ชายได้โชคอย่างลึกลับ เพราะเป็นแฟนคลับนิยายผี บทที่ 4 : พิลาปรำพันโศกี ข้อนอกทุบตีดวงชาตา (1)

ชายได้โชคอย่างลึกลับ เพราะเป็นแฟนคลับนิยายผี บทที่ 4 : พิลาปรำพันโศกี ข้อนอกทุบตีดวงชาตา (1)

โดย : วันชนะ

Loading

เว็บไซต์อ่านเอา ภูมิใจเสนอ “ชายได้โชคอย่างลึกลับ เพราะเป็นแฟนคลับนิยายผี” นวนิยายรางวัลชนะเลิศจากโครงการอ่านเอาก้าวแรก รุ่นที่ 5 ผลงานโดย วันชนะ ทองคำเภา กับเรื่องราวของความตายที่มีเบื้องหลังลึกลับซับซ้อน และวรรณกรรมผีของเหม เวชกร เรื่องรวทั้งหมดสัมพันธ์กันได้อย่างไร พบคำตอบได้ในนวนิยายเรื่องนี้

ด้วยความเกรงใจคุณทอฟ้า ไม่กล้าถามเรื่องส่วนตัวที่อ่อนไหวในครอบครัวของเธอ อัสดงจึงตัดสินใจว่าจะลองค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมด้วยตนเองก่อน เพราะว่าในเอกสารบันทึกของคุณแม่ลัดดาก็มีจุดอื่นๆ ที่สะกิดใจเขาอยู่ ซึ่งเป็นจุดที่อัสดงเห็นว่าเขาน่าจะพอหาคำตอบได้เอง และคำตอบที่ได้อาจจะสามารถเชื่อมโยงไปอธิบายเรื่องราวของคุณแม่ลัดดาและครอบครัวของเธอให้เขาเข้าใจเพิ่มขึ้นก็ได้

จุดแรกคือ ในบันทึกของคุณแม่ลัดดามีพูดถึงเรื่องสั้นแปลกๆ ของเหม เวชกร เรื่องหนึ่ง คือเรื่อง “หนุ่มนักธรรม” ในบันทึกของคุณแม่ลัดดา ฉบับที่ 8 เขียนไว้ว่า “เรื่องสั้นคุณเหมเรื่อง หนุ่มนักธรรม เสียดแทงอกเหลือเกิน คำพูดคำจาในตอนท้ายเรื่องมันไม่เหมือนหรอก แต่มันก็คล้ายจนเหลือร้าย เหมือนกับมาเยาะมาเย้ยหัวใจ รุนแรงกว่าเรื่องผีอื่นๆ ที่อ่านมาเสียอีก” ซึ่งทำให้อัสดงสนใจเรื่องสั้นเรื่องนี้มาก

เขาตรวจจนแน่ใจว่าไม่มีเรื่องสั้นเรื่องนี้รวมในเล่มหนังสือชุด ปีศาจไทย หรือที่นำมาพิมพ์ใหม่ในชื่อชุด ภูตผีปีศาจไทย ซึ่งเป็นเล่มอ้างอิงสำคัญสำหรับนักอ่านเรื่องสั้นผีของครูเหม

ส่วนอีกจุดหนึ่งก็คือ ผู้หญิงปริศนาที่ชื่อฉวีเพ็ญ ซึ่งอ่านดูแล้วน่าจะเป็นบุคคลในจินตนาการเสียมากกว่าจะเป็นคนที่มีตัวตนอยู่จริง แต่ก็ฟังดูสำคัญจนมองข้ามไปไม่ได้

อาจารย์หนุ่มใหญ่เดาว่า ชื่อนี้อาจจะเป็นชื่อตัวละครในวรรณกรรมสักเรื่อง แต่การตรวจสอบเรื่องสั้นของครูเหมที่อัสดงมีอยู่ในมือ ก็หาตัวละครชื่อดังกล่าวไม่พบ และเป็นเรื่องยากมากที่จะควานหาชื่อคนเพียงคนเดียวในมหาสมุทรของวรรณกรรมไทยเก่าที่มีจำนวนมาก ทั้งในห้องสมุด ฐานข้อมูลออนไลน์ และร้านขายหนังสือเก่าที่มีอยู่มหาศาล

สุดท้ายแล้ว อัสดงก็ตัดสินใจขอไปใช้อุปกรณ์ในออฟฟิศสุดโมเดิร์นของคุณทอฟ้าเพื่อหาเบาะแส โดยเก็บข้อสังเกตเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างคุณแม่ลัดดาและคุณทศพลไว้ในใจตัวเองคนเดียวก่อน คุณทอฟ้ายินดีมากที่การวิจัยของอาจารย์หนุ่มใหญ่มีความคืบหน้าและยินดีให้คุณเกียรติผู้ช่วยพาเขาและวารีไปสืบค้นข้อมูล

แต่ว่า แม้แต่ในฐานข้อมูลทันสมัยและครอบคลุมทั้งภาษาไทยและต่างประเทศที่คุณทอฟ้ามี ก็ยังไม่สามารถจะหาทั้ง “หนุ่ม” ที่เป็นนักธรรม” และ “สาว” ที่ชื่อฉวีเพ็ญพบ อัสดงถึงกับยกมือไหว้ท่วมหัว อธิษฐานไปถึงครูเหม เวชกร และคุณป้าแช่ม ภรรยาของท่าน ณ ที่เก็บอัฐิที่วัดโพธิ์ เพื่อให้ช่วยเขาหาข้อมูลนี้ให้เจอ

และบางที การเคารพดวงวิญญาณของผู้ที่เราศึกษาวิจัยอยู่ ก็อาจเป็นวิธีวิจัยที่ถูกต้องซึ่งตำราไม่ได้เขียนไว้ เพราะไม่กี่วันหลังจากนั้นคำตอบที่หาอยู่ก็หาทางมาให้อัสดงได้พบเอง ในตอนที่เขาเองก็นึกไม่ถึง

หนุ่มใหญ่อดนึกกับตัวเองไม่ได้ว่า การทำงานของคณะกรรมการตรวจสอบจริยธรรมการวิจัย “ในมนุษย์” ผู้เข้มงวดของมหาวิทยาลัย น่าจะตรวจสอบครอบคลุมไปถึงจริยธรรมต่อดวงวิญญาณด้วย เพราะพวกท่านเหล่านั้นก็มักมาช่วยนักวิจัยอย่างเงียบๆ อยู่หลายหน

 

ในชั้นเรียนวิชาวรรณกรรมสยองขวัญของอัสดงเทอมนี้ มีนักศึกษาชายที่ค่อนข้างเปิดเผยและกระตือรือร้นอยู่คนหนึ่งชื่อทักษิณา วัยรุ่นตาโต ผิวคล้ำ ผู้ผอมบาง หลุกหลิก ยิ้มแย้มและพูดรัวเร็วอยู่เสมอ คนนี้ มักพยายามสร้างความประทับใจให้เพื่อนๆ ร่วมชั้น ด้วยการถามคำถามที่ไม่เหมาะสมเพื่อพยายามจะเล่นตลกบ้าง ท้าทายอัสดงแบบไม่ก้าวร้าวเกินไปนักบ้าง

อย่างสองอาทิตย์ก่อน อยู่ๆ ทักษิณาก็ยกมือขึ้น เพียงเพื่อจะถามว่า “อาจารย์สอนเรื่องผี อาจารย์เองเคยเจอผีไหมครับ ถ้าไม่เคยเจอ ก็แปลว่าผีไม่มีจริง แล้วอาจารย์จะศึกษาเรื่องผีไปทำไมครับ ฮ่าๆ”

หรือในอาทิตย์ที่แล้วที่อัสดงกำลังบรรยายอย่างเพลิดเพลิน ทักษิณาก็พูดแทรกขึ้นมาหน้าตาเฉยว่า “ถ้ามีผีสาวมาหาผมตอนกลางคืน แล้วผมอยู่หอคนเดียว ผมควรจะบอกให้เธอหายตัวไปก่อนหรือเปล่าครับ เพราะผู้หญิงมาหาผู้ชายมืดๆ ค่ำๆ ตามลำพังแบบนี้มันจะดูไม่เหมาะนะครับอาจารย์!”

และเด็กหนุ่มก็จะเงียบไปเอง เมื่อคำถามเหล่านี้เปิดโอกาสให้อัสดงได้แย้งด้วยการเข้าสู่โหมดเลกเชอร์ บรรยายทฤษฎีทางวรรณกรรมเสริม ตามด้วยการเล่าเรื่องหนังสือเก่าต่างๆ อย่างยืดยาวด้วยความกระตือรือร้น จนนักศึกษาบางส่วนเริ่มหลับ

แต่ก็มีนักศึกษาบางคนเช่นกันที่ตื่นเต้นและพลอยชื่นชอบวรรณกรรมเก่าไปด้วย อย่างเช่นในอดีต วารีก็เคยเรียนวิชานี้ แล้วชอบจนตัดสินใจเรียนต่อถึงปริญญาเอก

วันนั้น ในขณะที่อัสดงกำลังบรรยายเกี่ยวกับเรื่องสยองขวัญของมนัส จรรยงค์ ถึงตอนที่ว่า “บางทีนะครับ เรื่องสยองขวัญไม่จำเป็นต้องมีผีก็ได้ อย่าง ‘ท่อนแขนนางรำ’ ของมนัส จรรยงค์ ก็ไม่ได้มีวิญญาณมาปรากฏตัวหลอกหลอน แต่ความน่ากลัวของมันอยู่ที่สภาพจิตใจที่ลึกล้ำดำมืดของคน ที่ส่งผลให้เขาก่อเหตุที่เป็นความรุนแรงต่อตัวละครหญิง เพียงเพราะความหึงหวง…”

ทักษิณายกมือ พร้อมกับยิ้มทะเล้น ตาก็เหล่มองไปที่นักศึกษาสวยๆ ในห้องสองสามคน แล้วหันกลับมายิ้มให้อัสดง ก่อนจะถาม

“อาจารย์ครับ พูดถึงความรักความหึงหวงนี่ ผมต้องขอคุยด้วยคนครับ ไม่นานมานี้ ผมก็เพิ่งพบว่า เหม เวชกร ที่อาจารย์ชอบ เขาก็เคยเขียนเรื่องแนวรักๆ ใคร่ๆ ไว้เหมือนกันนี่ครับ ผมไปเจอมาเรื่องนึงครับ”

“ใช่ครับทักษิณา จริงๆ แล้วเรื่องผีของเหมเนี่ย มีเรื่องรักไม่สมหวัง หรือที่นิยมเรียกว่าเรื่องรักโศก ปนอยู่เยอะมากเลย ถือว่าคุณตั้งข้อสังเกตได้ดีมากเลยนะครับ”

“ไม่ใช่ครับอาจารย์ เรื่องที่ผมไปเจอเนี่ย เป็นรวมเรื่องสั้นเก่าๆ เขียนตั้งแต่ปี 2512 หรือ 13 เนี่ยแหละครับ ที่มีคนเขียนหลายๆ คน ไม่มีเรื่องผีเลยครับ ในนั้นมีงานของเหมด้วย ชื่อเรื่องว่า ‘หนุ่มนักเทศน์’ หรืออะไรทำนองนี้แหละครับ แต่น่าเสียดายว่าเอาจริงๆ เรื่องในนั้นไม่ค่อยโป๊เลยครับ อุตส่าห์ชื่อเรื่องว่า ตัณหาเจ็ดน้ำหมึก แท้ๆ ตอนแรกพอผมเห็นนี่ผมรีบยืมมาจากห้องสมุดเลยนะครับ แหะๆ”

นักศึกษาในห้องหลายคนทำหน้าระอา หลายคนโห่ กลุ่มนักศึกษาชายที่หลังห้องตะโกนแทรกเข้ามาว่า “แต่พวกผมเบื่อจะฟังเรื่อง ‘ตัณหาทักษิณา’ แล้วครับ” ตามด้วยเสียงหัวเราะครืนจากเพื่อนในห้อง ทักษิณาไม่อาย กลับหันไปยิ้มและยักคิ้วให้เพื่อนๆ อย่างภูมิใจ

แต่ท่ามกลางความวุ่นวายนี้ อัสดงกลับลืมตัว หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมากดเสิร์ชหาหนังสือเรื่อง ตัณหาเจ็ดน้ำหมึก ในแอปพลิเคชันของห้องสมุดมหาวิทยาลัยทันที เมื่อพบแล้ว เขาก็รีบกดเซฟเลขหมู่สำหรับสืบค้นหนังสือไว้ แล้วสอนต่อโดยที่ใจนั้นลอยไปที่ห้องสมุดเรียบร้อยแล้ว

 

เมื่อสอนจบ อัสดงรีบเดินไปห้องสมุด และเมื่อได้หนังสือเล่มที่ต้องการมา อาจารย์หนุ่มใหญ่ก็ยิ้มให้กับกระดาษเหลืองกรอบ ลายเส้นฉวัดเฉวียนที่เขียนเป็นชื่อหนังสือ ตัณหาเจ็ดน้ำหมึก และลายพิมพ์สี่สีซีดๆ รูปดอกไม้แบบแอบสแตรกต์ที่อยู่บรรทัดด้านบนของปก

ถัดลงไปเป็นชื่อนักเขียนที่เขียนเรื่องสั้นในเล่มเรียงรายลดหลั่นกันอยู่ที่รองปกใน อัสดงตื่นเต้นจนแทบจะยกมือไหว้สวัสดีเหล่านักเขียนที่ปรากฏชื่ออยู่ ณ ที่นั้น ทั้งปกรณ์ ปิ่นเฉลียว ตำรวจนักเขียน วศิน อินทสระ นักเขียนแนวธรรมะ อ.อรรถจินดา เจ้าของนวนิยาย โรงแรมผี อันมีชื่อเสียง ไปจนถึงคุณศุภร บุนนาค นักเขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์สุดคลาสสิก และแน่นอน เหม เวชกร ผู้เขียนเรื่อง “หนุ่มนักธรรม” ไม่ใช่ “หนุ่มนักเทศน์” หรอกนะครับ คุณทักษิณา

หนังสือแบบนี้มักเป็นหนังสือปกอ่อนในทศวรรษ 2510 ที่ขายราคาถูกและมีเนื้อหาหลากหลาย อย่างเรื่อง ตัณหาเจ็ดน้ำหมึก นี้ก็ไม่ใช่เรื่องอิโรติก โป๊เปลือยแบบที่ทักษิณาหวัง คือแม้จะมีการบรรยายที่วาบหวาม หรือเรื่องรักสามเส้า การเป็นชู้ต่างๆ ให้เด็กหนุ่มตื่นเต้นได้บ้าง แต่เรื่องสั้นทุกเรื่องในเล่มน่าจะมุ่งใช้เรื่องราวของ “ตัณหา” มาสอนธรรมะมากกว่า เพราะล้วนแต่ให้ข้อคิดและสื่อถึงพระพุทธศาสนาทั้งนั้น จึงมีตัวละครที่เป็นพระหรือทิดที่เคร่งธรรมะ บางเรื่องถึงกับมีบทเทศนาด้วย

อาจารย์หนุ่มใหญ่ใจลอย รีบเดินจะออกจากห้องสมุด หน้าก้มลงมองหนังสือที่กำลังเปิดอ่านในมือไปมา ก่อนที่จะสะดุ้งเมื่อได้ยินสัญญาณดังตื๊ดดดดด เสียงแหลมยาว

นักศึกษาสามสี่คนที่เดินอยู่ใกล้ๆ หันมามอง อัสดงกะพริบตาสองสามที มองเห็นว่าขาข้างหนึ่งของตัวเองกำลังจะก้าวผ่านประตูอัตโนมัติ แต่หนังสือซึ่งยังไม่ได้ทำเรื่องขอยืมที่ถืออยู่ในมือ ก็ทำให้เซนเซอร์ของเครื่องดังขึ้นมาก่อน



Don`t copy text!