“ปางปอบ” ความเชื่อและความจริงของผีอีสานโบราณ

“ปางปอบ” ความเชื่อและความจริงของผีอีสานโบราณ

โดย : YVP.T

Loading

หลังจากปล่อยเรื่องราวของสาวคำหอมใน ‘โพงคำหอม’ มาให้นักอ่านได้เพลิดเพลินจนเป็นที่ถูกใจกันมาแล้ว วันนี้ ทศพล สิงห์คำมา ขอนำเสิร์ฟ ‘ปางปอบ’ นวนิยายชุดผีอีสานโบราณเรื่องที่ 2 แบบไม่ต้องให้รอนาน เรื่องราวจะเป็นอย่างไร จะใช่อย่างที่คิดไหม ต้องมาอ่านกัน

 

…เมื่อความตายที่แสนประหลาดของชาวบ้านหาสาเหตุไม่ได้ ผีปอบจึงตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าฆ่าคน

“เชื่อกันว่าปอบเป็นผีที่ไม่มีรูปร่างและจับต้องไม่ได้ เหมือนเป็นดวงจิตไสยมนตร์ดำที่มาควบคุมดวงจิตคนที่เล่นของแล้วรักษาของไว้ไม่ได้หรือเผลอทำผิดกฎ และชาวบ้านจะเชื่อกันว่า ปอบเป็นผีที่แฝงอยู่ในร่างกายของคนแล้วจะค่อยๆ กัดกินร่างที่แฝงอยู่หรือบางทีก็แอบไปกัดกินร่างคนอื่นๆ ที่จิตอ่อนบ้างจนกระทั่งคนๆ นั้นเสียชีวิตไป

“แต่การมาของผีปอบไม่ได้มาทุกที่ทุกเวลา จะมาก็ต่อเมื่อมีคนตายติดๆ กันหลายศพที่ชาวบ้านไม่ทราบสาเหตุการตาย ชาวบ้านจึงนึกถึงและหวาดกลัวผีปอบมาเป็นอันดับแรกว่าเป็นผู้กระทำ จากนั้นก็จะพากันระดมเงินทุนเพื่อจ้างหมอธรรมหรือหมอผีมาปราบ และออกตามหาว่าใครในหมู่บ้านเป็นผีปอบ เพื่อกำจัดและขับไล่ออกไปจากหมู่บ้านซะ จะได้ไม่ต้องมีใครต้องตายกันอีก

“คำว่า ‘ปางปอบ’ จึงนิยามความหมายไว้ว่า ผีปอบที่แวะเวียนมาเป็นครั้งคราวครับ”

เป็นอย่างไรคะ กับความหมายของคำว่า ‘ปางปอบ’ ที่เพียงชื่อเรื่องก็มีที่มาที่ไปน่าสนใจแล้วใช่ไหมคะ แต่ทำไมเรื่องของ ‘ปอบ’ จึงมาสะกิดใจเจ้าของบทประพันธ์เรื่องนี้ขึ้นมาล่ะ

“แม้เราจะอยู่ในยุคที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และระบบการแพทย์ที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดแล้ว แต่ความเชื่อเรื่องผียังคงฝังรากลึกอย่างหนาแน่นในความคิดของคนอยู่ และเป็นความเชื่อที่ผ่านกาลเวลามายาวนานจนไม่รู้ว่าใครคือผู้กำหนดผีชนิดต่างๆ ขึ้นมา ซึ่งก็มีทั้งผีที่ดีและผีที่ไม่ดีอยู่ปะปนกันไป

“ปางปอบก็เกิดจากความคิดตรงนี้แหละครับ ความคิดของคนหมู่มากที่ยังคงเชื่อว่าผีปอบมีอยู่จริง เพราะในปัจจุบันนี้ยังคงพบเห็นพิธีกรรมไล่ปอบอยู่ตามสถานที่ต่างๆ มีการกดดันทั้งทางตรงและทางอ้อมสารพัด พอได้สัมผัสและเห็นการกระทำของคนหมู่มาก มากระทำต่อคนที่ถูกกล่าวหานั้นอย่างเห็นแก่ตัวและไร้ความปราณีแล้ว จึงเกิดความรู้สึกสงสารมากก็เลยตั้งใจเขียนนิยายเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับคนที่ถูกใส่ร้ายเป็นผีปอบนั้นเอง เพราะการถูกตราหน้าว่าเป็นปอบนั้นทุกข์ใจมาก สภาพจิตใจย่ำแย่ลงทุกวัน ถ้าผลสุดท้ายแล้วเขาไม่ได้เป็นผีปอบล่ะ ผลกระทบที่ได้รับมาโดยตลอดจะชดเชยความรู้สึกคนคนนั้นอย่างไร

“ผมก็เลยอยากให้เชื่ออยู่บนฐานของความมีสติ อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจไปตามกระแสสังคม มันอาจเป็นคำหลอกลวงก็ได้ หมั่นพิจารณาวิเคราะห์ไตร่ตรองให้ดี แล้วปัญญาก็จะเป็นผู้ให้คำตอบเราเอง ดังนั้น ไม่ว่าผีปอบจะมีอยู่จริงหรือไม่มีอยู่จริง มันก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อส่วนบุคคล แต่ความเชื่อเหล่านี้จะย้ำเตือนให้ไม่สร้างความเดือดร้อนมาสู่คนคนหนึ่งจนชีวิตครอบครัวเขาต้องพังทะลายลงไป”

‘ปางปอบ’ และ ‘โพงคำหอม’ ไม่ต่างกันหรือเปล่า? คงต้องบอกว่า คือความคล้ายที่ต่างกัน

“ผีในทั้งสองเรื่องเป็นผีที่น่าสงสารเหมือนกันครับ แต่สำหรับเนื้อหาในนิยายนั้นแตกต่างกันอย่างแน่นอนครับ แม้จะมีความคล้ายกันตรงที่เป็นพีเรียดอีสานเหมือนกัน แต่ไม่ได้คล้ายไปซะหมด โพงคำหอมเป็นเผ่าภูไท ปางปอบเป็นเผ่ากะเลิง แม้ว่ามีการใช้ภาษาและวัฒนธรรมที่มีความคล้ายคลึงกันอยู่บ้าง แต่ว่าแต่ละชนเผ่ามีความโดดเด่นในมุมของตัวเองอยู่ โดยเฉพาะเผ่ากะเลิงที่เป็นชนเผ่าที่ค่อนข้างเด่นชัดในความเชื่อผีปอบอยู่มาก เนื้อเรื่องก็ดันเข้ากับชนเผ่า จึงสามารถเขียนมันออกมาได้อย่างลื่นไหล

“ตอนที่เขียนนิยายเรื่องนี้จบ บังเอิญไปดูสารคดีของลูกหลานชนเผ่ากะเลิง ปรากฏว่ามาถูกทางมากๆ อีกอย่างคือ ในเรื่องก็ไม่ได้มีแค่ผีปอบ ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ใส่เข้าไปด้วย ซึ่งประเด็นนั้นมันอาจจะเป็นเหตุผลที่ทุกคนมักจะเอามาอ้างเพื่อใส่ร้ายว่าคนคนนั้นเป็นผีปอบ สุดท้ายปางปอบกับโพงคำหอมจะเหมือนกันหรือแตกต่างกันตรงไหนบ้าง อยากให้ทุกคนได้อ่านแล้วค่อยมาร่วมพูดคุยกันได้นะครับ”

นวนิยายที่อ่านแล้วได้ทั้งสนุกและความรู้ที่แทรกวัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อต่างๆ รวมถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นคือลายเซ็นของทศพลเลยหรือเปล่า

“จะเรียกว่าเป็นลายเซ็นของทศพลเลยก็ได้ครับ เพราะผมเชื่อว่า ‘พลังทางวัฒนธรรมนั้นมีอยู่อย่างมากมายมหาศาล’ ตามคำกล่าวของ ศ.ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ เคยเสวนาใน Live บุพเพฯ ‘ปรากฏการณ์ออเจ้ากับเรื่องเล่าประวัติศาสตร์’ คำกล่าวของอาจารย์ได้สร้างพลังบางอย่างในตัวผมเป็นอย่างมาก ที่อยู่ๆ ก็อยากจะรักษาวัฒนธรรมประเพณีของเราไว้ในรูปแบบฉบับของนวนิยายครับ”

สิ่งที่ซ่อนอยู่ในเรื่องราวของ ‘ปางปอบ’ คือความเชื่อที่มาพร้อมความจริงที่ปรากฏในชีวิต เพียงแต่ถ้ามองให้ดีจะพบว่ามีเส้นบางๆ กั้นอยู่

“การกล่าวถึงผีต่างๆ ตามความเชื่อของชาวบ้านที่ถูกต้อง กับวิธีการแก้ไขปัญหาที่ต้องอาศัยพิธีกรรมจากผู้มีวิชาอาคมเข้าช่วย ได้ถูกหลักการที่ปฏิบัติตามคนโบราณ ซึ่งบางทีสิ่งที่เป็นนามธรรม ไม่มีตัวตนหรือมองไม่เห็น มันอาจจะมีอยู่จริงก็เป็นได้หรือไม่มีก็ได้ ล้วนเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ไม่ควรเอาความคิดตัวเองไปเป็นบรรทัดฐานคอยตัดสินความเชื่อคนอื่น ถ้าตราบใดที่ความเชื่อเหล่านั้นไม่ได้นำความเดือดร้อนมาสู่ตัวเองและผู้อื่น ก็อยากให้มองความเชื่อที่พิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้นี้ว่า มันคือสีสันของชีวิตมนุษย์ที่มีอะไรมากกว่าคำว่า ‘งมงาย’ อย่างแน่นอน

            “สำหรับเรื่อง ‘ปางปอบ’ นี้ ผู้อ่านจะได้เห็นวิถีชีวิตความเชื่อของคนอีสานหรือคนลาวที่มีความงดงามทางวัฒนธรรม ซึ่งมีทั้งระเบียบแบบแผนการดำรงชีวิตที่รู้จักการปรับตัวในด้านต่างๆ รวมถึงมีการสร้างสรรค์งานศิลป์ไว้ให้ลูกหลานได้ใช้อยู่ใช้กิน และความงอกงามของนวัตวิถีล้วนเกิดจากรากฐานที่ผ่านการพัฒนาและลองผิดลองถูกของคนในอดีตกาลมาแล้วทั้งสิ้น

“เพื่อสำนึกขอบคุณบรรพชน ผมจึงขอบันทึกทุกอย่างไว้เป็นตัวอักษรให้คนรุ่นใหม่ได้มั่นรักษาฮีต 12 คอง 14 วัฒนธรรมที่แสดงถึงความเป็นชาติเก่าแก่และเจริญรุ่งเรืองมาอย่างยาวนานในเรื่องราวของนวนิยายหรืองานวรรณกรรม และสุดท้ายนี้หากผิดพลาดประการใด ต้องขออภัยมา ณ ที่นี่ด้วยนะครับ และขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านด้วยจิตนอบน้อมครับ”

‘ปางปอบ’ คือหนึ่งในนวนิยายชุดผีอีสานโบราณหมายเลข 2 ของ ทศพล สิงห์คำมา ที่อ่านเอาอยากให้ทุกท่านได้อ่านเพื่อสัมผัสบรรยากาศ สภาพแวดล้อม ภาษาอีสาน และร่วมสนุกสนานบนผืนแผ่นดินถิ่นวัฒนธรรมอีสานไปด้วยกัน

อย่าลืมเข้ามาอ่านกันเยอะๆ และร่วมเป็นกำลังใจให้ ‘แท่น’ และ ‘คำหล้า’ ว่าจะจัดการกับปัญหาคำครหาต่างๆ จากชาวบ้านอย่างไรนะคะ

Don`t copy text!