6 แนวทางดูแลหนังสือ เพื่อก้าวสู่สังคมแห่งการอ่านและแบ่งปัน
เมื่อห้องสมุดเป็นพื้นที่เรียนรู้สาธารณะของสังคม หนังสือในห้องสมุดย่อมเป็นทรัพย์สินสาธารณะที่เราต้องแบ่งปันกันอ่าน แต่ถ้า..เมื่อใดที่เราไปยืมหนังสือที่อยากจะอ่านสักเล่มจากห้องสมุด แล้วจ๊ะเอ๋เข้ากับรอยขีดเขียน ไฮไลท์ หนังสือที่แสนจะน่าอ่านกลับมีสภาพเปียกชื้น บวมน้ำ หรือบางทีอาจร้ายถึงขั้นยับยู่ยี่ ฯลฯ คุณจะรู้สึกอย่างไร? จะนึกสงสัยกันไหมว่า เอ๊ะ! นี่หนังสือของห้องสมุดจริงๆ เหรอ? แล้วทำไมผู้ยืมหนังสือบางคนจึงไม่ช่วยกันรักษาหนังสือที่เป็นสมบัติส่วนรวมของห้องสมุดกันบ้างเลยนะ 🙁
อ่านเอาทราบข้อมูลนี้มาจาก อุทยานการเรียนรู้ TK park และอยากจะบอกต่อว่านี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในห้องสมุดสาธารณะทั่วไป รวมถึง ‘ห้องสมุดมีชีวิตต้นแบบ’ ของ อุทยานการเรียนรู้ TK park ซึ่งบันทึกสถิติความชำรุดเสียหายของหนังสือและสื่อการเรียนรู้ที่นำมาให้บริการนับแต่อุทยานการเรียนรู้ TK park เปิดทำการบนชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547- 2560 รวมทั้งหมด 13 ปีที่ผ่านมาพบว่าเกิดความเสียหายกับหนังสือและสื่อการเรียนรู้คิดเป็นจำนวนเงินสูงถึง 4,561,700 บาท!! หรือเฉลี่ยปีละ 350,900 บาท เลยทีเดียว ซึ่งนับเป็นจำนวนไม่น้อยเลย
ทั้งนี้พบว่ามีหนังสือชำรุดเสียหายทั้งหมด 35,326 เล่ม คิดเป็นร้อยละ 18.29 จากหนังสือที่นำให้บริการทั้งหมด หากเฉลี่ยเป็นรายปีพบว่ามีหนังสือชำรุดเสียหายมากถึง 2,717 เล่มต่อ 1 ปีเลยเชียว ซึ่งเมื่อดูจำนวนเงินที่เกิดขึ้นแล้วทำให้นึกเสียดายมาก เพราะเอาไปซื้อหนังสือหรือนำไปทำประโยชน์อะไรต่อมิอะไรได้อีกตั้งมากโข
สาเหตุที่ทำให้หนังสือชำรุดเสียหาย
ส่วนสาเหตุของการชำรุดเสียหาย อุทยานการเรียนรู้ TK park ได้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทชำรุดแบบซ่อมไม่ได้ และประเภทชำรุดแบบซ่อมได้
- ประเภทชำรุดแบบซ่อมไม่ได้ สาเหตุที่พบมากที่สุดคือ เปียกน้ำ 18 % ตามด้วย เลอะเทอะเปรอะเปื้อน 15 % มีร่องรอยการขีดเขียน 11% หน้าขาดจากการถูกฉีก 8% ความเสียหายจากสัตว์เลี้ยง 2% และแผ่นซีดีแตกหรือมีรอยขีดข่วน จนไม่สามารถอ่านได้อีก 1%
- ประเภทชำรุดแบบซ่อมได้ เกิดจากหน้าหลุด พบมากถึง 45 % จากสถิติจะเห็นได้ว่าความชำรุดเสียหายต่างๆ ล้วนเกิดจากพฤติกรรมและความเคยชินของผู้อ่าน ที่สามารถแก้ไขได้ทั้งนั้น
สำหรับผู้ที่รักหนังสือนั้นคงไม่อยากจะให้หนังสือที่พวกเรารักต้องพบชะตากรรมแบบนั้น อุทยานการเรียนรู้ TK park จึงได้นำเสนอ 6 วิธีง่ายๆ ในการใช้และดูแลหนังสือห้องสมุดที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดการชำรุดเสียหายก่อนเวลาอันสมควร แล้วหนังสือของพวกเราก็จะยังสามารถทำประโยชน์มอบความรู้สาระและความเพลิดเพลินให้กับผู้คนได้อีกตั้งมากมาย
ทิปทั้ง 6 ข้อต่อไปนี้บางข้ออาจฟังดูง่ายๆ จนเหมือนไม่ต้องมาบอกต่อกัน แต่ในความจริงแล้ว ส่วนใหญ่มักจะลืม ฉะนั้นลองมาใส่ใจกับเรื่องง่ายๆ ที่ทำได้ทันทีกับวิธีการใช้หนังสือห้องสมุดให้มีอายุยาวนาน เพื่อส่งต่อให้คนที่รักหนังสือได้อ่านกันไปนานๆ กับ 6 วิธีง่ายๆ ดังนี้กันดีกว่า
ทิปง่ายๆ ในการดูแลรักษาหนังสือห้องสมุดให้คงสภาพ
- ใช้ที่คั่นหนังสือ
หลายครั้งเราพบว่า มีการทำสัญลักษณ์ว่าอ่านถึงหน้าไหนโดยการพับหนังสือ ลองคิดตามดูนะว่า รอยพับเพียงนิดเดียวของนักอ่านแต่ละคน จะก่อให้เกิดรอยพับนับไม่ถ้วน นอกจากรอยพับแล้วสิ่งที่บรรณารักษ์ห้องสมุดพบอีกมากมายในการนำมาทำที่คั่นหนังสืออีก เช่นคลิปหนีบกระดาษ กิ๊บติดผม แท่งดินสอ หรือแม้กระทั่งไหมขัดฟัน (!!) ก็ยังมี
การใช้ที่คั่นหนังสือเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ผู้ใช้บริการหนังสือห้องสมุด หรือแม้กระทั่งหนังสือของตัวเองก็ควรใช้ หรือบางคนอาจจะชอบใช้ โพสต์อิท ก็ไม่ผิดกติกา แต่ก่อนคืนห้องสมุดก็ควรแกะออก เพราะถ้าแปะไว้นานๆ ก็จะทำให้หนังสือมีรอย เสียหายได้เช่นกัน
- ไม่ทิ้งร่อยรอยใดๆ ไว้บนหนังสือห้องสมุด
ข้อนี้เป็นกติกาการใช้หนังสือสาธารณะที่จำเป็นอย่างมาก เพราะรอยขีดเขียนใดๆ แม้เพียงเล็กน้อย ก็มีส่วนทำลายคุณค่าของหนังสือ หรือบางครั้งอ่านหนังสือไปพร้อมกับดื่มกาแฟ น้ำ ขนม ก็ควรระวังว่าจะหก เลอะ เปรอะ เพราะสิ่งเหล่านี้ปรากฏบนหนังสือจำนวนมากที่ถูกยืมไปจากห้องสมุด หรือแม้กระทั่ง การแก้ไขคำที่ผิด ขีดเส้นใต้ ใช้ปากกาขีดเน้นข้อความ (ไฮไลท์) ประโยคที่ชอบ หรือบางครั้งเป็นหนังสือข้อสอบ ก็เขียนคำตอบลงในหนังสือ ถ้าเป็นดินสอ บรรณารักษ์ก็ต้องมาลบข้อความให้ ถ้าเป็นปากกา หนังสือเล่มนั้นก็ไม่สามารถให้บริการผู้ใช้คนต่อไปได้อีกเลย
ภาพจริงๆ ที่เกิดขึ้น กับหนังสือภายใน ‘ห้องสมุดมีชีวิตต้นแบบ’ของ อุทยานการเรียนรู้ TK park
- หยิบหนังสืออย่างระมัดระวัง
การหยิบจับ ดึงหรือกระชากหนังสือแรงๆ โดยจับสันหนังสือด้านบน อาจก่อให้เกิดรอยขาดวิ่นเล็กๆ ตรงสันหนังสือ นี่เป็นปัญหาแสนปกติที่เกิดขึ้นในห้องสมุด แต่ถ้าสะสมไปวันละนิดๆ ในที่สุดสันหนังสือหลุดติดมือออกมา วิธีการหยิบหนังสือที่ถูกต้อง บรรณารักษ์ แนะนำว่าควรหยิบอย่างระมัดระวัง โดยไม่ดึงสันแรงๆ ถ้าจำเป็นต้องดึงสันหนังสือในกรณีที่ชั้นหนังสืออยู่สูงเกินเอื้อมควรดึงอย่างเบามือจะช่วยให้หนังสือไม่เกิดความเสียหายมาก
- เก็บหนังสือให้ดี
กฎข้อนี้ง่ายมาก จนบางทีอาจถูกมองข้าม เก็บหนังสือให้ดี ไม่เหมือนกันการเก็บหนังสือที่ไหนก็ได้ที่เราสะดวก ซึ่งอาจจะไม่ใช่บนชั้นวางหนังสือ ผลก็คือเมื่อเวลาผ่านไปสักพักนึง ก็ลืมว่าไปเก็บไว้ที่ไหนก็ไม่รู้ และเราก็จะหาไม่เจอ จนทำให้ต้องเสียค่าปรับโดยไม่จำเป็น นี่คือความเสี่ยงในการทำหนังสือหาย
- เลี่ยงภัยร้าย
สิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง เห็นจะเป็นไฟ ความชื้น แดด หรืออุณหภูมิที่สุดขั้ว ไม่ว่าจะเป็นหนังสือห้องสมุด หรือหนังสือส่วนตัวของเรา ก็ควรเก็บในที่ๆ กันฝุ่นผง หรือพ้นจากความสกปรกต่างๆ ควรหยิบจับหนังสือด้วยมือที่สะอาด และอย่าเอาหนังสือใส่รวมในกระเป๋าเดียวกับถุงแกง หรือถุงกาแฟที่อาจจะแตก รั่วซึมเข้าหนังสือได้ ลดความเสี่ยงกันเถอะ
- หนังสือขาดต้องทำอย่างไร?
ไม่ควรนำสก๊อตเทปใสมาติด วิธีที่ดีที่สุดคือ เก็บหน้าหนังสือทุกหน้าที่หลุด หรือขาด ให้ครบ และนำมาแจ้งบรรณารักษ์ให้ทราบตอนนำมาคืน เพราะบรรณารักษ์จะมีกระบวนการซ่อม ที่ทำให้หนังสือสามารถกลับมาใช้งานใหม่ได้ในสภาพเกือบเหมือนเดิมที่สุด หากติดสก๊อตเทปใส อาจจะด้วยความหวังดี แต่ผลจะกลายเป็นบรรณารักษ์ต้องทำงานมากกว่าเดิมในการซ่อม หรือหนังสือเล่มนั้นไม่สามารถซ่อมแซมได้อีกเลย
สำหรับคนที่รักการอ่านและรักหนังสือ 6 แนวทางการดูแลรักษาหนังสือนี้ไม่ใช่เรื่องยาก อุทยานการเรียนรู้ TK park และอ่านเอาเชื่อว่าหากทุกคนช่วยกันดูแลหนังสือเป็นอย่างดีก็จะทำให้ทุกคนได้เพลิดเพลินกับการอ่านหนังสือห้องสมุดในสภาพดีๆ ได้นานเท่านาน
มาร่วมรณรงค์รักและดูแลหนังสือ เพื่อก้าวสู่สังคมแห่งการอ่านและแบ่งปันกันนะคะเพราะหนังสือห้องสมุด คือหนังสือของทุกคน
FYI :
- อุทยานการเรียนรู้ TK park รณรงค์เพื่อให้ผู้เข้ามาใช้บริการภายในห้องสมุด สร้างความรู้สึกร่วมกันในความรักและการดูแลรักษาหนังสือทุกเล่มที่อ่าน เพื่อคงสภาพหนังสือที่เรารักให้อยู่ในสภาพที่ดี ได้นานเท่านาน เพื่อก้าวเข้าสู่สังคมแห่งการอ่านและการแบ่งปันร่วมกัน ด้วยแคมเปญการรณรงค์ ‘เพราะหนังสือ…ห้องสมุด คือหนังสือ…ของทุกคน #LoveBooksLoveTKpark’ โดยมีการติดป้ายรณรงค์ภายในห้องสมุด พร้อมกับแจกที่คั่นหนังสือให้กับทุกคนที่มาใช้บริการยืมหนังสือ ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงเดือนตุลาคม 2561