“คนทั้งโลกจะต้องรู้ว่าฉันรู้จักเขามากที่สุด!” ภาณี หลุยเจริญ นักประวัติศาสตร์สาวผู้ที่รู้จัก ‘คอนสแตนติน ฟอลคอน’ ในทุกมิติ
โดย : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ
ถ้าได้เคยตกหลุมรักใครสักคนอย่างไม่มีเหตุผล เชื่อว่าคงเข้าใจ มะเหมี่ยว-ภาณี หลุยเจริญ นักประวัติศาสตร์ นักเขียนสาวเจ้าของนามปากกา ‘กานท์ชญา’ ผู้ติดตามเรื่องราวของ คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือ ออกญาวิชาเยนทร์มาแทบจะทั้งชีวิตได้ไม่ยาก เพราะเพียงแค่ได้ยินชื่อของผู้ชายชาวกรีกคนนี้ครั้งแรก ชีวิตของเด็กหญิงมะเหมี่ยวในวัย ๗ ขวบ ก็เหมือนกับถูกแรงดึงดูดบางอย่างดึงเธอให้เข้ามาทำความรู้จักเขามากยิ่งขึ้น ประกอบกับเธอเองก็เป็นคนลพบุรี ซึ่งเป็นอีกจังหวัดที่มีเรื่องราวของฟอลคอน ให้ได้สืบค้นทั้งในช่วงชีวิตที่รุ่งโรจน์และวาระสุดท้าย นั่นยิ่งทำให้ความอยากรู้ของมะเหมี่ยวถูกเติมเต็มและรุดไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว
ความชอบที่มีต่อฟอลคอนช่วยเปิดโลกคุณเหมี่ยวในหลายๆ มุม ทั้งในแง่มุมของประวัติศาสตร์และภาษา คุณเหมี่ยวทำความรู้จักฟอลคอนผ่านเอกสารทางประวัติศาสตร์มากมายจากหลายที่ อ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับผู้ชายชาวกรีกคนนี้ ลงเรียนคอร์สภาษากรีก ถกกับผู้รู้เกี่ยวกับความน่าจะเป็นในชีวิตของฟอลคอนเพื่อให้ได้รายละเอียดที่เป็นประโยชน์ ฯลฯ ซึ่งพาร์ตหนึ่งในเฟซบุ๊ก Pany Louicharoen เธอได้รีวิวตัวเองไว้ว่า ‘ความสนใจที่เป็นพิเศษมาทั้งชีวิตคือ เรื่องของออกญาวิชาเยนทร์ เลือกเรียนเอกภาษาญี่ปุ่นและเรียนอาหารเพราะท้าวทองกีบม้า’
จากความรัก ความชอบส่วนตัว นำพาเธอให้ได้ไปรู้จักคนในแวดวงประวัติศาสตร์หลายต่อหลายคน รวมทั้งท่านทูตอัฐกาญจน์ วงศ์ชนะมาศ อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเอเธนส์ ซึ่งท่านมองเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้ประสานให้คุณเหมี่ยวได้มีโอกาสพูดคุยกับมาดามเมมี่ สะใภ้ของตระกูลเยราจี ซึ่งเป็นทายาทรุ่นสุดท้ายของทางฟอลคอน และเมื่อเธอได้เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจของคุณเหมี่ยว มาดามจึงได้มอบภาพวาดของฟอลคอนที่ติดอยู่ที่บ้านของตระกูลบ้านเกิดของเขาให้คุณเหมี่ยวเก็บไว้หนึ่งก๊อบปี้ เท่านั้นยังไม่พอ คุณเหมี่ยวยังได้รับการเชื้อเชิญจากเธอให้มาเยือนบ้านเกิดของฟอลคอนอีกด้วย
รางวัลชีวิตที่คุณเหมี่ยวได้มาอย่างไม่คาดฝันครั้งนี้ ทำให้เธอตั้งหมุดไมล์ไว้ว่าจะต้องเดินทางไปตามคำเชิญของมาดามเมมี่ให้ได้ และในอนาคตเธอตั้งใจเดินทางตามรอยไปในทุกๆ ที่ที่ผู้ชายคนนี้เดินทางไป
เราจะรักคนคนหนึ่งที่ไม่เคยเห็นหน้าถึงขนาดนี้ได้อย่างไรกันนะ?
ฉันต้องเป็นนัมเบอร์วัน!
“นี่เป็นคำถามที่ตอบยากมาก ไม่รู้เหมือนกันค่ะ อธิบายไม่ได้ (หัวเราะ)” มะเหมี่ยวพูดกับเราด้วยน้ำเสียงกลั้วหัวเราะเมื่อถูกถามว่าเพราะอะไรเธอถึงทุ่มเทกับฟอลคอนมากมายขนาดนี้? “เราจะรักคนคนหนึ่งที่ไม่เคยเห็นหน้าถึงขนาดนี้ได้อย่างไรกันใช่ไหมคะ คือเหมี่ยวรู้สึกว่าคนคนนี้เป็นคนเท่คนหนึ่ง เขามีความคิดที่เรารู้สึกเท่ ถึงแม้จะร้าย แต่เราก็ยังชอบคนคนนี้อยู่ดี
“ทุกครั้งที่เห็นชื่อชื่อนี้ เหมี่ยวจะรู้สึกว่าฉันต้องเป็นนัมเบอร์วันของเขา คนทั้งโลกจะต้องรู้ว่าฉันรู้จักเขามากที่สุด ฟอลคอนเหมือนเป็นแรงบันดาลใจหลักของเราเลยว่า ชอบอะไร และอยากจะทำอะไร ซึ่งก็มีความสุขนะคะ”
ถ้าย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ครั้งที่ ๓๕ พุทธศักราช ๒๕๖๖ ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดลพบุรี คุณเหมี่ยวคือหนึ่งในเจเนอเรชั่นล่าสุดที่เข้ามามีส่วนร่วมในงานสำคัญครั้งนี้ด้วย
“จริงๆ ก็ไม่เชิงว่าเป็นคนที่ดูแลค่ะ แต่ในการแสดงแสง สี เสียง จะมีนักแสดงที่แสดงเป็นออกญาวิชาเยนทร์ รวมไปถึงการจัดงานที่บริเวณบ้านวิชาเยนทร์ ซึ่งเหมี่ยวเป็นคนที่ศึกษาเรื่องราวของท่านมาทั้งชีวิตและผู้ใหญ่ท่านทราบ เลยได้มีโอกาสเข้ามาดูเรื่องราวของฟอลคอนทั้งสองงานหลัก ได้แก่ งานแสง สี เสียง และงานที่บ้านวิชาเยนทร์ ซึ่งเรื่องหลังนี้การให้ข้อมูลต่างๆ เป็นผลงานของเหมี่ยวทั้งหมด”
แน่นอนว่าในบ้านวิชาเยนทร์ คุณเหมี่ยวได้จัดวางรูปเดี่ยวของฟอลคอนที่ได้มาจากความกรุณาของมาดามเมมี่ และรูปของมารีอาที่ได้มาจากหมู่บ้านญี่ปุ่นไว้อย่างสวยงาม
“การได้เห็นรีแอ็กของคนที่มาบ้านวิชาเยนทร์แล้วหยุดอ่านประวัติที่เหมี่ยวเป็นคนเขียนไว้ หรือดูรูปของฟอลคอน และมารีอาที่นำไปจัดแสดง หรือถ่ายรูปงานเหล่านี้ ได้เห็นคุณแม่บางท่านมาอ่านเรื่องราวให้ลูกฟัง ถามลูกว่ารู้จักฟอลคอนไหม เขาเป็นยังไง เหล่านี้ในฐานะของคนทำงานรู้สึกชื่นใจ เพราะก็คอยแอบมองนะคะว่าคนที่มาชม เขาจะรีแอ็กกับผลงานของเรายังไง
“เด็กบางคนเขาก็พยายามอ่านเรื่องราวของฟอลคอนที่เหมี่ยวเขียน บางคนอ่านแล้วอยากรู้จักฟอลคอนมากขึ้น ก็มารอดูงานแสง สี เสียง ตอนกลางคืน แต่ผลปรากฏว่าที่เต็ม น้องเลยร้องไห้จนคุณพ่อต้องอุ้มน้องมาหานักแสดงที่แสดงเป็นฟอลคอน เพราะเขาอยากเจอและขอถ่ายรูป เลยรู้ว่านี่เป็นแรงบันดาลใจให้กับเขาได้ พอถามกลับไปว่าทำไมถึงชอบ เด็กๆ ก็ตอบกลับมาว่าไม่รู้ เหมี่ยวเลยแนะนำต่อไปว่า ถ้าชอบ หนูต้องเริ่มเรียนรู้นะคะ คือตรงนี้เหมือนเราได้เห็นตัวเองเพราะเหมี่ยวมีความสนใจในเรื่องของออกญาวิชาเยนทร์มาตั้งแต่เด็กๆ เหมือนกัน
“สำหรับการแสดงแสง สี เสียงเอง ทุกอย่างก็เป็นไปอย่างน่าประทับใจค่ะ ต้องขอบคุณพี่ฟลุค (ธัชเศรษฐ์ กมลสิทธิ์วรกุล) ที่แสดงเป็นออกญาวิชาเยนทร์ด้วย เพราะพี่ฟลุคมีการทำความเข้าใจตัวละคร สนใจ อยากรู้ ซึ่งทำให้เราปรึกษากันว่าตัวละครตัวนี้ต้องออกมาเป็นยังไง และตัวของฟอลคอนจะสื่อสารออกมายังไง เหมี่ยวก็เลยได้เข้าไปมีส่วนร่วม ได้ดูแล ได้ทำความเข้าใจ ระหว่างการแสดง ต้องกราบขอบพระคุณ อาจารย์กอแก้ว เพชรบุตร ที่ให้เหมี่ยวได้มีส่วนร่วมในงานนี้ เราปรับลุคกันทุกวัน ผู้กำกับ (อาจารย์วิบูลย์) ก็ปรับบท พี่โบ้ (วรพันธ์ เลิศวิริยะประภา) ที่ดูแลเรื่องแต่งหน้า ทำผม ก็ปรับลุคกันทุกวันเพื่อที่จะให้งานออกมาดีที่สุด ทำให้ตัวละครมีความหมาย มีชีวิตที่คนดูได้ประทับใจ เพราะว่าคนที่ดูในงานนี้จะมีทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ซึ่งเขาอาจประทับใจจนไปศึกษาต่อ เราจึงต้องใส่ใจทุกรายละเอียดค่ะ”
Do You Believe in Destiny?
“ตอนเด็กอายุประมาณเจ็ดขวบ ช่วงเรียนชั้นประถม แม่จะพาเหมี่ยวไปดูงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือที่เรียกกันว่า งานแสง สี เสียง และด้วยความที่เด็กมาก เลยมองไม่ค่อยเห็นอะไร แต่พอได้ยินชื่อ ‘คอนสแตนติน ฟอลคอน’ เรากลับจำชื่อนี้ได้เลย รู้สึกว่าชื่อแปลก อีกทั้งตำแหน่งเป็นออกญาวิชาเยนทร์ด้วย เลยยิ่งอยากรู้จักมากขึ้น ตอนนั้นจำได้ว่าแม่พาไปกินข้าวที่ร้านอาหารร้านหนึ่งในจังหวัดลพบุรี ระหว่างรอ เหมี่ยวก็นั่งนับนิ้วมือว่าชื่อ คอนสแตนติน ฟอลคอน เนี่ยมีกี่พยางค์ แล้วถามแม่ว่าคนนี้เป็นใคร? แม่ก็บอกว่า ออกญาวิชาเยนทร์ไงลูก สนใจไหม ถ้าสนใจก็ไปลองหาดูว่าเขาเป็นใครกัน…
“จากวันนั้นเหมี่ยวก็หาข้อมูลของฟอลคอนมาเรื่อยๆ ผนวกกับการที่อยู่ในจังหวัดของสมเด็จพระนารายณ์และมีบ้านวิชาเยนทร์ เลยมีเรื่องราวหลายๆ อย่างให้เราได้ค้นหา อีกทั้งเวลาไปรอแม่กลับบ้านก็ได้เข้าห้องสมุดประชาชน ซึ่งจะมีภาพถวายพระราชสาส์นอยู่ในห้องสมุดด้วย เลยได้ไปอ่านข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องราวในภาพด้วย
“กำลังสำคัญในการที่ทำให้เหมี่ยวทำอะไรได้ขนาดนี้คือแม่นะคะ แม่สนับสนุนเหมี่ยวมาโดยตลอด มีครั้งหนึ่งในช่วงที่เรียนมัธยมที่เหมี่ยวเพิ่งจะสอบเข้า ม.๔ ได้ แล้วได้เห็นหนังสือท้าวทองกีบม้า ของอาจารย์คึกเดช กันตามระ ซึ่งเล่มหนาและราคาแพงมาก แม่ก็เป็นคนซื้อให้เพราะรู้ว่าเหมี่ยวอยากได้ หลังจากนั้นหนังสือที่เป็นพงศาวดารที่เกี่ยวกับมารีอากับฟอลคอนก็ค่อยๆ พอกพูนขึ้นมาในชั้นหนังสือของเหมี่ยว พอเราได้มา เราก็อ่าน ศึกษา กลายเป็นว่าเราเรียนรู้ทุกๆ วันจนแตกฉาน แล้วยังได้เรียนโรงเรียนคาทอลิก ได้ศึกษาเอกสารต่างๆ ที่เป็นของต่างชาติ ซึ่งทำให้ทุกอย่างยึดโยงกันไปหมด
“นอกจากนี้ยังตั้งคำถามว่าฟอลคอนเป็นยังไง เกิดที่ไหน ลักษณะบุคลิกเป็นยังไง เพื่อจะสร้างโฮโลแกรมของเขาขึ้นมา เหมี่ยวทำอย่างนี้มาตลอดจนมั่นใจว่าเรารู้จักฟอลคอนแทบจะทุกด้าน ทุกมิติของเขาเลย และพยายามจะพูด บอกกล่าวเรื่องราวเหล่านี้ให้คนได้รับรู้ แม้ว่าเมื่อก่อนค่อนข้างจะยากมาก เพราะว่าฟอลคอนดูเป็นตัวร้ายในประวัติศาสตร์มาก เสียจนเหมี่ยวไม่กล้าพูดกับใครว่าเหมี่ยวชอบเขา เพราะคนจะมองว่า ทำไมไปชอบคนโกง บางคนก็มองเหมี่ยวว่า คิดว่าตัวเองเป็นท้าวทองกีบม้าหรือยังไง? คือจะมีคำครหาแบบนี้มาเยอะ
“…จนวันหนึ่งสังคมเปิดใจเรื่องความมีเหตุผล ความเข้าใจ และในวงการประวัติศาสตร์มีการเปลี่ยนแปลงทุกครั้งที่มีหลักฐานใหม่ เหมี่ยวก็เลยมีโอกาสได้พูด ได้บอกเล่าผ่านโซเชียลมีเดียว่าสิ่งที่เราศึกษาเป็นยังไง เกิดอะไรขึ้น และยังได้เห็นผลจากการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และได้เรียนรู้จากตัวเราด้วยค่ะว่า จริงๆ แล้ว คนทุกคนไม่มีใครเป็นคนที่ดีที่สุด และไม่มีใครเลวที่สุด แต่ทุกคนมีเหตุผลในการกระทำ พอเข้าใจแบบนี้ก็เลยเริ่มที่จะพูด บอกเล่าเรื่องราวของออกญาวิชาเยนทร์มากขึ้นเรื่อยๆ
…นอกจากนี้เหมี่ยวยังได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่หลายๆ ท่านที่เห็นความสำคัญ แม้กระทั่งพี่หมอโอ๊ต (นายแพทย์พงศกร จินดาวัฒนะ) ก็บอกว่า ‘เหมี่ยวต้องพูด’ ต้องทำในสิ่งที่เหมี่ยวรัก ต้องขอบคุณทุกโอกาสจากผู้ใหญ่ทุกท่านด้วยที่มอบให้เหมี่ยวค่ะ”
ในครั้งหน้าเราจะพาคุณผู้อ่านไปตามหาความจริงกับมะเหมี่ยวว่า แท้จริงแล้วฟอลคอนเป็นคนอย่างไร แล้วมีเรื่องไหนที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับบุคคลในประวัติศาสตร์ท่านนี้บ้าง นอกจากนี้เธอยังบอกเล่าถึงความตั้งใจของเธอที่จะศึกษาเรื่องของฟอลคอนในอนาคตอีกด้วย