เมื่อกาลเวลานำพาให้ได้เจอ “ทิวากาลกับความรัก” ของ ปรียนันทนา พงษ์ไพบูลย์
โดย : YVP.T
“ทิวากาลกับความรัก” นวนิยายอีกหนึ่งเรื่องที่ออนไลน์บน anowl.co โดย ปรียนันทนา ที่หากใครเป็นแฟนอ่านเอาต้องรู้จัก เพราะก่อนหน้านี้ เธอได้พานักอ่านเดินทางย้อนเวลาไปกับปารัณและมนสิชาใน “ให้หัวใจได้นำทาง” กันมาแล้ว
ในวันนี้ เราจะพาทุกท่านไปรู้จักเธอคนนี้มากขึ้น และแน่นอนว่า เราจะได้รู้จักเรื่องราวที่กว่าจะมาเป็นนิยายทั้งสองเรื่องนี้
“มีน – ปรียนันทนา พงษ์ไพบูลย์ นะคะ ก่อนหน้านี้เขียนสารคดีท่องเที่ยวในนิตยสารสกุลไทยค่ะ หลังจากนั้นก็เขียนบทความต่างๆ ในนิตยสารหญิงไทย โดยใช้ชื่อว่า ‘มีน พงษ์ไพบูลย์’ ค่ะ
“เมื่อก่อนที่บ้านอ่านนิตยสารกันเป็นประจำอยู่แล้ว ทั้งสกุลไทย หญิงไทย พลอยแกมเพชร แพรว ฯลฯ พอได้อ่านก็เป็นธรรมดาที่เราก็จะมีจินตนาการของเรา แต่ไม่ได้อยากที่จะไปแปลงเรื่องของนักเขียนท่านนั้นๆ นะคะ เป็นความรู้สึกว่าเราก็เขียนได้นะ เราชอบเขียน ยิ่งพอมานึกย้อนถึงตอนยังเป็นนักเรียน วิชาโปรดของเราคือ ภาษาไทย โดยเฉพาะการเขียนเรียงความหรืออะไรที่เกี่ยวกับการเขียนบรรยายทั้งหมด คือสิ่งที่ชอบมากค่ะ
“นิยายเรื่องที่ชอบมากๆ และเป็นเรื่องที่อ่านกี่ครั้งก็ยังรู้สึกถึงความคิดที่ลึกซึ้งขึ้นทุกครั้งจริงๆ คือ ข้างหลังภาพ ของนักเขียนชั้นครู ศรีบูรพา แต่ถ้าจะเป็นส่วนของนักเขียนในดวงใจคงเป็น คุณป้ากฤษณา อโศกสิน ค่ะ สำหรับมีน ผลงานของคุณป้านั้น นอกจากเนื้อเรื่องที่สะท้อนสังคมได้อย่างร่วมสมัยทุกเรื่องแล้ว อีกข้อหนึ่งก็คือความลุ่มลึกและรอบด้านในการสร้างตัวละครของท่านค่ะ ในความรู้สึกของมีน ท่านสามารถนำเสนอบุคลิกและการกระทำของทุกตัวละครตามพฤติกรรมความเป็นจริงของตัวละครนั้นๆ ได้อย่างดีไม่มีบิดพลิ้ว แม้บางครั้งอาจไม่ได้ถูกใจเราแต่ทำให้เรานึกเหมือนกันว่าคนที่เราเจอจริงๆ บางคนก็ไม่ได้ทำอะไรถูกใจเราอยู่แล้ว ตรงนี้เป็นเสน่ห์มากๆ เรียกว่าการไม่เขียนเอาใจผู้อ่านก็ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งก็ว่าได้”
“ปรียนันทนา พงษ์ไพบูลย์” นิยายที่ดีประเด็นชัดเจนและมาพร้อมความสนุก
“สำหรับมีน งานเขียนแต่ละประเภทก็มีความแตกต่างกันนะคะ แต่สิ่งที่เหมือนกันคือมีนพยายามนำเสนอประเด็นที่ชัดเจนให้คนอ่านได้ข้อมูลมากที่สุด ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะใส่ความสนุกสนานเพลินเพลินลงไปด้วย อย่างการเขียนสารคดีท่องเที่ยวก็สนุกแต่เราพยายามใส่รายละเอียดที่เป็นเอกลักษณ์ลงไป เช่นการบอกผู้อ่านว่าสถานที่นี้เดิมคืออะไร ปัจจุบันคืออะไร และสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร
“ส่วนนวนิยายก็พยายามกำหนดประเด็นที่จะนำเสนอให้ชัด แม้ว่าประเด็นนั้นจะเล็กและอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับบางคนเพราะเเดี๋ยวนี้คนอาจหลงลืมบางอย่าง เช่น เรื่องอาเขตแห่งรัก สิ่งที่มีนอยากบอกคือ ความรักที่ถูกต้องหรือพูดง่ายๆ คือเรื่องศีลธรรมที่ฟังดูอาจเชยแต่ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในสังคมจนกลายเป็นปกติไปแล้ว”
กาลเวลานำพาให้ย้อนกลับ จาก “ให้หัวใจได้นำทาง” สู่ “ทิวากาลกับความรัก”
“ทิวากาลกับความรัก มีจุดเริ่มต้นในเรื่องข้อมูล จาก ดร. พิชัย สนแจ้ง ค่ะ ซึ่งท่านเคยเป็นผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และปัจจุบันท่านเป็นผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยข้อมูลที่ได้ทราบจากท่านคือ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีพระที่นั่งภูวดลทัศไนยและมีพนักงานที่มีตำแหน่งชื่อว่า พันทิวาทิตย์ และ พันพินิตจันทรา ทำหน้าที่รักษาเวลาโดยการวัดมุมดาวจากหอนาฬิกาหลวง ซึ่งรัชกาลที่ ๔ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ ทรงกำหนดเวลามาตรฐานกรุงเทพฯ หรือ Bangkok Mean Time และสร้างหอนาฬิกาหลวงก่อนกรีนิชถึง ๒๗ ปี
“พอได้ยินข้อมูลนี้ เรารู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะว่าทั้งสองตำแหน่งที่เราได้ข้อมูลมามีข้อมูลเท่านี้จริงๆ และความที่มีเท่านี้นี่เองที่กลายเป็นช่องว่างให้สามารถนำมาจินตนาการต่อได้ ซึ่งข้อมูลนี้ได้มาตอนที่กำลังจะเขียน “ให้หัวใจได้นำทาง” เลยทำให้มีความคิดอยากนำตัวละครในเรื่องแรกมาเป็นตัวเอกในเรื่อง “ทิวากาลกับความรัก” เพราะฉะนั้นในระหว่างเขียน และหลังเขียนให้หัวใจได้นำทางจบจึงเป็นช่วงที่มีนหาข้อมูลเรื่องนี้ ซึ่งข้อมูลมีทั้งการไปดูสถานที่ต่างๆ และข้อมูลจากเอกสาร”
เก็บข้อมูลให้พร้อมที่สุด ก่อนตะลุยเขียนเรื่องราว
“สถานที่ที่ไปดู เพื่อเก็บข้อมูลไว้เขียนงานมีทั้งพิพิธภัณฑ์เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งได้ไปดูข้าวของเครื่องใช้ด้านดาราศาสตร์ของพระองค์ท่าน นอกจากนี้ยังมีวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม วัดปทุมวนาราม ส่วนของเอกสารมีความทั้งยากและง่ายในเวลาเดียวกันเพราะว่าเราเจอหนังสือที่เกี่ยวกับสภาพสังคมและบ้านเมืองพอสมควร เช่น พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ ๔ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี / พระอภิเนาว์นิเวศน์ พระราชนิเวศน์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ของ หม่อมราชวงศ์แน่งน้อย ศักดิ์ศรี / สมุดภาพประวัติศาสตร์ แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ของกรมศิลปากร / ค้นหารัตนโกสินทร์ สิ่งที่เรารู้อาจไม่ใช่ทั้งหมด ของ อ.ไกรฤกษ์ นานา / ประวัติการถ่ายรูปยุคแรกของไทย ของ อ. เอนก นาวิกมูล เนื่องจากช่วงเวลานั้นประเทศของเรามีทั้งการรับเทคโนโลยีถ่ายภาพจากยุโรปและเทคโนโลยีการพิมพ์ จึงทำให้มีทั้งกิจการถ่ายรูปและโรงพิมพ์เกิดขึ้นในเมืองไทย ตลอดจนเริ่มมีการพัฒนาอื่นๆ ซึ่งเป็นจุดเล็กๆ น้อยๆ ในรายละเอียดทั้งการเริ่มมีการวางแผนสร้างถนนเจริญกรุง หรือห้างแรกในสยาม
“นอกจากนี้ยังได้ไปค้นภาพถ่ายพระที่นั่งภูวดลทัศไนยและพระอภิเนาว์นิเวศน์ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติเพื่อที่เราจะได้เห็นภาพจริงๆ ที่ไม่ใช่จากในหนังสือ ซึ่งภาพเหล่านั้นมีนจะนำลงตอนรวมเล่มด้วยนะคะ คือข้อมูลที่ค้นมาค่อนข้างละเอียดและสนุกซึ่งก็ถือเป็นข้อดีแต่ก็ยากตรงที่จะทำอย่างไรให้ไม่เป็นการยัดเยียดข้อมูลให้ผู้อ่านแต่ต้องเขียนให้เขารู้สึกกลมกลืนกับฉากและวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยนั้นค่ะ
“ทิวากาลกับความรัก” นวนิยายที่ไม่อยากให้พลาด
ความน่าสนใจของเรื่องทิวากาลกับความรักจะอยู่ที่ตรงไหน คงเป็นสิ่งที่หลายๆ คนถาม แต่สำหรับในมุมมองของผู้เขียนแล้ว เธอบอกว่า
“เป็นเรื่องที่ตั้งใจค้นหว้าหาข้อมูลมากๆ มาเป็นวัตถุดิบในการเขียนงานออกมา และถือว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ค้นคว้าข้อมูลมากจริงๆ ส่วนหนึ่งเพราะอยากจะนำเสนอพระอัจริยภาพของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในเรื่องดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และพุทธศาสนา รวมถึงความมีวิสัยทัศน์ของพระองค์ท่านซึ่งเป็นยุคที่สยามต้องติดต่อกับต่างชาติที่เริ่มเข้ามาหาประโยชน์จากเมืองเล็กๆ ของเรา ซึ่งเมื่ออ่านแล้ว เราจะได้ตระหนักอย่างแน่นอนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตน แม้ดวงดาวหรือดวงอาจกำหนดชะตาคน แต่ไม่ได้สำคัญไปกว่าตัวเราแน่นอนค่ะ
“สุดท้ายนี้ มีนขอขอบคุณนักอ่านชาวอ่านเอาที่ให้การต้อนรับและตอบรับนักเขียนคนนี้เป็นอย่างดีนะคะ และอยากขอให้ติดตามกันไปอย่างนี้เรื่อยๆ นอกจากงานที่เขียนมาจะขายได้แล้ว มากไปกว่านั้นคือ ความรู้สึกยินดีมากๆ ที่เมื่อเขียนออกมาแล้วมีคนอ่านค่ะ ส่วนผู้อ่านจะได้อะไรเพิ่มเติมที่นอกเหนือไปจากความสนุกสนานเพลิดเพลินแล้ว มีนเชื่อว่าในฐานะผู้เขียนถือเป็นเรื่องน่ายินดีมากเช่นกันค่ะ”
ผลงานเรื่องต่อไปของ ปรียนันทนา พงษ์ไพบูลย์ จะเป็นเรื่องราวในอดีต หรือพาผู้อ่านกลับมาอยู่ในโลกปัจจุบัน ต้องคอยติดตาม แต่ไม่ว่าเรื่องราวที่เธอคนนี้อยากถ่ายทอดจะเป็นกาลเวลาไหน ทีมงานอ่านเอาก็มั่นใจได้ว่าจะเป็นผลงานคุณภาพที่พลาดไม่ได้อย่างแน่นอน
ติดตามผลงานของ ปรียนันทนา ได้ที่ #อ่านเอา นะคะ เพราะนิยายออนไลน์สนุกๆ #มีให้อ่านที่อ่านเอา