‘เพียงใจลิขิต’ นวนิยายเรื่องแรกในชีวิตของ ‘จิรปิยา’ นักเขียนมือใหม่ฝีมือเฉียบ
โดย : YVP.T
‘เพียงใจลิขิต’ นวนิยายเรื่องใหม่ที่สร้างสรรค์โดย ‘จิรปิยา’ หรือ ดร.ปิยะนิตย์ โอนพรัตน์วิบูล สาวเก่งอีกคนจากโครงการอ่านเอาก้าวแรก รุ่น 2 ที่มุมหนึ่งเธอคือข้าราชการแห่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่อีกมุมหนึ่งเธอคือผู้ที่หลงใหลในการอ่าน
เธออ่านนิยายมามากกว่า 1,800 เรื่อง และได้ลงมือเขียนเรื่องสั้นเป็นครั้งแรกเมื่อตอนที่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเมื่อเวลาผ่านไป เธอสั่งสมประสบการณ์ในฐานะนักอ่านและได้ลงมือเขียนนวนิยายเป็นครั้งแรกในชีวิต เพียงใจลิขิต จะน่าสนใจแค่ไหน ไปรู้จากเธอกันค่ะ
เสน่ห์ของงานเขียนที่ทำให้ ‘จิรปิยา’ หลงใหล
“ความชอบงานเขียนเกิดจากการรักการอ่านก่อนค่ะ จำได้เลยว่า นิยายเรื่องแรกที่อ่านคือตอนอยู่ ม.3 คือเรื่อง ‘ปุลากง’ ของ คุณโสภาค สุวรรณ ซึ่งตอนนั้นได้อ่านเพราะเป็นหนังสือนอกเวลา พออ่านแล้วชอบมาก อยากเป็น ‘หนูตุ่น’ นางเอกของเรื่อง และอินถึงขนาดฝันว่าอยากเป็นนักสังคมสงเคราะห์เลย พอเข้ามหาวิทยาลัยก็ชอบไปที่หอสมุดกลางเพื่อยืมนิยายมาอ่าน มีกี่เรื่องก็อ่านไปหมดจนเกือบหมดห้องสมุดเลยก็ว่าได้
“การอ่านนิยายให้ความรู้และจุดประกายความใคร่รู้ในบางเรื่องที่เราไม่เคยสนใจหรือรู้มาก่อนด้วยนะคะ อย่างนิยายเรื่อง ‘โกบี’ ของ คุณโสภาค สุวรรณ จะเล่าถึงเส้นทางในทะเลทรายโกบี เส้นทางสายไหม ผ่านเมืองต่างๆ มากมาย เราถึงกับไปเปิดแผนที่โลกเพื่อให้รู้และเห็นภาพตำแหน่งเมืองต่างๆ ที่พระเอกนางเอกเดินทางไป จะได้อินราวกับว่าร่วมเดินทางไปด้วย
“นอกจากนี้ นิยายหลายเรื่องโดยเฉพาะจากปลายปากกาของนักเขียนชั้นครูยังสะท้อนสภาพชีวิต สภาพสังคมได้ดีมาก ซึ่งเราเองอาจไม่มีโอกาสได้สัมผัสสภาพชีวิตแบบนั้น การอ่านนิยายช่วยให้มุมมองโลกที่กว้างมากขึ้น ดังนั้น ในการอ่านนิยายของเรา คือการได้เสพทั้งความบันเทิง จินตนาการ วรรณศิลป์ และได้เรียนรู้คุณค่าที่นิยายสอดแทรกไว้
“การอ่านนิยายและการ ‘คิดเยอะ’ ในการอ่านนิยายช่วยให้เราเป็นคนที่เขียนงานวิชาการได้อย่างมี Logic มีการใช้ภาษาในการถ่ายทอดบทวิเคราะห์ ลำดับการเล่าเรื่องได้ดี อันนี้ถือว่าเป็นประโยชน์จากการอ่านนิยายที่เราเองสัมผัสได้ ส่วนเรื่องของการเขียน สำหรับเราคือเป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาทักษะของเราให้คิดอย่างเป็นระบบค่ะ เพราะต้องมีการวางโครงเรื่องไว้ก่อนอย่างมีเหตุมีผล ได้พัฒนาทักษะการใช้ภาษาในการถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจ สนใจ และอยากติดตามค่ะ”
นักเขียนในดวงใจของ ‘จิรปิยา’
“อย่างที่บอกไปว่า ตัวเองเป็นนักอ่านนิยายที่ชอบคิด ‘เยอะ’ ในการอ่าน ทำให้ได้ซึมซับวิธีการเขียน เทคนิคการเขียน การใช้ภาษาต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูทั้งหลายมาเยอะ นักเขียนที่เรียกได้ว่าเป็นต้นแบบของเราในการศึกษาวิธีเขียน คือ ว.วินิจฉัยกุล ท่านเป็นนักเขียนที่มีการใช้ภาษาโดดเด่น ถ่ายทอดเรื่องราวดีมากๆ เทคนิคการเขียนไม่เคยจำเจ และเห็นพัฒนาการของท่านตลอดเวลา แม้กระทั่งปัจจุบันที่ท่านอยู่ในวัยเกินเกษียณมานานแล้วก็ตาม
“ส่วน ปิยะพร ศักดิ์เกษม ก็ถือได้ว่าเป็นต้นแบบของการเขียนนิยายที่ตัวละครมีความโยงใยกับตัวละครในอีกเรื่องหนึ่ง เป็นจักรวาลนิยายที่รู้สึกว่าทำให้เกิดเป็นกระแสนิยายซีรีส์และนิยายเกี่ยวเนื่องตามมามากมายเหมือนในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมี กิ่งฉัตร ที่เป็นต้นแบบงานเขียนที่เราชื่นชอบ ชอบงานเขียนแนวสืบสวนสอบสวน แต่ก็ไม่ใช่แนวดาร์กมาก มีความโรแมนติกด้วย นักเขียนเรื่องสืบสวนสอบสวนต้องมีการวางพล็อตเรื่องแน่นมาก และต้องมีทักษะในการเล่าเรื่องที่เฉียบคม กั๊กเรื่องราวให้ถูกจังหวะ เพื่อสร้างความสงสัยหรือหลอกล่อคนอ่านให้เข้าใจไปอีกทาง ยากมากเหมือนกัน”
‘จิรปิยา’ กับ โครงการอ่านเอาก้าวแรกรุ่น 2
“ครั้งแรกที่ได้รู้จักกับโครงการอ่านเอาก้าวแรกนี้คือ ตอนที่รุ่น 1 อบรมจบไปแล้วค่ะ ตอนนั้นรู้สึก เสียดายมาก ทำไมไม่รู้ข่าวก่อนนะ พอเห็นประกาศจัดโครงการอ่านเอาก้าวแรกรุ่น 2 ก็ช่วงวันท้ายๆ ที่จะหมดเขตแล้ว รอบนี้ตัดสินใจไม่นานเลยค่ะ เพราะอยากเขียนพล็อตนิยายเป็น และอีกเหตุผลสำคัญที่ตัดสินใจทันทีก็คือ วิทยากรทั้งสามท่าน คือ ปิยะพร ศักดิ์เกษม, กิ่งฉัตร และพงศกร จะมาเป็นผู้สอนเทคนิคต่างๆ ในการเขียนนิยาย โอกาสดีๆ แบบนี้ทำไมจะไม่เรียนคะ ไม่ต้องรีรอเลยค่ะ สมัครทันที
“สิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมครั้งนี้ต้องบอกเลยว่าเกินคาดหมายค่ะ เพราะนอกจากจะได้เรียนรู้เทคนิคการเขียนนิยาย ได้กลเม็ดและเกร็ดต่างๆ จากประสบการณ์ของวิทยากรทั้งสามท่านแล้ว ยังได้เครือข่ายน้องๆ ร่วมรุ่น บางคนเป็นนักเขียนนิยายอาชีพอยู่แล้ว หลายคนเป็นนักอยากเขียนเหมือนเรา ก็เลยได้รู้จักเพื่อนใหม่เยอะเลยค่ะ ดีใจมากที่ตัดสินใจมาเข้าร่วมอบรมโครงการอ่านเอาก้าวแรกรุ่นที่ 2 นี้”
‘เพียงใจลิขิต’ นวนิยายเรื่องแรกในชีวิต ‘จิรปิยา’
“ยากมากค่ะ แม้ว่าจะอ่านนิยายมาเยอะมาก ประมาณกว่า 1,800 เรื่องได้ แต่พอจะลงมือเขียนนิยายของตัวเอง กลับมีความวิตกกังวลหลายอย่าง โดยเฉพาะสไตล์การเขียนที่เราเขียนเชิงวิชาการมาตลอด พอมาลองเขียนนิยายก็กลัวว่าจะติดสไตล์การเขียนวิชาการมาด้วย
“อีกเรื่องคือ ข้อจำกัดเรื่องเวลาค่ะ ที่จริง ‘อ่านเอา’ ให้เวลาในการเขียนนิยายส่งประมาณ 3 เดือน แต่ 2 เดือนแรกเขียนได้ไม่ถึง 5 หน้า เพราะงานเยอะมากจนไม่มีเวลา พอมารู้ตัวอีกทีก็เหลือเวลาแค่ 1 เดือน ตอนนั้นเครียดมาก ตัดสินใจอยู่นานว่าจะลุยต่อหรือเปล่า แล้วก็เลือกที่จะทำตามความฝันค่ะ เพราะในเมื่อเรามีโอกาสอยู่ในมือแล้ว ทำไมจะไม่ลองสู้ดูล่ะ ก็เลยลงมือเขียนอย่างจริงจัง ตั้งเป้าหมายการเขียนในแต่ละวันเลยว่าจะต้องเขียนให้ได้กี่หน้าต่อวัน จนในที่สุดก็เขียนจนจบและส่งประกวด ‘โครงการอ่านเอาก้าวแรก รุ่นที่ 2’ ทันค่ะ”
จุดเริ่มต้นของ ‘เพียงใจลิขิต’
“เคยได้ยินคำว่าพูดที่ว่า “แหม… ถ้าเราเป็นอย่างเขาก็ดีสิ” ไหมคะ คนเรามักไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ และพยายามให้ได้มีได้เป็นแบบนั้นด้วยวิถีทางที่แตกต่างกัน การอยากมีอยากเป็นเหมือนคนอื่นก็อาจไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่อยู่ที่แต่ละคนจะตัดสินใจว่าจะดำเนินชีวิต จะทำอย่างไรให้ไปสู่จุดที่อยากเป็นอยากมีได้ และประเด็นสำคัญที่อยากสื่อคือ “ไม่มีใครที่มีชีวิตสมบูรณ์แบบ แต่เราเลือกได้ว่าจะใช้ชีวิตบนความไม่สมบูรณ์แบบนั้นอย่างไร” ด้วยความเชื่อว่า ไม่มีใครในโลกนี้ไม่เคยเจอปัญหาชีวิต ไม่ว่าจะรวยจะจนก็ต้องเคยมีปัญหา จึงกลายเป็นแนวคิดที่สร้างพล็อตเรื่องนี้ขึ้นมา โดยถ่ายทอดเรื่องราวผ่าน 3 ตัวละครที่มีพื้นเพสังคมแตกต่างกันค่ะ”
เรื่องราวของ ‘เพียงใจลิขิต’
“ ‘เพียงใจลิขิต’ เป็นเรื่องราวชีวิตของสามสาว ตวิษา ปาฏลี และดารินทร์ ที่เป็นเพื่อนรักกันมายาวนาน ทั้งสามมีความ ‘ต่าง’ กันมากมาย คนหนึ่งเป็นตัวแทนของคนชั้นสูง เป็นไฮโซ อีกคนเป็นตัวแทนของคนชั้นกลางที่พบเจอโดยทั่วไป อีกคนเป็นตัวแทนของคนที่มีสถานะทางสังคมด้อยที่สุด เป็นกลุ่มคนยากจน หาเช้ากินค่ำ คนที่มาสถานะทางสังคมแตกต่างกันมีปมปัญหาต่างกัน มีความอยากมีอยากได้อยากเป็นแตกต่างกันไป ซึ่งพื้นฐานที่ต่างกันนั้นได้หล่อหลอมทำให้บุคลิกและมุมมองชีวิตของทั้งสามแตกต่างกันคนละขั้ว
“แต่ในความต่าง พวกเธอทั้งสามกลับมีความ ‘เหมือน’ กันอย่างหนึ่ง คือ ต่างก็โหยหาความรักที่จริงใจที่จะเติมเต็มในสิ่งที่พวกเธอขาดไป ซึ่งเป็นจุดก่อเกิดมิตรภาพระหว่างกัน แต่เมื่อมาถึงจุดเปลี่ยนที่ทั้งสามต้องเผชิญปัญหาชีวิตที่มีความโยงใยกันกับความสัมพันธ์ของครอบครัวด้วย การเลือกตัดสินใจที่จะจัดการปัญหาของแต่ละคนจะเป็นอย่างไรต้องติดตามค่ะ”
ความพิเศษของ ‘เพียงใจลิขิต’
“ถ้าจะโฆษณาแบบตามกระแสหน่อยๆ ก็อยากบอกว่า เรื่อง ‘เพียงใจลิขิต’ พระเอกน่ารักมากกกค่ะ และไม่ใช่แบบนิยายบางเรื่องที่พรรณนาว่าพระเอกเก่งทุกอย่าง แต่กลับงี่เง่าหูเบาเชื่อนางร้ายนะคะ คาแรกเตอร์ของพระเอกในเรื่องนี้ เป็นชายในฝันของหลายๆ คน ที่เป็นคนเก่ง คนดี มีเหตุผล รักจริง มั่นคง ชัดเจน รักก็บอกว่ารัก พร้อมสนับสนุนคนรักให้เดินไปในทางที่ถูกต้องอย่างเต็มที่ ส่วนนางเอกก็เป็นคนที่ภายนอกแข็งแกร่ง แต่ภายในจิตใจเปราะบาง แต่ก็เป็นคนมีเหตุผล ไม่เวิ่นเว้อค่ะ ที่สำคัญเรื่องนี้ไม่มีนางร้ายร้องกรี๊ดกร๊าด แย่งชิงตบตีกันเลย แต่รับรองได้ว่ามีความสนุกที่มากกว่าซีนนางร้ายหวีดร้องแน่นอน
“ ‘เพียงใจลิขิต’ เป็นเรื่องที่อยากถ่ายทอดชีวิตของมนุษย์ปุถุชนที่สามารถสัมผัสได้โดยทั่วไป เราทุกคนเลือกเกิดไม่ได้ ต้องเผชิญปัญหาแตกต่างกัน ปัญหาบางอย่างที่ถาโถมเข้ามาในชีวิตเราก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เหมือนเป็นชะตาฟ้าลิขิต แต่ที่สำคัญคือ ทุกคนสามารถเลือกลิขิตชีวิตของตัวเองได้ว่าจะดำเนินชีวิตอย่างไร เลือกที่จะจัดการปัญหาตามแนวทางที่เหมาะสมบนพื้นฐานของความมีสติและเข้าใจสัจธรรมของโลกได้ด้วยตัวเราเองค่ะ”
ถ้าอยากรู้ว่า ‘เพียงใจลิขิต’ จะสนุกแค่ไหน น่าติดตามจนต้องร้องขอให้รีบลงตอนต่อไปเร็วๆ ไหม ต้องอ่านกันเองค่ะ