ย่านเมืองเก่าสงขลา
โดย : สุวิทย์ เมฆวิบูลย์
ไม่ได้มีแค่ นิยายออนไลน์ ให้อ่าน ที่ อ่านเอา แต่เรายังมีเรื่องราวการเดินทางของ สุวิทย์ เมฆวิบูลย์ ชายหนุ่มผู้ที่เชื่อว่า การเดินทางกับการดื่มกิน คือองค์ประกอบสำคัญในการเติมไฟ เพิ่มพลังให้ชีวิต และเขายินดีแบ่งปันขุมพลังนี้กับผู้อ่าน “อ่านเอา” ได้ อ่านออนไลน์
………………………………………….
เอ่ยถึง ‘สงขลา’ ทีไร ใครๆ ก็มักจะนึกถึงหาดใหญ่ หาดสมิหลา และป๋าเปรม น้อยคนนักจะรู้ว่าสงขลามีย่านเมืองเก่าที่มีอาคารบ้านเรือนตึกแถวรูปทรงสถาปัตยกรรมโบราณ ปลูกสร้างกันทั้งเรือนแถวไทยโบราณ ตึกทรงซิโนโปรตุกีส จะคล้ายๆ เมืองปีนัง เมืองมะละกา สิงคโปร์ และภูเก็ต ก่อนจะบินลงไป ลองเสิร์ชค้นหาข้อมูลและสอบถามจากเพื่อนๆ คนท้องถิ่น ได้อ่านได้เห็นรูปภาพแล้วยิ่งอยากจะไปเป็นทวีคูณ …ตั้งใจแล้วว่าจะใช้เวลา 1 วันเต็มๆกับการเดินชิล ชิล แชะ แชะ ชิม ชิมให้ทะลุปรุโปร่งทั้งย่าน เหมือนที่เคยไปย่ำต๊อกที่ปีนัง สิงคโปร์ และภูเก็ตมาแล้ว จุดเช็กอินที่ยังขลังด้วยมนตร์เสน่ห์เดิมไม่เสื่อมคลาย ขอพรรณนาแนะนำสัก 4-5 แห่ง… ถ้าพร้อมแล้วใส่รองเท้าผ้าใบ ถือขวดน้ำเดินตามกันมาเลยครับ…
เกือบ 200 ปีก่อน ตัวเมืองตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของทะเลสาบ ชาวบ้านเรียกว่า ‘สงขลาฝั่งแหลมสน’ จนพ.ศ. 2385 ชุมชนขยายมาทางฝั่งทิศตะวันออกบริเวณตำบลบ่อยาง จึงเรียกกันว่า ‘สงขลาฝั่งบ่อยาง’ เริ่มแรกมีถนนเพียงสองสายคือ ถนนนครนอก เป็นถนนเส้นนอกติดกับทะเลสาบ และถนนนครใน เป็นถนนเส้นในเมือง ต่อมามีการตัดถนนสายที่ 3 เรียกว่าถนนเก้าห้อง (หรือย่านเก้าห้อง) เพราะมีตึกเพียง 9 คูหา ปี พ.ศ. 2478 มีงานปีใหม่ จัดประกวดนางงามสงขลาขึ้น นางงามสงขลาคนแรกอาศัยอยู่บนถนนนี้ คนสงขลาจึงเรียกถนนสายใหม่นี้ว่า ‘ถนนนางงาม’
ย่านวัฒนธรรมดั้งเดิมของบรรพบุรุษสงขลาเกิดขึ้นที่ถนน 3 สายนี้… ปัจจุบันยังมีอาคารบ้านเรือนเก่า ร้านค้าเก่า วัด สุเหร่า โกดัง ท่าเรือ และชุมชนดั้งเดิมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นในแง่ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม การอาศัยอยู่ร่วมกันของ 3 ศาสนา คือศาสนาพุทธ จีน และมุสลิม มองเห็นได้ชัดเจน รูปแบบสถาปัตยกรรมโบราณ สร้างจุดขายกลายเป็นแม่เหล็กของการท่องเที่ยว เทียบชั้นเมืองมะละกาและปีนัง (จอร์จทาวน์) ในมาเลเซียได้สบายๆ เพราะย่านเมืองเก่าสงขลามีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ถ่ายทอดสงขลาได้อย่างครบถ้วน ด้วยวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ด้วยบรรยากาศเก่าๆ และอาหารการกิน
การจราจรวิ่งทางเดียว เหมาะกับถนนแคบทั้ง 3 สาย คนต่างถิ่นเพื่อความสะดวกควรไปเริ่มต้นจากประตูสงขลา ที่หัวถนนยะลา เเล้วเดินไปตามถนนนางงามก่อน เพราะสายนี้มีแต่ร้านอาหาร ร้านขนม… ชิมให้อิ่มแล้วค่อยเดินไปถนนนครนอก ถนนนครใน บางมุมถนนจะเจอสตรีทอาร์ต ผนังกำแพงเพนต์รูปสวยๆ ให้ถ่ายรูป บอกได้เลยว่ากิ๊บเก๋เท่ไม่แพ้ปีนังครับ
จากนั้น 2 จุดหลักที่ต้องไปคือ ‘หับโห้หิ้น’ โรงสีแดง อาคารเก่าแก่สีแดง บนถนนนครนอก มองเห็นเด่นชัดแต่ไกล รุ่นพี่คนสงขลาที่นำเที่ยวเล่าว่าอดีตเคยเป็นโรงสีข้าวขนาดใหญ่และทันสมัยที่สุด ซึ่งสีแดงที่คนจีนเชื่อว่าเป็นสีนำโชค ปัจจุบันปรับปรุงพัฒนาเป็นโรงน้ำแข็งสำหรับใช้ในเรือประมง และเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าฟรี มีประวัติความเป็นมาจากอดีตปะฝาให้อ่านกัน เดินทะลุออกไปด้านหลังโรงสีก็เป็นริมทะเลสาบมีท่าเรือ วิวดีจริงๆ ถ่ายรูปได้ทุกจุดทุกมุม เพลินครับใช้เวลาเตร่ แอ็กต์ท่าโพสในอาคารโรงสี ออกไปยืนแอ่นที่ท่าเรือรวมแล้วเกิน 30 นาที กำลังพอดีๆ 30-40 รูปไม่ขาดไม่เกิน ใครบอกไม่ชอบถ่ายรูป เห็นวิวและบรรยากาศแวดล้อม เฮ้อ มันกระตุ้นต่อมครับ (คัดลอกมาครับ … ‘หับ โห้ หิ้น’ เป็นภาษาฮกเกี้ยน ‘หับ’ ในภาษาจีนฮกเกี้ยน น่าจะตรงกับคำว่า ‘ฮะ’ ในภาษาจีนแต้จิ๋ว ที่แปลว่าความสามัคคี สมานฉันท์ ส่วน ‘โห้’ น่าจะตรงกับ ‘ฮ่อ’ หมายถึง ความดี ความเจริญรุ่งเรือง และ ‘หิ้น’ อาจจะเป็นคำนาม หมายถึงสวน หรือที่ที่มีคนมาชุมนุมกัน ดังนั้น ‘หับ โห้ หิ้น’ จึงแปลว่า… ‘สวนแห่งความสามัคคีและเจริญรุ่งเรือง’)
เดินละเลียดไล่ตามบ้านเรือนร้านค้าแต่ละหลัง ลัดเลาะข้ามไปถนนนครใน ที่อยู่ขนานกันแต่เป็นเส้นกลาง ‘บ้านนครใน’ คือบ้านไม้ทรงจีนโบราณและบ้านตึกสีขาวเป็นแบบชิโนยูโรเปียน บนพื้นที่ไม่เกิน 20 ตารางวา จัดแสดงของเก่า เตียงนอน ตู้โบราณ ของเก็บสะสม ถ้วยชามสังคโลก ถ้วยชามลายจีน ทราบมาว่าเจ้าของค้าขายทองต้องการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินบ้านเกิด ซื้อบ้านเก่ามาทำนุบำรุงรักษาให้เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน เปิดให้เข้าชมฟรีทั้งคนไทยและคนต่างชาติ สมควรแก่การชมเชยและนับถือความตั้งใจของเจ้าของจริงๆ
เดินกันตั้งแต่เช้าเริ่มหิว ไปหาขนมพื้นเมืองและอาหารท้องถิ่นกินเล่นดีกว่า มีไกด์บุ๊กชี้เป้า 2-3 แห่งที่ควรไปชิม คือร้านขนมเลิศเบเกอรี่ ร้านเก่าแก่อยู่ต้นถนนใกล้ประตูสงขลา หยิบชิ้นตัวอย่างมาทดสอบขนมไข่ใส่เนย อืมม… ความอร่อยบวกความหอมของขนมไข่อยู่ที่เนยใช้ทำขนมครับ เห็นป้ายบอกมีสาขาที่หาดใหญ่ด้วย ได้ลองชิมร้านดั้งเดิม ไม่หวาน ไม่แพงครับ เดินต่อไปตามโพยเขียนว่าต้องชิมสตู ‘ร้านเกียดฟั่ง ซาลาเปาสูตรโบราณ’ ข้าวสตูของร้านนี้โด่งดังมาก เจ้าของได้สูตรสตูมาจากกุ๊กในเรือฝรั่งในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 น่าเสียดาย เดินไปถึงหน้าร้านสตูเกียดฟั่ง ขายหมดไปตั้งแต่ช่วงเช้าแล้ว ผมมาถึงตอนบ่ายโมง ก็เลยอดลอง หันรีหันขวางจะลองหม่ำซาลาเปาเกียดฟั่งแทน พอเห็นขนาดแล้ว ขอผ่านดีกว่า เจ๊แกปั้นใหญ่กว่าฝ่ามืออีก มีสิทธิ์อิ่มจนเดินไม่ไหวแน่ๆ เดินล่องมาตามถนนนางงาม ค้นหาร้านไอติมยิว อ้าว… ก็ดันปิดซะอีก… โถ ชีวิตผิดหวังซ้ำซาก ทำไมถึงต้องเป็นเรา!!!! 5555
ตามโพยอาหารมื้อกลางวันเมื่อมาถึงสงขลาแล้วไม่ไปชิมร้านอาหารร้านนี้ ถือว่าไปไม่ถึง อร่อยระดับเทพ ครบเครื่องทั้งคุณภาพและรสชาติ ร้านนี้ชื่อ ‘แต้เฮี้ยงอิ๊ว’ หรือที่นิยมเรียกกันสั้นๆ ว่าร้านแต้ เขาโด่งดังเก่าแก่มานานแล้ว อยู่บนถนนนางงาม เปิดมาเกิน 80 ปี ตั้งแต่ปี 2480 ก็ยังคงรักษาความอร่อยได้สม่ำเสมอตามคำโอ้อวดของคุณพี่คนสงขลาที่ภูมิอกภูมิใจในแต่ละเมนู ภายในร้านทั้งๆ ที่เป็นตึกแถว 2 คูหาแคบๆ ดูดี สะอาดสะอ้าน เปิดขายเฉพาะชั้นล่างเท่านั้น แม้จะเก่า แต่ด้วยการจัดวางโต๊ะเก้าอี้ไม้ทรงโบราณดูแล้วยิ่งมีเสน่ห์ เพดานสูงๆ โล่งๆ โปร่งๆ ไม่มีเเอร์ นั่งช่วงบ่ายแดดจ้า แต่ก็รู้สึกสบายๆ ไม่อึดอัดเลย
บ่ายวันนั้นคนแน่นร้าน นั่งรอสัก15 นาที จากที่สั่ง 5 -6 อย่างแรกที่ไม่ต้องเปิดดูเมนูเลย ออร์เดอร์เริ่มจาก ‘ยำมะม่วง’ ออร์เดิร์ฟแนะนำ ต้องลอง ใช้มะม่วงท้องถิ่นคล้ายมะม่วงเบา ลูกเล็กๆ รสเปรี้ยวเล็กน้อย ยำแบบแห้งๆ ซอยมะม่วงจนละเอียดยำผสมกับกุ้งแห้งป่น เเล้วเคล้าคลุกกับหอมแดงซอย พริกขี้หนูซอย น้ำตาล น้ำปลานิดหน่อย ไม่สั่งจานนี้ถือว่าไม่ถึงร้านแต้ ตามด้วย ‘ลูกชิ้นปลาลวก’ ที่หน้าตาแสนจะธรรมดา แต่เนื้อปลาแน่นนุ่มเด้งดึ๋ง ไม่คาว จิ้มน้ำจิ้มซีฟู้ดเข้ากันดี จานนี้กินเล่นนะกินเล่นๆ
อีกเมนูเด็ดที่ห้ามพลาดคือ ‘ต้มยำแห้งปลากะพง’ อร่อยครบรสทั้งรสเปรี้ยว เค็ม เผ็ด ตัดรสกันกลมกล่อมด้วยรสหวานนิดๆ ของซีอิ๊วดำขลุกขลิก เอามาคลุกข้าวสวยร้อนๆ จานนี้แปลกและถูกปากจริงๆ จานถัดไปเป็น ‘ผักบุ้งไฟแดง’ ผักบุ้งไทยผัดน้ำมันใส่เต้าเจี้ยวแบบพื้นๆ แต่พ่อครัวมีเอกลักษณ์เฉพาะร้านคือเหยาะเติมน้ำแป้งข้าวโพดให้มีน้ำเหนียวๆ คล้ายๆ ราดหน้า อร่อยสุดๆ เลยครับ อีกจานมาแบบร้อนๆ ‘เต้าหู้ราดหน้า’ หมูสับ กุ้งสับ ต้นหอม ขึ้นฉ่าย ผัดเคล้ากันมาหอมฉุยเลย… 1 ใน 6 จานที่ต้องสั่งแน่ๆ ก็คือ ‘ขาหมูตุ๋น’ จืดๆ มันๆ ตามสไตล์อาหารจีน แต่รสชาติผ่านแบบรสดีเยี่ยม ไม่หวาน ถูกใจเพื่อนร่วมโต๊ะทุกคน
เสียดายมากๆ กับอีกหนึ่งจานอร่อยที่พี่เจ้าถิ่นบอกว่าใครไปใครมาต้องสั่งคือ ‘เนื้อปูผัดพริกขี้หนู’ วันนั้นปูหมดตั้งแต่บ่ายโมง พี่เขาสาธยายว่า พ่อครัวจะใช้เนื้อปูล้วนๆ นำมาคั่วผัดกับพริกขี้หนูสวนบุบพอแหลกไม่ให้ละเอียดเกินไป ปรุงรสให้เข้ากันแบบกำลังดี (คิดว่าคงอร่อย คั่วแห้งๆ เหมือนๆ กับครัวคุณตุ่มที่มหาชัย) มาเที่ยวสงขลา เวลาหิวอย่าลืมนึกถึงร้านอาหาร ‘แต้’ เขาเปิดทุกวัน วันละ 2 ช่วง คือเวลา 11.30-14.00 น. และเวลา 17.00-20.00 น. ถ้าไปไม่ถูกโทรศัพท์สอบถามเส้นทางได้ที่โทร. 0-7431-1505 เยี่ยมมาก สมคำร่ำลือ ผมชอบมากตั้งแต่บรรยากาศในร้าน กินข้าวอร่อยๆ มองออกไปถนนหน้าร้าน มีความสุขครับ.
ตั้งคำถามกับตัวเองอยู่เสมอๆ ว่าทำไมกลับมาจากสงขลาตั้งนานแล้ว แต่ยังจำภาพทุกซอกทุกมุมที่ได้ไปเดินจากหัวถนนยันท้ายถนนทั้ง 3 สาย ติดตาติดใจตลอดเวลา ย่านเมืองเก่าสงขลาถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้สัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่นถึงแก่นแท้ เจอส่วนผสมกลมกลืนของความหลากหลายเชื้อชาติและศาสนาที่ลงตัวมากๆ ถ้ามีโอกาสควรไปเที่ยวพิสูจน์ด้วยตนเอง แล้วกลับมาบอกกันว่าเห็นด้วยกับผมสักกี่เปอร์เซ็นต์ มากน้อยเพียงใด และ 200 ปีของสงขลา นานเกินรอจริงหรือเปล่า รีบไปเที่ยวกันเถอะ เดี๋ยวจะเป็น 300 ปีนะ… สวัสดีครับ