สิ่งที่มองไม่เห็น ไม่ได้แปลว่า ‘ไม่มี’ คุยกับ ‘พงศกร’ ก่อนดู ‘พนมนาคา’ กับความจริงที่ซุกซ่อนอยู่ใน ศรัทธา ความเชื่อ และคำสาป?
โดย : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ
เชื่อว่าแฟนๆ อ่านเอา คงอยากเห็น ‘พนมนาคา’ นิยายจากปลายปากกาของ ‘พงศกร’ ในรูปแบบละครกันแล้ว และหลายคนคงอยากเห็นเรื่องราวความรักระหว่าง อนันตชัย อนัญชลี และพุ่มข้าวบิณฑ์ ที่มีฉากหลังเป็นปราสาทหิน เมืองสุดลึกลับ และคำสาป? โดยมีเรื่องราวของวิทยาศาสตร์การแพทย์สอดแทรกอยู่ในการดำเนินเรื่องอย่างแยบยล
และเมื่อกลายมาเป็นละครฟอร์มยักษ์ของช่องวัน31 ด้วยฝีมือการกำกับของสันต์ ศรีแก้วหล่อ เขียนบทโดย พิมพ์มาดา พัฒนอลงกรณ์ ได้นักแสดงนำอย่าง ตรี-ภรภัทร ศรีขจรเดชา, กรีน-อัษฎาพร สิริวัฒน์ธนกุล และนักแสดงมากฝีมืออีกคับคั่ง นอกจากนี้ยังได้ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๕ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) พี่เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ มาร้องเพลง ‘รักเอย’ เพลงประกอบละครเรื่องนี้อีกด้วย พนมนาคา จึงครบเครื่องและกลายเป็นละครเรื่องเยี่ยมอีกเรื่องของช่องวัน31 ที่น่าจับตามองไปพร้อมๆ กับมีแฟนนิยายที่เหนียวแน่น…
ก่อนจะไปดูเวอร์ชั่นละครในวันที่ 4 กันยายนนี้ เราได้ชวนคุณหมอโอ๊ต-นายแพทย์พงศกร จินดาวัฒนะ เจ้าของบทประพันธ์มาคุยกันก่อนในเรื่องที่มาที่ไป ความสนุกสนาน แก่นและแกนของเรื่อง รวมถึงการปรับบางเรื่อง บางฉาก บางตอนของนิยาย เพื่อให้เหมาะสมกับแพลตฟอร์มละครด้วยกัน ซึ่งพี่หมอโอ๊ตบอกว่าในการทำงานของทีมละครนั้น พี่หมอโอ๊ตได้รับรู้ รับเห็น เข้าใจและเห็นด้วยกับการปรับเรื่องราวตรงนั้นเพื่อให้เหมาะกับการสร้างเป็นละครมากขึ้น และไม่ว่าในละครจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร แต่สิ่งสำคัญคือหัวใจของเรื่องก็ยังอยู่ครบ “อ่านหนังสือก็จะได้อรรถรสแบบอ่าน พอดูละครก็จะได้อรรถรสอีกแบบหนึ่งครับ” พี่หมอโอ๊ตกล่าวไว้กับเราในบทสัมภาษณ์ครั้งนี้…
ครบเครื่องเรื่อง ‘พนมนาคา’
ถ้าพูดถึงการนำนิยายเรื่องพนมนาคามาสร้างเป็นละครที่เรากำลังจะได้ชมกันในเร็ววันนี้ ในฐานะเจ้าของบทประพันธ์ พี่หมอโอ๊ตบอกว่านับเป็นอีกครั้งที่รู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างมาก “เราได้ร่วมงานกับช่องวัน31 ได้ผู้กำกับมือดีมากๆ อย่างพี่สันต์ ผู้เขียนบทอย่างพี่เกด-พิมพ์มาดา อีกทั้งนักแสดง องค์ประกอบศิลป์ต่างๆ ทุกคนก็ตั้งใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเพลงประกอบละคร รักเอย ก็ได้รับเกียรติจากพี่เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๕ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) มาขับร้องให้ด้วย ต้องบอกว่าครบจริงๆ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ในฐานะของคนเขียนเรื่องนี้ ภูมิใจมากแล้วก็ดีใจมากๆ ครับ
แต่ว่าอย่างหนึ่งที่อยากจะบอกคนอ่านทุกคนไว้ก่อนตอนนี้เลยก็คือ เมื่อไปเป็นละครแล้วสื่อไม่เหมือนกัน นวนิยายเราเล่าด้วยตัวหนังสือ คนอ่านอ่านก็จินตนาการตาม ซึ่งจินตนาการของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน พอไปเป็นละครที่เป็นการเล่าเรื่องด้วยภาพ แสง เสียง การเคลื่อนไหว ตัวอักษรก็จะถูกตีความไปอีกแบบ ดังนั้นพนมนาคาที่จะได้ชมจึงจะไม่เหมือนในนวนิยายเสียทีเดียว มีหลายอย่างที่เปลี่ยนไป มีบางอย่างที่ถูกตัดออก มีบางอย่างที่อาจถูกเติมเข้ามา และทั้งหมดนี้ ในฐานะนักเขียน ช่อง ผู้เขียนบท เราก็ทำงานด้วยกัน พูดคุยกันตลอดเวลาครับ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ตัวพงศกรก็รู้อยู่ และก็เห็นด้วยที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะแบบที่จะได้ชมในละคร เพราะว่าสุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร สิ่งสำคัญคือหัวใจของเรื่องก็ยังอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรัก ความเชื่อ เรื่องเล่าหรือตำนานที่เราเคยได้ยินมา แท้จริงแล้วมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือเปล่า? หรือว่าถูกเล่าใหม่ ดัดแปลงใหม่ จนข้อเท็จจริงถูกเปลี่ยนแปลงไป! นี่เป็นสิ่งที่นวนิยายเรื่องนี้พยายามนำเสนอ แล้วในละครก็เก็บเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน อ่านหนังสือก็จะได้อรรถรสแบบอ่าน พอดูละครก็จะได้อรรถรสอีกแบบหนึ่ง ถ้ารักพนมนาคาแบบนวนิยายก็อยากให้รักพนมนาคาในแบบละครด้วย นี่คือสิ่งที่คนเขียนอยากฝากไว้ครับ”
พนมนาคา ความเชื่อ หรือ วิทยาศาสตร์?
ถึงแม้นิยายเรื่องนี้เหมือนจะมีภาพของศรัทธาและความเชื่อเป็นหลัก แต่ถ้าได้ลองเปิดอ่านไปเรื่อยๆ จะพบว่า คุณหมอโอ๊ตได้เล่าถึงวิทยาศาสตร์การแพทย์ไว้อย่างแยบแยลและบาลานซ์ข้อมูลทั้งสองด้าน รวมถึงความเป็นแฟนตาซีไว้ได้อย่างลงตัว
“พนมนาคาเป็นนวนิยายลึกลับที่ผสมผสานเรื่องของวิทยาศาสตร์การแพทย์เรื่องที่สามของพงศกร เรื่องแรกคือ ลิขิตชีวิต เล่าเรื่องการทำการุณยฆาต เรื่องที่สอง มายาเงา เล่าเรื่องบุคลิกภาพแปรปรวน เรื่องที่สามคือพนมนาคา ที่อยากจะเล่าเรื่องของการทดลองวัคซีนในมนุษย์ ซึ่งจะมีผลหลายๆ แบบ ทั้งดี ไม่ดี สำเร็จและล้มเหลว นี่ก็จะเป็นตัวอย่างหนึ่งแล้วเอามาดัดแปลงสร้างเป็นสถานการณ์จำลองหนึ่งเพื่อให้เห็นภาพ และคือเบื้องหลังลึกๆ ที่จะเขียนพนมนาคา…
…ประกอบกับพี่อยากเขียนเรื่องพญานาคมานานแล้ว ต้องบอกว่าเรื่องของพญานาคกับคนไทย คนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เนี่ยเป็นวัฒนธรรมร่วมที่อยู่ในวัฒนธรรมของเรามานานเป็นหลายร้อยหลายพันปี และถูกเล่าในแง่มุมต่างๆ กัน เมื่อมาเป็นวรรณกรรมของเราก็อยากจะเล่าในมุมที่แตกต่าง เลยเป็นพนมนาคาขึ้นมา
ก่อนจะลงมือเขียนเรื่องพนมนาคา พี่คิดและรวบรวมข้อมูลไว้เป็นสิบปี โดยวางแผนเขียนพนมนาคาพร้อมกับตอนที่เขียนกี่เพ้า เพราะในนวนิยายเรื่องกี่เพ้าได้กล่าวถึง ‘พุ่มข้าวบิณฑ์’ พระเอกของเรื่องนี้ซึ่งเป็นน้องชายของเพกาที่เป็นนางเอกกี่เพ้าเอาไว้ แต่เป็นการค่อยๆ เก็บ ค่อยๆ หา ค่อยๆ อ่านไปเรื่อยๆ เช่น เราไปเที่ยวเสียมเรียบแล้วเจอหนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับเรื่องรำอัปสราแล้วก็ซื้อมาอ่าน ไปเที่ยวปราสาทหินตรงนี้มีคู่มือนำเที่ยว เขาเล่าเรื่องรูปสลักรูปนี้ที่เราเคยเห็นและสงสัยพอดีก็อ่านเก็บไว้ ประกอบร่างกันมาเรื่อยๆ จนวันที่เขียน เปลวกนก ฉัตรกนก ข้อมูลเกี่ยวกับพนมนาคาก็มีมากขึ้นๆ กระทั่งช่วงเริ่มเขียน เชิญกนก ก็รู้สึกว่าพร้อมแล้วที่จะเขียน พนมนาคา ดังนั้น พอจบเรื่องนี้ปุ๊บก็เขียนเรื่องนี้ต่อทันที”
พนมนาคา…สิบปีที่รอคอย
เมื่อถามว่าเพราะอะไรคุณหมอถึงใช้เวลาการเก็บข้อมูลเรื่องนี้ค่อนข้างนาน คุณหมอนักเขียนก็เล่าให้ฟังว่า “เมื่อเราพูดถึงเขมรก็ต้องดูลึกไปถึงวัฒนธรรม อาหาร การกิน การอยู่ ชีวิตของคนในกัมพูชาปัจจุบันว่าเป็นยังไง เรื่องราวในอดีต ปราสาทหิน ที่มาที่ไป เลยมาถึงเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับพญานาคของอุษาอาคเนย์ด้วยว่าเป็นอย่างไร พญานาคไทย กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม เหมือนกันไหม ซึ่งพบว่ามีความร่วมกันหลายอย่างที่น่าจะมีต้นกำเนิดเดียวกัน แต่อาจถูกมองผ่านสายตาของแต่ละชาติต่างกันไป…
โดยเรื่องดั้งเดิมของพญานาคน่าจะมาจากพุทธศาสนา ถ้าเรานับถือศาสนาพุทธจะรู้ว่าในหลายๆ ตอนในพุทธประวัติ หรือในพระไตรปิฎกจะมีการพูดถึงพญานาคค่อนข้างเยอะ หรือแม้แต่พระพุทธเจ้าเองก่อนที่จะเสวยชาติเป็นพระพุทธเจ้า พระองค์ก็เคยเสวยชาติเป็นพญานาคชื่อพระภูริทัติมาแล้ว นอกจากนี้ยังมีลักษณะร่วมของพญานาคอีกหลายเรื่อง เช่น นาค แบ่งเป็นกี่ประเภท นาคสามารถจำแลงเป็นมนุษย์ได้และจะคืนสภาพสู่นาคเมื่อนอนหลับหรืออะไรเหล่านี้ ซึ่งเชื่อว่าที่คล้ายกันเพราะมาจากต้นเรื่องเดียวกันคือมาจากศาสนาพุทธ แต่ก็จะมีบางอย่างที่นาคในกัมพูชา ลาว ไทย ต่างกัน
ดังนั้นเวลาเล่าก็ต้องดูว่าเรื่องที่เล่าอยู่ที่ไหน อย่างในเรื่องพนมนาคา เรื่องที่เล่าอยู่ที่ชายแดนกัมพูชา-ไทย เพราะฉะนั้นสิ่งที่นำมาเล่าจะต้องเป็นคติความเชื่อของคนในพื้นที่นั้นๆ อย่างเช่น เรื่องปากทางลงไปสู่เมืองพญานาค ทุกประเทศก็จะมีหมด ทุกที่ก็บอกว่าตรงนี้คือทางลงไปยังเมืองพญานาค และพญานาคก็มีหลายเมือง หลายหมู่เหล่า มีหลายประเทศ ตรงนี้เลยต้องทำการบ้านอย่างละเอียดนิดนึงก่อนที่เราจะนำมาเขียน และใช้เวลากับตรงนี้นานที่สุด (ต้องลงพื้นที่เลยไหมคะ) พี่ไม่ได้ลงพื้นที่ไปเพื่อเขียนเรื่องนี้ครับ ใช้ประสบการณ์เก่าๆ มากกว่า อย่างตอนที่เรียนแพทย์ที่ขอนแก่น คือทุกๆ ซัมเมอร์เราต้องไปอยู่หมู่บ้านกับคนในพื้นที่ ซึ่งในหมู่บ้านก็มีเรื่องเล่า มีศาลพญานาค มีนู่นนี่ หรือตอนไปเสียมเรียบก็เก็บข้อมูลมา จะเป็นประสบการณ์ในลักษณะแบบนี้มากกว่าที่นำมาประกอบกัน ส่วนเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ง่ายหน่อย อาจเพราะเราเป็นแพทย์อยู่แล้ว”
เพราะอะไรถึงต้องเป็นเสียมเรียบ?
ในเรื่องพนมนาคา ก่อนที่เราจะเข้าไปพบเจอเรื่องลึกลับที่ซ่อนเร้นไว้ในเมืองแห่งนี้ แฟนๆ นิยายก็เหมือนได้ท่องเที่ยวเสียมเรียบในหลายๆ แห่ง หลายที่ๆ
“ที่เลือกเล่าเสียมเรียบเป็นฉากหลักในเรื่องนี้ด้วย เพราะนอกจากพี่ชอบวัฒนธรรมเขมรแล้ว ต้องบอกว่าก่อนที่จะมาทำสำนักพิมพ์ด้วยกัน คุณกรู๊ฟ-อรรถรัตน์ จันทรวรินทร์ บรรณาธิการ สำนักพิมพ์ กรู๊ฟ พับลิชชิ่ง และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ได้เคยทำมิวเซียมอยู่ที่เสียมเรียบนาน ๓-๔ ปี ทำให้มีโอกาสได้ไปเห็นความยิ่งใหญ่ของวัฒนธรรมเขมร อารยธรรมขอม นครวัด นครธม ปราสาทหิน แล้วมีเรื่องราวเยอะมากเลยอยากจะเก็บตรงนี้มาเล่า แต่พนมนาคาไม่ได้มีอยู่จริงนะครับ เป็นเพียงหมู่บ้านที่สมมุติขึ้น โดยสมมุติให้อยู่ตรงตะเข็บชายแดน เป็นพื้นที่เทาๆ บอกไม่ได้ว่านี่คือไทยหรือเขมรกันแน่ และเป็นหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่อยู่ตรงนั้นมาตั้งนานแล้ว สาเหตุที่ต้องเป็นหมู่บ้านสมมุติเพราะว่ามีประเด็นอ่อนไหวที่จะต้องพูดถึงเรื่องราวในหมู่บ้านนี้หลายประเด็นครับ”
‘เด็กงู’ คำสาป หรือแท้จริงแล้ววิทยาศาสตร์ก็ตอบได้
ประเด็นอ่อนไหวที่คุณหมอนำมาเล่านั้นคือการพูดถึง เด็กงู ที่ชาวบ้านเชื่อว่า ที่เด็กเป็นแบบนี้เกิดมาจากคำสาปของพญานาค! ซึ่งนั่นก็ทำให้ชาวต่างชาติอยากมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่อธิบายได้โดยใช้วิทยาศาสตร์การแพทย์
“ความสนุกของผู้เขียนในเรื่องนี้คือการชวนให้ผู้อ่าน อ่านแล้วได้ลองคิดตามว่าเหตุการณ์ลึกลับต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้เป็นเพราะคำสาปแช่งของพญานาคจริงๆ อย่างที่ชาวบ้านทุกคนเชื่อหรือเปล่า? หรือเป็นเพราะน้ำมือของมนุษย์ที่ทำให้เกิดขึ้น เราชวนให้ผู้อ่านได้ขบคิดตาม และสุดท้ายก็จะไม่เฉลยนะครับว่าคืออะไร เพราะว่าคนเขียนมีหน้าที่ให้ข้อมูล แต่คนที่จะเลือกว่าใช่ หรือไม่ใช่คือคนอ่าน
…ความยากก็คือบริหารจัดการข้อมูลนี่แหละ เวลาเราเล่าเรื่องเหนือจริงก็ต้องจัดสมดุลกับเรื่องที่เป็นวิทยาศาสตร์ พิสูจน์ได้ไปด้วยว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นจริงๆ เป็นอำนาจเหนือธรรมชาติหรือเป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์ อย่างอาการเจ็บป่วยของเด็กในหมู่บ้านพนมนาคาที่ล้มป่วยลงด้วยโรคประหลาด ผิวหนังหนามีเกล็ดคล้ายกับงู กล้ามเนื้ออ่อนแรง ไปไหนก็ต้องถัดไปลักษณะเหมือนเลื้อยนี้ พี่ก็จะพยายามบอกคนอ่านว่าเรื่องนี้เป็นคำสาปหรือเป็นโรคทางการแพทย์แบบหนึ่งที่ทำให้เด็กมีอาการเป็นแบบนี้ ซึ่งความเป็นจริงก็มีโรคลักษณะคล้ายๆ แบบนี้อยู่เหมือนกัน ตรงนี้พี่คิดว่านักเขียนต้องให้ข้อมูลทั้งสองฝั่ง แต่คนอ่านจะเชื่ออะไรก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคนครับ
นอกจากนี้แกนหลักของเรื่องยังมีเรื่องนาคกับพุทธศาสนา เพราะพี่เชื่อว่าความปรารถนาสูงสุดของผู้เป็นนาคคือได้เป็นมนุษย์และได้บวช ฉะนั้นก็จะนำเรื่องนี้มาเล่าอยู่ในนวนิยายพาร์ตหนึ่งด้วย เป็นแก่นหนึ่งที่อยากจะเล่า แต่ในประเด็นตรงนี้เดี๋ยวต้องมาดูว่าในเวอร์ชั่นละครจะเล่าออกมาอย่างไร เพราะมีบางส่วนที่ถูกลดทอนลงและไปเพิ่มบางส่วนให้ชัดเจนขึ้น”
พนมนาคากับสิ่งที่ต้องการบอก
“ในเรื่องพนมนาคามีอยู่หลายเรื่องครับที่พี่ต้องการบอกกับนักอ่าน ขึ้นอยู่กับว่าคนอ่านอ่านแล้วจะเจอเรื่องหรือประเด็นไหนที่โดนใจเขา แต่หลักๆ ที่อยากบอกเลยคือ สิ่งที่เราไม่เห็น เชื่อเหรอว่าไม่มี อาจมีแต่เราไม่เห็นก็ได้ อย่างเช่น คลื่นวิทยุ เรารู้ว่ามีแต่เรามองไม่เห็น แต่ที่รู้ว่ามีก็เพราะมาเจอเครื่องรับสัญญาณที่แปลงสัญญาณออกมาเป็นเสียงได้ เหล่านี้พี่ว่าวิทยาศาสตร์มีความจำกัดในการอธิบาย แต่หลายสิ่งหลายอย่างหรือประสบการณ์ในชีวิตของคนเรา เชื่อว่าเราเคยเจออะไรที่วิทยาศาสตร์ก็อธิบายไม่ได้ แล้วจะปฏิเสธหรือว่าไม่มี อีกเรื่องหนึ่งคือตำนานและความเชื่อที่เคยรับรู้ ได้ยินมา แน่ใจแล้วเหรอว่าถูกต้อง แน่ใจแล้วเหรอว่าเป็นแบบนั้นจริงๆ อย่างในเรื่องพนมนาคาบอกว่า ที่เด็กเกิดมามีผิวเป็นเกล็ดงูเพราะเป็นคำสาปของพญานาค ซึ่งทุกคนก็เชื่อแบบนั้นมาตลอด แต่พอเอเชียนางเอกของเรื่องลุกขึ้นมาตั้งคำถามว่า จริงเหรอ? ก็กลายเป็นว่าไปขัดศรัทธาของคนจำนวนมาก แต่ถามว่านางเอกในเรื่องผิดไหมที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถาม พี่คิดว่าถ้ามองโดยใช้วิจารณญาณ เราอาจจะ ‘เอ๊ะ’ กับหลายสิ่งหลายอย่างก็ได้นะครับ”
แรงบันดาลใจในการเดินทาง
การอ่านเรื่องพนมนาคา นอกจากจะสนุก ตื่นเต้น ไปกับการเล่าเรื่องที่ชวนติดตามของพงศกร คุณหมอบอกว่านักอ่านบางคนก็อาจได้แรงบันดาลใจในการเดินทางด้วย “ในเรื่องเราจะพูดถึงวัฒนธรรมเขมรเยอะมาก พูดถึงอาหารเขมรที่ต้องบอกว่าอร่อยมาก รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่เอเชียเขาเดินทางไปพบก่อนที่จะเข้าไปสู่เนื้อเรื่องหลักของพนมนาคาด้วย สิ่งหนึ่งที่แอบหวังคืออ่านแล้วอยากไปเที่ยวเสียมเรียบ ซึ่งถ้ามีเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงก็ถือว่าเราได้ทำหน้าที่นักเขียนได้อย่างสมบูรณ์ เหมือนที่อ่านรอยไหมแล้วมีคนตามไปหลวงพระบาง ซึ่งมีนักอ่านหลายคนบอกว่าไปเสียมเรียบเพราะอ่านเรื่องนี้เหมือนกัน ตรงนี้ทำให้รู้สึกว่างานของเรามีคุณค่าจริงๆ เพราะพนมนาคาส่วนใหญ่จะอ้างอิงสถานที่จริงทั้งหมด ยกเว้น เมืองพนมนาคา เทวาลัยในพนมนาคา ระบำนาคนารีไม่มีจริง เป็นเรื่องที่สร้างขึ้นมาครับ”
ขอบคุณภาพบางส่วนจาก : @one31thailand