บนเส้นทางของนักอ่านสู่ ‘ภาคินีสีเลือด’ นวนิยายชิ้นแรกของ ‘วิญวิญญ์’
โดย : YVP.T
หลายต่อหลายคนที่เริ่มต้นการเป็นนักเขียนจากการเป็นนักอ่านมาก่อน เช่นเดียวกับ ‘วิญวิญญ์’ เจ้าของผลงาน ‘ภาคินีสีเลือด’ ที่กำลังออนไลน์อยู่ใน www.anowl.co แต่จะมีกี่คนที่แม้ชีวิตจะแวบไปมาในเส้นทางอื่นแต่ก็ยังยืนหยัดที่จะเดินทางบนเส้นทางนี้ให้ได้เฉกเช่นเธอคนนี้
ประโยคหนึ่งที่น่าประทับใจในการพูดคุยกันกับ ‘วิญวิญญ์’ คือสำหรับเธอแล้ว “…งานเขียนคือรากฐานของสรรพความรู้ วิทยาการและความบันเทิงหลากรูปแบบ การถ่ายทอดความรู้ผ่านตัวอักษรยังคงเป็นวิธีการที่ไม่เคยล้าสมัย แม้ว่าจะเปลี่ยนแพลตฟอร์มไปบ้างก็ตาม” เป็นประโยคที่จริง และใช่
มาทำความรู้จักกับเธอคนนี้ให้มากขึ้น แล้วคุณจะรู้ว่า เมื่อความมุ่งมั่นในเส้นทางที่รักไม่เคยเปลี่ยน ความฝันก็ไม่ไกล
‘วิญวิญญ์’ เป็นนามปากกาที่ใช้ในการเขียน ‘ภาคินีสีเลือด’ ของ ดร. ณัฏฐ์ธีรตา วิทิตวิญญูชน อาจารย์ประจำและรองคณบดีสถาบันการทูตและการต่างประเทศ หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งผลงานชิ้นนี้เป็นนวนิยายชิ้นแรกของเธอ… ผู้ซึ่งหลงใหลการอ่านตั้งแต่ยังเป็นเด็ก
“คุณแม่คือผู้สนับสนุนตัวยงเลยก็ว่าได้ค่ะ เพราะท่านจะเช่าหนังสือนิทานสำหรับเด็กมาให้อ่านเสมอ พอโตขึ้นมาหน่อยก็เริ่มที่จะเลือกอ่านหนังสือด้วยตัวเอง โดยเป็นหนังสือในห้องสมุด ทั้งห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดประชาชน โดยไล่อ่านไปตั้งแต่วรรณกรรมสำหรับเด็ก อย่าง ‘โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง’ ไปจนถึง ‘เพชรพระอุมา’ กระทั่งย้ายมาเรียนมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก็ยังอาศัยห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งสำคัญในการอ่าน แต่ก็จะขยับมาเน้นอ่านหนังสือที่มีเนื้อหาค่อนข้างหนักและสะท้อนสังคม ประเภทที่ได้รางวัลซีไรต์หรือช่อการะเกด แต่แล้วพอเข้าสู่วัยทำงาน การอ่านก็เริ่มห่างออกไปมากขึ้น”
การอ่านคือจุดเริ่มต้นของการเขียน
“จริงๆ แล้วเริ่มเขียนมาตั้งแต่เด็กๆ แต่เขียนไม่จบบ้าง เขียนแล้วเก็บไว้กับตัวเองบ้าง ครั้งหนึ่งจะต้องเขียนสารนิพนธ์ส่งอาจารย์ญี่ปุ่น จึงเขียนเรื่องสั้นแนวเสียดสีสังคมไทยเป็นภาษาญี่ปุ่นส่งอาจารย์ พออาจารย์ได้อ่านท่านก็ให้นวนิยายญี่ปุ่นเล่มหนึ่งมา และบอกว่า “จะได้ใช้เป็นแนวทางและจะมีประโยชน์แน่นอนถ้าเธอรักการเขียน” แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้เริ่มชีวิตการเป็นนักเขียนเสียแต่ตอนนั้น เพราะด้วยภาระทางการเรียนและการงาน ทำให้กว่าจะได้เริ่มงานเขียนนวนิยายอย่างจริงจังและกล้าที่จะก้าวออกไปตามฝัน เวลาก็ล่วงเลยมามากแล้ว
“ในฐานะที่คร่ำหวอดอยู่กับงานเขียนมาตลอด ไม่ว่าจะในฐานะอดีตผู้สื่อข่าว หรือในฐานะอาจารย์และนักวิจัย สามารถพูดได้อย่างเต็มภาคภูมิว่างานเขียนคือรากฐานของสรรพความรู้ วิทยาการและความบันเทิงหลากรูปแบบ การถ่ายทอดความรู้ผ่านตัวอักษรยังคงเป็นวิธีการที่ไม่เคยล้าสมัย แม้ว่าจะเปลี่ยนแพลตฟอร์มไปบ้างก็ตาม ความบันเทิงประเภทภาพยนตร์หรือละครส่วนมากยังพัฒนามาจากงานเขียน แม้ต่อไปเราอาจจะ ‘ฟัง’ ผ่าน ‘หนังสือเสียง’ มากขึ้น แต่ ‘งานเขียน’ ยังคงเป็น ‘รากแก้ว’ ที่สำคัญค่ะ มิฉะนั้น ลำต้นหรือกิ่งใบที่แข็งแรงก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ หรือได้แบบไม่สมบูรณ์”
สานต่อความฝันกับโครงการอ่านเอาก้าวแรกรุ่น 2
“การเข้าร่วมในโครงการอ่านเอาก้าวแรกรุ่นที่ 2 นี้ ต้องยกความดีให้เพื่อนเต็มๆ เลยค่ะ เพราะเพื่อนเป็นคนมาบอก และคะยั้นคะยอให้สมัคร เนื่องจากตัวเองลังเลมาก ไม่กล้าที่จะลอง แม้ว่าตอนนั้นจะมีเค้าโครงเรื่องอยู่ในหัว และเขียนไปบ้างแล้ว แต่สุดท้ายก็คิดว่าถ้าเรายังคงมีฝัน และฝันนั้นไม่เคยจางหายไปตามกาลเวลา เราก็ควรจะต้องลองทำมันให้เป็นจริงสักครั้ง
“สิ่งที่ได้รับจากการร่วมโครงการอ่านเอาก้าวแรก รุ่นที่ 2 มีมากกว่าที่ตัวเองคาดหวัง และยิ่งกว่าที่ทุกคนเห็น เพราะไม่เพียงได้ ‘ความรู้’ และ ‘เทคนิคดีๆ’ จากนักเขียนแนวหน้าอย่าง กิ่งฉัตร, ปิยะพร ศักดิ์เกษม หรือพงศกร แต่ทำให้เราได้ตระหนักถึงและดึงศักยภาพในตัวคุณเองออกมา นอกจากนี้ ยังได้ ‘โอกาส’ ที่หาไม่ได้ง่ายๆ พร้อมได้ ‘เพื่อน’ ใหม่ และที่สำคัญที่สุด คือได้อยู่ใน ‘ครอบครัวอ่านเอา’ ที่ทำให้รู้สึกอบอุ่น แม้เราจะเป็นนักเขียนหน้าใหม่ไร้ประสบการณ์ ต้องถือว่าตัวเองโชคดีจริงๆ ค่ะ ที่ได้มาเข้าร่วมโครงการที่ส่งให้มาได้ไกลเกินฝันขนาดนี้”
งานเขียนในดวงใจ และ ‘ภาคินีสีเลือด’
“เป็นคนชอบงานเขียนแนวสยองขวัญสั่นประสาทเป็นที่สุดค่ะ จำได้ว่าช่วงมัธยมได้อ่านงานของคุณตา ‘ตรี อภิรุม’ เกือบทุกเล่มจึงซึมซับไว้เต็มที่ และแม้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนานหลายสิบปี วิธีการอ้างอิงถึงหลักศาสนา และพุทธพจน์ที่ลึกซึ้งแนบเนียนตามแบบฉบับของ ตรี อภิรุม ก็ยังคงถูกนำมาสอดแทรกในงานเขียนของตนเอง ยังไม่นับรวมถึงอิทธิพลของงานเขียนโดยนักเขียนชั้นครู และรุ่นพี่ท่านอื่นๆ ที่ได้นำมาประยุกต์ใช้กับงานของตนเองเช่นกัน ช่น จินตวีร์ วิวัธน์ ทมยันตี ว.วินิจฉัยกุล ปิยะพร ศักดิ์เกษม เหม เวชกร กิ่งฉัตร สรจักร พงศกร ฯลฯ
“แรงบันดาลใจของเรื่อง ‘ภาคินีสีเลือด’ มาจากความที่ตัวเองเป็นคนภูเก็ตโดยกำเนิดและเคยเห็นการรำแก้บนโดยคณะละครชาตรีที่ศาลพระพรหม จึงอยากจะเขียนเรื่องราวที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ และความเป็นบาบ๋า (หรือ ‘บาบ๋าย่าหยา’) ที่เกี่ยวโยงกับ ‘ราก’ ของตนเอง ในเรื่องนี้จึงมีรายละเอียดของวัฒนธรรมท้องถิ่นมากมายแทรกอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเพลงชาน้อง บทร้องไหว้ครูตามอย่างละครชาตรี หรือภาษาพูดแบบบาบ๋าอย่างชาวภูเก็ต และแม้เรื่องความเชื่อหรือวัฒนธรรมจะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่เชื่อว่าหากนำเสนอด้วยความเคารพ ด้วยหัวใจรักผูกพันและเพราะต้องการเผยแพร่แง่มุมอันดีงาม ก็เชื่อแน่ว่าน่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าโทษ
“ภาคินีสีเลือด นำเสนอเรื่องราวลึกลับเกี่ยวพันกับภพชาติ สอดแทรกความเชื่อและคำสอนทางพุทธศาสนา ผสมผสานเข้ากับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นชาวใต้และชาวบาบ๋า โดยยึดเกาะอยู่โดยรอบแก่นเรื่องที่ว่าความอาฆาตพยาบาทและรักลุ่มหลงไม่เคยให้คุณต่อใคร รังแต่จะทำให้ทุกข์ ดังนั้น เชื่อว่าสิ่งที่ผู้อ่านได้ นอกจากจะเป็นความบันเทิงตามอย่างวรรณกรรมสยองขวัญแล้ว ยังจะมีประโยชน์ต่อความเข้าใจประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมพื้นถิ่นชาวใต้มากขึ้น พร้อมๆ ไปกับทบทวนคำสอนทางพุทธศาสนาด้วยค่ะ”
แนวเขียนแบบนี้ที่อยากลอง
“ด้วยความที่รักในงานเขียนและอ่านหนังสือแทบทุกประเภท ทำให้มีความคิดว่าลองเขียนให้ได้ในทุกแนว แต่แนวแรกที่คิดว่าจะลองก่อนคงจะเป็นแนวรักหวานโรแมนติก ถัดมาก็แนวแฟนตาซีและดราม่า ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องแนวสยองขวัญจะเป็นแนวหลักที่ไม่ทิ้งแน่นอนเพราะเป็นแนวที่ตัวเองถนัด ซึ่งทุกแนวว่าไปได้คิดพล็อตไว้คร่าวๆ แล้วนะคะ และจะเริ่มลงมือเร็วๆ ยังไงก็ฝากให้เพื่อนๆ นักอ่านติดตามกันด้วยนะคะ”
สำหรับผลงานเรื่องถัดไปของ ‘วิญวิญญ์’ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมของชาวบาบ๋าในภูเก็ตที่เข้มข้นขึ้นค่ะ ซึ่งเป็นผลงานที่เธอเขียนเพื่อส่งประกวดรางวัลชมนาด ส่วนผลจะออกมาอย่างไรคงต้องช่วยเธอลุ้นอีกแรง นอกจากนี้เธอยังมีพล็อตนิยายรักโรแมนติกแบบไพรัชนิยายที่มีบรรยากาศของเรื่องในประเทศนิวซีแลนด์เป็นโปรเจ็กต์ต่อไป ซึ่งกำลังเริ่มต้นเขียนเร็วๆ นี้อีกหนึ่งเรื่อง จะสนุกมากน้อยแค่ไหน จะหวานสมกับเป็นนิยายรักโรแมนติกหรือเปล่า ต้องติดตาม