จุดไฟใส่เท้าให้สายเที่ยว กับ ‘บันทึกอิหร่านของสองตา’ ผลงานล่าสุดของ อรุณี ชูบุญราษฎร์
โดย : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ
ใครติดตาม ‘เปอร์เซียเงาสะท้อนของอิหร่าน’ ที่ลงให้ได้อ่านกันเป็นตอนๆ ในเว็บไซต์อ่านเอา ตอนนี้เรามีข่าวดีมาบอกค่ะว่า พี่ตา-อรุณี ชูบุญราษฎร์ ได้ทำการรวมเล่มและตั้งชื่อว่า ‘บันทึกอิหร่านของสองตา’ มาให้ได้อ่านแบบจุใจกันแล้ว โดยครั้งนี้ยังมีบทความที่เกี่ยวกับกรุสมบัติในพิพิธภัณฑ์และตลาด ที่เขียนโดย คุณนิศารัตน์ สีตะสุวรรณ รวมถึงบทความเรื่องนักเขียนชาวอิหร่านกับหนังสือโดยคุณก้อย- สิวิกา ประกอบสันติสุข เข้ามาเพิ่มเติมเพื่อช่วยเสริมให้หนังสือเล่มนี้สมบูรณ์ขึ้นอีกด้วย
ถ้าอยากรู้ว่า ‘บันทึกอิหร่านของสองตา’ น่าจับจองเป็นเจ้าของเพียงใด เราชวนพี่ตามาเล่าให้ได้อ่านกันแล้วค่ะ
เที่ยวอิหร่าน ความฝันที่กลายมาเป็นความจริง
ความจริงประเทศอิหร่านนั้นเป็นอีกหนึ่งหมุดไมล์ที่พี่ตาอยากไปเที่ยวมานาน แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างจึงทำให้เดินทางไปเองไม่ได้ กระทั่งเมื่อวันหนึ่งที่คุณนวล-พาฝัน ศุภวานิช บรรณาธิการสำนักพิมพ์วงกลม ได้อินบ๊อกซ์มาถามว่าสนใจไปเที่ยวอิหร่านด้วยกันไหม สิ่งที่เคยคิดไว้ในใจเลยเหมือนถูกทวงถามขึ้นมาอีกครั้ง
“ตอนนั้นพี่ถามกลับไปว่า ‘อาหารกินยากไหม’ เพราะแพ้ทางอาหารแบบอินเดียนิดหน่อย นวลก็ตอบกลับมาว่าไม่ยาก ไปสบาย กินอร่อย เลยตอบรับไปค่ะ เวลานั้นไม่ได้คิดทำหนังสืออะไร คิดว่าอยากไปเที่ยว อยากไปที่ใหม่ๆ ที่ไม่เคยไปแล้วไปคนเดียวไม่ได้ พอมีกรุ๊ป แล้วมีคนที่เรารู้จักเลยคิดว่าน่าจะสนุก ระหว่างไป ปกติต้องเขียนลงเพจของตัวเองอยู่แล้วว่าไปไหน ทำอะไร วันไหน เหมือนพาแฟนๆ ของเพจเราเที่ยวด้วย มีถ่ายรูปและเขียนลงเพจทุกวัน แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดอะไรมาก เป็นการบันทึกเป็นวันๆ ไป เขียนไปเป็นปี วันหนึ่งคุณหมอโอ๊ต (นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ) มาถามว่ามีอะไรจะมาลงที่อ่านเอาไหม หลังจากที่เขียนถึงญี่ปุ่นไปแล้ว เลยบอกไปว่าตอนนี้มีเรื่องอิหร่านที่อยากนำมาเพิ่มเติมข้อมูลแล้วเขียนได้ไหม คุณหมอก็บอกว่า ‘ดีครับ เขียนเลย’
พอได้เขียนก็เหมือนเป็นการฟื้นความทรงจำที่เราไปมา และพบว่าเรายังสนุกกับมัน ดูรูปแล้วยังมีความสุขอยู่ แล้วเหตุที่พอลงไปแล้วได้มีคนมาถามว่า ‘ไม่ทำหนังสือเหรอ’ อยากอ่านแล้วดูรูปที่อยู่ในหนังสือทีเดียวจบ ก็ตอบกลับไปว่า ขอคิดก่อนนะคะ เพราะอิหร่านเหมือนคนอ่านไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ ถ้าพิมพ์น้อยคงราคาแพง ขอลองวางแผนนิดนึง แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจพิมพ์ และพิมพ์เยอะเลยเพื่อที่จะได้จำหน่ายในราคาที่ไม่แพงนัก
เหตุผลที่อยากพิมพ์คืออิหร่านเป็นประเทศที่จะว่าไปยากก็ยาก จะว่าไปง่ายก็ง่าย แต่คนที่จะมีโอกาสไปพี่ว่ามีน้อย เพราะต้องเป็นความสนใจจริงๆ หรือว่ามีปัจจัยอื่นๆ อีก เลยอยากเขียนเป็นบันทึกรวบรวมเป็นเล่มไว้ ที่ผ่านมาเรามักจะเห็นหนังสือที่เป็นข้อมูลอิหร่านแต่ยังไม่ค่อยเห็นเล่มไหนเขียนท่องเที่ยวแบบนี้ เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นรวมเล่มก็แล้วกัน และทำขึ้นมาในที่สุดค่ะ”
มีอะไรใน ‘บันทึกอิหร่านของสองตา’
“โปรแกรมหลักๆ ของคณะที่ไปก็คือไปลงที่เตหะรานก่อน แล้วไปที่ชิราซ จากนั้นไปต่อที่อิสฟาฮาน สามเมืองสำคัญซึ่งทัวร์ส่วนใหญ่จะไปสามเมืองนี้ นอกนั้นก็เป็นเมืองอื่นๆ ที่อยู่รอบๆ ออกไป ซึ่งแต่ละเมืองจะมีพิพิธภัณฑ์ สถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ พอเราไปก็ได้เห็นร่องรอยประวัติศาสตร์ของเปอร์เซียที่เคยเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่มากในอดีต ได้เห็นสถาปัตยกรรม คือเวลาเราไปยุโรปก็จะเห็นโบสถ์คล้ายๆ กัน แต่ที่นี่ แต่ละเมืองไม่เหมือนกัน เลย อย่างเตหะรานเมืองหลวงจะมีพิพิธภัณฑ์ มีพระราชวังเก่าแก่ และธรรมชาติให้ได้ดู
พอไปที่ชิราซเราได้ไปเที่ยวมัสยิด คฤหาสน์ ป้อมปราการ ตลาดโบราณ ไปดูสุสานของกวีท่านหนึ่งที่มีชื่อเสียงระดับโลก และเมื่อไปถึงอิสฟาฮาน ซึ่งที่นี่ในอดีตเป็นเมืองที่รุ่งเรือง เป็นศูนย์การค้าของโลก แม้จะเป็นเมืองเก่า แต่มีความทันสมัย สถาปัตยกรรมสวยงาม เรียกว่าไปทุกเมืองก็อิ่มใจทุกเมือง
แล้วทุกวันจะมีอีกเรื่องที่สนุกคือเรื่องการแต่งตัว ที่นี่ผู้หญิงต้องแต่งตัวมิดชิดและคลุมผม แต่ไม่ได้ยากลำบากอะไร แถมทุกคนยังได้ดีไซน์ผ้าสำหรับคลุมผมที่เตรียมกันไปอีกด้วย
ส่วนอาหารแต่ละเมืองก็อร่อยนะคะ พี่เป็นคนกินยากแต่กลับกินได้ บางอย่างเหมือนเป็นเคบับ มีไก่ แกะ ปลา ให้เราเลือก รสชาติอาหารดีเลยค่ะ กินกับแป้งบ้าง กับข้าวบ้าง ชอบค่ะ กลายเป็นว่ามาม่าที่เตรียมไปไม่ได้กินเลย (หัวเราะ)”
ว่าด้วยเรื่องสถาปัตยกรรม
ใครสนใจหรือชื่นชอบเรื่องสถาปัตยกรรม นักเขียนท่านนี้แนะนำว่าควรได้ลองมาเที่ยวที่นี่ดูสักครั้ง
“สถาปัตยกรรมของที่นี่เป็นอะไรที่น่าสนใจมาก หลักๆ คือมัสยิด เพราะถึงเวลาจะผ่านมาเป็นร้อยปี พันปี แต่ทุกอย่างยังสวยงาม รวมถึงสถานที่บางแห่งที่ได้ผุกร่อน พังทลายไปแล้ว แต่ก็ยังทิ้งร่องรอยที่แสดงให้เห็นถึงความฉลาด และฝีมือของช่างสมัยก่อนได้อย่างน่าชื่นชม
อย่างมัสยิดที่แรกที่ไปคือมัสยิดสีชมพูที่เมืองชิราซ ใครที่ไปก็จะต้องไปถ่ายกับกระจกสีตรงนี้ เพราะมีการออกแบบที่ให้แสงผ่านเพื่อให้เกิดความสวยงาม ซึ่งจริงๆ แล้วสมัยก่อน ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการนี้ แต่เพราะว่ามัสยิดในอาคารส่วนนี้ใช้ในฤดูหนาว จึงต้องการแสงสว่างที่ให้ความอบอุ่นแต่กลายเป็นความสวยงาม
การใช้สีแต่ละเมืองก็ไม่เหมือนกัน มัสยิดที่ชิราซเป็นสีชมพู กระเบื้องจะเล่นสีชมพู สีเหลือง ฟ้า ซึ่งเมืองอื่นใช้เป็นสีฟ้า สีน้ำเงินเป็นหลัก มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งอาจารย์ต้น (คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์) วิทยากรในคณะ บอกเราว่าที่นี่สร้างโดยใช้อิฐ แต่จะมีการใช้ไม้แทรกเข้าไประหว่างก้อนอิฐเพื่อช่วยให้อิฐยืดหยุ่นถ้าเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว เป็นองค์ความรู้ของคนสมัยก่อนที่รู้สึกอัศจรรย์ใจว่าเขาคิดได้ยังไง หรือที่เมืองโบราณเปอร์เซโพลิส ที่เวลานี้เหลือให้เห็นแต่เสา โครงสร้าง ภาพแกะสลัก ไม่เหลือความเป็นเมืองให้เห็นแล้วก็เช่นเดียวกัน เพราะเมื่อฟังเรื่องราวที่เล่าและดูผังจัดแสดงที่เขาได้ค้นคว้ามาว่าในอดีตอาคารเหล่านี้เคยมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร รู้สึกเลยว่าคนเรียนสถาปัตย์ควรมาดู ศึกษา ฟังเรื่องราว แล้วจะทึ่งในองค์ความรู้ของขาวเปอร์เซีย
ถ้าไปอิสฟาฮาน จัตุรัสอิหม่าม ซึ่งอยู่กลางเมือง ใหญ่ก็ดีไซน์ได้น่าประทับใจ มีพระราชวัง ตลาด มัสยิด 2 แห่ง แห่งหนึ่งเป็นของหลวง แห่งหนึ่งเป็นของประชาชน มัสยิดโดดเด่นด้วยกระเบื้องสีฟ้าที่ทุกคนเห็นเป็นรูปโค้งรวงผึ้งซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของอิหร่าน ก็มาจากที่นี่ ถ้ามองจากข้างนอกเหมือนที่นี่จะเป็นทางตรง แต่พอเดินเข้าไปข้างในจะพบว่าเขามีการปรับแกนให้เบี้ยวเพื่อให้มัสยิดหันหน้าไปทางนครเมกกะห์ เรียกว่ามีรายละเอียดที่น่าสนใจซ่อนอยู่ในสถาปัตยกรรมเยอะมาก ฟังแล้วสนุก ฟังแล้วดูรูปตาม แต่ถ้าใครไม่ชอบแค่เดินดูลายกระเบื้อง ดูสีสันของการดีไซน์งานสถาปัตย์ก็สนุกแล้วค่ะ
การไปทัวร์อาจยังไม่ได้สัมผัสอะไรกับผู้คนมากนัก แต่ระหว่างรอเครื่องบินก็มีคนอิหร่านมาถามเราว่า ‘พวกเธอมาจากไหน กำลังจะไปไหน’ พี่เองเคยอ่านเจอว่าคนอิหร่านเป็นคนที่ค่อนข้างเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวเพราะเขารู้สึกดีใจที่มีคนมาเที่ยวประเทศเขา ส่วนตลาดที่ได้เดินคือที่ชิราซกับอิสฟาฮานซึ่งเป็นเหมือนเขาวงกต เดินไปเดินมาหลงได้ แต่สนุกดีค่ะ ได้เห็นชาวเมือง ดูข้าวของต่างๆ
สำหรับอาหารต่างๆ กินไม่ยาก ทัวร์พาเราไปกินอาหารที่ร้านโมเดิร์นหลายร้าน ซึ่งนอกจากสวยงาม บรรยากาศดี วิธีการเสิร์ฟอาหารก็ใช้ได้เลย คือถึงพวกเราจะไปกันสิบคน แต่อาหารสามารถออกมาพร้อมๆ กันได้โดยไม่ขลุกขลัก พี่ว่าอิหร่านพร้อมสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวนะ หรือแม้กระทั่งคนของเขาเองก็ออกมาใช้ชีวิตกินอาหารตามร้านแบบนี้เยอะเหมือนกัน ตามสถานที่ท่องเที่ยวก็มีคนอิหร่านมาเที่ยวชมมัสยิด ชมวัง เหมือนกับคนต่างจังหวัดมาเที่ยวกรุงเทพฯ อยู่ไม่น้อยค่ะ”
รายละเอียดที่น่าประทับใจและเรื่องที่เล่าได้ไม่รู้เบื่อ
นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวและประวัติศาสตร์ที่มีมาอย่างยาวนานของอิหร่านที่ทำให้พี่ตารู้สึกประทับใจ ยังมีบางรายละเอียดที่เธอเองก็ประทับใจไม่แพ้กัน
“สถานที่ท่องเที่ยวทุกที่มีการจัดการได้ดีมาก แล้วอาหารเช้าของแต่ละโรงแรมที่พักก็ดีมากอย่างไม่น่าเชื่อค่ะ เวลาเราไปยุโรปก็จะได้กินอาหารเช้าเหมือนๆ กัน แต่ที่นี่ โอ้โห เขาให้ความสำคัญกับอาหาร มีผัก โยเกิร์ต ชีสต่างๆ กาแฟ ชา ฯลฯ ยิ่งถ้าโรงแรมใหญ่ยิ่งจัดได้เยอะ ซึ่งไม่คิดว่าจะมีให้เลือกสรรขนาดนี้ ทุกคนมีความสุขกับอาหารเช้ามาก เป็นความประทับใจ เพราะก่อนไปคิดว่าเราคงจะมีปัญหากับอาหาร แต่ปรากฏว่าไม่ใช่เลย เราแฮปปี้กับการกินมาก (หัวเราะ)
แต่ถ้าเป็นเรื่องเล่าได้ไม่รู้จบ คงเป็นพระราชวังเนียวารานที่เตหะราน ซึ่งเป็นที่ประทับสุดท้ายของพระเจ้าชาห์ จักรพรรดินีฟาราห์ และพระโอรส พระธิดา แห่งราชวงศ์ปาเลห์วี ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐอิสลามในปี ค.ศ.1979 เพราะถึงตอนนี้เขาก็ยังเก็บรักษาทุกอย่างในบ้านของพระองค์ไว้อย่างดี ห้องแต่งตัวของจักรพรรดินีฟาราห์ยังมีเสื้อผ้าอยู่บนหุ่น มีโต๊ะเครื่องแป้ง ซึ่งพอเข้าไปดูก็สะท้อนใจว่า การที่ต้องจากบ้านไปอย่างไม่ได้เตรียมตัวเพราะต้องลี้ภัยไปและไม่ได้กลับมาอีกเลยมันเศร้านะ เพราะคิดว่าพระองค์ก็คงจะมีความสุขในบ้านของพระองค์เองเช่นกัน”
อิหร่านไปไม่ยาก
หลายๆ คนคงคิดเหมือนกันว่าประเทศนี้ไปยากหรือเปล่า? ซึ่งพี่ตาก็ได้เล่าให้ฟังว่าถ้าเป็นผู้ชายสามารถลุยเดี่ยวได้สบาย แต่สำหรับผู้หญิงแล้ว คงไปคนเดียวไม่ได้
“ถ้าเราไปกับบริษัทที่มีการจัดการที่ดีจะไม่มีปัญหาอะไรเลย ใครกลัวว่าไปอิหร่านแล้วจะเข้าอเมริกาไม่ได้เขาก็รู้และจะไม่ประทับตราวีซ่าในพาสปอร์ตเรา แต่จะมีกระดาษ A4 แผ่นหนึ่งให้เราพกติดตัวตอนที่อยู่ที่นั่น เพื่อลดความกังวลของบางคนอาจกังวลว่าถ้าไปอิหร่านแล้วจะไปที่อื่นไม่ได้ ส่วนการเข้าเมืองก็ไม่ยาก เวลาเดินทางถนนหนทางดีมาก จะมีแค่นั่งเครื่องไปลงชิราซเพราะเป็นการประหยัดเวลาในการเดินทาง นอกจากนั้นจะเป็นการนั่งรถบัสคันใหญ่ซึ่งใช้เวลาเดินทางระหว่างเมืองหลายชั่วโมง แต่สบายเพราะถนนกว้างเรียบ ไม่มีขรุขระ
การไปกับทัวร์เขาดูแลเราอย่างดี อยู่แล้ว แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องเซฟตัวเองด้วยคือไม่ไปในที่ที่อันตรายด้วยเช่นกันค่ะ”
ของติดไม้ติดมือ
เพิ่งรู้จากพี่ตาว่าถ้าไปอิหร่าน นอกจาก พรม จาน ชามกระเบื้องที่มีลวดลายสไตล์อาหรับที่ขาช้อปทั้งหลายมักจะช้อปกลับมาแล้ว เรายังต้องมีพื้นที่ให้ ‘ถั่วต่างๆ’ ได้เข้ามามีที่ยืนในกระเป๋าเดินทางของเราด้วย
“ก่อนไปนวลบอกว่าให้ทุกคนเตรียมพื้นที่ในกระเป๋าสำหรับไปซื้อถั่วต่างๆ ด้วยเพราะอร่อยมาก ซึ่งพอเขาพาไปร้านแล้วได้ชิมถั่ว แต่ละคนก็ซื้อกันเป็นกิโลเพราะอร่อยจริงๆ ค่ะ ถั่วเขาสด มีให้เลือกเยอะ แล้วเขาก็พาไปดูพรม ตัวเองก็ได้พรมผืนเล็กๆ มา สำหรับน้องๆ ที่ทำร้านอาหารก็ซื้อพวกหม้อ และ ภาชนะทองแดง เครื่องเทศ จานกระเบื้องแบบแปลกสวย ๆ กลับมา คือ แต่ละคนซื้อกันแบบเต็มใจหอบมาก(หัวเราะ)”
อยากกลับไปอิหร่านอีกครั้ง
ใครสนใจอยากตามรอยหนังสือ ‘บันทึกอิหร่านของสองตา’ แนะนำว่าต้องเตรียมร่างกายให้พร้อมเพราะเดินเยอะและยังต้องสามารถเผชิญแดดได้ด้วย ส่วนอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือเตรียมเปิดใจที่จะไปพบสิ่งใหม่ๆ ไปดูที่ๆ เราไม่เคยเห็น ไม่เคยไป เพราะบางครั้งอาจมีโมเมนต์ที่ยิ่งใหญ่ หรือความทรงจำสุดประทับใจเกิดขึ้นกับเราระหว่างเดินทางอยู่ในดินแดนแห่งนี้ก็เป็นได้
“การไปเที่ยวอิหร่านทำให้ได้เห็นร่องรอยของประวัติศาสตร์ที่ยังอยู่ เหมือนที่เขียนในตอนหนึ่งว่าเงาสะท้อนของอดีตที่ยังอยู่ และยังอยู่ในชีวิตของพวกเขาซึ่งชาวอิหร่านภูมิใจในความเป็นชาติของตัวเอง พูดจริงๆ ว่ายังอยากกลับไปอีกเพราะยังไม่ได้ไปพระราชวังโกเลสตาน ที่เตหะราน ซึ่งมีอายุกว่า ๔๐๐ ปี กับพิพิธภัณฑ์เนื่องจากโปรแกรมที่วางไว้กับทัวร์คราวนั้นถูกยกเลิกเพราะมีการชุมนุมประท้วงกัน แล้วเขาบอกกันด้วยนะคะว่าถ้าไม่ได้ไปที่นี่เหมือนไปไม่ถึงอิหร่าน (หัวเราะ)
ในเล่มนี้เลยขอให้คุณนิศารัตน์ สีตะสุวรรณ มาเขียนถึงพิพิธภัณฑ์เครื่องเพชรเพื่อทำให้หนังสือสมบูรณ์มากขึ้น แล้วยังมีเมืองเล็กๆ ที่พี่ๆ ท่านอื่นไปมาแล้วบอกว่าสวย น่าไปอีกหลายเมือง ถ้ามีโอกาสและมีโปรแกรมใหม่ๆ ก็อาจพิจารณาเดินทางไปอีกครั้งค่ะ”
และนี่คือ ‘บันทึกอิหร่านของสองตา’ ผลงานล่าสุดของ อรุณี ชูบุญราษฎร์ ที่จะมาจุดไฟใส่เท้าให้สายเที่ยวอย่างเราๆ ก้าวผ่านข้อจำกัดในใจบางอย่าง และกล้าที่จะเก็บกระเป๋าพร้อมออกเดินทางไปที่แห่งนี้ค่ะ