‘เนียรปาตี’ และ “เวียงวนาลัย” มหากาพย์แห่งพีเรียด…ไม่เครียดแต่วางไม่ลง
โดย : YVP.T
ไม่ทำให้แฟนๆ anowl.co ต้องรอนาน หลังจากจบ “มาลัยใบพฤกษ์” ไปไม่นาน เนียรปาตีกลับมาอีกครั้งกับ “เวียงวนาลัย” นวนิยายที่ได้แรงบันดาลใจหลักจากหนังสือ ‘นายห้างป่าไม้สี่แผ่นดิน’ ของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กิตติชัย วัฒนานิกร ผู้ซึ่งมาจากตระกูลฝรั่งที่เข้ามาทำไม้ในไทย
รู้ถึงแรงบันดาลใจของเนียรปาตีแบบนี้ “เวียงวนาลัย” ยิ่งน่าอ่านสุดๆ ใช่ไหมคะ วันนี้อ่านเอาจึงชวนเนียรปาตีมาพูดคุยถึง “เวียงวนาลัย” นวนิยายเรื่องล่าสุดของเนียรปาตีที่ทุกคนกำลังจะได้อ่านกันแล้ว
“เวียงวนาลัย” เรื่องของวิลเลียม หนุ่มอังกฤษที่เดินทางมาทำงานในบริษัทสัมปทานป่าไม้ในภาคเหนือของสยาม ชีวิตของวิลเลียมต้องเผชิญกับสิ่งมากมายในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย เขาได้พบกับมิตรแท้ สงคราม และความรัก…จนกลายเป็นเรื่องเล่าของลูกหลานเชื้อสายลูกครึ่งตระกูลหนึ่งในปัจจุบัน
“หลังจาก ‘มาลัยใบพฤกษ์’ ซึ่งเป็นเรื่องล่าสุดที่เขียนจบและรวมเล่มไปแล้ว ผมยังคงทำงานประจำ คือสอนหนังสือและทำวิจัย ส่วนงานเขียนนิยายก็ยังไม่ทิ้งนะครับ เก็บข้อมูลสำหรับเรื่องใหม่คู่กันไป และวางแผนไว้หลายเรื่อง ซึ่งเรื่องไหนข้อมูลพร้อมก็อาจได้คิวเขียนก่อน อย่างเช่น “เวียงวนาลัย” ที่ทุกคนกำลังจะได้อ่านกันแล้ว”
‘นายห้างป่าไม้สี่แผ่นดิน’ แรงบันดาลใจสู่ ‘เวียงวนาลัย’
เนียรปาตีได้แรงบันดาลใจหลักๆ ในการเขียนเวียงวนาลัยจากหนังสือ ‘นายห้างป่าไม้สี่แผ่นดิน’ ของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กิตติชัย วัฒนานิกร ซึ่งท่านผู้นี้เป็นลูกหลานของตระกูลฝรั่งที่ได้เข้ามาทำไม้ในประเทศไทย แต่นอกเหนือยจากหนังสือเล่มนี้ เขายังได้หาข้อมูลอีกมากมาย เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการเขียนงานครั้งนี้
“นอกจาก ‘นายห้างป่าไม้สี่แผ่นดิน’ ก็ยังมีเล่มอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผมเรียกว่า ชุดนายห้างปางไม้ ได้แก่ นายห้างปางไม้สีสันชีวิตอดีตล้านนา นายห้างป่าไม้เผชิญหน้าสงครามมหาเอเชียบูรพา นายห้างป่าไม้ยุคสุดท้ายในล้านนา ทั้งสี่เล่มนี้เป็นเค้าโครงใหญ่ของเรื่องทั้งหมดที่ผมอยากจะพูดถึงประวัติการทำไม้ในภาคเหนือยุคต่างๆ ความสัมพันธ์ของผู้คนที่หลากหลาย ทั้งต่างเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ฯลฯ”
และแน่นอนว่า เนียรปาตี เป็นนักเขียนอีกหนึ่งคนที่สร้างฉากในนวนิยายได้อย่างชัดเจนและสวยงาม โดยในเวียงวนาลัย คุณผู้อ่านจะได้พบกับสถาปัตยกรรมทางเหนือ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือนหลังใหญ่ที่สร้างด้วยไม้สักแผ่นโตๆ ประดับด้วยศิลปะที่แตกต่างกัน วัดวาอาราม แม้แต่ออฟฟิศที่ทำงานก็จะมีรูปแบบสถาปัตยกรรมทั้งดั้งเดิมและผสมผสานอยู่มาก ซึ่งรับประกันได้ว่าเข้ากันได้อย่างลงตัว และเมื่อได้อ่าน เรามั่นใจเลยว่า คุณผู้อ่านจะหลุดเข้าไปอยู่ในบรรยากาศแบบเหนือๆ จนแทบจะถอนตัวไม่ขึ้น
“อีกหนึ่งแรงบันดาลใจคือวิถีของคนเลี้ยงช้าง สมัยก่อนช้างถูกฝึกสำหรับการทำไม้ มีเกร็ดน่าสนใจมากมายเกี่ยวกับช้าง แม้ว่าปัจจุบันจะไม่ใช้ช้างในกิจการป่าไม้แล้ว แต่ผมก็อยากจะเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของคนที่อยู่กับช้างให้ได้รู้กัน
“ถ้าให้เล่าที่มาเชิงทฤษฎีหน่อยๆ คือ เวลาที่เราได้อ่านเรื่องเล่าเรื่องแต่งที่เกี่ยวกับล้านนาหรือสยาม ส่วนใหญ่ก็เป็นมุมมองแบบชาวตะวันตกมองชาวตะวันออก เช่นเรื่อง The King and I, The Last Emperor, The Memoir of Geisha หรือ The Last Samurai เรื่องแนวนี้มักถูกอธิบายด้วยทฤษฎี Orientalism หรือบูรพาคดีศึกษา อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ว่า คือการสร้างภาพของชาวตะวันออก (หรืออุษาคเนย์) จากมุมมองของตะวันตก ซึ่งอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ แต่มันถูกทำให้เชื่อว่าเป็นจริง
“ปัจจุบันมันก็เลยมีทฤษฎีโต้แย้งคือ Occidentalism หรือบูรพคติ อธิบายง่ายๆ ก็คือการที่คนตะวันออกไม่ยอมรับการสร้างภาพของตัวเองโดยมุมมองของตะวันตก จึงตอบโต้ด้วยการนิยามและให้ความหมายของตัวเอง และสร้างภาพของตะวันตกแบบที่ตัวเองมอง (เรียกว่าเอาคืนนั่นแหละ 555)
“ดังนั้นในเชิงทฤษฎี ‘เวียงวนาลัย’ จึงมีความตั้งใจจะพูดถึงชาวตะวันตกในมุมมองของชาวตะวันออกบ้าง แต่คงไม่ถึงกับเอาคืนอย่างที่ได้บอกไปหรอกนะครับ”
‘เวียงวนาลัย’ ความท้าทายของพีเรียดเพียวๆ
ถ้าคุณผู้อ่านคาดหวังว่า เวียงวนาลัยจะมีเรื่องของแฟนตาซี หรือเรื่องเหนือธรรมชาติละก็ คงต้องบอกไว้ตรงนี้ว่า ไม่มีแม้แต่เปอร์เซนต์เดียว แถมเรื่องนี้ยังมีความท้าทายมากมายในแบบที่ต้องเรียกว่า เป็นครั้งแรกของเนียรปาตีเลยก็ว่าได้
“เวียงวนาลัย เป็นเรื่องราวชีวิตของวิลเลียม หนุ่มอังกฤษที่มาเป็นผู้จัดการในบริษัทของอังกฤษที่ได้สัมปทานทำป่าในล้านนา เผชิญหน้ากับเรื่องราวมากมายจนถึงบั้นปลายชีวิต จะว่าเป็นเรื่องแนว ‘อีปริก’ ก็ได้ อันนี้ผมเรียกเองนะครับ คือเรื่องแบบ epic หรือมหากาพย์น่ะครับ แนวๆ Gone with the Wind หรือ สงครามชีวิตโอชิน อะไรอย่างนั้น (หัวเราะ)
“ความแตกต่างของเรื่องนี้คงเป็นโจทย์ที่ตั้งให้กับตัวเอง (แบบยากขึ้น) ตัวละครนำเป็นหนุ่มอังกฤษ ซึ่งผมไม่เคยทำมาก่อน ทั้งการเดินเรื่องด้วยตัวละครชาวต่างชาติและเดินเรื่องด้วยผู้ชาย (ไม่นับมาลัยใบพฤกษ์นะครับ) ผลงานที่ผ่านมามักเดินเรื่องด้วยตัวละครหญิง หรือไม่ก็เป็นคนไทยอย่างที่เราคุ้นเคยกันดี จะมีชาวต่างชาติมาแจมบ้างก็บางเหตุการณ์เท่านั้น
“อีกหนึ่งความท้าทายในการเขียนเรื่องนี้คือหนีฉากผจญภัยไม่พ้น แม้ว่าผมจะชอบธรรมชาติต้นไม้ใบหญ้า แต่ก็ไม่ถนัดแนวบู๊ เดินป่า ล่าสัตว์ หรือผจญภัย แต่เรื่องนี้เราเลี่ยงฉากเหล่านี้ไปไม่ได้ ก็ต้องใช้ความพยายามมากหน่อยที่จะถ่ายทอดออกมาให้ได้อรรถรสสมความตั้งใจและคนอ่านไม่งง
“และในเรื่องนี้ ใครที่คิดถึง อาจารย์เอกบดินทร์ หรือพี่เม่น ก็จะมาให้ได้เจอกันนิดๆ หน่อยๆ ในฐานะรับเชิญเหมือนอย่างที่แวะมาทักทายใน ‘มาลัยใบพฤกษ์’ เพราะเรื่องของพี่เม่นได้เล่าแล้วใน ‘จากแดกูสู่หัวใจ’ ความเชื่อมโยงของตัวละครในจักรวาลเนียรปาตี จึงเป็นการเล่าถึงที่มาของตัวละครจากเรื่องอื่นที่จับชนกันได้พอเหมาะพอดี อย่างในเวียงวนาลัยนี้ ก็จะได้เห็นต้นตระกูลของ ‘พ่อเลี้ยงอินถา’ และ ‘สรไน’ ตัวละครเอกจากเรื่อง ‘ฟลอร์เฟื่องฟ้า’ ที่เคยเล่าเพียงว่าพ่อเลี้ยงอินถาเป็นลูกครึ่งอังกฤษ-ลำปาง และสรไนเป็นลูกเสี้ยวที่มีเชื้อสายชาวอังกฤษ และอาจมีตัวละครบางตัวที่กลายเป็น easter egg ให้เดากันต่อไปว่าใครที่จะทำให้กลายมาเป็นตัวเอกในเรื่องราวต่อไป หรือเหตุการณ์ไหนเชื่อมโยงไปที่ใด”
พีเรียดสุดโหดที่กว่าจะเป็น ‘เวียงวนาลัย’
เพราะความเป็นพีเรียดจริงจัง พร้อมด้วยข้อมูลที่อัดแน่น ทำให้การเขียน ‘เวียงวนาลัย’ ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่แค่จินตนาการให้ถึงแล้วบรรจงดำเนินเรื่อง เพราะการชุบชีวิตประวัติศาสตร์ มักมาพร้อมช่วงเวลาและเหตุการณ์ที่ยากจะบิดเบือน ความพอเหมาะพอดีและสมเหตุสมผล คือสิ่งสำคัญที่เนียรปาตีต้องทำให้เนียน
“สิ่งที่โหดหินในการเขียนเรื่องนี้มี 2 จุดใหญ่ครับ อย่างแรกคือการนำประวัติศาสตร์ของแต่ละพื้นที่มาเทียบช่วงเวลาเดียวกัน เพราะตัวละครหลักเดินทางไปอยู่หลายพื้นที่ ทั้งอังกฤษ อินเดีย พม่า สยาม ล้านนา แต่ละพื้นที่จะมีเหตุการณ์สำคัญของตัวเอง และยังมีสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งนี่แหละครับ นำมาสู่ความยากจุดที่สอง คือการให้ตัวละครที่มีภูมิหลังที่มาต่างกันต้องปะทะกันในเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ชีวิต มันมีเรื่อง culture shock ของตัวละครเกิดขึ้น ลองนึกภาพว่าคนสองคนที่พูดกันคนละภาษาต้องมาคุยกัน กินอาหารกันคนละแบบต้องกินข้าวด้วยกัน เรื่องเดียวกันแต่มีทัศนคติต่างกัน…อะไรพวกนี้มันจะเห็นตลอดเรื่อง ซึ่งยากนะสำหรับนักเขียน เพราะต้องเข้าใจวิธีคิดของตัวละครแต่ละตัวที่ต่างกันมากๆ
“ส่วนที่ยากรองลงมาก็เป็นชุดข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ความรู้ต่างๆ ที่อยากสอดแทรกเข้าไป เช่น ขั้นตอนการทำไม้ตั้งแต่การคัดเลือกไม้ ตัดไม้ จนกระทั่งขนส่งและแปรรูป ขั้นตอนการฝึกช้างสำหรับใช้งานในป่าไม้ กลยุทธ์ทางธุรกิจต่างๆ ที่บางครั้งก็มีประเด็นทางการเมืองแอบแฝง ไหนจะมีเรื่องสงครามโลกเข้ามาอีก…ก็บอกแล้วว่าเรื่องนี้มันเป็นแนวอีปริกน่ะครับ”
แม้ดูเผินๆ แล้วจะเหมือนว่าเวียงวนาลัยเล่าเรื่องของวิลเลียม บรูค เป็นหลัก แต่ก็ยังมีอีกหลายชีวิตแวดล้อมที่น่าสนใจและโลดโผนไม่แพ้กัน และถึงแม้เรื่องนี้จะไม่ใช่แนวสืบสวนสอบสวน แต่อ่านเอาก็อยากชวนค้นหาคำตอบไปด้วยกันว่า ‘แกรนด์ปา’ คือใคร และ ‘อาจารย์วนารัตน์’ ผู้เล่าเรื่องนี้…เป็นลูกเต้าเหล่าใคร
“อย่ารีบด่วนสรุปเมื่อได้อ่านแค่ไม่กี่บท เพราะกว่าจะถึงบทสุดท้าย คำตอบที่คิดในใจอาจเปลี่ยนไปก็ได้…ใครจะรู้”