ระลึกคุณ คุณป้าสุภัทร สวัสดิรักษ์ : ตอนที่ 2
โดย : ศรัณยา ชินะโรจน์
หลงรักตัวอักษร จึงเลือกทำงานสายสื่อสิ่งพิมพ์ เริ่มต้นที่สำนักพิมพ์ดอกหญ้า นิตยสารโลกวรรณกรรม แล้วมายืนหยัดยาวนานร่วมยี่สิบปีที่กองบรรณาธิการ นิตยสารสกุลไทย ปัจจุบันรับเขียนทุกสิ่งทุกอย่างที่อยากเขียน
“ฉันรู้สึกทึ่งในสายตามองไกลของคุณป้า
ไม่รู้ว่าท่านมีตาที่สามหรืออย่างไร
จึงมองทะลุเห็นว่าเขาเหล่านี้ คือ ‘เพชรแท้’ แห่งวงวรรณกรรม
ท่านจึง ‘ส่ง’ ให้เจิดจรัสอยู่บนฟากฟ้า
ตั้งแต่วันนั้นที่ท่านค้นพบ”
บ่ายวันหนึ่ง คุณป้าสุภัทร สวัสดิรักษ์ เปลี่ยนอิริยาบถจากโต๊ะทำงาน ลุกมาชงกาแฟตรงมุมกาแฟใกล้กับโต๊ะประจำของฉัน จึงถือโอกาสนี้ซักถามถึงมาตรฐานการทำงานของท่าน
ด้วยความเป็นเด็ก จึงเปรยขึ้นมาว่า “ทำไมหนูถึงไต่ไม่ถึงมาตรฐานของคุณป้าสักทีคะ”
ขณะนั้นท่านกำลังรินน้ำร้อนชงกาแฟ เสียงช้อนกระทบเนื้อแก้วเซรามิกดังกรุ๊งกริ๊ง ฉันอดใจรอคำตอบประมาณสามวินาที
แล้วท่านก็ตอบน้ำเสียงนุ่มนวลว่า “เพราะว่ามาตรฐานของป้าสูงขึ้นทุกปี”
โอ้โฮ… นาทีนั้นฉันรู้สึกว่าเป็นคำตอบที่สุดยอดที่สุด คุณป้าสุภัทรคือผู้หนึ่งที่รักษาน้ำใจคนทุกคนได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่เว้นแม้แต่ ‘เด็กเมื่อวานซืน’ อย่างฉัน คำตอบของท่านทำให้ฉันมีกำลังใจทำงานมากยิ่งๆ ขึ้น และขวนขวายที่จะพัฒนาตัวเองต่อไป
และฉันก็ได้พบว่ามาตรฐานของผู้เป็นมืออาชีพจริงๆ นั้น ส่งผลให้เราเกิดไฟในการทำงาน สนุกกับการฝึกปรือฝีมือ งานรายสัปดาห์เป็นงานที่หนัก เพราะต้องทำงานแข่งกับเวลาทุกวันทุกสัปดาห์ แต่เมื่อได้ทำงานอยู่กับบรรณาธิการมืออาชีพเฉกเช่นคุณป้า งานหนักก็จริง แต่ไม่เหนื่อย
ฉันเฝ้ามองจริยวัตรของคุณป้าในที่ทำงาน พูดได้ว่าท่านเป็นหัวหน้างานที่ทำงานหนักกว่าลูกน้อง
หลายครั้งฉันได้ยินคุณป้าตอบปฏิเสธไปตามสายโทรศัพท์ เพราะว่าหากเมื่อไรที่ท่านยังติดพันการอ่านรีไรต์ต้นฉบับ ท่านก็จะยกเลิกไม่ออกงานสังคมข้างนอก
พอวางสาย ท่านก็หันมาบอกว่า
“ป้าเนี่ยเสียหมดแล้ว รับปากเขาว่าจะไปงาน แล้วไม่ได้ไป”
นี่คือต้นแบบที่ทำให้ฉันเห็นถึงสปิริตความเป็นมืออาชีพ ท่านไม่เคยทิ้งงาน
จำได้ว่า ครั้งหนึ่งฉันลางานด้วยสาเหตุโรคประจำตัว ตอนบ่ายแก่ๆ อาการทุเลามากแล้ว เสียงโทรศัพท์บ้านดังขึ้น ฉันเป็นผู้รับเอง เสียงคุณป้าสุภัทรดังมาตามสาย ท่านโทรมาเพื่อมอบหมายงานในวันพรุ่งนี้ให้ฉันขึ้นเชียงใหม่ ไปยังตำบลท่าตอน เพื่อทำสกู๊ปเกี่ยวกับมะม่วงมหาชนก ในพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยการบินไทยเป็นผู้ดูแลคณะสื่อมวลชนตลอดทริป
ก่อนจะวางหู คุณป้าเตือนว่า “หนูอย่าลืมเอายาไปด้วยนะคะ”
หัวใจสะออนของฉันเต็มตื้นขึ้นมาทันที อาการราวกับนักมวยเต้นฟุตเวิร์กพร้อมจะขึ้นชก
……………………………………………………………………………………….
มาตรฐานมืออาชีพของคุณป้าอีกอย่างหนึ่งที่ฉันจำได้ คือทุกต้นปี ท่านร่างเอกสารแผนงาน สกุลไทย ระยะยาวตลอดปีนั้น เสนอแด่คุณประยูร ส่งเสริมสวัสดิ์ (ผู้ก่อตั้งและเจ้าของนิตยสาร สกุลไทย) นอกจากนั้น ท่านยังร่างเอกสารแผนงาน สกุลไทย ระยะสั้น เสนอแด่คุณประยูรทุกๆ สามเดือนเช่นกัน
แน่นอนว่าในแผนงานนั้น ย่อมเน้นหนักที่ ‘นวนิยาย’ เนื่องจากนวนิยาย คือเสาเอกของ สกุลไทย แต่ก็มิใช่ว่าท่านจะละเลยเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่นวนิยาย คุณป้าสุภัทรเป็นบรรณาธิการที่ให้ความสำคัญแก่ทุกเรื่องทุกหน้าใน สกุลไทย
และทุกสัปดาห์ คุณป้าประชุมงานร่วมกับกองบรรณาธิการไม่เคยขาด
ก่อนหน้าที่ฉันจะเข้ามาทำงานที่นี่ ทราบว่า สกุลไทย เคยสร้างปรากฏการณ์นักเขียน ‘สามทหารเสือ’ ให้เป็นที่โจษขานอย่างกว้างขวางในหมู่นักอ่านและวงวรรณกรรมไทยมาแล้ว
‘สามทหารเสือ’ ในเวลานั้น ได้แก่นาม ศรีฟ้า ลดาวัลย์, กฤษณา อโศกสิน, และทมยันตี ทั้งสามท่านยังคงเป็น ‘บิ๊กเนม’ บนถนนสายวรรณกรรมตราบเท่าทุกวันนี้
ศรีฟ้า ลดาวัลย์, กฤษณา อโศกสิน, และ ทมยันตี
นักเขียนนวนิยาย ‘สามทหารเสือ’ ของสกุลไทยในสมัยนั้น
ช่วงสิบปีสุดท้ายของชีวิตการทำงานของคุณป้าสุภัทร ท่านก็ได้สร้างปรากฏการณ์ ‘สามทหารเสือ’ ขึ้นอีกครั้ง
นับจากวันนั้น กระทั่งตลอดยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา ‘สามทหารเสือ’ รุ่นหลัง ได้พิสูจน์ฝีไม้ลายมือทางการประพันธ์ให้เป็นที่ประจักษ์ อีกทั้งผงาดอยู่บนถนนสายวรรณกรรมอย่างทระนงองอาจ ถือว่าเป็น ‘บิ๊กเนม’ รุ่นน้องต่อจาก ‘บิ๊กเนม’ รุ่นพี่ก็ว่าได้
‘สามทหารเสือ’ ที่กล่าว ได้แก่นาม ปิยะพร ศักดิ์เกษม, กิ่งฉัตร และ พงศกร
เมื่ออดีต ในยุคที่ยังมีการพูดถึงนวนิยายตลาดบน – ตลาดล่าง (แต่ปัจจุบันไม่มีการแบ่งแยกอย่างนั้นแล้ว) วันหนึ่ง คุณป้าสุภัทรเมตตากรุณาสอนฉันเกี่ยวกับเรื่องนวนิยาย ฉันจึงถือโอกาสถามท่านเป็นความรู้ว่า
“เรามีหลักเกณฑ์ดูอย่างไรคะ ว่างานไหนคือตลาดบน ตลาดล่าง”
“วรรณศิลป์” คุณป้าตอบเป็นคำแรก ก่อนจะขยายความต่อ โดยท่านบอกว่า พล็อตนิยายกว่าร้อยกว่าพันพล็อตที่นักเขียนใช้กันมา ไม่อาจแบ่งได้หรอกว่า พล็อตไหนตลาดบน พล็อตไหนตลาดล่าง แต่สิ่งที่ตัดสินคือวรรณศิลป์
ท่านยังได้ยกตัวอย่าง วรรณศิลป์ในนวนิยายของ ‘ปิยะพร ศักดิ์เกษม’ วันนั้นคุณป้าให้การการันตี “ป้ามองว่าฝีมือเอียดไปได้ไกลระดับกฤษณา อโศกสิน” ขณะที่ท่านพูดดวงตาท่านเป็นประกาย
“ ‘วรรณศิลป์’ คุณป้าตอบเป็นคำแรก ก่อนจะขยายความต่อ โดยท่านบอกว่า พล็อตนิยายกว่าร้อยกว่าพันพล็อตที่นักเขียนใช้กันมา ไม่อาจแบ่งได้หรอกว่า พล็อตไหนตลาดบน พล็อตไหนตลาดล่าง แต่สิ่งที่ตัดสิน คือวรรณศิลป์”
ต่อมา ท่านกล่าวถึงงานของ ‘กิ่งฉัตร’ ท่านอธิบายเกี่ยวกับพล็อตของกิ่งฉัตรอย่างตกผลึกมาแล้ว (ผู้เขียนขออภัยที่จำรายละเอียดตรงนี้ไม่ได้หมด หากถ่ายทอดออกไป เกรงจะผิดพลาด) เสร็จแล้วท่านก็บอกว่า “กิ่งฉัตรมีวรรณศิลป์ดี ป้าถึงเอาลง สกุลไทย” เสราดารัล เป็นเรื่องแรกที่ได้ตีพิมพ์ลง สกุลไทย ดังเกรียวกราวมาก
ส่วนงานของคุณหมอ ‘พงศกร’ มีโอกาสผ่านสายตาคุณป้าสุภัทรสามเรื่อง ฉันยังจำได้ดี กล่าวคือ เบื้องบรรพ์, ฤดูดาว และ สาวหลงยุค
ตอนลงเรื่อง ฤดูดาว ใน สกุลไทย กระแสตอบรับจากผู้อ่านดีมากๆๆๆ ทั้งที่เวลานั้นยังถือว่าเป็นนักเขียนดาวรุ่งดวงใหม่
กระทั่ง เรื่องต่อมา กลิ่นการเวก คุณป้าสุภัทรให้ความไว้วางใจ ให้คุณหมอพงศกรลงต่อเลย แต่น่าเสียดายที่ท่านเริ่มต้องรักษาอาการป่วยในระยะขั้นต้น คุณวราภรณ์ ส่งเสริมสวัสดิ์ จึงเป็นผู้ดูแลงานเรื่องนี้ของคุณหมอพงศกรแทนคุณป้า
หมายเหตุระหว่างบรรทัดที่ฉันอยากบันทึกไว้ : วันที่ ‘กิ่งฉัตร’ เตรียมจะเขียนเรื่อง เสราดารัล เธออายุเพียงยี่สิบต้นๆ ไฟฝันลุกโชนมาก เธอบอกกับเพื่อนๆ กลุ่มสตรีวิทยาว่า จะขึ้นเชียงใหม่ไปหาข้อมูลเพียงลำพังเป็นเวลานานหลายวัน เพื่อน ๆ พร้อมใจกันร้อง
“ฮ้า เธอจะขึ้นไปคนเดียวจริงๆ เหรอ”
(ท่านผู้อ่านโปรดนึกภาพตาม) กิ่งฉัตรในวัยยี่สิบต้นๆ ยิ้มเอียงอาย และพยักหน้าน้อยๆ เป็นคำตอบ
……………………………………………………………
ย้อนเวลากลับไปเกือบยี่สิบปีก่อน คุณป้าสุภัทรแจกการบ้านให้ไปอ่านต้นฉบับนวนิยายขนาดสั้นเรื่อง หนี ของ แขคำ ปัณณะศักดิ์
จากนั้นคุณป้าเชิญคุณวราภรณ์ ส่งเสริมสวัสดิ์, คุณพิชามญช์ ชัยดรุณ และฉัน ร่วมนั่งพูดคุยกันที่หน้าโต๊ะอันทรงเกียรติของท่าน เพื่อถามความเห็นเกี่ยวกับนวนิยายเรื่อง หนี
ต้นฉบับเล่มบางๆ ก็จริง แต่พลังของเรื่องไม่บางเหมือนจำนวนหน้า
ฉันได้แสดงความคิดเห็นต่อคุณป้าในลักษณะว่า
“นี่คือเรื่องจริงในสังคม ความจริงคือความจริง ถึงแม้เป็นด้านมืด…”
เวลานั้นฉันกลับเห็นว่าดี หากนำลง สกุลไทย เพราะหวังผลว่าต้องมีกระแสตีกลับจากผู้อ่าน ไม่ว่าก้อนอิฐหรือดอกไม้ แต่คุณป้าสุภัทรท่านคงห่วงว่าจะเป็นก้อนอิฐเสียมากกว่า
ฉันก็ตอบเอาสะใจ “ดีค่ะคุณป้า จะได้เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ เราหนีความจริงไม่พ้น…”
เอิ่ม… ถ้าเป็นยุคนี้ คงต้องบรรยายต่อว่าคุณสุภัทรกลอกตา มองบน คือท่านรู้อยู่แล้วว่ามันเป็นเรื่องจริงสะท้อนด้านมืดของมนุษย์ แต่ที่ท่านเรียกหารือ เพราะต้องการระดมความเห็นว่าเรื่องทำนองนี้ควรลง สกุลไทย หรือไม่ และถ้าลงไปแล้ว จะมีปฏิกิริยาจากผู้อ่านอย่างไร
ในที่สุด คุณป้าก็เป็นผู้ตัดสินใจนำลง โดยขอให้ผู้เขียนปรับเนื้อเรื่องจากพ่อแท้ๆ ข่มขืนลูกสาวเยาว์วัยของตัวเอง ให้เป็นพ่อเลี้ยงแทน เพื่อลดความเสียดทานจากผู้อ่าน
ความจริง หนี ไม่ใช่นวนิยายในแนวของสกุลไทย แต่วรรณศิลป์ของแขคำ ปัณณะศักดิ์ มีความโดดเด่นด้านชั้นเชิงความคิด ตัวหนังสือของคุณแขคำสะเทือนอารมณ์ กระทบจิตกระทบใจ ประหนึ่ง แทงข้างหลังทะลุถึงหัวใจ (ขออนุญาตยืมชื่อเพลงของคุณอ๊อฟ ปองศักดิ์ มาใช้) เรียกว่าเป็นงานแนวกระตุ้นกระแสสำนึก
หลังจากนั้นอีกหลายเดือน เรื่อง หนี ก็ได้ปรากฏโฉมบนหน้า สกุลไทย มีกระแสสะท้อนกลับจากผู้อ่านในด้านดีมากกว่าลบ
วิสัยทัศน์ของคุณป้าล้ำเลิศนัก งานนวนิยายของแขคำ ปัณณะศักดิ์ เรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่อง ก็ได้ตีพิมพ์เป็นตอนๆ ใน สกุลไทย เรื่อยมา และเขายังได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนมือรางวัลระดับชาติในเวลาต่อมา
อีกท่านหนึ่งที่ฉันจำได้ ‘เขมชาติ’ อาชีพหลักของเขาเป็นวิศวกร อยู่ภาคอีสาน แต่มีใจรักด้านการเขียน – การอ่าน
ฉันไม่ทราบที่มาที่ไปว่าเขารู้จักกับคุณป้าสุภัทรได้อย่างไร หรืออาจจะส่งเรื่องเข้ามาให้พิจารณา ฉันเคยสัมภาษณ์คุณเขมชาติอยู่ครั้งหนึ่ง เขาเล่าว่าคุณสุภัทรเป็นผู้แนะนำให้เขาเขียนวรรณกรรมเยาวชนชุด ‘เพื่อนรักริมโขง’ และต่อมาเรื่องนี้ได้รับรางวัลแว่นแก้ว และรางวัลระดับชาติอีกด้วย
ฉันรู้สึกทึ่งในสายตามองไกลของคุณป้า ไม่รู้ว่าท่านมีตาที่สามหรืออย่างไรจึงมองทะลุเห็นว่าเขาเหล่านี้ คือ ‘เพชรแท้’ แห่งวงวรรณกรรม ท่านจึง ‘ส่ง’ ให้เจิดจรัสอยู่บนฟากฟ้าตั้งแต่วันนั้นที่ท่านค้นพบ
ไม่ว่าแขคำ ปัณณะศักดิ์ และเขมชาติ คือนักเขียนหนุ่มมือรางวัล สองคนสุดท้ายที่ผ่านสายตาอันแหลมคมของคุณป้า หรือหากไล่เรียงนักเขียน สกุลไทย ขึ้นไปถึงรุ่นพี่ รุ่นบิ๊ก รุ่นเดอะ รุ่นครู รุ่นปูฯ รุ่นอภิมหาปูฯ ล้วนแล้วได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็น ‘ศิลปินแห่งชาติ’ เกือบแทบทั้งสิ้น!
ขอปูผ้ากราบจากหัวใจ….
ฉันเคยตั้งคำถามกับคุณป้าสุภัทรในเรื่อง ‘ตาที่สาม’ ของท่าน
นอกจากท่านกรุณาถ่ายทอดความรู้ด้านการประเมินนวนิยายแล้ว ข้อสุดท้าย ท่านบอกว่า ให้หยั่งความมุ่งมั่นของนักเขียนด้วยว่าเขาต้องการเดินบนถนนวรรณกรรมจริงหรือไม่ หรืออยากเข้ามาโลดแล่นเพียงแค่ระยะสั้นๆ
และสุดท้ายของทั้งหมด ท่านสอนว่าเรามีหน้าที่จุดไฟให้นักเขียน แต่ไม่ใช่จับมือเขาเขียน ขณะเดียวกันถ้าเราเป็นนักเขียน ก็อย่าให้ใครมาจับมือเราเขียนได้
* หมายเหตุ :
- แขคำ ปัณณะศักดิ์ เป็นนามปากกาของ ทัศนัย ไชยพันธ์ นักเขียนหนุ่มชาวเชียงใหม่
- คุณวราภรณ์ ส่งเสริมสวัสดิ์ เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ นิตยสาร สกุลไทย ในเวลานั้น
- คุณพิชามญช์ ชัยดรุณ กองบรรณาธิการสกุลไทยในเวลานั้น
** ขอบพระคุณ :
- คุณนรีภพ สวัสดิรักษ์ เอื้อเฟื้อภาพถ่ายคุณป้าสุภัทร สวัสดิรักษ์
- ภาพศรีฟ้า ลดาวัลย์ (หม่อมหลวงศรีฟ้า มหาวรรณ) และภาพกฤษณา อโศกสิน (สุกัญญา ชลศึกษ์) จาก https://th.wikipedia.org/
- ภาพทมยันตี (คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์) จาก http://oknation.nationtv.tv/blog/home/blog_data/59/5059/images/Image.jpg