จากฟ้ามาเล่า ตอนที่ 1 ‘จากบ้านนอกสู่ท้องฟ้า’

จากฟ้ามาเล่า ตอนที่ 1 ‘จากบ้านนอกสู่ท้องฟ้า’

โดย : UFO

Loading

“อยากเป็นนักบินหรืออยากประกอบอาชีพนักบิน?”

ฉันมักเริ่มต้นถามประโยคนี้กับน้องๆ หรือผู้ปกครองที่เข้ามาพูดคุยเรื่องนักบินอยู่เสมอเพราะการเป็นนักบินกับการประกอบอาชีพนักบินนั้นมันแตกต่างกันอยู่หลายอย่าง ซึ่งฉันขอสรุปให้พอเห็นภาพคร่าวๆ ก่อนว่า “นักบินคือคนที่มีใบอนุญาตนักบิน (ขับเครื่องบินได้) – อาชีพนักบินคือคนทำงานรับเงินจากการขับเครื่องบิน”

ซึ่ง ‘ถ้าใครอยากเป็นนักบิน’ สามารถทำได้ด้วยการเรียนหลักสูตรนักบินจนได้ใบอนุญาตนักบินแบบต่างๆ เช่น นักบินอากาศยานเบาพิเศษ (Ultralight pilot license) ที่มีค่าเรียนหลักหมื่น, นักบินส่วนตัว (Private pilot license) ที่มีค่าเรียนหลักแสน, นักบินพาณิชย์ตรี (Commercial pilot license) ที่มีค่าเรียนหลักล้าน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นหลักสูตรที่แยกออกไปคล้ายการเรียนขับรถ ผู้สนใจสามารถเริ่มต้นได้ด้วยการติดต่อไปยัง ‘โรงเรียนการบิน’ ที่มีอยู่หลายที่ทั้งในไทยและต่างประเทศ เมื่อได้ใบอนุญาตนักบินฯ แล้วก็จะสามารถขับเครื่องบินให้กับตัวเองตามประเภทเครื่องบินหรือศักย์การบินของตนได้ แต่ยังไม่สามารถทำเงินจากการขับเครื่องบิน

‘ถ้าอยากประกอบอาชีพนักบิน’ มีสองสิ่งเพิ่มขึ้นมาจากการเป็นนักบินคือต้องมีใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เป็นต้นไป และมีต้นสังกัดจ่ายเงินให้กับการขับเครื่องบิน ซึ่งการต้องมีต้นสังกัดนี้เป็นทั้งเรื่องยาก (มีข้อจำกัดมากกว่าการเป็นนักบิน + มีความต้องการจำนวนจำกัด) และเรื่องง่าย (บางสายการบินมีเงินทุนให้คนที่ไม่มีเงินทุน)

 

เปรียบเทียบ นักบิน-vs-หมอ ให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น

หมอเป็นชื่อเล่นของผู้ทำงานในวงการแพทย์ที่มีความหลากหลาย เช่น หมอ, หมอฟัน, หมออนามัย, ฯลฯ ฉันใด – นักบินก็เป็นชื่อเล่นของผู้ขับเครื่องบินได้ฉันนั้น ในวงการแพทย์ แพทย์ (เวชกรรม) กับทันตแพทย์เป็นคนละอาชีพที่ใช้ใบประกอบต่างกันยังไง – ในวงการบินนักบินเครื่องบินเจ็ทกับนักบินเฮลิคอปเตอร์ก็เป็นคนละอาชีพและใช้ใบอนุญาตนักบินต่างกันอย่างนั้น

ในวงการบิน… นักบินส่วนตัว เหมือนผู้จบหลักสูตรปฐมพยาบาลมาแล้วดูแลรักษาตัวเองได้

…นักบินพาณิชย์ เหมือนแพทย์ทั่วไป (General physician) ที่มีขีดจำกัดในการทำงาน (เครื่องบินลำเล็ก)

ในวงการแพทย์มีแพทย์เฉพาะทาง ในวงการบินก็มี… นักบินเฉพาะทาง การทำงานนักบินในบางที่ เช่น สายการบินที่ใช้เครื่องบินลำใหญ่อย่างที่หลายคนคุ้นเคยกัน เช่น Airbus 320, Boeing 737 ฯลฯ จะต้องเป็นนักบินพาณิชย์เฉพาะเครื่อง (type rating) ที่เป็นเหมือนแพทย์เฉพาะทางซึ่งเป็นขั้นตอนที่ได้มายากที่สุดเหมือนกัน

เพราะความหลากหลายตรงนี้นี่เองที่ทำให้ฉันมักเริ่มต้นด้วยคำถาม “อยากเป็นนักบินหรืออยากประกอบอาชีพนักบิน?” อยู่เสมอ ด้วยตัวฉันเองนั้นเป็นผู้เข้ามาในเส้นทางนี้ด้วยการสอบแบบนักบินทุนสายการบิน ไม่ได้รู้รายละเอียดทุกอย่างในจักรวาลนักบิน ถ้าผู้ใดสนใจในเรื่องราวของนักบินสายการบินเราก็อาจไปต่อกันได้แต่ถ้าใครสนใจเฉพาะในเส้นทางอื่น เช่น นักบินกองทัพ (บก/เรือ/อากาศ/ตำรวจ) ฯลฯ ฉันอยากแจ้งก่อนว่าฉันไม่ได้มาทางนี้ หากมีเวลาจำกัดคุณผ่านบทความของฉันไปสืบค้นข้อมูลจากแหล่งข้อมูลอื่นเลยอาจจะดีกว่า

 

การประกอบอาชีพนักบินในส่วนของสายการบิน

ในตอนเริ่มแรกนักบินสายการบินส่วนใหญ่จะเป็นนักบินจากกองทัพ (บก/เรือ/อากาศ/ตำรวจ) ที่ย้ายมาทำงานกับสายการบิน กระทั่งอุตสาหกรรมการบินเปิดกว้างมากขึ้น ประกอบกับนักบินของทางกองทัพในยุคหลังๆ ไม่ได้ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ การเป็นนักบินสายการบินในยุคหลังๆ มานี้จึงมีเส้นทางหลัก 2 แบบ คือ 1. แบบ Qualified Pilot (QP) ที่ผู้สมัครต้องเป็นนักบินพาณิชย์มาก่อนกับ 2.แบบ Student Pilot (SP) ที่ผู้สนใจสามารถสอบได้หลังเรียนจบปริญญาตรีโดยไม่ต้องเป็นนักบินมาก่อน” ซึ่ง 2 รูปแบบนี้มีความยากง่ายต่างกัน

การสอบนักบินสายการบินแบบ SP นั้นมีข้อจำกัดมากกว่า เช่น ในตอนที่ฉันอยู่ในกระบวนการสอบนั้นมีข้อจำกัดทางด้านอายุไม่เกิน 28 ปี หรือ 30 ปี (แล้วแต่สายการบิน) บางสายการบินเปิดรับทุกเพศ บางสายการบินรับเฉพาะผู้ชาย บางสายการบินกำหนดส่วนสูงขั้นต่ำที่ 163 เซนติเมตร บางสายการบินกำหนดส่วนสูงขั้นต่ำที่ 165 เซนติเมตร บางสายการบินกำหนดเกรดเฉลี่ยขั้นต่ำตอนจบปริญญาตรีที่ 2.5 บางสายการบินไม่กำหนดเกรดเฉลี่ยขั้นต่ำ สามารถสายตาสั้นได้ไม่เกิน -3.00 ไดออปเตอร์ หากจะทำการผ่าตัดแก้ไขสายตาด้วยวิธีใดๆ ผู้นั้นต้องมีค่าสายตาก่อนทำไม่เกิน -3.00 ไดออปเตอร์และต้องทำมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ต้องสอบ Medical Class 1 ด้วยเกณฑ์การสอบที่เข้มงวดกว่าเกณฑ์กลางและมีเพียงไม่กี่สายการบินเท่านั้นที่มีการสอบนักบินแบบ SP “เมื่อรวบข้อจำกัดต่าง ๆ ปีที่ฉันสอบนั้น เพศหญิงสามารถสอบแบบ SP ได้ 2 สายการบินในตอนที่มีอายุไม่เกิน 28 ปี”

ที่ผ่านมา… การสอบนักบินสายการบินแบบ Student Pilot ที่มีข้อจำกัดในเรื่องคุณสมบัติของผู้สอบมากกว่าและมีจำนวนสนามสอบน้อยกว่าแบบ Qualified Pilot มักเป็นที่สนใจของใครหลายคนในประเด็นที่ผู้ผ่านการสอบเข้าแบบ SP จะได้สังกัดสายการบินซึ่งจะได้รับเงินเดือน สิทธิ์สวัสดิการต่างๆ ตั้งแต่ผ่านการสอบไปได้อีกทั้งยังอาจไม่ต้องจ่ายค่าเรียน CPL หลายล้านบาทนั้นเลย/บางที่มีเงินทุนกู้ยืมให้ (แล้วแต่นโยบายสายการบิน) ต่างจากผู้สอบแบบ QP ที่ต้องใช้เวลาเรียนหลักสูตรนักบินพาณิชย์ซึ่งมีค่าเรียนประมาณ 2 ล้านบาทก่อนประมาณ 1 ปี-1 ปีครึ่ง โดยไม่รู้ว่าเมื่อลงทุนเรียนไปแล้วจะมีสายการบินเปิดสอบ QP ให้ตนสมัครสอบได้เมื่อไหร่

แต่การสอบนักบินแบบ QP ก็มีดีที่มีข้อจำกัดน้อยกว่า เช่น มีการรับสมัครนักบินแบบนี้ทุกสายการบิน เปิดกว้างเรื่องอายุมากกว่า บางสายการบินรับสมัคร* QP (200) (*ยังไม่มี type rating เฉพาะเครื่อง) จนถึงอายุ 45ปี โดยทั่วไปการสอบเข้าสายการบินแบบ QP นี้จะยากที่สุดในตอนที่ยังไม่มี type rating หรือที่เรียกว่า QP (200) ช่วงที่มีข่าวนักบินขาดแคลนทั้งๆ ที่มีนักบินว่างงานอยู่นั้นคือการขาดแคลนผู้มี type rating ไม่ใช่นักบินทุกแบบ

การสอบนักบินทุนสายการบิน Student Pilot ที่ฉันเคยสอบมามีภาพรวมภาพสอบ 3 รอบคร่าว ๆ (ที่แต่ละรอบอาจแบ่งสอบย่อยอีก 1-3 ครั้ง) คือ 1. การสอบรอบข้อเขียนเพื่อคัดผู้สมัครสอบจำนวนมากนับพันคนให้เหลือน้อยลงด้วยการวัดความรู้ทางด้านวิชาการ เช่น ข้อสอบความถนัด (IQ) ข้อสอบวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ภาษาอังกฤษ ฯลฯ 2. การสอบรอบกัปตัน เพื่อนำผู้สมัครที่ผ่านการคัดกรองทางด้านวิชาการมาแล้วมาทดสอบว่าแต่ละคนเหมาะสมกับการเป็นนักบินของสายการบินนั้น ๆ หรือไม่ 3. การสอบรอบ Medical Class 1 ที่ผู้จะเป็นนักบินทุกคนจะต้องผ่านการสอบรอบนี้ (ฉันจะกล่าวถึงการสอบทั้ง 3 รอบนี้ละเอียดมากขึ้นในบทความต่อไป)

โดยที่การสอบนักบินทุนสายการบินแบบ SP นี้ขึ้นกับการออกแบบของสายการบิน แต่ละครั้งที่มีการเปิดสอบตัวข้อสอบหรือแม้กระทั่งข้อจำกัด (คุณสมบัติ) ที่ฉันกล่าวมานั้นอาจแตกต่างกัน การสอบที่ฉันผ่านมาในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งการันตีว่าอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นจะเป็นแบบนั้น ดังที่การสอบนักบินทุนสายการบินในยุคหลังๆ มาเริ่มมีจำนวนสายการบินเปิดสอบมากขึ้น มีการขยายข้อจำกัดอายุมากกว่า 30 ปี หรือบางที่ก็ยังไม่ให้ผู้ผ่านการคัดเลือกเซ็นต์สัญญาเป็นพนักงานสายการบินทันทีที่ผ่านการสอบ และสำหรับบางที่ผู้ผ่านการสอบก็อาจจะต้องดำเนินการเรื่องค่าเรียนหลักสูตรนักบินพาณิชย์ที่มีค่าใช้จ่ายประมาณสองล้านบาทเองโดยไม่มีเงินทุนให้

“เวลาเปลี่ยน สิ่งใดๆ แปรเปลี่ยน” กว่าสิบปีนับตั้งแต่วันแรกที่ฉันออกจากอาชีพเดิมมาประกอบอาชีพนักบินหลายสิ่งเปลี่ยนแปลงไป ในวันที่ฉันตัดสินใจสอบนักบินทุนสายการบินนั้นข้อมูลต่างๆ มันหายากมาก การเดินทางในเส้นทางนี้ของฉันเหมือนการเดินทางโดยลำพังในคืนเดือนมืดที่มีเพียงแสงดาวรำไรส่องสว่าง ฉันต้องคลำทาง เดินทางจากบ้านเกิดที่อยู่ในท้องนาซึ่งมีป่ารายล้อมลัดเลาะมาตามถนนลูกรังโดยไม่รู้ว่าทางขึ้นฟ้านั้นอยู่ตรงไหน บ้านฉันไม่เคยนั่งเครื่องบิน ไม่รู้ว่าผู้หญิงเป็นนักบินได้ ไม่รู้ว่ามีช่องทางใดเอื้อให้ลูกหลานเกษตรกรมาขับเครื่องบินเป็นอาชีพ ไม่รู้ว่าคนใส่แว่นเป็นนักบินอาชีพได้ ไม่รู้… “เพราะการเดินทางของฉันมันเป็นแบบนั้น เพราะฉันเคยตั้งคำถามว่าทำไมเส้นทางนี้มันถึงได้ลึกลับราวกับแดนสนธยา ฉันเคยคิดฝันอยากให้มีใครสักคนที่อยู่ตรงนั้นบอกเล่าถึงมัน” เมื่อฉันได้เป็นคนคนนั้นฉันจึงทำในสิ่งที่เคยอยากให้มีคนทำและได้ทำมันมากว่าสิบปีกระทั่งตอนนี้ (ปี ค.ศ. 2024) กำลังมีการปรับเปลี่ยนบางอย่างในเส้นทางอาชีพนักบินอีกรอบ ฉันที่อยู่ให้คำแนะนำน้องๆ มานานคิดว่ามันใกล้ถึงวาระที่ฉันจะยุติสิ่งที่ทำมา แต่ก่อนไปฉันใคร่จะทิ้งสิ่งสุดท้ายคือการบอกเล่าการเดินทาง ‘จากบ้านนอกสู่ท้องฟ้า’ ในซีรีส์ ‘จากฟ้ามาเล่า’ เป็นบทความเอาไว้ เผื่อถ้ามีใครต้องการมันมาพบเจอจะได้ใช้มันเป็นแสงรำไรนำทาง หรือไม่ก็อ่านมันเป็นเรื่องเล่าอ่านคลอเคล้ายามจิบน้ำชา

สุดท้าย… ใครที่สนใจในการเดินทางเที่ยวบินนี้ เชิญรับตั๋วเดินทาง แล้วไปเจอกันที่เกท ‘บทความถัดไป’ พร้อมกับชักชวนเพื่อนที่มีความสนใจเดียวกันนี้มาร่วมทางด้วยกันได้เลย… ‘Ready for departure’

Don`t copy text!