ขนมหวานไทยยังไม่หายไปไหน @ นครสวรรค์

ขนมหวานไทยยังไม่หายไปไหน @ นครสวรรค์

โดย : สุวิทย์ เมฆวิบูลย์

Loading

ไม่ได้มีแค่ นิยายออนไลน์ ให้อ่าน ที่ อ่านเอา  แต่เรายังมีเรื่องราวการเดินทางของ สุวิทย์ เมฆวิบูลย์ ชายหนุ่มผู้ที่เชื่อว่า การเดินทางกับการดื่มกิน คือองค์ประกอบสำคัญในการเติมไฟ เพิ่มพลังให้ชีวิต และเขายินดีแบ่งปันขุมพลังนี้กับผู้อ่าน “อ่านเอา” ได้ อ่านออนไลน์ 

…………………………………………..

–  ขนมหวานไทยยังไม่หายไปไหน @ นครสวรรค์ 

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

ทุกวันนี้ขนมไทยนับวันจะหาซื้อกินได้ยากขึ้นๆ ไปที่ไหนเจอแต่ร้านเบเกอรี แผงขายเครป ตู้ขายขนมปังฝรั่ง ขนมเค้ก ร้านกาแฟ ชา ไอศกรีม เปิดกันเต็มบ้านเต็มเมือง กระเดียดไปเป็นฝรั่งหมด เหลือร้านขนมไทยแท้ๆ นับร้านได้ มันเป็นเพราะอะไร? คนนิยมกินน้อยลง คนรุ่นใหม่กินแต่ขนมฝรั่ง หนุ่มสาวทำขนมหวานไทยไม่เป็น ต้นทุนสูง ขนมมีอายุสั้น เก็บรักษายาก เสียง่าย ฯลฯ กาลเวลาเปลี่ยนไป ขนมไทยจะถูกดิสรัปต์หายไปกับเขาด้วยหรือ?

ตอนเป็นเด็กๆ ไม่ว่ากลางวันหรือช่วงเย็นถึงดึก ไปตลาดสดที่ไหนก็เจอแผงลอยวางขนมหวานเพียบมีครบหมด ไม่ว่าขนมหวานน้ำ ขนมหวานถาด ขนมใส่น้ำแข็งไส ไอศกรีม มีบางเจ้าขายในบ้าน ขายในร้านค้าตึกแถว เดินหาบเร่ เข็นรถเร่ขาย แต่ในปัจจุบันนี้ในต่างจังหวัด ขนมเจ้าอร่อยเจ้าดังเลิกราไปเยอะเลย ร้านอร่อยในกรุงเทพฯ หนีเข้าไป ในห้าง อาจหลงเหลือเจ้าเก่าแก่ในตรอกซอกซอย แถวย่านชุมชนเก่า บางทีไปเจอที่โรงอาหารของโรงเรียน หรือไปงานบุญงานประเพณี เช่น งานบวช งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ ทอดกฐิน ถึงจะได้ชิมขนมหวานน้ำ จำพวกถั่วดำ เต้าส่วน กล้วยบวชชี ฟักทองแกงบวด ขนมปลากริมไข่เต่า ซ่าหริ่ม สาคูเปียก รวมมิตร ลอดช่องไทย ลอดช่องสิงคโปร์ บางทีดีใจที่ได้ตักขนมถาดได้แก่ ขนมเปียกปูน ขนมชั้น ตะโก้ ข้าวเหนียวหน้าปลา หน้าสังขยา ข้าวต้มมัด ข้าวต้มน้ำวุ้น ฯลฯ ยิ่งสงสัยว่า ศาสตร์ขนมหวานไม่ถูกส่งต่อเชฟคนรุ่นใหม่กันแล้วหรือ??

ในทางกลับกัน แปลกใจเวลาไปเที่ยวญี่ปุ่น ขนมโบราณพื้นเมืองของเค้าทำไมฮิตติดชาร์ต คนญี่ปุ่น คนไทย ฝรั่ง จีน ทั้งหนุ่มสาวและผู้ใหญ่ต่อคิวกันแถวยาวเฟื้อยร้านขนมทุกหน้าวัด ย่านช้อปปิ้ง และสถานีรถไฟ รสชาติก็แสนจะธรรมดา หอมไม่เท่าไหร่มีแต่ร้อนกับหวาน เเต่โดนตรงกระดาษห่อสวย กล่องเนี้ยบดูดี พอแกะดูเนื้อขนม ไม่มีอะไรซับซ้อนเลย เรียบๆ ง่ายๆ ไม่แป้งห่อถั่วแดงก็ถั่วแดงกวนปนกับแป้งต้ม มีใส่งาบ้างนิดหน่อย มันดังระเบิดได้ยังไงนะ กลับมาดูขนมหวานไทยเรา รูปทรงก็ธรรมดา ภาชนะห่อหีบง่ายๆ เลย แบบไทยไทย ไม่พลาสติกใส ก็ใบตอง แต่รสชาติจะรสจัดทั้งหวาน เค็ม หอม มัน มนตร์เสน่ห์ของขนมไทยเราอยู่ที่ส่วนผสมหลากหลายมีมากชนิด ด้วยทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ตามฤดูกาลตลอดปี เราจึงใส่ได้ทั้งแป้ง มะพร้าว กะทิ ถั่ว(ถั่วลิสง ดำ แดง เขียว เหลือง) งาขาว งาดำ  น้ำตาล ใบเตย  ผลไม้นานาชนิด กล้วย สับปะรด กระท้อน ลำไย ขนุน ผสมเป็นไส้ เป็นเนื้อ ปรุงแต่งผ่านการต้ม อบ นึ่ง กวน ใส่น้ำกะทิ ใส่น้ำเชื่อม เติมน้ำแข็งไส ห่อใบตอง ลองดูละเอียดๆ จะเห็นว่าขนมไทยเรามีขั้นตอนประดิดประดอย ยุ่งยาก ใช้เวลามาก ที่สำคัญสุดแต่กลายเป็นจุดอ่อนคือ สด ใหม่ เลยมีอายุสั้น เก็บรักษานานไม่ได้ เพราะส่วนผสมหลักๆ มักเสียบูดเร็ว เหม็นหืนได้ง่าย ไม่ข้ามวัน นั่นคือตัวแปรที่ทำให้ต้นทุนสูง หากมีคนกินน้อยลง ขายได้ไม่มาก ในราคาถูกก็จะไม่คุ้มต้นทุนค่าแรง ค่าของ พอคุณยายคุณป้าน้าอารุ่นเก่า ไม่มีคนสืบทอด หมดไฟหมดแรงทำ ขายต่อไม่ไหวเลยหยุดขาย จนหายกันไปในที่สุด ด้วยเหตุผลนี้หรือ?

เรากลับมาตามโพยชี้เป้าของ 3 เพื่อนสนิทที่ปากน้ำโพกันดีกว่า คุณสมโชค -ลัดดา บุญยวณิชกุล และอาจารย์รสสุคนธ์ มีศรี ( ผู้ให้ข้อมูลและภาพถ่ายประกอบเรื่อง ) บอกย้ำว่าชอบขนมหวานต้องมาชิมที่นครสวรรค์… ยังอร่อยเข้มข้น รสหวานมันจับใจมาก เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ ราคาย่อมเยา ปากน้ำโพยังอุดมสมบูรณ์ทั้งขนมหวานไทยและขนมหวานไทยผสมจีน เพราะมีลูกหลานคนไทยเชื้อสายจีนไหหลำขายขนมโบ๊กเกี้ย หลายคนรู้จักขนมนี้ดี ลองแวะไปที่ร้านเจ๊เนี้ยวเจ้าเก่า บั๊วเกี้ย เจ๊แกออกเสียงไม่เหมือนหลายแห่งในกรุงเทพฯ รวมทั้งที่บ้านผมด้วย  ยืนดูถ้วยขนมหน้าแผงแป๊บเดียวก็รู้ว่าใช้วัตถุดิบดี พอได้เคี้ยวแป้งโบ๊กเกี้ยสีขาวขุ่น ขนาดเท่าๆ ลอดช่องไทย แต่เหนียวกว่า ยืนยันได้เลยว่าร้านนี้ต้องบอกต่อ… เจ๊เนี้ยวมีของผสมให้เลือกเยอะ ข้าวโพด ถั่วแดง ลูกชิด มันเชื่อม วุ้น เม็ดบัว แห้วเชื่อม ขนุน สาคู ข้าวต้มสามเหลี่ยม เฉาก๊วย มะพร้าว สับปะรดเชื่อม ใส่น้ำเชื่อมหรือน้ำลำไยที่มีกลิ่นหอมสดชื่น โปะทับหน้าด้วยน้ำแข็งไส ส่วนคนที่คุ้นเคยกับเช็งทึงและเต้าทึงก็สั่งเลย อธิบายตามคำแปล เช็งทึงแปลว่าน้ำใส แต่เต้าทึงแปลว่า ถั่วน้ำหรือถั่วในน้ำ ใส่หรือไม่ใส่ถั่วเท่านั้นแหละ เป็นเข้าใจกัน ชิมตามใจชอบเลย การเติมน้ำลำไย ต้องย้ำให้ว่าหวานน้อย จะอร่อยเข้มข้นพอดีครับ ของเจ๊เนี้ยวแกจะสดใหม่ทุกวัน ราคาถูกได้ใจจริงๆ ถ้วยละ 20 บาท พิเศษก็ 25-30 บาท

ร้านเจ๊เนี้ยวเปิดขายตั้งแต่ 11 โมงเช้า จนของหมดหรือราวๆ หัวค่ำ ถามคนท้องถิ่นรู้จักดี หาง่าย หยุดบ้างตามธุระ ไม่ตายตัวว่าหยุดวันไหน รัานเจ้เนี้ยว อยู่บนถนนโกสีย์ ข้างประตูโรงพยาบาลร่มฉัตร ขยายความเพิ่มเติม สำหรับคนต่างถิ่น ถนนโกสีย์คือถนนคู่ขนานกับถนนสวรรค์วิถี เป็นถนนผ่านหน้าวัดนครสวรรค์ ซึ่งตัววัดหันหน้าออกแม่น้ำเจ้าพระยา

อีกร้านเป็นขนมน้ำอีกเช่นกัน ชื่ออิ๋วขนมหวาน แต่ลักษณะหน้าตาของเจ๊อิ๋วคนขาย ก็คนไทยเชื้อสายจีนนั่นแหละ เจ๊อิ๋วใช้รถเข็นจอดหน้าตึกแถว มีโต๊ะให้นั่งกินในอาคาร ขายขนมหวานจำพวกใส่น้ำแข็งไสและน้ำกะทิ มีตั้งแต่รวมมิตร ทับทิมกรอบ ลอดช่องสิงคโปร์ ลอดช่อง แตงไทย เผือก ซ่าหริ่ม ถั่วแดง ข้าวโพด มันเชื่อม แปะก๊วย รากบัว มะพร้าวอ่อน แต่ 4 อย่างนี้อร่อยมาก ถูกใจเป็นที่สุด ขอแนะนำให้ลอง คือ

  1. รวมมิตร
  2. ลอดช่องสิงคโปร์
  3. รากบัว+เผือกน้ำกะทิ
  4. ซ่าหริ่ม

พิกัดร้าน ให้ขับมาตามถนนสวรรค์วิถี ถ้ามาจากกรุงเทพฯ ถึงสี่แยกไฟแดงที่ลงมาจากสพานเดชาติวงศ์ เลี้ยวขวา 3 กม. ขับตรงมาจะผ่านร้านตี๋ลูกชิ้นปลาแล้วเลี้ยวขวาสามแยกแรก (วันเวย์นะ) คือเข้าถนนเมขลา ตรงไปประมาณ 50 เมตรทางขวามือคือ ร้านอิ๋วขนมหวาน ร้านเปิด 6 โมงเย็น ขอบอกนะ… ว่าร้านนี้สุดยอดครับ

ขนมหวานคือวัฒนธรรมอาหารที่ถ่ายทอดผ่านรูปและรสจากแม่ครัวพ่อครัวบรรจงปั้นแต่งออกมาให้ทุกคนได้ถูกปากและชื่นใจ ขนมหวานไทยมีการผสมผสานจนเป็นมรดกตกทอดจากบรรพชนเชื้อสายจีน แขก โปรตุเกส พม่า ที่มีความผูกพันอันยาวนานมาสู่แผ่นดินไทยของเรา

ปัจจุบันนี้ร้านขนมหวานไทยพันธุ์แท้ชื่อดังจะเหลือเพียงไม่กี่ร้านในกรุงเทพฯ ก็ยังขายดี ผ่านไปทีไรต้องซื้อหิ้วกลับบ้าน เช่น ส.บุญประกอบ แม่สมบูรณ์ หวานดำรงค์ แม่อุดม ป้าแดง 9 พี่น้อง หากลองสังเกตเวลาไปเที่ยวต่างจังหวัด ของฝากขนมไทย จะเหลือเพียง 2-3 เจ้าต่อจังหวัดก็ว่าได้ (ยกเว้นขนมหม้อแกงเมืองเพชร ที่ยังมีเป็นสิบเจ้า) แม้ขนมเปี๊ยะรสดีชื่อดัง ก็เหลือไม่มากนัก ที่รู้จักเคยชิมและขายดี ก็ร้านแถวท่าดินแดง สะพานควาย บางคล้า อุทัยธานี สิงห์บุรี สงขลา หรือเต้าส้อที่พังงา ภูเก็ต กระบี่ รู้สึกหวั่นใจและเสียดายวัฒนธรรมอาหารของเราที่กำลังถูกกระเเสความเปลี่ยนแปลง มาถึง ‘ขนมไทย’ แล้วและคงเหมือนหลายสิ่งหลายอย่างที่หายสาบสูญไปในที่สุด

เอ๊ะ…เราคิดมากไปหรือเปล่าหนอ

 

Don`t copy text!