สัมผัส ‘สื่อสังหรณ์’ พร้อมรู้จัก ‘ชลนิล’

สัมผัส ‘สื่อสังหรณ์’ พร้อมรู้จัก ‘ชลนิล’

โดย : YVP.T

Loading

ชื่อ “ชลนิล” สำหรับบางคนอาจไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไหร่นัก เพราะตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปี นับตั้งแต่เข้าสู่แวดวงการเขียนนิยาย ชลนิลมีผลงานออกมาทั้งสิ้นยังไม่ถึง 20 เล่ม! แต่เราก็เชื่อว่า หากคุณอ่านเพียงเล่มเดียวจะสัมผัสได้ถึงความตั้งใจและใจรักในงานเขียนของเขาอย่างแน่นอน

“สื่อสังหรณ์” คือหนึ่งในผลงานของชลนิลที่ได้มาปรากฏให้ผู้อ่านชาวอ่านเอาได้ติดตามเนื้อเรื่องที่สนุกสนานและชวนติดตาม ใครที่ยังไม่เคยได้สัมผัสงานเขียนของเขา เราคงต้องบอกว่าลองอ่านดู และสำหรับใครที่ยังไม่รู้จักผู้ชายคนนี้ อ่านเอากำลังพาทุกคนไปทำความรู้จักเขาคนนี้ให้มากขึ้น

จุดเริ่มต้นงานเขียนสู่อาชีพนักเขียนในนามปากกา “ชลนิล”

ผมอ่าน ‘นาคี’ ของ ตรี อภิรุม ในนิตยสารบางกอก ปี 2522 ตอนอายุ 10 ขวบ แล้วติดงอมแงม กลายเป็นคนชอบอ่านหนังสือ อ่านนิยายชนิดเข้าเส้นจนอยากเขียนนิยายตัวเองบ้าง พอขึ้น ม.2 เขียนนิยายเรื่องแรก ‘ใต้เงามันดาเร’ เพื่อนในห้องอ่านแล้วแนะนำให้เขียนเรื่องสั้นส่งประกวดที่นิตยสารเพิ่งเปิดใหม่ชื่อ ‘วัยหวาน’

“นับจากนั้นก็เขียนเรื่องสั้นส่งตามนิตยสารต่าง ๆ มาเรื่อย ๆ โดยไม่เคยได้ลงตีพิมพ์เลยสักครั้ง!

“ตอนจบ ม.6 คิดว่าคงประกอบอาชีพนักเขียนไม่ได้แน่ แล้วไม่รู้ว่าตัวเองอยากทำงานอะไรจริงๆ เลยเลือกสอบเข้าสถาบันที่เรียนจบแล้วมีงานทำทันทีอย่างโรงเรียนจ่าอากาศ พอเรียนจบทำงานเป็นทหารอากาศ เหล่าถ่ายรูป ประจำกองบิน 23 จ.อุดรธานี ด้วยความที่มีเวลาว่างจึงสมัครเรียนคณะศิลปศาสตร์ เอกวารสารและประชาสัมพันธ์ (ภาค กศ.บป.) วิทยาลัยครูอุดรธานี จนจบอนุปริญญา แล้วเรียนต่อปริญญาตรีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

“การเรียนสายวิชานี้ทำให้ได้ศึกษาหลักวิชาการเขียนประเภทต่างๆ จึงทราบว่าที่ผ่านมาตัวเองเขียนเรื่องสั้นมั่วๆ แบบเด็กหัดเขียนไม่มีความรู้ ไม่แปลกที่ไม่เคยได้ลงตีพิมพ์นิตยสารเล่มไหนเลย พอเข้าใจการวางโครงเรื่อง-ตัวละครแบบเรื่องสั้น ก็ทดลองเขียน ‘เด็กชาย กองทราย และชิงช้า’ ส่งไปที่นิตยสารสตรีสาร ซึ่งได้ลงตีพิมพ์เล่มปีที่ 43 ฉบับที่ 30 / 14 ตุลาคม 2533”

นั่นคือจุดเริ่มต้นนามปากกา ‘ชลนิล’

“หลังจากนั้นก็เขียนเรื่องสั้นส่งไปเรื่อย ๆ ได้ลงบ้างไม่ได้ลงบ้าง จนมารวมเล่มชื่อ ‘ละครภูต’ ตีพิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2535 และเล่มต่อมา ‘ในเงาสนธยา’ ตีพิมพ์ครั้งแรก ธันวาคม 2536 ส่วนนิยายเรื่องแรกคือ ‘ต่างเวลา’ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ กันยายน 2538 แต่ความที่มีงานประจำเป็นข้าราชการทหาร ผมจึงเขียนนิยายตามอารมณ์แบบไม่เร่งรีบ เขียนเพราะใจรักและนึกสนุกกับเรื่องราวที่อยากเล่า จึงทำงานช้าและน้อยมาก เกือบสามสิบปีมีผลงานออกมายังไม่ถึงยี่สิบเล่ม

“จากนั้นในปี 2557 ผมเข้าโครงการเออรี่รีไทร์ ปัจจุบันจึงเป็นข้าราชการบำนาญที่ใช้ชีวิตอยู่กับการดูซีรีย์ และเขียนนิยายเป็นงานอดิเรก”

แนวงานที่ถนัด – ธรรมะกับงานชลนิล

“นักเขียนในดวงใจสมัยประถม-มัธยมต้นคือ ตรี อภิรุม และ จินตวีร์ วิวัธน์ หลังจากนั้นคือ ‘แก้วเก้า’ ‘ทมยันตี’ ‘กิมย้ง’ ‘ดีน อาร์ คูนซ์’ ‘สตีเฟ่น คิง’ (ที่จริงมีมากกว่านั้น) เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่ผมจะชอบเขียน และหลงรักงานแฟนตาซี ไซไฟ จิตวิญญาณ สืบสวน ลึกลับ จนเขียนงานแนวอื่นไม่เป็น…โดยเฉพาะงานรักโรแมนติก!

“อาจเพราะงานแนวนี้มีเสน่ห์ตรงความตื่นเต้น เร้าใจ ชวนลุ้นทุกหน้ากระดาษ อ่านแล้ววางไม่ลง สมัยเด็กถ้าไม่จบเรื่องไม่ยอมนอนด้วยซ้ำ ผมจึงอยากสร้างโลกที่ทำให้คนอ่านเข้าไปร่วมผจญภัย ตื่นเต้น ลุ้น สนุกสนานแบบนั้นบ้าง

“การเป็นสาวกกิมย้ง ทำให้ซึมซับวิธีการผูกปม เล่าเรื่องน่าสนใจ ชวนติดตามแบบอ่านแล้ววางไม่ลง ยิ่งได้อ่านเรื่องแปลของดีน อาร์ คูนซ์ , สตีเฟ่น คิง ก็ยิ่งได้ไอเดียสร้างตัวละครแปลก ๆ เดินเรื่องกระชับ รวดเร็ว มีจุดหักมุมเป็นระยะ สร้างความน่าสนใจตลอดเรื่องตามแบบของเขา

“ในส่วนของ ‘ธรรมะ’ ผมไม่ได้คิดว่าตัวเองเขียนนิยายแล้วต้องสอดแทรกธรรมะอะไร แต่อยากให้คนอ่าน อ่านแล้วได้ประโยชน์จากงานที่ผมเขียน ซึ่งอาจเป็นแค่ความสนุก ตื่นเต้น ลุ้นระทึก หรือกระทั่งได้รับแนวทาง วิธีคิดดี ๆ ในการแก้ปัญหาจากตัวละครนั้น ๆ

“อีกอย่างการทำงานทุกเรื่อง ผมจะเขียนด้วยความเชื่อเรื่อง ‘กฎแห่งกรรม’ เป็นหลัก ซึ่งมันไม่ใช่ตีความง่าย ๆ แค่ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

‘กฎแห่งกรรม’ เป็นความสมเหตุสมผลที่รองรับได้ด้วยหลักการวิทยาศาสตร์…แอคชั่นเท่ากับรีแอคชั่น…

“ในทางพุทธสอนว่า…ทำเหตุเช่นใดย่อมได้ผลเช่นนั้น…และเมื่อศึกษาละเอียดจริงจัง เราจะทราบว่า มันมี ‘เหตุ’ ที่มองไม่เห็น จดจำไม่ได้ (เช่นเรื่องการกระทำในชาติก่อน) และ ‘ผล’ ที่คาดเดาไม่ถูก

“เมื่อสร้างเหตุ ย่อมเกิดผลแน่นอน เพียงแต่ไม่มีใครรู้ว่า ผลนั้นจะส่งเมื่อไหร่…อย่างไรเท่านั้นเอง

“นั่นเป็นจุดน่าสนใจ น่าสนุกในการสร้างเรื่องราวของนิยายแนวแฟนตาซี จิตวิญญาณซึ่งสามารถเขียนออกมาได้ไม่สิ้นสุด ด้วยการยึดหลักของ ‘เหตุและผล’ เป็นสำคัญ”

แรงบันดาลใจ ‘สื่อสังหรณ์’

“สื่อสังหรณ์ ได้แรงบันดาลใจจากซีรีย์เกาหลีชื่อ ‘While you were sleeping’ นางเอกเห็นอนาคตเหตุร้ายคนทั่วไป พระเอกสามารถเห็นอนาคตเหตุร้ายเกี่ยวกับนางเอก และพระรองก็เห็นอนาคตเหตุร้ายของพระเอกอีกทอดนึง

“ผมชอบเนื้อเรื่องที่สนุกชวนติดตาม อีกทั้งยังอบอุ่นประทับใจแบบนี้ ชอบการวางโครงเรื่องให้ช่วยเหลือกันและกันแบบสามเส้า โดยไม่มีการชิงรักหักสวาทใด ๆ เลย นั่นจึงเป็นที่มาของทารกกำพร้าทั้งสาม ต่างบิดามารดาแต่เกิดวันเดือนปีเดียวกัน และต้องมาประสบเหตุการณ์เลวร้าย จน ‘คล้าย’ ได้รับพลังพิเศษ ทราบเหตุร้ายล่วงหน้าของกันและกัน

“สำหรับใน สื่อสังหรณ์ ประเด็นที่น่าสนใจคือ ต่อให้พวกเขารู้อนาคต สามารถเข้าไปช่วยเหลือแทรกแซงไม่ให้เกิดเรื่องร้ายของกันและกันได้ แต่เมื่อภาพอนาคต กลายเป็นเรื่องปัจจุบัน พวกเขาจะสามารถเปลี่ยนแปลงเหตุร้ายได้ทุกครั้งเชียวหรือ?

“จะมีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นหรือไม่…นี่เป็นเรื่องชวนให้ลุ้นติดตาม”

 

สื่อสังหรณ์แตกต่างจากเรื่องอื่นที่เคยเขียนมา

สื่อสังหรณ์ เป็นงานที่ผมไม่ค่อยถนัด แต่อยากเขียนมันมาก ด้วยความที่เป็นงานแนวสืบสวน ตัวละครหลักสามตัว ปมในเรื่องมากมาย ที่สำคัญ…การบอกเล่าถึงความสัมพันธ์แบบ ‘มิตรภาพลูกผู้ชาย’ ท่ามกลางกระแสนิยายวาย ทำให้นึกหวาดเสียวว่าคนอ่านจะตีความผิดเพี้ยนจากเจตนาของเราหรือเปล่า

“ถ้าให้พูดอย่างตรงไปตรงมา งานชิ้นนี้ก็ยังอยู่ในแนว ‘ชลนิล’ ความแตกต่างน่าจะเป็นผังความสัมพันธ์ตัวละคร และการบอกเล่าในเรื่องของมิตรภาพ ซึ่งอาจไม่เน้นมากนักในงานแฟนตาซีเรื่องอื่นที่ผ่านมา

“ส่วนเอกลักษณ์ในการเดินเรื่อง ผูกปม สร้างความตื่นเต้นชวนติดตาม ยังเป็นลายเซ็นชลนิลอยู่เช่นเดิม”

เรื่องต่อจากสื่อสังหรณ์ และงานเขียนที่อยากทำ

“ผมวางแผนจะนำเรื่องสั้นที่เคยเขียนเกี่ยวกับภูตผี-วิญญาณหลายเรื่อง มาร้อยเรียงเป็นนิยายเรื่องเดียวกัน วางโครงเรื่องใหญ่ไว้แล้ว น่าจะได้เขียนต่อจากสื่อสังหรณ์

“ส่วนงานที่อยากเขียนสักครั้งในชีวิต แต่ไม่กล้าลงมือทำสักที คืองานพีเรียดข้ามเวลา!

“ที่จริงมีคนเขียนเรื่องแนวนี้ออกมาเยอะมาก ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องความรัก ซึ่งผมรู้สึกว่ามันยังมีแง่มุมอื่น เรื่องราวอีกหลายอย่างที่ยังไม่มีคนนำมาเป็นประเด็นสำคัญในการข้ามเวลา

“เหตุที่ยังไม่เขียนเพราะต้องทำ ‘การบ้าน’ หนักมาก อย่างน้อยต้องแม่นประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมในยุคที่เขียนอย่างชนิดโดนจับผิดไม่ได้ อีกทั้งการเขียนงานแบบนี้ถ้าจะให้สนุกต้องพูดถึงบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ เหตุการณ์สำคัญจริงที่เกิดขึ้น และกล้าที่จะให้ตัวละครเข้าไปแทรกแซง จนเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นโจทย์ยากมากว่าคนเขียนจะแก้ไขประวัติศาสตร์กลับมาอย่างไร แต่คนอ่านจะสนุก คอยตามลุ้นตลอดเรื่องและไม่สามารถคาดเดาตอนจบได้

“…เรื่องยากขนาดนี้ ผมเลยไม่กล้าเขียนสักที…”

แต่สำหรับเราชาวอ่านเอาเชื่อว่า ถ้าเมื่อไหร่ที่ ‘ชลนิล’ ได้ลงมือเขียน เมื่อนั้น เราจะมีนิยายเรื่องที่ดีมากๆ อีกเรื่องขึ้นมาประดับใน anowl.co และแวดวงวรรณกรรมไทยอย่างแน่นอน…ฉะนั้นแล้ว เราจะรอ 😊

 

Don`t copy text!