เปิดโลกใบใหม่ของนิยายทำมือ ไปกับโรงพิมพ์วัชรินทร์ พี.พี.

เปิดโลกใบใหม่ของนิยายทำมือ ไปกับโรงพิมพ์วัชรินทร์ พี.พี.

Loading

ปกติแล้วอ่านเอา เราจะมีแขกแวะเวียนมาพูดคุยกันอยู่เรื่อยๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักเขียนทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ที่ได้มาฝากผลงานเอาไว้ให้แฟนๆ ได้อ่านกัน แต่ครั้งนี้ พิเศษกว่าทุกครั้ง เพราะเราได้พูดคุยกับอีกหนึ่งบุคคลสำคัญในแวดวงนิยาย ที่ไม่ใช่นักเขียน แต่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังงานพิมพ์สุดพิถีพิถัน ที่สร้างสรรค์ผลงานของนักเขียนให้แฟนๆ ได้หยิบจับกัน

คลิกซื้อ E-Book ‘ในสวนอักษร’ ที่นี่

คุณปอนด์ – ฉลองกรุง วัชรินทรานนท์ กรรมการผู้จัดการ โรงพิมพ์วัชรินทร์ พี.พี. เปิดออฟฟิศต้อนรับทีมงานอ่านเอาให้ได้เยี่ยมชมกิจการของครอบครัวที่เขารับช่วงต่อมาจากคุณพ่อเป็นรุ่นที่สอง ซึ่งไม่บ่อยนักที่เราจะได้เยี่ยมชมเบื้องหลังการพิมพ์หนังสือที่มีขั้นตอนละเอียดปลีกย่อยมากมาย รวมถึงได้พูดคุยถึงเบื้องหลังวิธีคิดในการทำธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่ต้องปรับตัวแข่งขันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ธุรกิจสิ่งพิมพ์ในยุคตะวันตกดิน

แฟนๆ อ่านเอาทุกคน น่าจะทราบดีว่า โลกของการอ่านนั้นเปลี่ยนแปลงไปมากมายจากอดีต นิตยสาร หรือสิ่งพิมพ์ก็ล้มหายตายจากกันไปพอสมควร อ่านเอาเอง ก็เป็นหนึ่งในการปรับตัวของกลุ่มนักเขียนนิยายเพื่อเติบโตต่อไปในโลกยุคดิจิตอล และนักเขียนหลายๆ คนเองก็มีการพิมพ์งานเพื่อจัดจำหน่ายเอง รวมไปถึงการเกิดขึ้นของนักเขียนหน้าใหม่ๆ ที่แจ้งเกิดผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์ ซึ่งโรงพิมพ์ก็เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน

“สมัยก่อนงานพิมพ์คือเฟื่องฟูมาก แต่พอเวลาผ่านไป อุตสาหกรรมสื่อก็เปลี่ยน ก่อนที่ผมจะมารับช่วงทำโรงพิมพ์ต่อ ผมได้ไปเรียนต่อด้านสิ่งพิมพ์ที่อเมริกา พอเรียนจบจะกลับไทย ผมก็สองจิตสองใจนะว่าจะเอายังไงดี จะมาทำโรงพิมพ์ต่อ หรือเบนเข็มไปทำอย่างอื่นดี คือ ตอนที่ผมไปเรียนโท ผมทำทีสิสเกี่ยวกับผลกระทบของตลาด ebook ที่มีต่อธุรกิจสิ่งพิมพ์ในอเมริกา ก็รู้ว่าเรากำลังเข้ามาในช่วง sunset business แต่ด้วยลักษณะตลาดของเมืองไทยมันก็ต่างกับอเมริกา ก็ยังมีช่องว่างทางการตลาดอยู่ ก็เลยตัดสินใจทำโรงพิมพ์ต่อ”

เมืองไทย ตลาดสิ่งพิมพ์ที่ยังมีทางไปต่อ

จากประสบการณ์ที่สะสมมาตั้งแต่วัยเด็กในการช่วยครอบครัวทำโรงพิมพ์ จนต่อยอดเรียนรู้ที่ต่างประเทศ ทำให้คุณปอนด์มองภาพการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่เกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งยังมีความแตกต่างจากเมืองไทยอยู่ ทำให้เขามองเห็นถึงช่องทางในการปรับตัวเพื่อสานต่อธุรกิจที่บ้านให้ไปต่อได้ในยุคเปลี่ยนผ่าน

“การมาของมือถือ และ อินเตอร์เน็ต ทำให้อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์เปลี่ยน  สิ่งที่จะไปก่อนอย่างแรก คือ สื่อที่ขายภาพ เพราะกว่าเราจะถ่ายภาพ กว่าจะส่งพิมพ์ กว่าจะถึงมือผู้อ่าน เปรียบเทียบกับการถ่ายปุ๊บอัพโหลดปั๊บ แล้วเห็นบนเว็บได้เลย ดูเป็นวิชวลสั้นๆ ดูแล้วจบเลย ดังนั้น งานพิมพ์ที่ขายภาพก็จะไปก่อน เช่น พวกแมกกาซีนต่างๆ สิ่งที่กระทบต่อมาคือพวก short message ข้อความสั้นๆ บทความที่ใช้เวลาอ่านสัก 1-2 นาที ก็คือพวกข่าวต่างๆ เพราะคนทนอ่านข้อความสั้นๆ บนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้ อย่างผมเองก็พยายามเกลี่ยลูกค้าไม่ให้เป็นประเภทใดประเภทหนึ่งมากเกินไป ให้กระจายๆ กัน ก็เลยยังอยู่ได้ ซึ่งเมืองไทยก็ยังช้ากว่าต่างประเทศอยู่ อย่างประเทศไทย ก็ยังต้องมีแคตตาล็อกสินค้าอยู่ ทั้งที่ในเว็บหรือใน CD มันก็มีได้ แต่ก็ไม่ได้รับความนิยม”

งานพิมพ์นิยาย ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด

สำหรับคนทำโรงพิมพ์ ย่อมมีงานพิมพ์ประเภทต่างๆ เข้ามา ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ งานพิมพ์นิยาย ที่โรงพิมพ์วัชรินทร์ พี.พี. มีมาอย่างสม่ำเสมอ จนสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงในงานประเภทนี้ ที่มีการพิมพ์นิยายทำมือในกลุ่มคนอ่านเฉพาะที่มีความชอบคล้ายๆ กัน

“อย่างงานนิยาย แต่ก่อนผมจะรับจากสำนักพิมพ์ แล้วก็จะพิมพ์กันทีละ 3,000-5,000 เล่ม ถ้าลูกค้างานพิมพ์ทีละน้อยๆ ผมจะปฏิเสธหมดเลย ไม่รับเลย เพราะเราชินกับลูกค้าที่มาทีละหลักพัน แล้วผมเห็นเลยว่าจำนวนพิมพ์น้อยลงเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันก็มีลูกค้าที่ติดต่อเข้ามาเยอะขึ้น เป็นกลุ่มลูกค้ายอดพิมพ์น้อย พิมพ์ไม่เยอะ ประมาณ 300-500 เล่ม ก็เลยลองทำตลาดตรงนี้ดู ทำราคาให้แข่งขันได้หน่อย เพราะพวกนี้เขาจะมาสายพิมพ์นิยายทำมือ พิมพ์ดิจิตอล ทีนี้พอเขาอยากพิมพ์เยอะขึ้น เขาก็เลยอยากมาพิมพ์ออฟเซ็ท ก็เลยลองทำตลาดนี้ดู ก็ได้รับผลตอบรับดี ไปได้ดี ก็เลยมาทำตลาดตรงนี้เต็มตัว มีโปรโมชั่นสำหรับคนทำนิยายทำมือ ก็มีสำนักพิมพ์ที่เขามาใช้บริการ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จครับ”

ความใส่ใจคือหัวใจสำคัญ

เมื่อตั้งใจจะเดินหน้างานด้านนิยายทำมือ คุณปอนด์จึงตั้งใจ ทุ่มเท ให้กับงานที่ยังไม่คุ้นเคย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในตอนแรก เพราะยังมีความเคยชินจากการทำงานพิมพ์จำนวนมาก แต่เมื่อได้ทำงานร่วมกับลูกค้าก็ได้เห็นถึงความต้องการที่เฉพาะเจาะจง และพร้อมที่จะปรับให้ตรงใจลูกค้า

“การทำนิยายทำมือจะมีฟังก์ชั่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากการอ่าน ก็คือการเป็นของสะสม นักเขียนจะดังมาจากออนไลน์ แล้วเขามาพิมพ์รวมเล่ม คนอ่านก็จะได้อ่านนิยายมาแล้วจากออนไลน์แล้ว แต่คนที่ซื้อนิยายคือต้องการซื้อเก็บเป็นที่ระลึกของนักเขียนคนนี้ ดังนั้น การเป็นของสะสม ก็ต้องมีความประณีตในการทำมากขึ้น  มีรายละเอียดมากที่ต้องใส่ใจระมัดระวังมากขึ้น  ซึ่งหลาย ๆ โรงพิมพ์จะไม่เข้าใจ  มองว่ายอดพิมพ์น้อย กำไรก็น้อย  ลูกค้ายังจะจุกจิกหยุมหยิมอีกหรือ   ซึ่งถ้าเราสามารถพัฒนาผลงานให้ตอบสนองกับความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ได้ก็เป็นโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งเราก็เป็นเจ้าแรกๆ ที่ผ่านการลองผิดลองถูก  เรียนรู้และปรับปรุง  จนเข้าใจลูกค้าและสามารถตอบรับกับความต้องการของตลาดกลุ่มนี้ได้”

โอกาสเป็นของทุกคน

ด้วยความตั้งใจมุ่งมั่น ไม่ปล่อยโอกาสให้ผ่านไป คุณปอนด์จึงได้พัฒนางานให้ตอบรับกับเทรนด์ใหม่ของโลกที่เกิดขึ้น ก็คือการเกิดขึ้นของ content creator ที่ใครๆ ก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้ผ่านช่องทางของตัวเอง ซึ่งเราชื่นชมชายหนุ่มคนนี้ ที่เป็นตัวอย่างของธุรกิจที่ปรับตัวรับกับโลกยุคใหม่

“อย่างเดี๋ยวนี้ก็มีคนที่จัดงานเกี่ยวกับนิยายวาย เขาก็จะเกาะกลุ่มกัน แล้วกลุ่มคนเหล่านี้ก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ลองสังเกตช่วงไม่กี่ปีมานี้ จะมีละคร มีซีรีส์วายเยอะขึ้น คนทำละครเขาก็รู้ว่าตลาดนี้มันขยายตัวใหญ่ขึ้น ตลาดนิยายทำมือที่เป็นนิยายวายก็คือขยายตัวขึ้นมาก ผมว่ายุคนี้มันเป็นยุคของคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ทุกคนก็อยากจะสร้างคอนเทนต์ของตัวเอง ใครถนัดทำวิดีโอก็ทำลงยูทูบ ใครถนัดเขียนก็เขียนบล็อก ใครที่มีจินตนาการก็มาเขียนนิยาย เรื่องสั้น”

ได้คุยกับคนไฟแรงอย่างนี้แล้ว ฮูกคงต้องไปขยันเขียนต้นฉบับจะได้มาพิมพ์ผลงานของตัวเองกับเขาบ้าง ส่วนใครที่อยากมีหนังสือเป็นของตัวเอง ปรึกษาคุณปอนด์ได้เลย นอกจากความเชี่ยวชาญในการทำหนังสือแล้ว ที่นี่ยังมีโปรโมชั่นดีๆ ให้กับคนที่อยากพิมพ์นิยายทำมืออีกด้วย

Don`t copy text!