เปิดหู เปิดตา เปิดใจ ในศรีลังกา ตอนที่ 3 : จากทะเล สู่ ขุนเขา

เปิดหู เปิดตา เปิดใจ ในศรีลังกา ตอนที่ 3 : จากทะเล สู่ ขุนเขา

โดย : อรรถรัตน์ จันทรวรินทร์

Loading

ไม่ได้มีแค่ นิยายออนไลน์ ให้อ่าน ที่ อ่านเอา  แต่เรายังมีบทความอ่านเอาสบายอีกเพียบ อย่างซีรี่ย์สารคดีท่องเที่ยวศรีลังกาจากมุมมองของตุ๊กตาบันนี่กระต่ายน้อยชุดนี้ โดย อรรถรัตน์ จันทรวรินทร์ ให้ได้ อ่านออนไลน์กันเพลินๆ 

——————————————————

 

อากาศยามเช้าที่โฮเต็ล สิคิรียา ซึ่งพวกเราพักอยู่นี้ช่างสดใสเสียนี่กระไร ไม่น่าเชื่อว่าเวลาเดียวกันของเมื่อวานนี้ผมยังเดินทอดน่องอ้วนๆ ไปตามชายหาดของเมืองโคลอมโบอยู่เลย เผลอแป๊บเดียวมาโผล่อยู่กลางป่ากลางเขาที่ถูกโอบล้อมด้วยต้นไม้สูงใหญ่เหล่านี้เสียแล้ว

“เพ้อเจ้ออะไรอยู่อีกเล่า รีบเปลี่ยนเสื้อผ้าเร็วเข้า เดี๋ยวเราจะออกไปกินอาหารเช้า แล้วจะได้เช็กเอาต์ไปที่อื่นต่อ” พี่กรู๊ฟส่งเสียงล้งเล้งมาจากห้องน้ำตามประสาคนขี้บ่น ถึงพี่กรู๊ฟไม่บอก ผมก็ไม่รอช้าอยู่แล้ว มีเรื่องของกินมาเป็นตัวล่อแบบนี้ แต่เอ… กระต่ายอย่างผมมีเสื้อผ้าให้เปลี่ยนด้วยเหรอฮะ ตอนมาก็มาตัวเปล่านี่นา

อาหารเช้าที่โฮเต็ล สิคิรียานั้นก็ไม่ต่างกับอาหารเช้าของโรงแรมอื่นๆ แต่ว่าวันนี้ผมโชคดีที่เขาเสิร์ฟโรตีด้วย มาถึงถิ่นเมืองแขกทั้งที ถ้าไม่ได้กินโรตีกับเขาสักแผ่น ก็เหมือนว่ามาไม่ถึงใช่ไหมละฮะ

หลังจากเพลิดเพลินกับโรตีแผ่นโตๆ (ไปหลายแผ่น) พี่กรู๊ฟและพี่โอ๊ตก็ออกไปถ่ายรูปเก็บความสวยงามของโรงแรมนี้กันยกใหญ่ ผมเพิ่งจะสังเกตว่าถ้ามองจากสระว่ายน้ำของโรงแรม สามารถเห็นสิคิรียาที่เราเพิ่งไปปีนป่ายมาเมื่อวานได้ด้วย แถมวิวยังสวยมากอีกต่างหาก ดังนั้น ผมจึงไม่ยอมให้เสียเวลา รีบจัดการโรตีแผ่นสุดท้ายตรงหน้า แล้วกระโดดดึ๋งๆ ออกไปถ่ายรูปกับพวกพี่ๆ เขาด้วย

อ้อ… ผมลืมบอกไป ผมสังเกตมา 2 วันแล้วว่าที่ศรีลังกานั้นให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติมากๆ โดยเฉพาะที่โรงแรมแห่งนี้ ผมเห็นมีกระรอกตัวน้อยๆ และลิงแสนซนหลายสิบตัว วิ่งเล่นกันอย่างอิสระเสรี โดยที่ไม่มีพนักงานคนไหนมาคอยขับไล่พวกเขาด้วยนะฮะ น่าเสียดายที่ผมพูดภาษาลิงและภาษากระรอกไม่เป็น ผมเลยไม่มีโอกาสได้คุยกับพวกเขาสักกะคำเดียว

 

จากสิคิรียา สู่ โปลอนนารูว่า

ระยะทางจากสิคิรียาสู่โปลอนนารูว่า จุดหมายปลายทางต่อไปของพวกเรานั้นใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง หลังจากกล่าวทักทายเป็นภาษาท้องถิ่นว่า “อายุบวร” (Ayubowan) กับคุณลุงมหินทร์คนขับรถของเราเรียบร้อย ผมก็รีบกระโดดขึ้นไปนั่งประจำที่ เพื่อเตรียมตัวออกเดินทาง แต่เอ๊ะ… สองหนุ่มพี่น้องทำไมยังไม่ยอมออกมาสักที ว่าแล้วผมจึงกระโดดกลับลงไปจากรถ แล้ววิ่งด้วยความเร็วเต็มกำลังซึ่งขาสั้นๆ ป้อมๆ ของผมจะทำได้

เมื่อกลับไปถึงบริเวณต้อนรับของโรงแรม ผมเห็นพี่โอ๊ตกำลังลงมือเขียนโปสต์การ์ดหาตัวเอง เหมือนกับทุกครั้งที่เดินทางไปเที่ยวที่อื่นๆ ส่วนพี่กรู๊ฟนั้นก็กำลังขะมักเขม้นอยู่กับการเรียนภาษาสิงหลิส (Sinhalese) คำที่สอง เพราะพยายามจะขอบคุณพวกพี่ๆ พนักงานของโรงแรม ที่ให้การดูแลพวกเราเป็นอย่างดีว่า “ไอสทูทิ” (Istuti)

และหลังจากกล่าวร่ำลากันเป็นรอบที่สิบ ในที่สุดก็ถึงเวลาที่พวกเราจะออกเดินทางกันจริงๆ เสียที คราวนี้คุณลุงมหินทร์บอกว่า จะพาพวกเราขับรถผ่านไปยังอุทยานแห่งชาติซึ่งเต็มไปด้วยต้นไม้และสัตว์ป่านานาพรรณ และถ้าโชคดี เราอาจได้เห็นช้างป่าโขลงใหญ่ๆ ด้วยก็เป็นได้ แต่คุณลุงบอกว่าอย่าคาดหวังมากนัก เพราะเมื่อวันก่อนฝนเพิ่งจะตก ช้างป่าเหล่านั้นอาจจะไม่มีความจำเป็นต้องออกมาดื่มน้ำหรอกนะ

ว้า… ผมได้ยินแบบนั้นเลยเกิดความเซ็งในอารมณ์ กระต่ายเมืองกรุงอย่างผมไม่ได้อยากดูต้นไม้ใบหญ้าสักเท่าไรนี่นา ผมอยากดูช้าง เข้าใจมั้ยฮะว่าอยากดูช้าง พอรู้ว่าความหวังที่มีนั้นแสนจะริบหรี่ ผมเลยตัดสินใจนอนพักเอาแรงดีกว่า เพราะไม่รู้ที่โปลอนนารูว่านั้นจะมีอะไรให้ผจญภัยอีก

“Sorry to disturbing you” คุณลุงมหินทร์ปลุกพวกเราขึ้นมาหลังจากนั่งรถไปได้ประมาณ 40 นาที แล้วจึงตามมาด้วยเสียงโหวกเหวกของพี่กรู๊ฟว่า “ช้าง ช้างจริงๆ ด้วย ตื่นเร็วกระต่ายอ้วน”

โอ้โฮ… พอผมลืมตาขึ้นมาก็พบกับช้างน้อยหนึ่งตัว ที่ออกมาเดินนวยนาดอยู่ในป่าซึ่งสามารถมองเห็นได้จากถนน เหมือนกับว่าเจ้าช้างน้อยตัวนั้นออกมาต้อนรับทักทายพวกเราอย่างไรอย่างนั้นเชียวละ แล้วก็ไม่ได้มีแต่พวกเราเท่านั้นที่จอดรถลงไปดู เพราะผมเห็นว่าชาวสิงหลคนอื่นๆ ก็จอดรถและลงไปถ่ายรูปเจ้าช้างน้อยตัวนั้นด้วยเช่นกัน แสดงว่าปกติคนที่นี่ก็ไม่ค่อยได้เห็นช้างป่าใกล้ๆ แบบนี้ พวกเรานี้ช่างโชคดีจริงๆ นะฮะ

และหลังจากตื่นเต้นกับเจ้าช้างน้อยสักพักใหญ่ ลุงมหินทร์ก็เรียกพวกเรากลับขึ้นรถเพื่อเดินทางต่อ และแน่นอนว่าผมก็ผล็อยหลับไปทันทีที่หูยาวๆ ของผมถึงหมอน จนมารู้ตัวอีกทีเราก็มาถึงโปลอนนารูว่า เมืองหลวงเก่าแก่ของชาวศรีลังกากันแล้วล่ะ

 

จากซากปรักหักพังในปัจจุบัน กลับสู่ความรุ่งเรืองในอดีตกาล

โปลอนนารูว่าในวันนี้ไม่เหมือนกับในอดีต ซากปรักหักพังที่กระจัดกระจายไปทั่วทั้งเมือง เป็นเพียงหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าที่นี่เคยเจริญรุ่งเรืองมากมายเพียงใด และยังมีหลักฐานอีกมากมายที่บ่งชี้ว่าพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติก็เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดด้วยเช่นกัน

โปลอนนารูว่าเคยเป็นเมืองหลวงเก่าแก่ลำดับที่ 2 ของประเทศศรีลังกา ตั้งอยู่ทางภาคกลางตอนบนของประเทศ มีลักษณะอากาศแบบร้อนชื้น (แต่ส่วนมากจะร้อนตลอดทั้งปี) แถมวันดีคืนดียังมีฝนตกแบบไม่ทันให้ตั้งตัวอีกด้วย แต่ในวันที่พวกเราไปนั้นแสงแดดช่างแผดจ้า เหมือนกับว่าพระอาทิตย์นั้นตั้งหน้าตั้งตาทำงานอย่างขมักเขม้นเลยเชียวละ สงสัยกลัวจะน้อยหน้าพระอาทิตย์ที่เมืองไทย แต่เอ๊ะ… ก็พระอาทิตย์ดวงเดียวกันนี่หว่า ยังไงก็ต้องร้อนเหมือนกันสินะ ซื่อบื้อจริงๆ บันนี่เอ๊ย  

ก่อนจะไปชมอุทยานประวัติศาสตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก คุณลุงมหินทร์แนะนำให้พวกเราเข้าชมพิพิธภัณฑ์เสียก่อน เพื่อเป็นการปูพื้นฐานในการทำความเข้าใจและรู้จักกับโปลอนนารูว่าก่อนที่จะไปเดินเที่ยวชมยังสถานที่จริง

“ว้า… พิพิธภัณฑ์อีกแล้ว มาถึงที่ขนาดนี้ จะไปดูของจำลองทำไมให้เสียเวลา” ผมบ่นกระปอดกระแปดไปตามประสากระต่ายน้อยขี้เบื่อ ที่อยากไปดูอุทยานแห่งชาติไวๆ

“ตั๋วเข้าชมราคา 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต้องซื้อที่นี่ ถ้าไม่มาที่นี่ ก็ไปที่อื่นไม่ได้ เข้าใจไหมบันนี่… ทำตัวดีๆ แล้วเดินตามมาเร็วๆ ไม่งั้นจะทิ้งเอาไว้ในรถนะ” พี่กรู๊ฟยืนคำขู่ที่ดูเหมือนจะเป็นคำขาด ผมเลยได้แต่เดินหูตกตามไปโดยไว

พิพิธภัณฑ์ที่เมืองโปลอนนารูว่า จัดแสดงเรื่องราวที่มาที่ไปของการก่อตั้งเมือง และลักษณะของศิลปะในยุคนั้นเอาไว้อย่างเรียบง่าย ถึงจะไม่ได้สวยหรูเหมือนอย่างพิพิธภัณฑ์ในประเทศฝั่งยุโรปที่ผมเคยตามพี่กรู๊ฟไปเที่ยวมา แต่ความเรียบง่ายนี่ละฮะที่กลับกลายเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่ทำให้พวกเราเข้าใจชาวศรีลังกาในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี แถมยังมีการจำลองผังเมืองเพื่อแสดงถึงสถานที่ต่างๆ ที่สำคัญในอดีต ที่ช่วยให้เราเดินเที่ยวชมสถานที่จริงในปัจจุบันได้ง่ายดายมากยิ่งขึ้นด้วย

ความรู้จากพิพิธภัณฑ์ที่ผมได้เรียนรู้มาเกี่ยวกับโปลอนนารูว่าก็คือ ที่นี่ถูกสร้างขึ้นโดยกษัตริย์ซึ่งเป็นชาวอินเดียใต้หรือพวกที่เรียกว่า ‘ทมิฬ’ ที่เข้ามายึดครองและเผาเมืองหลวงแห่งแรกของศรีลังกาที่ชื่อว่า ‘อนุราธปุระ’ (Anuradhapura) จนหมดสิ้น จากนั้นจึงย้ายเมืองมาอยู่ที่นี่

แต่กษัตริย์พระองค์แรกซึ่งเป็นชาวศรีลังกาที่เสด็จมาอยู่ที่นี่ก็คือพระเจ้าวิชัยพาหุที่ 1 (King Vijayabahu I) ซึ่งเป็นผู้กอบกู้เอกราชให้กับชาวสิงหล หลังจากรบชนะพวกทมิฬที่เข้ามายึดครองประเทศในช่วงปี ค.ศ. 1070 ได้สำเร็จ และหลังจากนั้นพระองค์จึงตัดสินพระทัยที่จะย้ายเมืองหลวงจากอนุราธปุระมาอยู่ที่โปลอนนารูว่าเป็นการถาวร เพราะทรงเล็งเห็นว่าที่เมืองอนุราธปุระนั้นเสียหายเกินกว่าจะซ่อมแซมได้ และที่โปลอนนารูว่านี้ก็มีสภาพภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมสำหรับการจัดตั้งเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่อีกด้วย

 

ทิปการเดินทางจากกระต่ายน้อย 🙂

  1. การใส่รองเท้าแตะอาจจะดูไม่งามเท่าไรนัก แต่เหมาะสำหรับการไปเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ที่ต้องถอดรองเท้าบ่อยๆ นะฮะ
  2. การทักทายเจ้าของประเทศที่เราไปเที่ยวด้วยภาษาของพวกเขา จะทำให้เราได้รับความเอ็นดูขึ้นอีกมากโขเลยทีเดียว

 

อ่านตอนต่อไป  –

Don`t copy text!