47 ปี 7 สถานที่ ‘งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ’ เทศกาลที่คนรักการอ่านตั้งตารอคอย

โดย : เต่าทองมะเขือเทศ

Loading

ยังจำครั้งแรกที่เดินเข้าไปใน งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ กันได้หรือเปล่า เรียกได้ว่าเป็นงานมหกรรมที่หลายคนตั้งตารอ เพราะงานนี้จัดขึ้นประจำทุกปีเพื่อคนรักหนังสือโดยเฉพาะ สำหรับเราเองจะรู้สึกตื่นตาตื่นใจทุกครั้งที่เดินเข้าไปแล้วพบกับคนมากมายที่เดินทางมางานนี้ด้วยจุดประสงค์เดียวกัน ซึ่งก็คือ ‘หนังสือ’ แล้วยิ่งได้เห็นนักเขียนที่มารอเจอแฟนๆ นักอ่านก็ทำให้รู้สึกชอบงานนี้มากขึ้นไปอีก เพราะงานนี้ไม่ใช่เพียงพื้นที่รวมหนังสือดีๆ แต่เป็นการสร้างโอกาสให้นักอ่านและนักเขียนได้มาเจอและได้พูดคุยกันอย่างใกล้ชิด 

เราเลยมองว่า ‘งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ’ เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนแรงบันดาลใจให้คนในวงการหนังสือได้มากเลยทีเดียว 

ทว่านอกจากเป็นงานหนังสือที่ยิ่งใหญ่ระดับประเทศแล้ว จะมีสักกี่คนที่รู้ความเป็นมาของงานมหกรรมนี้ที่ว่า งานสัปดาห์หนังสือฯ ที่จัดขึ้นมานาน 47 ปี เคยย้ายสถานที่จัดมาทั้งหมด 7 แห่ง ก่อนจบลงที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่กลายเป็นสถานที่ประจำในการจัดงานมานานถึง 23 ปี และอย่างที่ทราบกันดี งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 47 เมื่อต้นปีนี้ ถือเป็นงานครั้งสุดท้าย ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่เราคุ้นเคย เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้จะทำการปิดปรับปรุงนาน 3 ปี 

ในวันนี้เราจึงอยากหยิบที่มาที่ไปของงานสัปดาห์หนังสือฯ นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นจวบจนปัจจุบันมาเล่าให้ทุกคนอ่านกันสนุกๆ เป็นความรู้ ก่อนเราจะได้เจอกันที่งานหนังสือปลายปีภายใต้บรรยากาศสถานที่แห่งใหม่

แรกเริ่ม ‘สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ’ เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันระหว่าง ‘กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ’ และ ‘คณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ’ ซึ่งกำหนดให้ทุกวันที่ 1-7 เมษายนของทุกปีเป็นสัปดาห์หนังสือ และจัดงานขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2515 โดยสถานที่จัดแห่งแรกอยู่ที่บริเวณสังคีตศาลา โรงละครแห่งชาติ จุดประสงค์หลักของงานก็เพื่อรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของการอ่าน และส่งเสริมให้คนอ่านหนังสือกันมากขึ้น ภายในงานมีการขายหนังสือลดราคา มีกิจกรรมพูดคุยเกี่ยวกับหนังสือ และมีการแสดงต่างๆ จัดควบคู่คล้ายกับงานหนังสือที่เรารู้จักในปัจจุบัน

หลังจากนั้นไม่นาน สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย หรือ ‘PUBAT’ ก็ได้เข้าร่วมเป็นผู้จัดงาน และเปลี่ยนชื่องานเป็น ‘งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ’ โดยการจัดงานครั้งแรกมีสำนักพิมพ์เข้าร่วมกว่า 20 แห่ง ก่อนงานสัปดาห์หนังสือฯ นี้จะได้รับความสนใจจากผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ต้องย้ายสถานที่จัดหลายต่อหลายครั้งเพื่อรองรับผู้คนที่หลั่งไหลมาภายในงาน จากเริ่มแรกจัดที่สังคีตศาลา โรงละครแห่งชาติ ย้ายไปที่เวทีลีลาศ สวนลุมพินี, หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โรงเรียนหอวัง, คุรุสภา, ถนนลูกหลวง, ท้องสนามหลวง ก่อนจบลงที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานสัปดาห์หนังสือฯ เป็นประจำนับแต่นั้นมา 

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2535 ณ ท้องสนามหลวง

หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2539 ก็มีการเพิ่มงานสัปดาห์หนังสือฯ เป็นจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง โดยแบ่งเป็นงานช่วงต้นปี จัดประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน ใช้ชื่องานว่า ‘งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ’ ส่วนงานช่วงปลายปี จัดประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ใช้ชื่องานว่า ‘งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ’ ทั้งสองงานมีความแตกต่างกันเพียงอย่างเดียวคือ โซนหนังสือต่างประเทศ ที่เราจะได้เจอในงานหนังสือช่วงต้นปีเท่านั้น

เมื่อเวลาผ่านไป งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ กลายเป็นเทศกาลหนังสือที่คนรักการอ่านให้ความสนใจกันมากขึ้นอย่างน่าดีใจ เห็นได้จากตัวเลขผู้เข้าร่วมงาน นักวาดนักเขียน ยอดขาย และจำนวนผู้จัดบูธ ซึ่งเพิ่มขึ้นทุกปีๆ อีกทั้งผู้จัดงานก็พยายามหาลูกเล่นให้งานหนังสือฯ มีความน่าสนุกมากขึ้นไปอีก ด้วยการมีคอนเซปต์ประจำปี อย่างล่าสุด งานสัปดาห์หนังสือฯ ครั้งที่ 47 ก็มาในคอนเซ็ปต์ ‘รักคนอ่าน’ เพื่อเป็นการรำลึกความทรงจำระหว่างคนทำหนังสือและคนรักหนังสือ ก่อนต้องย้ายจากสถานที่จัดงานประจำไปยังสถานที่แห่งใหม่

โดย งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 24 ซึ่งเป็นงานหนังสือครั้งสุดท้ายของปีนี้ ได้ย้ายไปจัดที่ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 2 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ด้วยคอนเซ็ปต์ประจำงาน ‘หนังสือดี มีชีวิต’ โดยงานจะจัดขึ้นในวันที่ 2-13 ตุลาคม 2562 เวลา 10.00-21.00 น. และถึงแม้จะมีการเปลี่ยนสถานที่จัดงาน แต่รับรองว่าสำนักพิมพ์ กิจกรรมสนุกๆ บูธหนังสือ รวมถึงโปรโมชันก็ยังเนืองแน่นเหมือนเดิมแน่นอน 

ส่วนใครที่กำลังกังวลเรื่องวิธีเดินทาง หรืออยากดูแผนที่เพื่อวางแผนเดินตามล่าหนังสือ ผู้จัดงานก็เตรียมข้อมูลเกี่ยวกับงานไว้ให้เรียบร้อย สามารถเข้าดูได้ที่ https://pubat.or.th/มหกรรมหนังสือ2562/ หรือ เฟซบุ๊กเพจ @bookthai 

หวังว่าพวกเราจะได้เจอเพื่อนๆ ที่งานหนังสือครั้งนี้เช่นกันนะ

 

ภาพประกอบ: เฟซบุ๊กเพจ @bookthai, www.plotter.in.th

อ้างอิงข้อมูล : 



Don`t copy text!