ฝันให้ไกล…ไปให้ถึง กับ เอ๋-คีตาญชลี แสงสังข์

ฝันให้ไกล…ไปให้ถึง กับ เอ๋-คีตาญชลี แสงสังข์

โดย : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ

Loading

ปีนี้นักเขียนมือรางวัลอย่าง เอ๋-คีตาญชลี แสงสังข์ มีเป้าหมายชัดเจนมากว่าต้องการให้นิยายที่ตัวเองเขียนถูกนำไปสร้างเป็นละคร เมื่อล็อกเป้าได้แล้ว เธอก็ไม่รอช้าที่จะมุ่งหน้าสู่จุดหมาย ด้วยการเข้าร่วมโครงการช่องวันอ่านเอา ครั้งที่ ๓ และนับเป็นความพยายามครั้งที่ ๒ หลังจากที่เคยเข้าร่วมโครงการช่องวันอ่านเอา ครั้งที่ ๒ มาแล้ว ซึ่งครั้งนี้เธอสามารถทำฝันของตัวเองให้สำเร็จ เพราะนิยายเรื่อง ‘เพลงเงาดอกงิ้ว’ ของเธอ สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศ นวนิยายดีเด่น กลุ่มรักร้าย พร้อมก้าวขึ้นสู่ทำเนียบผลงานที่จะได้ถูกสร้างเป็นละครในที่สุด!

“เอ๋ไม่ค่อยอ่านนิยายรัก เราเลยต้องมาศึกษาใหม่หมดซึ่งเป็นอะไรที่สนุกมาก ปีที่แล้วที่เข้าร่วมโครงการยังจับทางไม่ถูก และไม่รู้วิธีที่จะเขียนให้สร้างเป็นละครว่าจุดสำคัญอยู่ตรงไหนบ้าง พอมาปีนี้ได้ไปอบรมในหลายโครงการ รวมถึงโครงการช่องวันอ่านเอา รุ่น ๓ และได้รับคำแนะนำดีๆ มากมาย เอ๋ก็ได้นำความรู้ตรงนั้นมาปรับใช้ ทำให้รู้จุดสำคัญมากขึ้น ซึ่งพอผ่านปีนี้ไปเราก็ยิ่งรู้มากยิ่งขึ้นค่ะ

“ที่เอ๋สนใจเข้าร่วมโครงการช่องวันอ่านเอา เพราะการที่เรื่องของเราจะได้ทำละครไม่ได้มีโอกาสง่ายๆ สมัยก่อนยังมีมีนิตยสารอย่างสกุลไทย หรือนิตยสารอื่นๆ ที่นิยายผ่านการคัดกรองมาแล้วจาก บ.ก. เป็นพื้นที่ให้คนทำละครกับนักเขียนได้มาเจอกัน แต่ตอนนี้พื้นที่ตรงนั้นหายไป การมีโครงการนี้เลยเป็นโอกาสที่ดี เลยไม่ลังเลที่จะส่งผลงานเข้ามาให้คณะกรรมการพิจารณาดูค่ะ”

ถึงแม้ผลงานของเอ๋จากการส่งผลงานเข้าร่วมโครงการช่องวันอ่านเอา รุ่นที่ ๒ จะยังไม่ได้รับเลือกไปทำเป็นละคร แต่ด้วยฝีไม้ลายมือที่หาตัวจับได้ยาก เราจึงได้เห็นผลงานเรื่อง ‘จระเข้คอยเธออยู่บนทางช้างเผือก’ ของเธอโลดแล่นอยู่ในเพจอ่านเอา และนั่นก็ดูจะเป็นอีกแรงผลักสำคัญที่เอ๋อยากเห็นผลงานชิ้นต่อไปของเธอได้ถูกสร้างเป็นละคร

“เอ๋ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าอยากให้งานเราถูกสร้างเป็นละคร เราต้องพล็อตเรื่องแบบไหน เลยคิดพล็อตในแบบที่เป็นละครได้ เช่น จุดมุ่งหมายของตัวละครต้องชัด ต้องให้ผู้ชมรู้ว่ากำลังตามเรื่องอะไรอยู่ ซึ่งครั้งนี้เอ๋เลือกโจทย์รักร้าย และงานจะเน้นที่ความรู้สึกของคนค่อนข้างมาก ที่ผ่านมาจะชอบเขียนงานแนวสืบสวนสอบสวน เพราะชอบอ่านแนวนี้ แต่พอมาเลือกทำงานแนวรักร้าย เราก็อ่านหนังสือของนักเขียนนวนิยายที่ได้ทำเป็นละครว่าเขามีวิธีการวางโครงเรื่องยังไง เริ่มจากตรงไหน มีอะไรบ้างในนั้น”

นักเขียนสาวเอเนอร์จีล้นบอกว่า ความสนุกในแง่ของการเขียนเรื่อง ‘เพลงเงาดอกงิ้ว’ คือการหาข้อมูล “ในเรื่องนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับหมอ ซึ่งแค่ประเด็นในเรื่องของการย้ายโรงพยาบาลใหญ่ไปโรงพยาบาลเล็ก เอ๋ก็ต้องขอคำปรึกษาจากคุณหมอและคุณพยาบาลประมาณเจ็ดคน เรียกว่าปรึกษากันในแต่ละสาขาเลย เพราะความจริงเป็นไปได้น้อยมากที่หมอเฉพาะทางจะถูกย้ายไปอยู่โรงพยาบาลประเภทสามสิบเตียง ก็เลยต้องหาวิธีการว่าเขาจะย้ายได้อย่างไร ส่วนคอนเซปต์ของ ‘เพลงเงาดอกงิ้ว’ ที่วางไว้คือ ความสุขของมนุษย์ไม่ใช่ทรัพย์สิน สิ่งของ เกียรติยศ ชื่อเสียง แต่ความสุขที่แท้จริงของเราคือการให้ ให้ผู้อื่นเท่าไหร่เราก็จะอิ่มใจเท่านั้น

“ดังนั้นพระเอกจึงถูกสร้างมาให้เป็นคนที่เรียนเก่ง มีความมุ่งมั่น ทะเยอทะยาน ทำอะไรก็สำเร็จไปหมดทุกอย่าง นั่นจึงทำให้เขาหลงไปกับความสนุกในเมืองแบบฉาบฉวย จนเผลอทำเรื่องผิดพลาด ซึ่งเป็นความผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตจนทำให้เขาต้องย้ายไปอยู่ในชนบท แต่การที่ไปใช้ชีวิตตรงนั้นทำให้เขาระลึกถึงพระบรมราโชวาทของสมเด็จฯ พระบรมราชชนกที่ได้พระราชทานไว้ว่า ‘ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจหนึ่ง ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศจะตกแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์’ ทำให้เขาค้นพบว่า แนวคิดที่เขาเคยดูถูก มันกลับสร้างความสุขที่แท้จริง แต่สุดท้ายก็ซวยเพราะดันโดนกรรมเก่าตามมา”

เอ๋บอกว่าผลงานที่เธอจรดปากกาลงไป จะต้องให้อะไรมากกว่าความบันเทิง “ครั้งหนึ่งเอ๋ได้ไปอบรมกับโครงการชูช่อต่อกิ่งก้านวรรณกรรม แล้วตอนนั้นได้มีคนถามอาจารย์ประภัสสร เสวิกุล ในห้องว่า เรื่องในสังคมเรามีเรื่องราวเยอะไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี เราจะจับอะไรมาเขียนดี ซึ่งอาจารย์ก็บอกว่า เราต้องเลือกว่าสิ่งที่จะมาเสนอนั้น ส่งผลกระทบกับสังคมในทางไหน ถ้าเขียนแล้วส่งผลกระทบไม่ดีก็ไม่ควรเลือก แต่ถ้าส่งผลกระทบในทางดีก็ให้เลือกเขียนสิ่งนั้น เอ๋ก็เลยเก็ตขึ้นมาในสมองเลยว่า วงการสื่อหรือวงการละครนั้นไม่ได้ทำงานแค่สะท้อนเรื่องราวหรือเหตุการณ์ของสังคมเท่านั้น แต่เรายังสามารถทำหน้าที่ในการชี้นำสังคมไปในทางดีได้ด้วย

“ดังนั้นเรื่องที่เอ๋จะหยิบมาเขียนหรือบทสรุป จะต้องทำให้เกิดการเข้าใจในกันและกัน ไม่ใช่แค่สะท้อนภาพว่ามีเรื่องเลวร้ายแบบนี้เกิดขึ้น เพราะเรื่องแบบนี้สำนักข่าวได้ทำหน้าที่นี้ไปแล้ว ดังนั้นในงานวรรณกรรมหรืองานที่นำศิลปะมาใช้ร่วมด้วยอย่างงานภาพยนตร์ งานละคร งานนิยาย ควรจะชี้นำไปในทางที่ดีได้ด้วยค่ะ”

 

Don`t copy text!