‘สิรี กวีผล’ กับผลงานที่สะท้อนความชอบและตัวตน ‘ยามเสียงเพรียกหา’

‘สิรี กวีผล’ กับผลงานที่สะท้อนความชอบและตัวตน ‘ยามเสียงเพรียกหา’

โดย : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ

Loading

‘ยามเสียงเพรียกหา’ เป็นผลงานชิ้นแรกของ ‘สิรี กวีผล’ หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการอ่านเอาก้าวแรก รุ่น 4 ที่หลังจากได้เข้าคลาสแล้วเธอก็เลือกเล่าเรื่องที่ตัวเองสนใจนั่นคือเสียงเพลงและเสียงดนตรี ด้วยการร้อยเป็นเรื่องราวของความรัก ความแค้น และสอดประสานดนตรีไทยดนตรีสากลเข้าไว้ด้วยกัน เพราะเธอเชื่อว่าดนตรีคือหนึ่งในความสากลที่สามารถเชื่อมผู้คนเข้าไว้ด้วยกันและยังมีอิทธิพลกับความรู้สึกของเราเป็นอย่างมาก

“แรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องนี้มาจากการชอบเสียงเพลง และส่วนตัวชอบเล่นดนตรีสากล แต่ชอบเสียงดนตรีไทยด้วยค่ะ อีกทั้งยังรู้สึกว่าในยุคสมัยนี้การเล่นหรือเรียนดนตรีไทยค่อนข้างน้อย ทำให้อยากนำดนตรีไทยกลับมาให้คนอ่านรู้สึกว่านี่เป็นดนตรีที่ร่วมสมัยและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

“แนวเรื่องที่เขียนเป็นแนวหนังผี ย้อนอดีต ซึ่งเป็นแนวที่ชอบค่ะ มีความหลอนในเสียงเพลง เสียงดนตรีและวิญญาณอาฆาต เป็นเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ 4-5 เรื่องราวเกิดขึ้นมากจากความเข้าใจผิดกันระหว่างเพื่อนรัก และความรักที่ไม่สมหวังของเที่ยง (ผี) คือเที่ยงรักในดนตรีไทยจนไม่ยอมเปิดใจรับดนตรีฝรั่ง และยังผูกใจเจ็บที่นพ (คีตะ-ในปัจจุบัน) หันไปสนใจดนตรีฝรั่งและยังแย่งสายพิณ (สลิลทิพย์-ในปัจจุบัน) คนรักของเขา จนทำให้เพื่อนรักทั้ง 3 คนแตกคอกันและกลายเป็นความเคียดแค้น

“พอได้เขียนเรื่องนี้ทำให้เราสนุกไปกับการค้นหาประวัติของเครื่องดนตรีไทยแต่ละชนิดแล้วยังได้เห็นความสำคัญของดนตรีไทยมากขึ้น รวมทั้งความสนุกที่ได้ท้าทายตัวเองให้เขียนจบด้วยค่ะ”

นักเขียนป้ายแดงได้เล่าย้อนถึงสาเหตุที่เข้าร่วมโครงการจนได้มีโอกาสเขียนนิยายเรื่องนี้ให้ฟังว่า

“พอดีได้รู้จักกับคุณแอม นามปากกา ‘นวาภัส’ ซึ่งพี่แอมเป็นคนชวนและแนะนำให้มาลองเขียนนิยายดูสักครั้งเพราะเคยเขียนในสมัยก่อนแล้วเขียนไม่จบเรื่อง แล้วเราเองก็สนใจอยากท้าทายตัวเองให้เขียนได้จบเรื่องสักครั้งหนึ่งด้วย แล้วพอได้เข้าคลาสก็ได้รับทั้งไอเดีย แรงบันดาลใจ รวมทั้งเทคนิคในการเขียนงานต่างๆ และแรงผลักดันจากวิทยากรหลักทั้งสามท่าน พี่เอียด ปิยะพร ศักดิ์เกษม พี่ปุ้ย กิ่งฉัตร และพี่หมอโอ๊ต พงศกร รวมถึงวิทยากรรับเชิญ ซึ่งเรื่องที่เรียนแล้วได้ใช้เลยก็คือการมีวินัยในการเขียนเรื่อง หรือเรียกว่าการมีวินัยกับตัวเองรวมทั้งแนวทางการวางโครงเรื่องในแต่ละช่วงและแต่ละตอน เพื่อให้สามารถเขียนโดยไม่หลงประเด็นแล้วเขียนจนจบได้ค่ะ แต่ถึงอย่างนั้นระหว่างเขียนก็มีอุปสรรคเข้ามาท้าทายนั่นก็คือการบริหารเวลาในการเขียนค่ะ บางครั้งจินตนาการก็เต็มเปี่ยมแต่บางครั้งก็เขียนไม่ออกเอาดื้อๆ ทำให้ต้องตั้งเวลากับตัวเอง พาตัวเองออกไปในที่ที่รู้สึกว่าสมองเราแล่นที่สุด พอนึกออกก็ค่อยๆ กลับมาเขียนค่ะ”

ผลงานเรื่องนี้นอกจากจะได้ถ่ายทอดในสิ่งที่ตัวเองรักลงมาเป็นตัวหนังสือ นักเขียนยังสอดแทรกอะไรบางอย่างไว้ให้กับคนอ่านอีกด้วย

“อย่างแรกคือ การไม่คุยกัน ไม่พูดกันตรงๆ หรือการคิดไปเองจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดร้ายแรงตามมา การเปิดใจคุยกันอาจมีน้ำตาแต่เราจะยอมรับและเข้าใจเมื่อให้เวลากับมัน อย่างที่สองคือ ดนตรีไม่มีข้อกำหนด ไม่มีข้อจำกัด ไม่มีผิด ไม่มีถูก อยากให้ยามเสียงเพรียกหาเป็นนิยายที่สะท้อนความเป็นดนตรีไทย ดนตรีฝรั่งที่สามารถผสมผสานกันได้โดยไร้ขอบเขต ซึ่งในฐานะคนเขียน อยากให้ดนตรีไทยกลับมามีชีวิตชีวาเหมือนแต่ก่อน เพราะสังคมปัจจุบันความงดงามของดนตรีไทยถูกมองเป็นความล้าหลัง เป็นอนุรักษ์นิยมไปมากกว่าความร่วมสมัยค่ะ”

ตอนนี้ ‘ยามเสียงเพรียกหา’ ของ ‘สิรี กวีผล’ มีให้อ่านกันอยู่ที่เว็บไซต์อ่านเอา ตามมาให้กำลังใจเธอกันได้นะคะ

 

 

Don`t copy text!