“ดวงใจภาดา” งานที่เขียนด้วยหัวใจ โดย ตวงทิพย์ ยุวชิต

“ดวงใจภาดา” งานที่เขียนด้วยหัวใจ โดย ตวงทิพย์ ยุวชิต

โดย : YVP.T

Loading

คุณสมบัติของคนที่จะก้าวมาเป็นนักเขียนสำหรับทุกคนคืออะไรบ้างคะ ชอบอ่านหนังสือ? เขียนหนังสือที่ให้คนอื่นอ่านแล้วรู้เรื่อง? หรือต้องเป็นคนที่มีจินตนาการสูง? คำตอบมากมายเกิดขึ้นภายใต้คำถามเดียว ส่วนถ้าใครยังหาคำตอบไม่ได้ ลองอ่านบทความพิเศษครั้งนี้ไหมค่ะ…คุณอาจจะได้คำตอบจากเธอคนนี้ “ตวงทิพย์ ยุวชิต” เจ้าของผลงาน “ดวงใจภาดา” ค่ะ

คุณสมบัติของคนที่จะก้าวมาเป็นนักเขียนสำหรับทุกคนคืออะไรบ้างคะ ชอบอ่านหนังสือ? เขียนหนังสือที่ให้คนอื่นอ่านแล้วรู้เรื่อง? หรือต้องเป็นคนที่มีจินตนาการสูง? คำตอบมากมายเกิดขึ้นภายใต้คำถามเดียว ส่วนถ้าใครยังหาคำตอบไม่ได้ ลองอ่านบทความพิเศษครั้งนี้ไหมค่ะ…คุณอาจจะได้คำตอบจากเธอคนนี้ “ตวงทิพย์ ยุวชิต” เจ้าของผลงาน “ดวงใจภาดา” ค่ะ

ตวงทิพย์ ยุวชิต ไม่ใช่นามปากกา แต่เป็นชื่อจริงของนักเขียนท่านนี้ เธอคือน้องสาวคนเล็กในบรรดาพี่น้องสามใบเถาที่พิการแต่กำเนิดด้วยโรคสมองพิการ (Cerebral Palsy) ทำให้เข้าเรียนช้ากว่าเกณฑ์ แต่ระหว่างที่ยังไม่เข้าโรงเรียนคุณแม่ก็จ้างคุณครูมาสอนที่บ้าน พออ่านหนังสือออกก็เริ่มไล่อ่านหนังสือทุกเล่มในตู้หนังสือจนครบ เริ่มตั้งแต่นิทาน วรรณกรรมเยาวชน ไปจนถึงนวนิยาย

นอกจากเธอยังชอบดูละครและซีรี่ส์จีนมาตั้งแต่เด็ก ถ้าตอนจบเรื่องไหนไม่ถูกใจ เธอก็จะเก็บเอาไปเล่นบทบาทสมมติกับตุ๊กตา แล้วแต่งเรื่องใหม่ให้จบแบบที่ตัวเองต้องการ เป็นการเล่นสนุกแบบเด็กๆ โดยไม่รู้ว่านั่นคือแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพในอนาคต

พอได้เข้าเรียนที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ เธอก็อ่านหนังสือของห้องสมุดโรงเรียนจนได้รับรางวัลนักอ่านอยู่บ่อยๆ และมาฉายแววนักเขียนเมื่อตอนเรียนมัธยมศึกษาปีที่หนึ่งที่เขียนเรื่องสั้นส่งครูแล้วได้คะแนนเต็ม จึงนับเป็นครั้งแรกที่เริ่มฝันของการเป็นนักเขียนอย่างจริงจังเริ่มชัดเจน และเมื่อใครถามว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” ก็จะตอบทันทีโดยไม่ต้องคิดเลยว่า “นักเขียน”

ช่วงที่ใกล้จะเรียนจบปริญญาตรี สาขาวิขาเอกวรรณกรรมสำหรับเด็ก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒนี้เองที่ประตูสู่อาชีพได้เปิดขึ้น เมื่อบริษัทแกรมมี่ได้เปิดอบรมการเขียนบทละครโทรทัศน์อย่างมืออาชีพ เธอตัดสินใจสมัครเข้าอบรมและได้รับคัดเลือกเป็นสองคนสุดท้ายให้ร่วมทีมทำงานเขียนบทละครจริงๆ จึงได้เริ่มเข้าสู่วงการงานเขียนนับตั้งแต่ตอนนั้น

“หลังจากเขียนบทละครโทรทัศน์ก็ได้มีโอกาสทำงานเขียนเรื่อยๆ ในหลากหลายรูปแบบค่ะ ทั้งบทละครวิทยุ วรรณกรรมเยาวชน หนังสือรวมนิทาน เรื่องสั้นและนวนิยาย ปัจจุบันปอเป็นนักเขียนอิสระ ที่ทำงานตามที่มีคนจ้างและสร้างสรรค์งานเขียนด้วยตัวเอง ส่วนผลงานที่ผู้อ่านอาจจะรู้จักก็มี วรรณกรรมเยาวชนเข้ารอบสุดท้ายรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด เรื่อง ‘เด็กชายในเงา’  ซึ่งเรื่องนี้บริษัทเจเอสแอลซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ ออกอากาศทางไทยพีบีเอส และได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำ สาขาละครสร้างสรรค์สังคมดีเด่น ประจำปี 2557 และหนังสือรวมนิทาน “มาเตรียมสอบเข้า ป.1 กันเถอะ” เล่ม 1 และ 2 ค่ะ”

แม้จะมีประสบการณ์งานเขียนและการทำงานที่เกี่ยวข้องมาแล้ว แต่เมื่อ “โครงการช่องวันอ่านเอา”เปิดรับสมัคร ตวงทิพย์เข้าร่วมในทันที เพราะเธอบอกว่า ‘นี่คือโครงการที่มีแต่ได้กับได้’

“ปอเคยส่งพล็อตนิยายมาร่วมโครงการช่องวันอ่านเอา ปีที่ 1 แล้วค่ะ แต่พล็อตเรื่องไม่ผ่านเข้ารอบ  ตอนนั้นก็ไม่ได้เสียใจอะไร เพราะรู้สึกว่าพล็อตเรื่องที่ส่งไปไม่ใช่เรื่องรักเสียทีเดียวแต่เป็นเรื่องชีวิตครอบครัวมากกว่า พอมีโครงการช่องวันอ่านเอา ปีที่ 2 และเปิดรับพล็อตนิยายประเภทครอบครัวเพิ่มขึ้นมา ปอก็เลยเอาพล็อตเรื่องเดิมมาปรับแก้ แล้วส่งมาอีกครั้งค่ะ ไม่ได้หวังเลยว่าครั้งนี้จะผ่านเข้ารอบเตรียมใจรับความผิดหวังไว้แล้วด้วยค่ะ ดีใจมากๆเลยค่ะที่พล็อตเรื่องผ่านเข้ารอบ เพราะก่อนหน้านี้ไม่เคยมั่นใจเลยว่าตัวเองเขียนพล็อตได้ดี พอเข้ารอบก็เรียกความมั่นใจได้ในระดับหนึ่ง ยิ่งเมื่อนวนิยายได้รับคัดเลือกจากช่องวันให้สร้างเป็นละครโทรทัศน์ก็ยิ่งมั่นใจว่าเส้นทางสายวรรณกรรมที่เลือกเดินมาตลอดนั้นเป็นเส้นทางที่เหมาะสมกับตัวเองแล้ว และทำให้มีกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานต่อไปค่ะ”

“ถ้าจะให้พูดถึงโครงการช่องวันอ่านเอาก็ต้องบอกว่าเป็นโครงการอบรมการเขียนนิยายที่ได้ผลดีที่สุดเลย เพราะเมื่อพล็อตเรื่องผ่านเข้ารอบแล้ว คณะวิทยากรและกรรมการจะช่วยกันติชมพล็อตเรื่อง ช่วยเสริมจุดแข็งและกลบจุดอ่อนให้กับนิยายของเรา ทำให้เราเห็นแนวทางที่จะพัฒนาเรื่องของเราให้สนุกได้ ทุกความคิดเห็นถือได้ว่าเป็นวรรคทองเลยทีเดียว ซึ่งขั้นตอนนี้หาไม่ได้จากการอบรมอื่น”

“ถ้าหากมีการเปิดอบรมช่องวันอ่านเอาอีกเมื่อไหร่ก็อยากจะเชิญชวนเพื่อนๆ ที่รักการเขียน ส่งพล็อตเรื่องมาร่วมโครงการกันเยอะๆ นะคะ เพราะถ้าได้เข้าร่วมในโครงการนี้ จะรู้สึกมีแต่ได้กับได้ค่ะ”

สำหรับ “ดวงใจภาดา” ที่นักอ่านชาวอ่านเอาได้อ่านกัน เป็นผลงานนวนิยายลำดับที่ 2 ของเธอ แต่เป็นนวนิยายขนาดยาวเรื่องแรก

“แรงบันดาลใจในการเขียน ‘ดวงใจภาดา’ มาจากความรักในครอบครัวค่ะ ประกอบกับเวลาที่ดูละครแล้วมักเกิดความสงสัยว่า ทำไมลูกบุตรธรรมในละครมักถูกกำหนดให้เป็นคนเลว เป็นตัวร้ายในเรื่องอยู่เรื่อย ทั้งที่ในชีวิตจริงคนที่เติบโตมาด้วยกันน่าจะรักกันเหมือนพี่น้อง ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะปออยู่ในครอบครัวใหญ่ที่ตั้งแต่เล็กจนโต สิ่งที่เห็นก็คือความรักความห่วงใยที่พวกเรามีให้กัน พอมาเห็นภาพในละครที่พี่น้องเกลียดชังกัน ก็คิดว่ามันไม่ใช่แล้ว พอมีโอกาสเขียนนิยายก็อยากเห็นภาพพี่น้องที่รักและห่วงใยกัน อยากให้ทุกคนรู้ว่าคนที่รักกันเหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน แม้ว่าจะเป็นพี่น้องต่างสายเลือดนั้นมีอยู่จริงค่ะ ชื่อเรื่อง ดวงใจภาดา ก็มาจากความรักค่ะ ภาดา หมายถึง พี่ชายหรือน้องชาย ดวงใจภาดาก็หมายถึง พี่ชายที่รักน้องชายดั่งดวงใจและน้องชายที่รักพี่ชายดั่งดวงใจเช่นกันค่ะ”

ความน่าสนใจของ “ดวงใจภาดา” มีมากกว่าที่คิด และจะมอบรอยยิ้มให้กับนักอ่านได้อย่างแน่นอน

“ความน่ารักของตัวละครเอกสองพี่น้องและฉากน่ารักๆ ที่ใส่เข้าไป เชื่อว่าคนอ่านจะอ่านไปยิ้มไปอยู่ตลอดค่ะ และไม่เพียงแต่ตัวละครเอกเท่านั้นที่น่ารัก ตัวละครเกือบทุกตัวในเรื่องนี้ต่างก็มีความน่ารักเฉพาะตัวและมีความเป็นมนุษย์สูงมาก ไม่มีใครดีสุดขั้วหรือชั่วสุดขีด ทุกคนมีเหตุผลในการกระทำของตัวเอง คนเลวอาจดี หรือคนดีอาจเลวได้ทุกเมื่อ

“นอกจากตัวละครแล้วพล็อตเรื่องก็น่าสนใจ ไม่บ่อยนักที่เด็กออทิสติกจะได้รับบทนำในวรรณกรรม ผู้อ่านจะได้ลุ้นว่าเด็กออทิสติกผู้ไร้เดียงสาจะเอาตัวรอดจากคนชั่วที่ปองร้ายได้อย่างไร และจะได้เห็นว่าเด็กออทิสติกนั้นไม่ใช่ผู้ที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้หรือไร้สมรรถภาพ เขาเพียงต้องการคนที่จะเข้าใจและช่วยพัฒนาศักยภาพของเขาเท่านั้น

“แง่คิดที่หวังว่าผู้อ่านจะได้รับเมื่ออ่านจบก็คือ การตระหนักรู้ว่าครอบครัวเป็นสถาบันที่เป็นพื้นฐานสำคัญของสังคมที่จะหล่อหลอมให้คนเป็นคนดีหรือเลวก็ได้ และความรักในครอบครัวนี้เองเป็นสมบัติล้ำค่าที่บันดาลสุขให้เราได้มากกว่าเงินทอง นอกจากได้แง่คิดแล้วก็อยากให้ผู้อ่านได้ประทับใจในความรักของพี่น้องต่างสายเลือดคู่นี้ค่ะ อยากให้ความน่ารัก ความซาบซึ้งติดตรึงอยู่ในใจของผู้อ่านค่ะ”

“จงเขียนด้วยหัวใจ ไม่ต้องกลัวอะไร” นี่คือสิ่งที่ ตวงทิพย์ ยุวชิต ได้รับจากการลงมือเขียนงานในแต่ละครั้ง

“เมื่อก่อนปอมักจะติดกับวิธีการเล่าเรื่องว่าจะเล่าเรื่องยังไงถึงจะถูกต้องตามกลวิธี หาธีมเรื่องไม่เจอ จะเขียนเรื่องไปตลอดรอดฝั่งได้ยังไง แต่พอมาเขียนเรื่องนี้ซึ่งมีเวลาเขียนจำกัดก็ทำให้ต้องก้มหน้าก้มตาเขียนอย่างเดียว ไม่มีเวลาจะคำนึงถึงทฤษฏีการเขียนมากนัก สิ่งนี้กลับกลายเป็นเรื่องที่ดี เพราะเมื่อไม่ยึดติดกับทฤษฏี ก็กล้าคิดกล้าเขียนมากขึ้น ไม่มีเวลาคิดอะไรก็ตะลุยเขียนไปก่อน เขียนตามใจคิด ไม่ต้องประดิษฐ์คำมากมาย

“ปอได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้เขียนเรื่องได้จบก็คือความรักต่อเรื่องราวและตัวละครของเรา อย่างเรื่องดวงใจภาดานี้ปอเขียนด้วยความรู้สึกที่อยากจะให้ทุกคนได้ประทับใจกับความรักของพี่น้องต่างสายเลือดคู่นี้ ระหว่างการเขียนมีหลายครั้งที่ท้อแท้ แต่ก็จะบอกตัวเองตลอดว่าตัวละครของเราน่ารักขนาดนี้ เราจะต้องพาเขาออกสู่สายตาผู้อ่านให้ได้ แม้ว่าเวลาในการเขียนนิยายจะมีจำกัด แต่ก็กัดฟันเขียนให้จบทันส่งประกวดจนได้ ถ้าเป็นเมื่อก่อน เมื่อตัน คิดไม่ออกก็อาจจะทิ้งงานค้างไว้ ไม่เขียนจนจบ แต่กับเรื่องนี้ยิ่งเขียนยิ่งสนุก ยิ่งเขียนเรื่องยาวขึ้น เวลาก็เหลือน้อยลง แต่เรากลับยิ่งสู้ และย้ำกับตัวเองว่าเราต้องเขียนเสร็จให้ทันให้ได้”

“บทเรียนสำคัญที่ได้จากการเขียนงานชิ้นนี้ก็คือ จงเขียนด้วยหัวใจ ไม่ต้องกลัวอะไร เล่าเรื่องที่เราอยากเล่าให้ตรงกับใจเรามากที่สุด ความสำเร็จคือจะขายงานได้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องรอง เพราะแม้ว่างานของเราจะไม่ผ่านเข้ารอบเราก็ได้รับความสุขระหว่างทางไปแล้ว”

         

อย่าลืมติดตามเรื่องราวของ “ดวงใจภาดา” กันนะคะ ทีมงานอ่านเอาอ่านกันแล้ว บอกเลยว่า เรื่องราวเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ สนุกน่าติดตามแน่นอน และหวังว่าผู้อ่านจะมีความสุขกับการได้ยิ้ม หัวเราะ ร้องไห้ไปกับตัวละครและจะรักตัวละครอย่างที่ “ตวงทิพย์ ยุวชิต” รักนะคะ

 

Don`t copy text!