รู้จักกันก่อนดูละครกับ 4 นักเขียนหน้าใหม่จากโครงการช่องวันอ่านเอา

รู้จักกันก่อนดูละครกับ 4 นักเขียนหน้าใหม่จากโครงการช่องวันอ่านเอา

โดย : YVP.T

Loading

นอกจาก ‘นาคเหรา’ ที่เราได้พูดคุยกันไปแล้วในบทความพิเศษ “จากฮันกังถึงเจ้าพระยา’ บทพิสูจน์ความฝันที่ไม่ยากจะไปถึงของ ‘นาคเหรา’ ” ฮูกไม่รอช้า ขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับคนเก่งอีก 4 คน ที่ตอนนี้กลายเป็นนักเขียนหน้าใหม่อย่างเต็มตัวเรียบร้อย เพราะทั้ง 4 คือเจ้าของ 4 นวนิยายที่การันตีคุณภาพจากโครงการช่องวันอ่านเอา

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

ม่อนเมิงมาง’ โดย กันพิชญ์

กันต์พิชญ์ หรือสุริยงวรวุฒิ สิริวิวัฒน์กุล เจ้าของผลงาน ‘ม่อนเมิงมาง’ เขาเป็นนักแปลนวนิยายสืบสวนสอบสวนจากประเทศญี่ปุ่น และเมื่อปี พ.ศ. 2562 เขาเพิ่งจบจาก University of Oxford สาขาวรรณคดีอเมริกัน จึงมีโอกาสสอนหนังสือทั้งภาษาญี่ปุ่นและอังกฤษ แต่แม้ว่าจะเรียนทางสายวรรณคดี แต่เขาคนนี้ไม่เคยลงเรียนการเขียนแม้แต่ครั้งเดียว กระทั่งได้มาสมัครเข้าร่วมอบรมในโครงการช่องวันอ่านเอา ครั้งที่ 1 เส้นทางนักเขียนของเขา จึงชัดเจนขึ้นมาทันที

“ความที่เป็นเด็กสายวรรณคดี จึงติดกับหลักทฤษฎีค่อนข้างมากและคุ้นชินกับการเขียนงานวิจัยหรืองานวิพากษ์วิจารณ์วรรณกรรมส่งอาจารย์ พอมาเขียนเองเข้าจริงๆ ถึงกับติดขัด พะวงหน้าพะวงหลัง แต่ก็ได้พี่ๆ นักเขียนที่สอนในโครงการช่วยทลายกำแพงและชี้ทางสว่างให้ เพราะพี่เอียด พี่ปุ้ย พี่โอ๊ต พี่ลักษณ์ และพี่พิมพ์พูดทุกประเด็นแบบไม่มีกั๊ก ประกอบกับทุกท่านมีประสบการณ์การทำงานทั้งทางด้านนิยายและละครมานาน จึงไม่ใช่การถ่ายทอดแบบทฤษฎีทั่วไปไปที่หาได้จากตำรา แต่เป็นการถ่ายทอดจากประสบการณ์ตรง ที่ไม่มีใครมานั่งบอกกันให้ได้รู้ง่ายๆ ถือว่าผมตัดสินใจถูกครับที่เข้าร่วมโครงการอันล้ำค่าหาที่ไหนไม่ได้แบบนี้

“สำหรับ ‘ม่อนเมิงมาง’ นั้น เกิดขึ้นเมื่อตอนค้นงานวิจัยเพื่อวางโครงเรื่อง ก็ไปเจอบทความทางวิชาการที่ตั้งคำถามว่า ‘เจ้าพ่อทิพย์ช้าง ผู้ปลดแอกลำปางจากพม่า แต่ภายหลังกลับสวามิภักดิ์พม่า?’ เข้า รู้สึกว่าเป็นประเด็นนี้น่าสนใจ จึงลงมือวางพล็อตเรื่อง ‘ม่อนเมิงมาง’ โดยแฝงความวายจากมุมมอง LGBTQ  ซึ่งสนองความต้องการตัวเองล้วนๆ เพราะส่วนตัวแล้วผมอยากเห็นคนไทยอ่านนิยายได้หลากหลายแนว แม้จะเคยแปลนิยายวายมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของเมืองไทย แต่ก็รู้สึกว่าเนื้องานวายยังไม่ใช่งานที่สะท้อนกลุ่ม LGBTQ สักเท่าไร เมื่อนำมารวมกับความชอบอ่านแนวสืบสวนสอบสวนและสนใจประวัติศาสตร์ด้วย เรื่องนี้จึงเกิดขึ้นครับ”

‘ม่อนเมิงมาง’

ม่อนเมิงมางเป็นทิวเขาสูงสลับซับซ้อนของแคว้นมางหรือเมืองมาง ด้วยความเป็นป่าชัฏกอปรกับตำนานผีหัวขาดลี้ลับน่าพรั่นพรึง ทำให้ผู้คนจากแคว้นโดยรอบไม่อยากใช้เมืองมางเป็นทางสัญจรค้าขายมากนัก ซึ่งจู่ๆ ‘กานฟ้า’ หนุ่มน้อยชาวเมืองมางมีเรื่องให้ต้องลงไปเวียงอัศวา บ้านพี่เมืองน้องที่อยู่ติดกันจนจับพลัดจับผลูไปเกี่ยวข้องการไล่ล่าเอาชีวิต สงครามระหว่างแคว้นเล็กใหญ่ที่โยงใยยุ่งเหยิง และความแค้นที่ถูกส่งผ่านรุ่นพ่อสู่รุ่นลูกจนเกิดเหตุโศกนาฏกรรมแสนปวดใจ

ใครที่ชื่นชอบ นิยายที่มีครบรสทั้งสืบสวน สงคราม ดราม่าและสิ่งลึกลับ ไม่ควรพลาด ‘ม่อนเมิงมาง’  โดย กันต์พิชญ์

 

‘วานวาสนา’ โดย ร่มเกศ

ร่มเกศ หล้าทุม  ถือว่าเป็นนักเขียนที่อายุน้อยที่สุดเมื่อตอนที่เข้าร่วมอบรมในโครงการช่องวันอ่านเอา ครั้งที่ 1 เพราะเธออายุเพียง 17 ปีเท่านั้น แต่เธอก็ได้พิสูจน์ให้ผู้ใหญ่เห็นแล้วว่า แม้เธอจะยังเด็กมากๆ แต่ฝีมือการเขียนนิยายของเธอ ไม่เด็กเลย  เมื่อ ‘วานวาสนา’ คือ 1 ใน 5 เรื่อง ที่ทำให้คณะกรรมการสะดุดใจและขอมอบรางวัลให้กับเธอ

“ความที่หนูเป็นเด็กที่สุดในการอบรมครั้งนี้ทำให้รู้สึกประหม่าและกลัวมากๆ เพราะยังไม่เคยจากบ้านมากรุงเทพฯ คนเดียว และทำอะไรแบบนี้มาก่อน แต่เมื่อพล็อตได้ผ่านการคัดเลือกและได้มาเรียนถึงตึกแกรมมี่กับพี่ๆ ที่มีประสบการณ์มากๆ ถึง 2 วันเต็มๆ หนูก็อยากจะทำให้เต็มที่ ในเมื่อเราได้รับโอกาสแล้วหนูก็อยากจะเก็บเกี่ยวความรู้ในการอบรมครั้งให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้ที่ผ่านมาหนูจะเคยเขียนแต่วารสารของโรงเรียน ก็ไม่รู้จะไปรอดหรือเปล่าที่เปลี่ยนแนวมาเขียนนิยายแบบนี้ แต่พอเจอพี่ๆ ทุกคนที่แม้อายุจะห่างกันมาก กลับทำให้รู้สึกดีขึ้น เพราะพี่ๆ ทำให้หนูรู้สึกว่าเราคือเพื่อนกันหมด อาจเพราะรู้สึกว่าได้มาอยู่กับคนที่ชอบอะไรแบบเดียวกัน คุยภาษาเดียวกัน ทำให้ช่องว่างระหว่างวัยไม่ใช่ปัญหา

“และจากคนที่เขียนอะไรมั่วซั่วไม่ค่อยมีหลักการ ไม่รู้จักการวางแผน อยากเขียนอะไรก็เขียน แถมยังมีจุดอ่อนที่การกลัวคำคอมเมนต์ เป็นอุปสรรคทางด้านจิตใจที่หนูยังก้าวผ่านไปไม่ได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะชอบอยู่ในโลกสีชมพูมากเกินไปจนบางครั้งก็ไม่อยากรับรู้มุมมืดของตัวเอง แต่พอได้เข้ามาอบรมในโครงการนี้ อะไรหลายๆ อย่างทำให้หนูเปลี่ยนความคิด ทำให้หนูเป็นคนที่เข้มแข็งขึ้น รู้สึกว่าตัวเองโตขึ้นมากจากเมื่อก่อน และตอนนี้หนูก็เปลี่ยนมุมมองพยายามบอกกับตัวเองว่า การถูกคอมเมนต์ก็ไม่ได้เสียหายอะไรสักหน่อย ดีเสียอีกเราจะได้รู้จุดบกพร่องของตัวเอง มันเป็นสิ่งที่ดีต่อตัวเรา ทุกคนต่างหวังดีต่อเรา ไม่มีใครทำร้ายทำให้เราดูแย่เลย พอคิดแบบนี้ได้ สุดท้ายหนูก็เอาชนะความกลัวนั้นได้สำเร็จ และวันนี้ไม่มีร่มเกศคนนั้นอีกแล้ว ต้องขอบคุณพี่ลักษณ์ พี่เกด และ วิทยากรทุกท่านมากๆ ที่คอยให้คำแนะนำและสอนหนูในหลายๆ อย่างจนหนูสามารถเขียนเรื่อง ‘วานวาสนา’ ออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ นอกจากนี้ต้องขอขอบคุณพี่ต๋อย (น้ำน่าน) เพื่อนร่วมอบรมที่ให้คำปรึกษาที่ดี และให้กำลังใจเวลาหนูท้อจนมีแรงใจที่จะเขียนงานอีกครั้งค่ะ”

‘วานวาสนา’

เรื่องราวชีวิตสุดรันทดของผู้ชายคนหนึ่ง ที่กลายเป็นคนเร่ร่อน มีแต่คนรังเกียจ จนกระทั่งมาเจอหญิงสาวชนชั้นสูงคนหนึ่งที่มองเขาแตกต่างไปจากคนอื่นๆ ในสังคม ในขณะที่ผู้ชายคนหนึ่งกำลังหวาดกลัวและอ่อนแอ ทว่ามีมือเล็กๆ ของผู้หญิงอีกคนฉุดเขาขึ้นมาด้วยความเมตตา จากความประทับใจก่อตัวกลายเป็นความรักภายในหัวใจของน้อย และนำพามาซึ่งเรื่องราวมากมายที่จะเปลี่ยนชีวิตของผู้ชายคนหนึ่งไปตลอดกาล

จากเด็กธรรมดาๆ คนหนึ่งที่ก้าวขึ้นมาเป็นนักเขียน ก็รู้ว่าทุกย่างก้าวกว่าจะเขียนนิยายสักเรื่องจบมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ร่มเกศพิสูจน์แล้วว่า ควมตั้งใจและมุ่งมั่น พร้อมที่จะเปิดใจเรียนรู้และปรับปรุง ทำให้เธอเดินมาถึงจุดนี้ได้… จุดที่ชื่อว่า ร่มเกศ คือรักเขียนหน้าใหม่ที่ต้องจับตามองอีกหนึ่งคน

‘โพงคำหอม’ โดย ทศพล

หลังจากเห็นข่าวการรับสมัครโครงการช่องวันอ่านเอา ครั้งที่ 1 จากสำนักข่าวออนไลน์แห่งหนึ่ง ทศพล สิงห์คำมา ข้าราชการครู วิชาสังคมศึกษา โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล จังหวัดสกลนคร จึงตัดสินใจส่งพล็อตนิยายมาเข้าร่วมโดยไม่ได้คาดหวังว่า พล็อตเรื่องที่ว่าจะได้รับคัดเลือกหรือไม่ แต่แล้ว ‘โพงคำหอม’ ก็สอบผ่าน และยังได้เป็น 1 ใน 5 เรื่อง ที่ได้รับการคัดเลือกให้นำมาทำละครอีกด้วย

“แรงบันดาลใจในการเขียน ‘โพงคำหอม’ นั้น เริ่มต้นจากตัวผมเองที่เป็นครูสอนสังคมศึกษา จึงผูกพันกับวัฒนธรรมประเพณี และมองจังหวัดสกลนครว่ามีวัฒนธรรมมากมายและน่าสนใจเลยอยากหยิบมาเป็นกลิ่นอาย โดยหยิบเอา ‘ผีโพง’ ซึ่งเป็นความเชื่อของคนในท้องถิ่นมาสื่อสาร เพราะหากมองผ่านจารีตทางสังคมแล้ว คนที่โดนตีตราว่าเป็นผีโพงจะถูกคนในสังคนที่อยู่ขับไล่จนต้องออกไปจากสังคมเดิมที่คุ้นเคย ซึ่งผมเองไม่เพียงแต่เคยได้ยินเรื่องนี้แต่ได้เห็นเรื่องนี้ด้วยตาตัวเอง จึงเกิดความสงสารและเห็นใจคนดังกล่าวที่ต้องมาถูกตีตราเช่นนี้ว่าเขาจะรู้สึกอย่างไรที่ต้องมาถูกกระทำเช่นนี้จากคนหมู่มาก

“โพงคำหอม มี ‘คำหอม’ เป็นตัวเอกของเรื่อง เธอคือหญิงชาวบ้านธรรมดาแต่ภูมิหลังชาติกำเนิดไม่ธรรมดา ผมได้ต้นแบบของตัวละครตัวนี้มาจากผู้หญิงคนหนึ่งในสังคมที่ถูกตีตราจากสังคมว่าเป็น “ผีปอบ” แต่ด้วยความที่มีงานเขียนเกี่ยวกับผีปอบเยอะแล้ว ผมจึงหันมาเขียนเกี่ยวกับผีโพงแทน เพราะแท้จริงแล้ผีโพงเป็นผีที่ไม่ทำร้ายคนก่อนและดูน่าสงสารที่ต้องประทังชีวิตด้วยการกินของสด กินกบกินเขียด อยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ซึ่งตอบโจทย์คาแรกเตอร์หลัก และสะท้อนถึงเรื่องราวในสังคมได้เป็นอย่างดี

“เมื่อลงมือเขียนก็เกิดความรู้สึกกดดันขึ้นมาในตัวเอง เพราะกลัวว่าจะเขียนไม่ได้เพราะผมไม่มีเคยเรียนและเขียนนิยายมาก่อนเลย ประกอบกับตัวผมเองมีจุดอ่อนในการเขียนตรงที่ชอบยัดเยียดให้ตัวละครเป็นทุกอย่าง ความไม่สมเหตุสมผลและวรรณศิลป์ทางภาษา ซึ่งพี่ๆ นักเขียนได้ช่วยแนะนำและปรับปรุงให้ดีขึ้น ถึงแม้ว่าผมเพิ่งจะเริ่มหัดเขียนก็ตาม แต่ผมก็จะเขียนเรื่องต่อไปอีก และเชื่อมั่นว่าสักวันหนึ่งต้องมีเรื่องที่ดีขึ้นมากกว่าเดิม”

‘โพงคำหอม’

บนแผ่นดินสยาม รัชสมัยรัชกาลที่ 5 ณ หมู่บ้านท่าขี้อ้น เมืองสกลนคร มีหญิงสาวคนหนึ่งที่อาศัยและเติบโตขึ้นมา มีชื่อว่า ‘คำหอม’ ที่อยู่ๆ วันหนึ่งพบว่าตัวเองมีใบหน้าคล้ายกับสัตว์ประหลาดที่มีจมูกเรืองแสงได้ การใช้ชีวิตต้องเปลี่ยนไปอย่างไม่ทันตั้งตัวว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง จนกระทั่งได้เจอกับ ‘ขุน’ ชายหนุ่มลูกท่านพระยาแห่งเมืองพบศิลาที่เดินทางมาช่วยแข่งเรือในเทศกาลวันออกพรรษา เขาได้มอบทั้งความรักแก่เธอและคอยปกป้องเธอจากถูกตามล่าจากเหล่าพ่อเฒ่าทั้งสาม เพราะเธอคือสิ่งที่เหล่าพ่อเฒ่าต้องการตัวมากที่สุด

‘โพงคำหอม’ โดยทศพล นวนิยายที่นอกจากจะทำให้คุณรู้ว่าจังหวัดสกลนครมีดีที่ตรงไหน ที่แห่งนี้ยังมีเรื่องราวของความเชื่อเก่าแก่รอให้คุณได้สัมผัส

 

‘ทาสทวิกาล’ โดย ภัทราพร สงครามยศ 

“ความชอบนำมาซึ่งความสำเร็จ” ประโยคที่ว่านี้ น่าจะใช้ได้ดีกับ ‘ภัทราพร สงครามยศ’ เจ้าของผลงาน ‘ทาสทวิกาล’ 1 ใน 5 นวนิยายที่ได้รับคัดเลือกจากโครงการช่องวันอ่านเอา ครั้งที่ 1 ที่จะนำนิยายไปทำเป็นละคร เธอคนนี้เริ่มต้นเพราะเธอมีทั้งความรักในการอ่าน รักในการเขียน ที่แม้จะมีบ้างที่ทิ้งช่วงงานเขียนไป แต่นั่นไม่ได้ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ของเธอหยุดนิ่ง และ ‘ทาสทวิกาล’ คือคำตอบที่ชัดเจนที่สุด

“จุดเริ่มต้นในความรักในการอ่านการเขียนเริ่มมาตั้งแต่เด็กๆ ค่ะ เพราะนุ่นเห็นตากับยายอ่านนิยายใน ‘ไทยรัฐ’ ทุกวัน ก็เลยอ่านตามและค่อยๆ ซึมซับจนกลายมาเป็นคนที่รักการอ่านก่อน นุ่นอ่านทั้งหนังสือพิมพ์และนิตยสาร แต่ยังไม่ได้ลงลึกในนิยายเท่าไหร่ จน ม.3 รู้สึกว่าอยากลองเขียนนิยายเอง ก็ลองเขียนแนวรักกุ๊กกิ๊กส่งไปให้สำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้รับเลือกให้ตีพิมพ์ พอขึ้น ม.5 ก็ส่งอีกก็เหมือนเดิม แต่ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกท้อนะคะ เพียงแต่หลังจากนั้นต้องเข้ามหาวิทยาลัยทำให้ต้องหยุดเขียนไป เพราะคณะสังคมสงเคราะห์ต้องลงชุมชนเยอะจนไม่มีเวลา แต่ความฝันในเรื่องการเขียนนิยายยังอยู่ในใจตลอดค่ะ

“ก่อนที่จะเข้าห้องอบรมในโครงการช่องวันอ่านเอารู้สึกลั้นลามากๆ แต่เข้าห้องแล้วนิ่งเลยค่ะ เพราะงานของนุ่นโดนคอมเมนต์เยอะมาก แต่ก็ถือว่าเป็นข้อดีมากๆ เช่นกันค่ะ เพราะนุ่นได้นำสิ่งที่กรรมการคอมเมนต์มาใช้เกือบหมดเลย โดยเฉพาะการดำเนินเรื่องและสิ่งที่พี่ลักษณ์สอนว่า ‘1 เรื่อง 1 Key Message คือนิยายต้องมีอารมณ์หลักสัก 1 อารมณ์ เหมือนธีมหลักของเรื่อง ที่นักเขียนต้องเซตขึ้นมา เพื่อให้เรื่องสามารถสื่อสารได้ชัดเจน ส่วนอารมณ์และพล็อตรองอื่นๆ เราเสริมเข้าไปได้ อย่าพยายามยัดทุกไอเดียลงไป’

“ความคิดสร้างสรรค์ แต่ไอเดียสะเปะสะปะของนุ่นได้รับการจัดให้เป็นระบบระเบียบมากขึ้น ลำดับเรื่องราวได้เป็นขั้นตอนมากขึ้น และเขียนโดยมีการอ้างอิงข้อมูลที่ถูกต้องอย่างที่พี่โอ๊ต พงศกร สอน เพราะนุ่นเขียนแบบมโนไปซะเยอะ ซึ่งในเรื่องนี้นุ่นก็นำไปปรึกษาอาจารย์ ดร.นันทพร พุ่มมณี ซึ่งท่านเป็นอาจารย์สอนนุ่นตอนเรียน ปี 1 ที่ ม.รามคำแหงด้วยค่ะ  เป็นการรีเช็คข้อมูลอีกครั้ง ป้องกันไม่ให้เรื่องที่เขียนนั้นเกินจริงในแง่ประวัติศาสตร์

“แรงบันดาลใจของนุ่นในการเขียนเรื่องนี้มาจากการดูละครแนวย้อนอดีตค่ะ เลยคิดเล่นๆ ว่า ถ้าเราย้อนไปล่ะจะเป็นยังไง คำตอบคือ ปู่ย่าตายายเราเป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ทำไร่ไถนา ถ้าเราย้อนไป คงไม่มีโอกาสได้ไปนุ่งสไบสวยๆ เป็นแม่หญิง ก็คงจะเป็นไพร่เป็นทาสใช้แรงงาน เลยคิดว่าถ้าสมมติตัวนางเอกเป็นทาส จะไปเจออะไร ไปทำอะไร พล็อตแนวๆ สืบสวนก็เริ่มตามมา ประกอบกับเราชอบดูหนังผี ชอบฟังเรื่องผี ก็เลยประกอบเข้าด้วยกัน โดยมีฉากหลังเป็นความโบราณในสมัยกรุงธนบุรี และค่อยๆ ทุกอย่างจนมาลงตัวกลายเป็น ‘ทาสทวิกาล’ ฉบับสมบูรณ์แบบในที่สุดค่ะ”

 ‘ทาสทวิกาล’

เอิ้นขวัญ ไปถีบศาลเจ้าแม่เถากาลเพราะโกรธที่ไม่ได้ตามที่ตัวเองขอ พอไปถีบศาลเลยโดนเจ้าแม่เล่นเข้าให้ ด้วยการพานางย้อนไปเป็นตัวเองในอดีตชาติ เมื่อครั้งเกิดเป็น ‘อีเขียว’ ทาสของเรือนขุนใหญ่ในสมัยกรุงธนบุรี การย้อนเวลากลับไปทำให้นางได้รู้ว่านางทำกรรมอะไรไว้บ้าง ชีวิตปัจจุบันถึงได้เป็นแบบนี้ และที่สำคัญ คือการช่วยคลี่คลายปมการตายท้องกลมของ ‘คุณเลื่อง’ ที่อยู่ๆ ก็เสียชีวิตและถูกอำพรางศพอย่างจงใจ ทำให้นางต้องหาความจริงว่าใครฆ่าคุณเลื่อง และการตายของคุณเลื่องอาจนำไปสู่การเปิดเผยความจริงบางอย่างก็เป็นได้

ตอนเด็กๆ ความฝันมักสวยงาม แต่พอโตขึ้นมา… ชีวิตไม่มีอะไรง่าย การเป็นนักเขียนก็เช่นกัน แต่ถ้านั่นเป็นสิ่งที่มุ่งมันและอยากให้ฝันเป็นจริง ต้องสู้ให้สุดเช่นเดียวกับที่ ภัทราพร สงครามยศ สู้จนได้ผลงานชิ้นเยี่ยม ‘ทาสทวิกาล’ มาประดับวงการวรรณกรรมไทยอีกหนึ่งเรื่อง

Don`t copy text!