เครมบูเล หวานอมขมรัก…เพราะความรักไม่ได้มีแค่ความหวาน

เครมบูเล หวานอมขมรัก…เพราะความรักไม่ได้มีแค่ความหวาน

โดย : YVP.T

Loading

ไม่รู้จะเรียกว่าเป็นพร หรือเป็นคำสาปดี ที่ได้รับการสอนจากการเข้าร่วมอบรมกับพี่ๆ ทั้งสามท่านในโครงการอ่านเอาก้าวแรกว่า… ในฐานะนักเขียน ให้คำนึงด้วยว่า เรื่องของเราให้อะไรกับคนอ่านบ้าง?

เพราะเมื่อ “นภาภรณ์ เชิดธรรม” จะลงมือเขียนเรื่องรักๆ ฟิลกู๊ด คำถามนี้คือสิ่งแรกที่จุดประกายไอเดียของเธอ

“ขอสารภาพว่าเรื่องเครมบูเล่ หวานอมขมรักนี้ ไม่ได้เริ่มต้นว่าใครรักกับใคร แล้วเดินทางไปสู่จุดขมหรือหวานประการใด แต่เรื่องมันกลับเริ่มตรงที่ เราเห็นขนมหวานถูกกระทำการรุนแรงจากไฟร้อนๆ ก่อนจะรับประทาน จนพาลให้คิดไปว่า เออหนอ ความรักก็เป็นเช่นนี้แหละ มีหวานมีขมปะปนกัน จากนั้นชื่อเรื่องจึงเกิดขึ้นมาก่อนเป็นอันดับแรก แล้วจึงตามมาด้วยตัวละครต่างๆ ที่ช่วยปรุงให้เกิดชีวิตขึ้นภายใต้แนวคิดว่า เรื่องของเราให้อะไรกับคนอ่านบ้าง? นี่เองเป็นแรงบันดาลใจอันแรงกล้าในการเขียนเรื่อง เครมบูเล่ หวานอมขมรักค่ะ”

ตัวละครและหัวใจของเรื่อง

เมื่อได้แรงบันดาลใจแล้ว สิ่งที่ทำต่อไปคือ การกำหนดตัวละครสำคัญในเรื่อง และแน่นอนว่าแก่นสำคัญของเรื่องที่จะมาสร้างอรรถรสในการอ่านต้องมี และเธอได้ฝากความสนุกนี้ได้วันตัวละครหนึ่งในฐานะ “ผู้เล่าเรื่อง”

“ในเรื่องนี้ใช้มุมมองตัวละครตัวหนึ่งเป็นผู้เล่านะคะ แต่ผู้เล่าคนนี้อาจจะเป็นนางเอก หรือ พ่อกับแม่ในเรื่อง อันนี้ต้องตามไปลุ้นกันให้ถึงบทสรุปส่งท้าย ส่วนการนำ เครมบูเล่ มาต่อยอดจนเป็นเรื่องราวทั้งหมด เพราะสนใจในคาแรคเตอร์ของขนมชนิดนี้ค่ะ

“ถ้าใครได้เคยชิมมาแล้วจะเห็นว่า ลักษณะพิเศษคือ เป็นขนมที่เสิร์ฟในถ้วยเล็กๆ คล้ายถ้วยน้ำจิ้ม บางร้านปั้นเซรามิคลวดลายเฉพาะของร้านแล้วยกให้ลูกค้านำกลับไปได้ด้วย  ส่วนตัวขนมเองก็มีความเป็นลูกผสมระหว่างพุดดิ้งกับคัสตาด เรียกว่ามีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนขนมไหนๆ แถมยังถูกเบิร์นด้วยไฟจนน้ำตาลที่โรยหน้ากลายเป็นคาราเมล หอมๆ ขมๆ และด้วยส่วนสำคัญสองอย่าง คือภาชนะที่ใส่กับตัวเนื้อขนม จึงเกิดเป็นพระเอกสองคนมาให้ตัวเอกในเรื่องต้องตัดสินใจเลือก ด้วยความที่ตัวหลักซึ่งเป็นตัวเล่าเรื่องก็ยังใหม่ต่อโลก โดยเฉพาะเรื่องความรักยังไม่รู้ประสีประสาเลยว่ารักคืออะไร ได้แต่มโนฝันไปตามประสา จึงต้องสร้างสถานการณ์มาช่วยอบรมเจ้าตัวเสียหน่อย จะเป็นอะไรนั้นต้องตามติดชีวิตของเธอไปเรื่อยๆ นะคะรับรองอร่อยแน่”

ชีวิตคู่…ไม่ต้องหวานตลอดก็ได้

สิ่งที่คุนนภาอยากให้เพื่อนๆ นักอ่านได้ซึมซับอีกประเด็นคือ เรื่องราวของการใช้ชีวิตคู่ของคนสองคน ที่แม้จะหย่าร้างแต่ก็ยังเป็นเพื่อนกันได้

“ความเข้มข้นอยู่ที่คู่พ่อกับแม่ที่หย่าร้างกัน แต่ยังคงใช้ชีวิตวนเวียนผูกพันกัน และดูคล้ายกับจะมีเยื่อใยกัน หากแต่อยู่กันด้วยความขม ขาดหวานอย่างสิ้นเชิง เหตุการณ์นี้คิดจากเรื่องจริงของคนรอบข้างค่ะ มีคู่รักหลายคู่ที่เลิกกันแล้ว แต่ยังใช้ชีวิตเป็นเหมือนเพื่อน ที่คอยห่วงใยกัน ดูแลกัน เลี้ยงลูกด้วยกัน ผู้เขียนเองในฐานะคนนอก ชอบลุ้นให้คู่แบบนี้กลับมาลงเอยด้วยกันอีกจังเลยค่ะ เพราะความรักประเภทนี้แหละมักจะอยู่ยืนยาวกว่าความรักเชิงชู้สาว เรียกว่าความหวานอาจจะจืดจางแต่ความผูกพันกลับเข้มข้นขึ้น…. ก็ชีวิตจริงน่ะ ไม่ต้องหวานตลอดเวลาก็ได้จริงมั้ยคะ”

 

คุนนภา อ่านว่า คุน-นะ-พา

จนถึงวันนี้อาจจะมีบางคนคุ้นกับชื่อผลงานแรกนั่นคือ “ชื่อธีด้าขอบหาเรื่อง” จึงอาจเกิดสงสัยว่า ทำไมงานชิ้นที่สองจึงใช้ชื่อ คุนนภา แล้วมันมีความหมายอย่างไร อ่านว่าอะไร คุ นน ภา หรือเปล่า?

“ชื่อนี้มาจากชื่อจริงในโลกโซเชี่ยลค่ะ เป็นชื่อที่ตั้งในเฟสบุ๊กย่อจากชื่อเต็มว่า นภาภรณ์ ตัดเหลือแค่  ‘นภา’ ส่วน ‘คุน’ ตัวหน้าเป็นการอ่านออกเสียงตามอักษรจีนหมายถึง ผู้หญิง แต่หากนักอ่านอยากเรียกว่า คุ-นน-ภา ก็เก๋ดีนะคะ เลยคิดว่าแล้วแต่คุณผู้อ่านจะสะดวกเรียกเลยค่ะ ได้หมด

“เหตุผลข้อเดียวที่ใช้ชื่อนี้ เพราะ ตามใจคนในครอบครัวค่ะ เขารู้สึกว่า ชื่อนี้คุ้นตากว่า เป็นตัวเรามากกว่า”

“เครมบูเล่ หวานอมขมรัก” ผลงานล่าสุดจากศิษย์อ่านเอา

“นวนิยายเรื่องนี้เป็นงานที่ไม่ได้สร้างโดย คุนนภา เพียงลำพัง หากเป็นการชูประเด็น ขัดเกลา กลั่นกรอง จากคณะกรรมการโครงการช่องวันอ่านเอาอย่างชนิดที่เรียกว่าถึงพริกถึงขิง ทุกท่านเห็นพ้องต้องกันว่า แนวคิดในเรื่องเกี่ยวกับขนมและความขมหวานนั้นดีอยู่แล้ว  งานเซรามิกในเรื่องก็แข็งแรงดีอยู่แล้ว อยากให้เก็บสิ่งนี้ไว้ หมายความว่าสารตั้งต้นในการคิดที่ได้รับการอบรมมาว่า “ในฐานะนักเขียน ให้คำนึงด้วยว่า เรื่องของเราให้อะไรกับคนอ่านบ้าง” นั้นมีพลังส่งสารไปยังผู้รับได้อย่างหนักแน่นชัดเจน  ผู้เขียนจึงอยากเก็บสิ่งนี้ไว้แนบใจสำหรับงานเขียนครั้งต่อๆ ด้วยค่ะ  ไม่รู้ว่าจะเป็นพร หรือเป็นคำสาปกันแน่ คงต้องรอดูต่อไป

“สำหรับสำนวนภาษาในเรื่องนี้ ค่อนข้างมีศัพท์แสงแสลงเยอะแยะไปหมด เนื่องด้วยตัวผู้เล่านั้นยังอยู่ในวัยเยาวรุ่น อีกทั้งความสนุกสนานในเรื่องจึงทำให้เกิดภาษาในลักษณะนี้ หากไม่เป็นที่ถูกใจใครต้องกราบขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ

“คุนนภา จะยังคงเดินหน้างานเขียนในรูปแบบนี้ต่อไปค่ะ หมายถึง เล่าด้วยมุมมองบุรุษที่หนึ่ง แต่อาจจะมีเทคนิกอื่นๆ ปะปนกันไปเพื่ออรรถรสและความไม่จำเจ เพราะเขียนแล้วมีความสุข เขียนแล้วเหมือนไม่ได้เขียนเอง เหมือนตัวละครนั้นๆ กำลังบันทึกเรื่องราวของเขากันเอง โดยมีเราเป็นเพียงผู้นั่งจิ้มอักษรลงบนแป้นพิมพ์ให้เท่านั้น  

“วันที่เรื่องถูกตัดสิน พี่หมอพงศกร กรุณาโทรมาหาด้วยตัวเอง บอกกับผู้เขียนว่า งานเขียนเริ่มมีลายมือแล้ว พัฒนาต่อไปเรื่อยๆ นะ สิ่งนี้เป็นเหมือนพรพิเศษที่ได้รับจากอาจารย์อย่างไรอย่างนั้นเลยคะ ภูมิใจเหลือเกินที่ได้เป็นศิษย์สำนักนี้ เกิดและได้เติบโตที่บ้านหลังนี้ บ้านอ่านเอา บ้านที่นักเขียนหน้าใหม่ได้ถูกฟูมฟักด้วยนักอ่านที่แสนใจดี และอาจารย์ที่เปี่ยมเมตตา  สองสิ่งที่เป็นพลังให้นักเขียนหน้าใหม่เกิดเรี่ยวแรงที่จะสร้างงานต่อไป  ในฐานะคุนนภา ศิษย์อ่านเอา”

เรื่องราวในเครมบูเล่ หวานอมขมรัก ไม่ได้มีแค่เรื่องขมๆ หวานๆ ตลอดทั้งเรื่อง แต่สอดแทรกความรักความผูกพันชนิดที่เรียกว่า “รักนะแต่ไม่แสดงออก” ซึ่งเป็นวิถีไทยๆ ที่คุ้นเคยกันมาอยู่แล้ว แต่ไม่ว่าการแสดงออกซึ่งความรักของแต่ละบ้านจะเป็นเช่นไร จะหวานหรือจะขม  แต่ในฐานะพ่อแม่ ขอให้รู้ไว้ว่า ไม่มีใครไม่รักลูกของตัวเองแน่นอนค่ะ

Don`t copy text!