ถอดบทเรียนและความสำเร็จของ อัตถสิทธิ์ พิพิธเมธานนท์ เจ้าของบริษัทอีเวนต์โปรดักชั่น และอดีตคนเบื้องหลังผลงานที่ทุกคนคุ้นตา
โดย : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ
นับถึงวันนี้ก็เข้าสู่ปีที่ 13 แล้วที่คุณแก๊ป-อัตถสิทธิ์ พิพิธเมธานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท initial9 จำกัด ก่อตั้งและพาบริษัทผ่านร้อนผ่านหนาวมา แต่ก่อนหน้านั้น เขาคือหนึ่งในผู้ที่อยู่เบื้องหลังละครเวทีที่เราๆ คุ้นหูคุ้นตากันอย่าง หงส์เหนือมังกร ลมหายใจเดอะมิวสิคัล แม่นาคพระโขนงเดอะมิวสิคัล ฯลฯ หรือรายการประกวดเฟ้นหานักร้องอย่างเดอะสตาร์ จนเมื่อถึงเวลาที่ต้องขยับขยายชีวิตให้เหมาะกับบริบทขณะนั้น คุณแก๊ปก็ได้ตัดสินใจก่อตั้งบริษัทที่ชื่อว่าบริษัท initial9 จำกัด ซึ่งทุกอย่างดำเนินมาได้ด้วยดีจนทุกวันนี้ก็เพราะ ‘การรักษาคำพูด’ และพร้อมที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ
เดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้เราจะได้เห็นฝีมือของ initial9 อีกครั้งกับการจัดงาน Thailand Synergy เพื่อ SMEs ไทย โดยสิบเอ็ดองค์กรเครือข่ายนวัตกรรมภาครัฐ-เอกชนที่ร่วมกับซีพีออลล์ เรามาคุยกับผู้ชายคนนี้กันดีกว่าว่ากว่าจะมามีวันนี้ได้นั้น เขาพบเรื่องยากและง่ายอย่างไรบ้าง และเมื่อได้ผ่านทั้งเรื่องดีร้ายและท้าทายมาประมาณหนึ่งแล้ว เขาตกผลึกอะไรกับชีวิต!
จุดเปลี่ยนและประตูบานแรก
ยี่สิบกว่าปีก่อน เขาคือเด็กหนุ่มที่เรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาออกแบบอุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กระโดดเข้าสู่อุตสาหกรรมบันเทิงแบบตกกระไดพลอยโจน เนื่องจากพบข่าวบริษัท Exact-Scenario กำลังรับสมัครอาร์ตไดเร็กเตอร์ เขาจึงส่งใบสมัครไปและได้รับคัดเลือกให้เข้าไปทำงาน และพบว่าแพสชั่นในใจของเขาลุกโชนจากการได้มีโอกาสก้าวเข้ามาทำงานด้านโปรดักชั่นดีไซน์อย่างเต็มตัว
“ต้องบอกว่าพี่จ๊ะ (ศศวัต บุษยพันธ์) คือหัวหน้าคนแรกที่พาผมเข้าสู่อุตสาหกรรมบันเทิงรวมถึงพี่บอย (ถกลเกียรติ วีรวรรณ) ด้วยครับ ตอนนั้นผมยังเด็กแต่ได้มีโอกาสทำอะไรที่สเกลใหญ่และสนุกมาก ทั้งคอนเสิร์ต เกมโชว์ ซิตคอมฯ นอกจากนี้ยังได้ทำละครเวทีเรื่องทวิภพ เดอะ มิวสิคัล เวอร์ชั่นแรกสุด ซึ่งตอนนั้นยังแสดงอยู่ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย” สิ่งเหล่านี้ทำให้เขาเปลี่ยนความคิดแนวทางในการเรียนต่อ และตัดสินใจไปเรียนปริญญาโททางด้าน Theatre Design & Scenogarphy ประเทศอังกฤษ
“หลังจากเรียนจบ ตอนแรกผมยังไม่ได้กลับไปที่ Exact-Scenario แต่ไปเป็นอาจารย์สอนหลักสูตรนานาชาติที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำงานเอเจนซี่โฆษณาและทำหนังก่อน ด้วยความคิดที่ว่าอยากลองอะไรหลายๆ อย่าง แต่เมื่อทำแล้วก็พบว่าบริหารเวลายากมากจึงตกผลึกว่าควรเลือกสิ่งที่ถนัดที่สุดและให้เวลาเต็มที่กับสิ่งนั้น ในที่สุดผมก็เลยค่อยๆ ถอยออกมาและกลับมาทำงานที่ Exact-Scenario อีกครั้ง ซึ่งตอนนั้นมีเมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์แล้ว ผมก็ได้เข้ามาทำงานละครเวที ทำคอนเสิร์ต ทำซิตคอมฯ และได้ทำเดอะสตาร์แบบเต็มตัวอีกครั้งครับ”
Wake up Call
คุณแก๊ปทำงานอยู่ตรงนี้อีก ๓-๔ ปี เริ่มมีปัญหาสุขภาพ และระบบการหายใจ ด้วยปัจจัยแวดล้อมหลายๆ อย่าง จนแพทย์เตือนอย่างจริงจัง ซึ่งครั้งนั้นเหมือน Wake up Call ก็เลยต้องถอยออกมา และลองไปทำงานที่เป็นรูทีนดู แต่ก็พบว่าไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ เมื่อลองแล้วทางนั้นก็ไม่ได้ ทางนี้ก็ไม่ได้ จึงเหลืออยู่ทางเดียวคือเปิดบริษัทของตัวเอง
“ตอนนั้นก็ถามตัวเองว่า อะไรที่เราทำได้ดีที่สุด มั่นใจที่สุด ซึ่งผมทำงานอยู่ตรงนี้มาทั้งชีวิต และถึงแม้เวลานั้นคนไทยยังไม่รู้จักโปรดักชันดีไซน์สักเท่าไหร่ ด้วยความชอบและคิดว่าน่าจะทำได้ดีเลยเปิดไปก่อน แล้วก็คิดไว้ในใจว่าพอทำไปแล้วก็คงค่อยๆ ขยายสโคปงานให้กว้างขึ้น เพียงแต่ว่าเราต้องหาจุดเริ่มและมีคนรู้จักเราให้ได้ เลยเปิดบริษัทขึ้นมา ซึ่งก็ ได้ทำคอนเสิร์ตของบี้ (สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว) งานประกาศรางวัลนาฏราช ครั้งที่ ๑-๓ แล้วก็มีงานอื่นๆ จากลูกค้าอื่นๆเพิ่มเข้ามา มากขึ้นๆ และขยายขอบเขตเรื่อยมา จนกลายเป็นการจัดงานแบบ turn-key (ออกแบบและก่อสร้าง) ในปัจจุบัน”
นาทีพลิกวิกฤติและชีวิตที่ตกผลึก
ทุกอย่างดำเนินมาได้ด้วยดี จนกระทั่งโควิด-19 เข้ามาระบาดในประเทศไทย ซึ่งตอนแรกคุณแก๊ปมองว่าน่าจะไม่มีอะไรมาก แต่ก็ไม่เป็นไปอย่างที่คิดเพราะโควิด-19 กลายเป็นวิกฤติระดับโลก แน่นอนว่าบริษัทของเขาได้รับผลกระทบเข้าไปเต็มๆ “ตอนนั้นเราก่อตั้งและดำเนินธุรกิจมาครบ 9 ปีพอดี เลขสวยแต่สถานการณ์ขณะนั้นไม่สวย ปีโควิด-19 นั้นขาดทุนครับ เพราะเป็นช่วงเวลาหลายเดือนที่รายรับแทบจะไม่มี ในขณะเดียวกันกับที่รายจ่ายมีอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเราพยายามจะดูแลพนักงานทุกคน ผู้ร่วมงานทุกคนให้ดีที่สุด
“แต่ผมคิดว่าคำว่ากำไรและขาดทุนนั้นเป็นเรื่องธรรมดาของการทำธุรกิจครับ การขาดทุนบ้าง ถ้าไม่ถึงกับทำให้ธุรกิจล้มหายตายจากไปก็เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ หรือถ้ามองให้ลึกซึ้งกว่านั้น บางครั้งการขาดทุนหรืออยู่ในสภาวะที่กดดัน กลับกลายเป็นเรื่องที่ดีได้เหมือนกัน” ในเวลานั้นคุณแก๊ปได้ลองมองหาช่องทางธุรกิจใหม่ๆ จากทรัพยากรที่มีให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและเขาก็พบว่าการทำโปรดักชั่นในโลกออนไลน์นั้นตอบโจทย์ แม้จะไม่เชี่ยวชาญทางด้านนี้มาก่อนแต่ก็ไม่กลัวที่จะเสี่ยง ด้วยเครดิตของการทำงานที่มีคุณภาพมาตลอดทำให้ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าที่เชื่อมือเชื่อใจกันให้ได้ทำงานสำคัญๆ ซึ่งนั่นทำให้เกิด บิสซิเนสยูนิตใหม่ ที่สร้างรายได้ให้บริษัทและทำให้สามารถก้าวผ่านมรสุมลูกใหญ่มาได้
“จากเรื่องต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาทำให้ผมเข้าใจความจริงของชีวิตที่ละเอียดขึ้นครับ ทุกอย่างมีขึ้นมีลง มีเปลี่ยนแปลง ธุรกิจก็เช่นกัน เหมือนกับกฎไตรลักษณ์ที่พระพุทธเจ้าบอกไว้ สิ่งที่เราทำได้คือเตรียมตัว เตรียมใจให้ดีๆ ตอนดีก็ต้องไม่ประมาท ตอนแย่ก็ต้องไม่เสียกำลังใจและชีวิตคนเราใกล้ความตายนิดเดียว ผมเลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นก็เต็มที่ในแบบของเราไปทุกๆ วันแล้วกัน แต่บางเรื่องก็ไม่ต้องไปกดดันอะไรกับตัวเอง แค่บาลานซ์กันไป แต่ทำให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ก็พอ”