‘โซ่เวรี’ จากนิยายสุดฮิตกลายเป็นละครสุดปังที่ไม่ควรพลาด
แม้นิยายเรื่องนี้ จะออกสู่สายตาของนักอ่านมายาวนานเกือบ 10 ปีแล้ว แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ไม่ว่าจะหยิบ ‘โซ่เวรี’ หนึ่งในผลงานสุดฮิตของ ‘ณารา’ มาอ่านในปีไหน พ.ศ. ใด ความเข้มข้นของเรื่องราวยังคงสะกิดความรู้สึกได้เสมอ และยิ่งตอนนี้ ‘โซ่เวรี’ ในรูปแบบละครกำลังได้รับความนิยมสุดๆ ความเข้มข้นจะยิ่งทวีคูณมากแค่ไหน
วันนี้อ่านเอาจึงขอพาทุกคนไปพบกับ ‘ณารา’ เจ้าของบทประพันธ์เรื่องนี้ กับแรงบันดาลใจ และความรู้สึกของเธอ… เมื่อตัวหนังสือทุกตัวได้โล่ดแล่นอยู่บนจอใน พ.ศ. นี้ค่ะ
สิ่งที่ฮูกสงสัยสุดๆ และได้เอ่ยปากถาม ‘ณารา’ หรือ ณิชา ตันติเฉลิมสิน เป็นคำถามแรกคือที่มาที่ไปของเรื่องนี้ เพราะเป็นผลงานที่ตีพิมพ์ออกมาตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งจะว่าไปแล้วยุคนั้นเนี่ย ฉากเลิฟซีนที่เปิดเรื่องปุ๊บก็มาปั๊บแทบจะไม่ค่อยมีให้เห็น
“เริ่มต้นจากคุย MSN กับเพื่อนนักเขียนรุ่นน้องในตอนนั้นค่ะ คือน้องแซวว่าบทเลิฟซีนในนิยายของณารามักจะมีในบทที่ 15-16 ซึ่งก็จะเป็นช่วงกลางๆ เรื่องไปแล้ว เราก็เลยกระเซ้ากลับว่า เดี๋ยวจะเขียนให้บทเลิฟซีนอยู่บทนำเลย เพื่อนๆ ก็หัวเราะกันใหญ่ แต่เราพูดไปเราบอกเลยนะว่า เอาจริงนะ เดี๋ยวเขียนจริงๆ และเพื่อตอกย้ำว่าเราไม่ได้มาเล่นๆ ก็คิดพล็อตเพื่อให้มีบทเลิฟซีนบทนำจริง ซึ่งจุดนี้คือที่มาของ ‘โซ่เวรี’ นี่ล่ะค่ะ แต่ป่านฉะนี้ เพื่อนๆ ที่แซวกันในตอนนั้น คงจะลืมกันไปหมดแล้วล่ะค่ะ”
แม้จะเปลี่ยนช่วงการนำเสนอบทเลิฟซีน แต่เรื่องนี้ก็ยังคงมีความเป็นนิยายในสไตล์ของณารา
“ถ้าตามผลงานของณารากันมา คงพอจะรู้สไตล์กันว่า จริงๆ แล้วณาราเป็นคนชอบเขียนนิยายเกี่ยวกับต่างประเทศ และมีความเป็นโรแมนซ์ซะส่วนใหญ่ โดยจะเขียนดราม่าน้อยมาก และเรื่องราวที่ดำเนินในไทยก็มักจะมีไม่ถึงครึ่งของนิยายที่เขียน แต่ก็พยายามที่จะคิดภาพละครที่ดูน่าจะเขียนให้เป็นแบบนั้นได้ ก็พยายามค่ะ เลยยังคงใส่ความเป็นโรแมนซ์ตามแบบณาราและบวกความเป็นดราม่าเข้าไปเพื่อให้เรื่องที่ออกมาครบรส”
‘โซ่เวรี’ จากนิยายกลายเป็นละคร
สำหรับคนที่เป็นคอละครแต่อาจไม่ใช่คอนิยายอาจเกิดอาการสงสัยในทันทีที่ได้ยินคำว่า ‘โซ่เวรี’ ว่าคำคำนี้มีความหมายถึงว่าอย่างไร ณาราจึงช่วยเฉลยให้ทันทีค่ะ
“เวรี แปลว่า ศัตรู เรื่องนี้หมายความตรงตัวเลยค่ะ คือ นั่นโซ่น้อยๆ ที่ล่ามศัตรูทั้งสองด้วยกันก็คือ นิคกับรีน่า ส่วนว่าเรื่องนี้จะต่างจากเรื่องอื่นๆ ของเราไหม พี่ว่าขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคลนะคะ บางคนชอบแนวนี้ก็คงจะชอบ บางคนก็ว่าแรงไปหน่อย อย่างในตอนแรกช่อง 3 จองไปอ่านก่อนเลย เรียกว่าทันทีที่นิยายวางขาย แต่พออ่านแล้วเห็นพล็อตที่ค่อนข้างแรง มีมอมยา ปลุกปล้ำนางเอก เขาก็คิดว่าเป็นการใช้ความรุนแรง เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีในสังคม ก็เลยส่งเรื่องคืนมา ขณะที่ช่อง 7 คงจะมองเห็นว่า อาจจะเปลี่ยนแปลงให้ซอฟต์ลงกว่าเวอร์ชันนิยายได้ จึงเดินหน้าซื้อตั้งแต่ 6 ปีก่อนค่ะ แต่ก็รอนานเหมือนกันจนนึกว่าไม่ทำแล้ว
“สำหรับกระแสการตอบรับของเรื่อง เรียกว่าเกินคาดจริงๆ ค่ะ เพราะตอนแรกไม่กล้าคาดหวังมาก แต่เป็นเพราะนางเอกมีชื่อเสียงโด่งดังมาจากเรื่องก่อนหน้า คือ ‘มธุรสโลกันต์’ ก็คิดว่าน่าจะทำให้กระแสดีได้ แต่ก็ไม่นึกว่าจะแรงมากขนาดนี้ค่ะ ความรู้สึกคือดีใจมาก เพราะที่ผ่านมานิยายของณารากลายมาเป็นละครก็หลายเรื่องแล้ว แต่ก็ไม่เคยมีเรื่องไหนที่มีคนพูดถึงมากมายขนาดนี้ ยกเว้นละครเถา สี่หัวใจแห่งขุนเขา และคุณชายฯ อันนั้นห้านักเขียนเกาะกันดังค่ะ (หัวเราะ) ก็ต้องขอขอบคุณเพื่อนนักอ่านและผู้ชมละครที่สะท้อนความรู้สึกดีๆ ตอบกลับมาหลังจากอ่านและชมละคร ขอให้ทุกท่านสนุกกับการชมละครและอ่านนิยายนะคะ”
มากกว่าความสนุกคือรักที่ลึกซึ้งของครอบครัว
“แน่นอนว่านอกเหนือไปจากความสนุกที่เราอยากให้ผู้อ่านได้อ่านแล้ว เรายังอยากแฝงแง่คิดให้กับผู้อ่านไปด้วย อย่างในเรื่องนี้เราอยากสื่อถึงความรักในครอบครัวค่ะ พระเอกเป็นลูกเมียเก็บ ดังนั้น ในใจของเขาจะแสวงหาความรักจากพ่อมาตลอดชีวิต เมื่อตัวเองมีลูกจึงอยากสร้างครอบครัวให้สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้ ทั้งที่รู้ว่ามันแทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่เขาก็พยายามที่สุดที่จะรักษาครอบครัวของเขาไว้ให้ได้ค่ะ
“อยากให้ผู้ชมและนักอ่านได้รับสิ่งที่สื่อไปเรื่องนี้นะคะ เพราะตัวเองคิดมาตลอดว่า สถาบันครอบครัวสำคัญที่สุด หากมีครอบครัวที่ดีแล้ว เราก็จะเติบโตขึ้นมาเป็นบุคคลในสังคมที่มีคุณภาพค่ะ”
ยังมีผลงานนิยายโดยณาราอีกหลายเรื่องที่ได้รับความสนใจจะนำไปทำละคร แต่เรื่องไหนจะเป็นเรื่องต่อไป คุณผู้อ่านคงต้องช่วยณาราลุ้นกันนะคะ ส่วนตอนนี้ถ้าอยากอ่านผลงานของณาราล่ะก็ คลิกมาที่ www.anowl.co ได้เลยค่ะ ‘Going to the sun, ทัณฑ์รักพยาบาท’ รออยู่