพูดคือป้ารุ่ง ป้าแท้ๆ ของศรีนาง สิ่งแรกที่ทำหลังตื่นคือพูดจากระทบกระแทกแดกดันหลานสาวซึ่งหมายความว่า…เรียนสูงไปก็เท่านั้น

ป้ารุ่งเป็นลูกคนโตของตากับยาย เป็นหญิงวัยกลางคนรูปร่างสูงใหญ่ ผิวคล้ำกร้านแดด ผมหนาหยิกฟู หน้าตาคล้ายท่านขุนนา ส่วนแม่ช้องนางของศรีนางเป็นหญิงสาวรูปร่างบอบบาง ผิวสีน้ำผึ้งเนียนสวย และหน้าตาคมคายน่ามอง ป้ารุ่งอิจฉาแม่ตั้งแต่เด็กๆ เมื่อยายจันทร์มีลูกสาวเพียงสองคนคือคนโตกับเล็กและมีลูกชายอีกสาม ฉะนั้นป้ารุ่งจึงโดนเปรียบเทียบกับน้องสาวตลอด กระทั่งสิ้นแม่ของศรีนาง คนเป็นลูกจึงได้รับมรดกความเกลียดชังจากป้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“นุ้ยอยากเรียน” ศรีนางไม่เขินอายกับการบอกเล่าความฝันของตัวเองให้คนรอบข้างรับฟัง “อยากเรียนต่อ อยากเข้ามหา’ลัย”

“ได้เรียนถึงมอหกก็บุญราสา” รุ่งใช้สายตาดูแคลนหลานสาว “พอมีผัว มีลูก ก็อยู่บ้านเลี้ยงลูก เรียนให้เสียเบี้ย เสียเวลา”

อย่างน้อยเรื่องนี้ป้ารุ่งพูดถูก ปัญหาของศรีนางไม่ได้ขาดแคลนเงินกับเวลาเท่านั้น แต่เธอยังขาดสิ่งที่เรียกว่า…โอกาส

 

“ตาเพิ่งได้เล่มนี้มา อ่านให้ฟังหน่อย” ตาสายเลื่อนหนังสือให้หลานสาวตอนที่อีกฝ่ายค่อยๆ คลานเข่าเข้ามาหลังหุงข้าวเสร็จ

“เล่มใหม่เหรอคะ” ศรีนางลูบคลำหนังสือในมือ ดวงตาเป็นประกาย

“เฒ่าแดงเอามาฝาก” เฒ่าแดงที่ตาสายพูดถึงเป็นหนึ่งในคนไข้ที่รอดตายจากพิษงูเห่า หลังจากหายดี นายแดงผู้ซึ่งกว้างขวางมักนำของหายากมาให้ตาสายเสมอ โดยเฉพาะหนังสือจากปลายปากกาของน้อย อินทนนท์ “หุงข้าวเสร็จแล้วหรือ”

“เสร็จแล้วค่ะ นุ้ยดง (2) ไว้” หญิงสาวยิ้มกว้าง

“วันนี้ต้องทำอะไรบ้าง” ตาสายถามน้ำเสียงเอ็นดู

“แม่เฒ่าให้ไปช่วยตัดดอกไม้กวาด” ศรีนางแอบถอนหายใจ ดอกไม้กวาดที่ว่าคือดอกอ้อ ซึ่งต้องเดินเท้าเข้าป่าหลายกิโลเมตร เธอไม่ได้หวาดหวั่นกับระยะทาง แต่ทุกครั้งที่ไปตัดดอกอ้อมาทำเป็นไม้กวาดขายนั้นต้องแลกกับผิวหน้าผิวกายที่คันยุบยิบ

“ตัดหวายด้วยหรือเปล่า”

“หวายตัดแช่น้ำไว้แล้วจ้ะ”

“ปีนี้คนสั่งไม้กวาดเยอะ” ตาสายมองข้ามไหล่หลานสาว จับจ้องระเบียงบ้านซึ่งค่อนข้างกว้างเพื่อใช้เป็นที่ทำงานของยายจันทร์ แม้เป็นคนปากร้ายแต่ยายจันทร์มีความสามารถเรื่องงานฝีมือ ทำไม้กวาดดอกอ้อ เสื่อกระจูด งานจักสานอื่นๆ อย่างกระบุง ฝาชี หรือเครื่องมือทำมาหากินอย่างไซดักปลา ชนาง ตะข้องก็ทำเหมือนกัน “ตาจะขึ้นอีสาน”

ศรีนางเพียงพยักหน้ารับ ทุกคนในบ้านรู้ว่าตาสายใช้ชีวิตเหมือนสายลมคือเป็นอิสระ ไม่อยู่ในกฎเกณฑ์ของใคร และเป็นอย่างนี้ตั้งแต่หนุ่มๆ คือขึ้นเหนือล่องใต้ทุกปี ปีละหลายเดือน ตาสายมักออกเดินทางช่วงเก็บเกี่ยว กลับไปหาญาติพี่น้อง

“เมื่อไหร่คะ”

ตาสายไม่ตอบ อันที่จริงช่วงนี้ของปีชายชราจะออกเดินทางเพื่อกลับบ้านเกิด แต่ปีนี้…ความรู้สึกบางอย่างฉุดรั้งให้ตาสายยังอยู่ที่นี่เพื่อรอ…รอบางอย่างที่เกินอำนาจหยั่งรู้

“นุ้ยไปด้วยได้ไหม” ศรีนางกระซิบขอเสียงเบา

“ลำบาก” ตาสายมองหลานสาวผ่านแสงจากตะเกียงน้ำมันก๊าด แสงเงาตกกระทบเสี้ยวหน้าละมุน เกิดภาพงดงามแปลกตา “ลำบากกว่าที่นี่”

ผู้สูงวัยหมายความอย่างนั้น ภาพความแห้งแล้งบนที่ราบสูงปรากฏชัดในห้วงความคิด อย่างน้อยที่นี่ก็อุดมสมบูรณ์ บนฟ้ามีฝน ในคลองมีกุ้งมีปลา ดินดีปลูกอะไรก็งอกเงย

“นุ้ยไม่กลัวลำบาก” ศรีนางก้มหน้าพูดเสียงเบา “นุ้ยอยากเรียน”

“ที่โน่น…” ตาสายถอนหายใจ “อยู่ไกลโรงเรียน มหา’ลัยอยู่ที่ไหนตาก็ไม่รู้”

“นุ้ยไม่อยากแต่งงาน” ขอบตาศรีนางแดงก่ำ เธอรู้ดีว่าถ้าไม่ได้เรียนต่อก็ต้องแต่งงานออกเรือนกับคนที่ยายจันทร์จัดหาให้

ถึงตอนนี้ตาสายไม่กล้าสบตาหลานสาว ผู้สูงวัยรู้ดีว่าตัวเองก็บกพร่องทั้งยังเห็นแก่ตัว เพราะรักอิสระ เดินทางบ่อย ทำให้อำนาจการตัดสินใจทั้งเล็กทั้งใหญ่เป็นของยายจันทร์ กอปรกับผิดหวังในตัวช้องนางที่หนีตามตงชิ้วพ่อค้าหนุ่มเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน แต่ที่ทำให้ยายจันทร์ทั้งโกรธทั้งแค้นคือลูกสาวคนเล็กหนีไปกับผู้ชายพร้อมทองคำหลายสิบบาท

กระทั่งช้องนางหอบลูกสาวคนเดียวมาพึ่งพาอาศัยแม่ เมื่อตงชิ้วจากไปเพราะไข้มาลาเรียตอนที่ไปค้าขายถึงชายแดน ยายจันทร์หมายมั่นปั้นมือ…สินสอดศรีนางต้องมากกว่าที่เสียไป

“บ้านเขาใหญ่โต ลูกชายคนเดียว” เรื่องนี้ตาสายไม่กล้าขัดใจยายจันทร์ อีกอย่างท่านมองว่าลูกชายกำนันเกษมเป็นคนใช้ได้ หน่วยก้านดี

“นุ้ยไม่ชอบพี่สันต์”

ตาสายทำท่าจะปลอบใจหลาน แต่ได้ยินเสียงพูดคุยดังมาไกลๆ สงสัยว่าใครมาที่บ้านทั้งที่ยังเช้าอยู่มาก ชายชราเยี่ยมหน้าออกไปมอง เห็นเงาตะคุ่มๆ ผ่านแสงสลัว ครู่เดียวคนที่มาพร้อมแสงแรกของยามเช้าก็ส่งยิ้มกว้างอวดฟันขาวและทักทายด้วยภาษาไทยกลางติดสำเนียงแปร่งๆ เป็นเอกลักษณ์

“นึกว่าใคร คุณชัยนี่เอง มาแต่เช้ามืด มีธุระอะไร”

คนมาใหม่ทำความเคารพตาสาย เขายังอยู่ด้านล่าง ยืนยิ้มยิงฟันให้ยายจันทร์ซึ่งถือไม้กวาดทางมะพร้าวและมองด้วยหางตา

“เจกจ๋าย” ศรีนางวิ่งลงบันไดเสียงดังตึงๆ ทันทีที่เห็นเทียนจ๋ายหรือชื่อไทยว่าเทียนชัยมาปรากฏตัว “เจกมาได้ยังไงคะ”

เทียนจ๋ายวางมือบนศีรษะหลานสาว ยิ้มให้อย่างอ่อนโยน “มาหานุ้ย”

คนมาใหม่ถอดรองเท้าแล้วเดินขึ้นบันได ทรุดนั่งบนพื้นไม้กระดานขัดถูสะอาดสะอ้าน แม้จะเป็นคนไทยเชื้อสายจีน แต่เทียนจ๋ายก็รู้มารยาท เขารอจนยายจันทร์ขึ้นมาสมทบแล้วจึงบอกจุดประสงค์ที่มาตั้งแต่เช้ามืด

“ผมมาขอยืม…” เทียนจ๋ายเหลือบมองหลานสาวครู่หนึ่ง “ยืมตัวนุ้ยไปช่วยขายของครับ”

“ไปไม่ได้ นุ้ยต้องช่วยฉันทำงาน” ยายจันทร์เอ่ยเสียงห้วน “ไม้กวาด สาด (3) ไซ เขาสั่งมาแล้ว”

“ขอนุ้ยไปช่วยไม่กี่วันครับ พอดีช่วงนี้กำลังสร้างเขื่อน พวกนายช่างเขาอยากได้ของ…” เทียนจ๋ายเว้นจังหวะเล็กน้อย เขาเป็นอาแท้ๆ ของศรีนางจึงคุ้นเคยกับครอบครัวพี่สะใภ้มาหลายปี ความเป็นพ่อค้าจึงช่างเจรจาและรู้เงื่อนไขของการค้าขายดี กฎสำคัญของการค้าคือการแลกเปลี่ยน “ผมได้ใบจากกับยาเส้นมาจากนครฯ แล้วก็เหล้านอก”

อย่างหลังทำยายจันทร์ตาลุกวาว นางรู้จุดประสงค์ของเทียนจ๋าย คิดคำนวณในใจ อันที่จริงงานทางนี้ไม่ได้เร่งรีบ ลูกหลานที่อยู่กันเต็มบ้านก็พอช่วยงานได้ เมื่อคิดดีแล้วยายจันทร์จึงพยักหน้าไปแกนๆ ตอนที่เทียนจ๋ายบอกว่าขอศรีนางไปช่วยขายของวันนี้

“เตรียมตัวทันไหมนุ้ย” เทียนจ๋ายถามหลาน

“ทันค่ะ นุ้ยขอเปลี่ยนเสื้อผ้า เก็บกระเป๋าเดี๋ยวเดียว” ศรีนางพยายามเก็บอาการ ไม่แสดงออกว่าดีใจแค่ไหนที่เจกจ๋ายมารับไปช่วยงาน เธอกลัวว่าแค่เผลอยิ้มยายจันทร์อาจเปลี่ยนใจ

ครู่เดียวเท่านั้น ศรีนางก็วิ่งปรู๊ดข้ามลานดินไปที่เรือนข้าว สาวน้อยมาพร้อมกระเป๋าเสื้อผ้าใบเล็ก เปลี่ยนจากนุ่งผ้าถุงเป็นสวมกางเกงใส่เสื้อคอบัวกระดุมหน้า ผมดำสนิทยาวประบ่า บางช่อระกรอบหน้าเรียว ส่งให้เด็กสาววัยสิบแปดปีดูเป็นผู้หญิง เทียนจ๋ายมั่นใจว่าถ้าหลานได้แต่งตัว แต่งหน้า ทำผมเหมือนสาวๆ ในเมืองต้องสะสวยเหมือนแม่แน่ๆ

“เจกรู้ได้ไงว่าแม่เฒ่าอยากกินเหล้านอก”

“คนดื่ม…เหล้าไทย เหล้าจีน เหล้าฝรั่ง หรือจะเหล้าดองก็อยากกินทั้งนั้น” เทียนจ๋ายหัวเราะน้อยๆ จนสองตาหรี่เล็กตามลักษณะชาติพันธุ์

“อ่านใจคนเก่งแบบนี้นี่เอง ใครๆ ก็อยากค้าขายกับเจก” ศรีนางร่าเริงเมื่อออกเดินทาง เธอกระโดดขึ้นรถสองแถวกลางเก่ากลางใหม่สีน้ำเงินของอา ที่เอาไว้ขนของบ้าง ขนคนบ้าง แล้วแต่ความต้องการขณะนั้น “เราจะไปไหนกันคะ”

“เขื่อน” จากนั้นเทียนจ๋ายจึงเล่าให้หลานสาวฟังคร่าวๆ “เขาสร้างเขื่อนมาสี่ห้าปีแล้ว เร็วๆ นี้การไฟฟ้าจะเริ่มปิดอุโมงค์กักน้ำ ตอนนี้มีทั้งพวกช่าง พวกทีมช่วยเหลือสัตว์ป่า นักวิชาการ นักวิจัย ไม่รู้ใครต่อใคร มากันมาก นุ้ยรู้ไหมอะไรขายดี”

ศรีนางส่ายหน้า

“ยาสูบ” เทียนจ๋ายหัวเราะ “พวกหนุ่มๆ นี่ติดบุหรี่ ซองนึงดูดแป๊บเดียว พอหาซื้อไม่ได้ก็สูบใบจากยาเส้นแก้ขัด”

“เจกขายยาสูบ?” ศรีนางถาม ตาโตเบิกกว้างอย่างกระตือรือร้น

“ขายทุกอย่าง เขาอยากได้อะไรก็จะหามาให้” เทียนจ๋ายรู้ว่าหลานสาวฉลาดรอบรู้จึงยกทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์มาพูด “อุปสงค์มันสอดคล้องกับอุปทาน”

“อ๋อ…เจกก็เลยให้นุ้ยไปช่วย”

“เจกไม่ใช้งานนุ้ยเปล่าๆ หรอกนะ เสร็จงานเมื่อไหร่มีกำไรแบ่งให้”

“โธ่ นุ้ยไม่เอาหรอกค่ะ แค่เจกพานุ้ยออกจาก…” ศรีนางไม่พูดต่อ ละไว้ในฐานที่เข้าใจ “ขอหนังสือสักเล่มก็พอค่ะ”

เทียนจ๋ายละมือจากกระปุกเกียร์มาวางบนศีรษะหลานสาวแล้วโยกเบาๆ ทั้งเอ็นดูทั้งสงสารกับชะตาชีวิต

“นิยายหรือ”

“เจกจ๋ายจำพลอยเพื่อนนุ้ยได้ไหม” ศรีนางหมายถึงเพื่อนสนิทซึ่งทางบ้านสนับสนุนเรื่องการศึกษา หลายครั้งที่เธอยืมหนังสือของเพื่อนมาอ่านทั้งตำราเรียน หนังสืออ่านนอกเวลา นิตยสาร นิยาย แม้กระทั่งหนังสือการ์ตูน หลายเรื่องราวที่บอกเล่าผ่านตัวอักษรเปิดโลกของศรีนาง นั่นทำให้เธอปรารถนาอย่างแรงกล้า…อยากไปจากตรงนี้ ไปเจอโลกกว้าง “พลอยจะสอบครู”

“นุ้ยล่ะ อยากเป็นครูเหมือนเพื่อนไหม”

เพราะคนข้างๆ คือเทียนชัย น้องชายของพ่อและยังเป็นคนเดียวในบ้านที่เอ็นดูเธอ ศรีนางไม่มั่นใจว่าอาจะหัวเราะขบขันกับความฝันของเธอหรือเปล่า แต่เด็กบ้านนอกอย่างเธอก็มีสิทธิ์วาดฝันและคาดหวังไม่ใช่หรือ…

“นุ้ยอยากเป็นหมอ”

 

 เชิงอรรถ : 

(1) เพลงกล่อมเด็กของทางภาคใต้ บางพื้นที่เรียกบทร้องเรือ

(2) ใช้ไฟอ่อนเมื่อข้าวใกล้สุก

(3) เสื่อ

 



Don`t copy text!