ละอ่อนบ้านบน บทที่ 1 : ลุ้นเรียกเพรียกพราย
โดย : มาลา คำจันทร์
เมื่อครั้งความเจริญยังไม่ย่างกรายเข้ามาในดินแดนแห่งนี้ ภูตผีดีร้ายและความเชื่อหลากหลายยังวนเวียนอยู่รอบกาย ผีกับคนอะไรน่ากลัวกว่ากัน ผีมีจริงหรือไม่ ผีคือะไรกันแน่ ‘ละอ่อนบ้านบน’ คือนวนิยายเรื่องล่าสุดโดย มาลา คำจันทร์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ ๒๕๕๖ จะพาคุณไปสำรวจเรื่องราวส่วนลึกในใจของผู้คนและในใจของตัวเราเอง
“มึงเคยเห็นพรายไหม”
“บ่เคย มึงเคยเห็นหรือ”
“บ่เคยเหมือนกัน หากมึงอยากเห็น คืนนี้มึงมานอนวัดกับกู”
“กูกลัว”
“กลัวอะหยัง”
“กลัวเปรตพ่อหนานทา”
“บ่มีไผเห็นเปรตพ่อหนานทามาหลายปีแล้ว ไปเกิดใหม่แล้ว ตุ๊พี่ว่าอย่างนั้น”
เด็กชายสองคนเดินไปด้วยกัน คนเอ่ยปากถามว่ามึงเคยเห็นพรายไหมชื่อสุมิตร ส่วนคนถูกถามชื่อว่าบุญส่ง ทั้งคู่เรียนอยู่ชั้น ป.4 ด้วยกัน
วันเวลาครั้งนั้นเป็นปี พ.ศ.2504 ที่จำได้ดีเพราะเอามาผูกกับระดับชั้นที่ตนเรียนปี 01 ป.1 ปี 02 ป.2 ปี 07 อยู่ ป.7 ปี 08 อยู่ ม.ศ.1 อย่างนี้เป็นต้น
บุญส่งกับสุมิตรเป็นเพื่อนสนิทแก่กัน ต่างแต่สุมิตรเป็นขะโยมหรือข้าโยมหรือเด็กวัด กินนอนอยู่ในวัดแต่บุญส่งกินนอนอยู่ยังเรือนตน บ้านอยู่ห่างวัดลงไปทางใต้สามสี่ช่วงเสาโทรเลข ไม่ได้นับเป็นเมตรเพราะไม่มีไม้เมตรมาวัด ไม่ได้นับเป็นก้าวเพราะไม่เคยก้าวแล้วนับว่ามันมีเท่าไร จะนับเป็นกิโลมันก็ไม่ถึงกิโลจึงไม่มีหลักกิโลให้หมายจำ
บ้านเราชื่อว่าบ้านบน อยู่ติดทางหลวงสายที่แล่นลุกแต่ลำปางผ่านกลางบ้านเราไปสุดแดนประเทศไทยที่แม่สาย ถนนยังไม่ได้ราดยางปีนั้น ส่วนอื่นๆ อาจราด แต่ที่ผ่านบ้านเรายังไม่ได้ราด
บ้านบนตั้งอยู่บนไหล่ดอย ไหล่ดอยเป็นพื้นที่สูงที่ลาดจากสันดอยลงไปจนกลายเป็นทุ่งท่านาหนองทางบ้านลุ่ม การอยู่การกินของคนบ้านบนขลุกขลักกว่าบ้านลุ่มบางประการ เช่นเรื่องน้ำเป็นต้น ยุคสมัยนั้นยังไม่มีน้ำประปา ไฟฟ้าก็ยังไม่มี น้ำกินน้ำใช้พวกเราจะขุดบ่อลงไปในดินลึกมากเพราะเป็นพื้นที่สูง หน้าแล้งบางปีน้ำจะแห้งขอดเลย คนบ้านบนต้องเอาหาบน้ำขึ้นบ่าลงไปตักน้ำจากบ้านลุ่มขึ้นมาใช้
บ้านลุ่มน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี เราเรียกว่าบ้านลุ่ม ส่วนพี่น้องบ้านลุ่มก็เรียกเราว่าบ้านบน ที่จริงก็เป็นบ้านเดียวกัน ต่างเป็นศรัทธาวัดมังคลารามเหมือนกัน เมื่อบุญส่งและไอ้มิตรและไอ้อีอื่นๆ เรียนอยู่ชั้น ป.4 นั้นวัดมังคลารามมีพระเณรห้าหกรูป หนึ่งในหกนั้นคือหลวงพี่เมฆ
“คืนนี้พรายจะออกมาหรือ ไอ้มิตร”
“บ่แม่น มันออกมาบ่ได้ มันถูกฝัง แต่ตุ๊พี่จะเรียกมันออกมา”
“เรียกออกมาเยียะหยัง”
“มาบีบคอมึง”
“ไอ้วอก”
ไล่เตะ ไล่ต่อยกันไป ยังไม่สายมากนัก สักแปดโมงเศษๆ เด็กนักเรียนเดินเลาะขอบถนนด้านซ้ายไปโรงเรียน โรงเรียนมีพื้นที่กว้างใหญ่มาก จะกี่ไร่เราไม่รู้ รู้แต่ว่ามันกว้างขวางใหญ่โตเกินจะรู้จักได้ทั่วในเวลาสี่ปีที่เราเรียนอยู่ที่นั่น ด้านหลังของหมู่บ้านเป็นดงดอยที่ค่อยๆ ลาดเอียงขึ้นไป ส่วนทางด้านหน้าเป็นไหล่ดอยที่ค่อยๆ ลาดลงไปจนติดถนน ถัดจากถนนลงไปเป็นเป็นส่วนที่เราเรียกว่าบ้านลุ่ม สุดเขตย่านบ้านลุ่มจะเป็นทุ่งนากว้างขวาง ข้ามทุ่งไปเป็นหมู่บ้านอื่น กระจัดกระจาย หากมองไกลออกไปอีกก็จะเห็นดงดอยเป็นกำแพงขึงขวางทางด้านตะวันออกอยู่ไกลลิบ ภูดอยด้านนั้นเราเรียกว่าดอยด้วน
วันนั้นทั้งวันบุญส่งเรียนหนังสือแทบไม่รู้เรื่อง ใจคอจดจ่อรอคอยแต่ว่าเมื่อไรโรงเรียนจะเลิก จะได้รีบกลับบ้าน อาบน้ำอาบท่า กินข้าวกินปลาแล้วไปนอนวัด วัดมังคลารามเมื่อราวปี พ.ศ.2504 มีครูบาบุญเย็นเป็นเจ้าอาวาส ท่านอายุ 75 แล้ว เข้าผ้าเหลืองมาแต่เมื่อเป็นสามเณรไม่สึกออกจากผ้าเหลืองไปเลย บุญส่งไม่ได้เรียกท่านว่าครูบา ติดปากเรียกท่านว่าตุ๊ปู่ เพราะตาสอนให้เรียกท่านว่าตุ๊ปู่มาแต่เมื่อเริ่มจำความได้โน่นแล้ว
ทั้งตาและตุ๊ปู่ต่างเป็นลูกศิษย์ครูบาอินทา แต่ทั้งคู่ไม่ใช่รุ่นราวคราวเดียวกัน ตาอายุน้อยกว่าท่านเจ็ดแปดปี ท่านทรงกรรมฐาน เชี่ยวชาญเตโชกสิณ ส่วนตาทรงวิชาหยูกยาอาคมสายขาว ส่วนหยูกยาอาคมสายดำตาไม่ได้สืบมาเพราะครูบาไม่อนุญาตให้ใครสืบ
“มันเป็นอย่างใดหือตา สายขาวสาวดำ”
“สายขาวบ่แม่นสายดำ สายดำก็บ่แม่นสายขาว”
“อันนั้นหล้ารู้ มันต่างกันอย่างใด สายขาวสายดำ”
“สายขาวใช้แก้ไขเยียวยา สายดำใช้ทำร้ายคน”
“เป็นใดครูบาอินทาท่านบ่ถ่ายทอดสายดำแก่ไผ”
“ท่านว่าคนรุ่นใหม่ย่อหย่อนทางศีลธรรม คนพร่องทางศีลธรรมจะควบคุมวิชาสายดำบ่ได้ มันจะพาไปลงนรก”
“คนรุ่นก่อนบ่พร่องทางศีลทางธรรมหรือตา”
“บ่พร่อง”
“แล้วที่ว่าถ้าบ่มีบารมีครูบาอินทาคุ้มครองไว้ หลวงพี่เมฆอาจตายแต่แล่นบ่ถึงประตูวัด เรื่องมันเป็นอย่างใดหือ ตา”
“เรื่องมันยาว ไว้วันหน้าค่อยเล่า”
หลวงพี่เมฆเป็นคนรูปหล่อ หล่อจนสาวหลง คนรุ่นก่อนหน้าเราเขาเล่าลือว่ากันอย่างนั้น ช่วงที่ไอ้อีละอ่อนบ้านบนทั้งหลายเรียนชั้น ป.4 กันอยู่นั้น หลวงพี่อายุราว 34 แล้วแต่ยังมีเค้าหล่อเหลาเลาเลิศอยู่มาก ท่านมีอภิสิทธิ์เหนือกว่าพระเณรอื่นๆ ในวัดอยู่อย่างหนึ่งคือมีกุฏิส่วนตัวอยู่ทางหลังวัด หลังวัดเป็นที่ลาดเอียงขึ้นไปหาสันดอย คนบ้านอื่นเขาเรียกบ้านเรารวมๆ กันว่าบ้านทุ่งตีนดอย แต่คนในหมู่บ้านเรียกกันเองว่าบ้านลุ่มบ้านบน แบ่งเรียกง่ายๆ เอาแนวทางหลวงจังหวัดเป็นตัวแบ่ง แบ่งเรียกเพื่อจำได้หมายรู้ได้ง่ายเท่านั้นเอง ไม่ได้แบ่งออกเป็นสองหมู่บ้าน ยังเป็นหมู่บ้านเดียวกัน ไหว้พระเจ้าองค์เดียวกัน เข้าวิหารหลังเดียวกัน เป็นศรัทธาวัดเดียวกัน มีพ่อหลวงหรือผู้ใหญ่บ้านคนเดียวกัน ทางราชการท่านกำหนดให้เป็นหมู่ที่ 11 ของตำบล
“อย่าลืมนะมึง” สุมิตรกำชับเมื่อเราเดินกลับบ้านด้วยกัน “รีบอาบน้ำกินข้าวแล้วมานอนวัด”
“หมู่มึงจะเยียะอะหยัง” ไอ้ยศถาม
“ตุ๊พี่จะเรียกพราย” ไอ้มิตรตอบ “มึงอยากเห็นจะมาก็ได้ แต่ให้รีบมา”
“กูด้วย”
“กูด้วย”
เท่านั้นเอง ไอ้นั่นรวมถึงอีนี่อีกสามสี่คนในกลุ่มก็ขอมีส่วนด้วย แต่ไอ้มิตรอ้างว่าหลวงพี่อนุญาตให้สมทบเข้าไปด้วยอีกสองคนเท่านั้นเพราะยันต์เก้าปล้องเหลืออีกเพียงสองดอก สุมิตรเลือกเอาสมยศเข้าร่วมอีกคนไอ้อีที่เหลือก็เลยมีสีหน้าท่าทางเงื่องหงอยเพราะผิดหวัง
“ไอ้มิตร” คำผุยต่อรอง “ยันต์เก้าปล้อง (1) ของกูมี กูไปดูตุ๊พี่เรียกพรายอีกคนได้ไหม”
“บ่ได้” สุมิตรว่ากล่าวเป็นถ้อยคำเด็ดขาด “แม่ย่าแม่หญิง นอนวัดบ่ได้”
“ก็ทีวันศีลวันธรรม” อีผุยอิดออด “คนเฒ่าแม่ย่าแม่ยายยังไปนอนวัดกันโละๆ”
“อันนั้นไปนอนบนศาลาเป็นที่โล่งเปิดเผย แต่กุฏิหลวงพี่เป็นที่หับที่ปิด แม่ย่าแม่หญิงขึ้นไปนอนบ่ได้ บาปขบหัวกินหัวนะมึง”
เย็นลงแสงรอนอ่อนลับ แสงแดดลับหายจากบ้านบนเร็วกว่าบ้านลุ่ม เช้าๆ แดดจะส่องถึงบ้านบนก่อนบ้านลุ่ม ตาเล่าว่าแรกเริ่มเดิมทีหมู่บ้านอยู่ยังที่ลุ่มติดทุ่งนา ส่วนที่ที่ลาดสูงขึ้นมา ที่เรียกกันว่าบ้านบนในปัจจุบันนี้ยังเป็นป่าเป็นดงกันอยู่ ต่อมาผู้คนแน่นหนาคับคั่งขึ้นจึงค่อยเขยิบกันขึ้นมา ต่อมามีถนนผ่าบ้านเป็นสองซีก ค่อยเรียกเป็นบ้านลุ่มบ้านบนอย่างที่เล่าไปแล้ว
บ้านทุ่งตีนดอยเป็นบ้านคนเมืองมาอย่างน้อยน่าจะสักร้อยปีเป็นอย่างต่ำ ตาว่าอย่างนั้น ย้อนไปเมื่อราวปี พ.ศ.2415 ปีที่ครูบามงคลท่านรับนิมนต์ชาวบ้านจะมาอยู่มาจำ บ้านทุ่งตีนดอยก็มีอยู่แล้ว มีคนราวๆ สี่ห้าสิบหลังคาเรือนเท่านั้น เย็นลงตะวันลับ บุญส่งสาวน้ำขึ้นจากบ่อเอาไปใส่หม้อดินปากกว้างในซุ้มน้ำ สมัยนั้นหม้อดินใบใหญ่มาก แต่เมื่อโตขึ้น หม้อดินเหมือนจะเล็กลงกว่าเดิมทั้งที่มันมีขนาดเท่าเดิม เมื่อเรายังเด็ก อะไรๆ ก็ดูใหญ่มาก ฟ้าดูกว้าง บ่อน้ำดูลึก แต่พอโตขึ้นความรู้สึกนึกคิดของเราเปลี่ยนไป น้ำใสใจซื่อก็เปลี่ยนแปลงไป มันไม่ค่อยซื่อค่อยใสเหมือนเมื่อเรายังเล็ก บางอย่างเคยมีกลับหายไป บางอย่างไม่เคยมีกลับมีขึ้นมา
ซุ้มน้ำบ้านเราก่อจากอิฐสูงขึ้นไปเพียงคอผู้ใหญ่ ก่อเป็นรูปตัว อ.อ่างทรงสี่เหลี่ยมไม่มีหัวอักษร เป็นที่อาบน้ำของคนทั้งบ้าน บางบ้านอาจเอาสังกะสีเก่าๆ มาตีปะเป็นซุ้ม บางบ้านก็อาจเอาไม้กระดานมาตีปะ บางบ้านก็อาจใช้ฟากกรุล้อมคร่าวๆ แล้วแต่ความเหมาะสม
“หากเอ็งใคร่รู้ว่าบ้านใดเรือนใดเก่าบ่เก่า หื้อดูซุ้มน้ำ” ยายว่า
“ใคร่รู้บ้านใดเรือนใดเก่าบ่เก่า เยียะหยังบ่ดูเรือน ไปดูหยังซุ้มน้ำ”
“หากเป็นบ้านเก่าเรือนเก่า ซุ้มน้ำมักสร้างจากอิฐ หากเป็นบ้านใหม่เรือนใหม่ ซุ้มน้ำมักสร้างจากไม้จากฟาก”
ยายอ่อนกว่าตาสี่ห้าปี แม่เป็นลูกสาวคนเล็กของตากับยาย ส่วนพ่อเป็นลูกเขย เอาบ่าไหล่มารับใช้ต่างแทนสินสอดทองหมั้น ยายเล่าว่าคนแต่ก่อนแต่งงานกันจะไม่มีการเรียกเอาสินสอดทองหมั้นใดๆ ลูกเขยจะเอาบ่าไหล่เรี่ยวแรงมาแทนเงินทอง อยู่กินกันไปสักสามสี่ปี หากพ่อตาแม่ยายเห็นว่ามั่นคงต่อกันดีแล้วก็จะอนุญาตให้แยกครัวลงไปอยู่อีกที่ แต่แม่เป็นลูกสาวคนเล็กของตากับยาย ต้องอยู่ติดเรือนเพื่อดูแลตายายไปจนกว่าหลับตาขึ้นฟ้าเมืองบน มักเรียกว่าลูกสืบเรือนเพราะสืบแทนเรือนพ่อแม่
พ่อกับแม่มีลูกเลี้ยงรอดสี่คน บุญส่งเป็นคนสุดท้อง พี่คนโตเป็นชายเรียนไม่จบชั้น ป.4 ก็ออกมาเสียก่อน คนถัดมาเป็นหญิง เรียนเพียงชั้น ป.2 ก็ออกมา คนถัดมาเป็นหญิง จบ ป.4 ไม่ได้เรียนต่อ ป.5 เพราะโรงเรียนที่มีชั้น ป.5 อยู่ไกลไปมาไม่สะดวก แต่ไอ้ตัวเล็กของบ้านอาจได้เรียนต่อถ้าสอบชิงทุนได้
“ตุ๊พี่ จะเรียกพรายละยัง”
“ยัง ยังบ่ถึงเวลา”
“เมื่อใดจะถึงเวลา”
“สวดมนต์ทำวัตรเย็นจบก่อน”
ชื่อว่าทำวัตรเย็น แต่จริงๆ แล้วทำวัตรค่ำ เพราะกว่าที่ตุ๊รองหรือรองเจ้าอาวาสจะตีระฆังเรียกพระเณรก็มืดค่ำจนตะวันไม่เหลือแสงแล้ว พอพระตีระฆัง หมาวัดมีกี่ตัวๆ มันก็โห่ก็หอนเสียงเยือกเสียงเย็น น่าแปลกใจที่มันพากันหันหน้าไปทางทิศผีตายกันหมด ทิศผีตายคือทิศตะวันตก ป่าช้าจึงมักอยู่ทางตะวันตกของหมู่บ้าน มักเชื่อถือกันว่าเป็นทิศอัปมงคล บ้านคนจึงมักไม่หันหน้าไปทางทิศตะวันตก เพราะเชื่อว่าจะเป็นการเปิดรับเอาสิ่งอันเป็นอัปมงคลทั้งหลายเข้ามาสู่เหย้าเรือนเรา
หลวงพี่ขนาบเอาบุญส่งกับสมยศไปไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเย็นที่กุฏิใหญ่ด้วย นั่งหน้าสุดคือครูบาบุญเย็น ท่านเป็นตุ๊หลวงหรือเจ้าอาวาส คนส่วนมากหากเอ่ยพาดพิงถึงท่านมักจะเรียกว่าตนชุ่มเย็น เพราะท่านมีแต่ความชุ่มเย็นแจกจ่ายให้แก่ทุกคนเสมอหน้ากัน ถัดหลังลงมาคือตุ๊ลุงพัดรองเจ้าอาวาสกับหลวงพี่เมฆ แถวที่สามเป็นสามเณรสามรูป หนึ่งในสามคือเณรสิทธิ์คนสนิทของหลวงพี่ ต่อมาภายหลังกลายมาเป็นพี่เขยของบุญส่ง ถัดมาเป็นแถวเด็กวัดสองสามคน สุดท้ายคือบุญส่งกับสมยศที่ไม่ใช่ขะโยมหรือเด็กวัด แต่คืนนี้มานอนวัดเพื่อจะไปดูหลวงพี่เมฆเรียกพราย
“เรื่องนี้เป็นความลับนะมึง” สุมิตรกำชับ “อย่าให้รู้ถึงหูตุ๊หลวงตุ๊รองเด็ดขาด หาไม่กูโดนหลวงพี่หวดก้นน่วม”
“หลวงพี่เรียกพรายจะลนเอาน้ำมันพรายหรือ”
“อาจเป็นอย่างนั้น กูเองยังไม่รู้แน่”
พรายมีมากมายหลายหลาก แต่ในความรับรู้ของไอ้พวกตัวกะป๊อกกะเปี๊ยกอายุไม่เกินสิบขวบอย่างพวกเรา เรารู้แต่ว่าพรายเป็นผีชนิดหนึ่ง ดุร้ายน่ากลัวกว่าผีเพราะพรายมักเอาถึงตาย แต่ผีส่วนมากจะมีแค่หลอกให้ตกใจกลัวเท่านั้น แต่ก็มีผีร้ายๆ อยู่บ้างที่อาจทำเราถึงตาย อย่างผีตายโหงกับผีตายพรายเป็นต้น
สวดมนต์ไหว้พระเสร็จสรรพ กลับลงมาสู่กุฏิส่วนตัวของหลวงพี่เมฆกันแล้วแต่ก็ยังไม่ได้ไปดูหลงพี่เรียกพราย ยังต้องรอฤกษ์ยามอะไรอยู่ พวกเราต่างง่วงกันแล้ว ท่านบอกว่าอยากหลับก็หลับไปก่อน ถึงเวลาท่านจะปลุกเอง แต่เมื่อถึงเวลาปลุก ไอ้ยศไม่ยอมตื่น อู้ๆ อี้ๆ ขดตัวงอเป็นด้วงเป็นหนอน ก็เลยทิ้งมันไว้ที่กุฏิเพียงคนเดียว ฟ้ามืดมิดเวลานั้น ดาวดกดื่นหมื่นดวงช่วงโชติ ส่องตาระยิบระยับแจ่มใสเหมือนให้สัญญาณแก่กัน หมาวัดผงกหัวจะเห่า แต่พอหลวงพี่จุปากมันก็ครางงืดๆ แล้วหงุบหัวลงนอนในท่าเก่า ลมพัดแรงมากคืนนั้น ไม้ใหญ่ๆ ทางหลังวัดส่ายไหวกราวกรู ไม้ตะเคียนสูงใหญ่โผล่พ้นไม้อื่นเหมือนผู้ใหญ่มองดูเด็ก ตะเคียนต้นนี้อยู่มาก่อนวัด คนแก่คนเฒ่าเก่าก่อนเล่าลือสืบต่อกันมาว่ามีผียักษ์ร้ายพรายกล้าสิงสู่อยู่ในพญาไม้ต้นนี้
ไฟฉายกราดไหววูบวาบ วันเวลาครั้งนั้นไฟฉายมีขายแล้วแต่ยังไม่ค่อยมีใครใช้เพราะราคาแพง คืนนั้นไปด้วยกันสี่คน แต่ไฟฉายมีดวงเดียวอยู่ในมือหลวงพี่ ท่านเป็นลูกของเจ้าตุ๊ยกับพ่อลุงคำลูนคนมั่งมี ท่านจึงมีกุฏิส่วนตัวที่พ่อแม่ปลูกให้ ท่านไม่ใช่ศิษย์ของครูบาตนลับ ไม่ใช่ศิษย์ของครูบาตนปัจจุบัน ไม่ใช่ศิษย์ของหลวงลุงพัดรองเจ้าอาวาส ไม่ใช่ศิษย์ของใครเลย เมื่อครูบาอินทายังมีชีวิต หลวงพี่รบเร้าขอเรียนวิชาอาคมแต่ท่านไม่ยอมสอนให้
“ยันต์เก้าปล้องเอากลัดติดเสื้อดีละยัง”
“ดีแล้ว ตุ๊พี่”
“อย่าให้หลุดจากตัวเด็ดขาด ตามมาเฉยๆ อย่าพูด อย่าจา พบเห็นอันใดอย่าทักอย่าทอ”
หลวงพี่ถือไฟฉายนำหน้า ถัดมาคือสุมิตรผู้เป็นขะโยมหรือเด็กรับใช้ประจำตัวของหลวงพี่ มีหน้าที่รับใช้หลวงพี่เป็นหลัก ทำงานวัดเป็นรอง บุญส่งเดินถัดหลัง ปิดท้ายคือเณรสิทธิ์หนวดกำลังขึ้นเขียวๆ บนปาก ต่างคนต่างมีคบไฟในมือคนละดวง ราวตีหนึ่งตีสองแล้วกระมังคืนนั้น ทั่วทั้งวัด อาจจะทั่วทั้งบ้านลุ่มบ้านบนเสียด้วยซ้ำกระมังที่มีแต่เราสี่คนยังตื่นอยู่ นอกนั้นนอนหลับกันหมด
มันเป็นประสบการณ์ขนหัวลุก ขนหัวลุกจริงๆ ไม่ใช่เพียงสำนวนเปรียบเทียบ เห็นขนหัวลุกจนตั้งเด่เลย
ไม่ใช่เห็นขนหัวตัวเอง แต่เห็นขนบนหัวสุมิตรลุกชันเหมือนขนเม่นเลย สมัยนั้นครูไม่ค่อยเคร่งครัดเรื่องทรงผมนักเรียน ใครที่ตัดผมเดือนละครั้งก็ผมสั้น ใครที่สองสามเดือนตัดสักครั้งก็ผมยาว
ไม่ใช่หน้าหนาว แต่บ้านเมืองสมัยนั้นยามดึกๆ อากาศจะฉ่ำเย็นจนจะเป็นไข้เอาได้ง่ายๆ หลวงพี่ตอกหลักสี่เสาด้วยอาการเคร่งขรึมจริงจัง แต่ละหลักจะตอกเพียงสามครั้งพร้อมพร่ำบ่นมนต์คาถาอะอุมะ มะอุอะ มะอะอุอะไรงึมงำ แล้วให้เณรสิทธิ์เอาด้ายสายสิญจน์ที่ใช้ในช่วงเข้าพรรษามาเคียนคาดหลักเสาทั้งสี่หลักเหมือนจะเป็นรั้วหรือกำแพง
“โอม อุ่งก่า อ่าซิหล่อ…อ่อซิแหล่”
“ตุ๊พี่ว่าอะหยัง”
“บอกว่าดักปากหับคำ” หลวงพี่สำทับเสียงดุๆ “อันนี้คาถากำแพงแก้วเจ็ดชั้น ต่อไปห้ามถาม”
ที่นี่เป็นป่าช้าเดิมของหมู่บ้าน อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของวัด ห่างออกไปราวกิโลเมตรเศษ ร่มครึ้ม วังเวง เยือกเย็นจนขนลุก เป็นป่าช้าเก่าแก่มาแต่เมื่อบ้านเรายังฝังศพ ต่อมาราวหลังสงครามญี่ปุ่นเป็นต้นมา การฝังเริ่มเปลี่ยนเป็นการเผา ป่าช้าเก่าจึงถูกละทิ้ง ส่วนป่าช้าใหม่ขยับเลื่อนลงมา
“ทำไมไม่เผาที่เดิมล่ะตา”
“บ่ดี ผีฝังยังอยู่คาดิน บ่ควรเผาภายบนรบกวนเขา”
ดื่นดาวยังขาวส่อง ตอกหลักคาดสายสิญจน์ล้อมหลุมผีเก่าซึ่งหลวงพี่สืบทราบมาชัดเจนว่าเป็นผีตายพราย เป็นผีร้ายที่คนบ้านเรากลัวกันมาก ที่กลัวที่สุด ดุร้ายที่สุดคือผีตายทั้งกลม จะว่าที่สุดก็ยังไม่ถึงที่สุด ที่สุดจริงๆ คือผีท้องโตแล้วตายโหงด้วย แต่ผีแบบนี้ตาว่าร้อยวันพันปีจะมีสักคน จึงไม่มีคำเรียกเป็นการเฉพาะ
ดึกด่ำฉ่ำชื้น น้ำเหมยย้อยจากใบไม้ลงต้องหน้าดินดังเผาะๆ เงียบ สงบสงัด เย็นเยียบเฉียบชื้นจนหนาวหนังหัว มีแต่ความน่ากลัวเร้ารุกคุกคาม ป่าช้าเก่าเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ๆ แน่นหนากว่าป่าใช้สอยของชาวบ้านทั่วไป ป่าช้าเป็นที่ต้องห้าม ไม่ค่อยมีใครเข้ามาวอแวข้องแวะเว้นแต่เมื่อจะเผาผีจี่ศพ เวลาเรามาหาหลัวหาฟืนหรือหาเห็ดหอนขอนไม้ ขนาดมาเวลากลางวันเรายังไม่อยากเฉียดใกล้เลย แต่อันนี้เป็นกลางคืน
ลมพัดแต่ละเยือก เหมือนมีมือเย็นๆ มาลูบหน้า
ดวงเดือนคืนข้างแรมแก่ส่องแสงออกจะขุ่นมัวหมองแสงอยู่ทางฟ้าฟากตะวันออก ไม่เปล่งปลั่งแจ่มใสอย่างแสงเดือนตอนหัวค่ำที่คุ้นเคย ลมสงบเป็นช่วงๆ เทียนเล่มใหญ่กว่านิ้วโป้งออกจะอ่อนแรงแสงหมอง บางครั้งก็วูบลงจวนเจียนจะดับ ยังพอมีที่อุ่นใจอยู่ว่าด้านหลังพวกเรายังมีไฟกองย่อมลุกอยู่ เณรสิทธิ์ก่อไว้ แต่หากไฟดับจะลุกออกไปซนไฟก็ไม่ได้ หลวงพี่ห้ามไว้เป็นคำเด็ดขาดว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จะลุกพรวดพราดก้าวข้ามสายสิญจน์ออกไปไม่ได้ ไม่ป่วยใหญ่ไข้ยาวก็อาจถึงตาย
ไม่น่าเลยกู ไม่ควรมาเลย
อึดอัด หวาดกลัว ขุ่นมัว ขัดข้อง คับแค้นแน่นใจ มีสารพัดสารเพความรู้สึกพลุ่งพล่านขึ้นมา ความกลัวนำหน้า ความกล้าไปอยู่โน่น…หางแถวเลย บุญส่งกับสุมิตรเบียดชิดกัน เณรสิทธิ์เป็นรุ่นพี่เราสี่ห้าปี สติมั่นคงกว่า เณรนั่งคุมอยู่หลังสุด หลวงพี่นั่งหน้าพอเป็นที่ยึดถือพึ่งพิงได้ แต่จะไม่ให้กลัวเลยก็คงยาก
“โอม นโม อาจริยัสสะ โอมเหเห อุปปัชฌายัสสะ อมเหเห ทิสสปาโมกขะ อมเหเห ติตถะ ติตถะ มหาสิทธิการ มึงจุ่งอยู่อย่าหนี พันธะ พันนะ มหาสิทธิการ กูมัดมึงไว้แล้วมึงอย่าท้วงอย่าติง ธาเรยยะมหาสิทธิการ กูรู้มึงแล้วมึงอย่าปลิ้นอย่าแปร นิรุเธยยะมหาสิทธิการ กูระวังแวดเระวังวงมึงไว้แล้ว อย่าคลาดอย่าคลา มึงจุ่งมืดมนอนธการด้วยมหาเหแห่งเจ้ากู เมื่อคืนเป็นควัน เมื่อวันเป็นหมอก อมเทวทัตโต ยะนาโล ยะเทวตา โอม นโมพุทธายะ สวาหะ สวาหาย”
เสียงสวดพร่ำต่ำแหบในบทมนต์เร้าเรียกเพรียกพรายดังอยู่เรื่อยๆ ความกลัวค่อยลดทอนลง มีความง่วงแทรกเข้ามา สัปหงกไปบ้าง หัวสับลงบ้าง อุ่นใจอยู่ว่ายันต์เก้าปล้องของหลวงพี่ยังกลัดติดอกเสื้อ ท่านเองแม้ไม่ขึ้นชื่อลือชาอย่างหลวงปู่ครูบาผู้ล่วงลับ แต่ก็เริ่มไต่เต้าขึ้นมาแล้ว อยู่ในผ้าเหลืองร่วมสิบพรรษาแล้ว เรารู้กันแต่ว่าท่านมีวิชาอาคมพอตัวผู้หนึ่ง แต่เราไม่รู้เบื้องหลังอะไรอีกมากมายเกี่ยวกับตัวท่าน
ท่านเข้าผ้าเหลืองมาด้วยสาเหตุลึกลับ แล้วท่านก็ตายไปในผ้าเหลืองด้วยสาเหตุลึกลับ
“มาแล้วๆ” ไอ้มิตรแอบกระซิบใส่หู “จะออกมาแล้ว”
ตื่นเต้นแกมงัวเงีย ความกลัวมีอยู่ แต่เหมือนมันหลบเร้นลงไปอยู่ลึกๆ เหมือนเสื้อผ้าเก่าๆ เราโยนใส่ตะกร้า มันยังอยู่ในตะกร้าแต่ว่าลงก้นไปเรื่อยๆ เพราะมีผ้าผืนใหม่ถมอยู่ข้างบน ความตื่นเต้นแกมกระหายใคร่รู้มีแรงมากกว่าความกลัว ใจระทึกตึกเต้น แผ่นดินต่อหน้าหลวงพี่เริ่มแตก ใจเต้นถี่เต้นแรงจนได้ยินเสียงหัวใจฟาดอกดังตุบๆ ลุ้นระทึกเลย
ลุ้นเรียกเพรียกพราย
ลมพัดแรงขึ้น ไฟเทียนวูบลงจนจะดับ มนต์เรียกเพรียกพรายดังถี่กึกก้องจากปากหลวงพี่ มีคำว่าโอม เหเห เอหิจงมาอะไรทำนองนี้ วิชาของหลวงพี่ไม่ได้รับการถ่ายทอดจากครูบาอินทา ท่านว่าท่านเรียนเอาจากตำราของพ่อของท่านเอง
ดินกลบหลุมผีแตกกว้าง ค่อยแตกแหวกวะเป็นร่องเป็นปล่อง นึกย้อนกลับไปในวันนี้ก็ยังขนลุก อยากยืนมือไปเกาะชายจีวรหลวงพี่แต่กลัวโดนด่า เอามือกุมยันต์เก้าปล้องที่กลัดติดอกเสื้ออยู่ตลอด หมาหอนโหวกเหวกจากวัดชวนขนหัวลุก เดือนดวงแดงแฝงเมฆมีแสงเหลือบแรแก่ก่ำคล้ำแดง ไม่นุ่มนวลชวนมองเหมือนเดือนเมื่อหัวค่ำ ไอ้มิตรขยับเข้าชิดหลังหลวงพี่ บุญส่งอยู่ถัดหลังมัน เณรสิทธิ์ยังควบคุมอยู่หลังสุดตามเดิม
ใจเต้นเหมือนตีกลอง
หลวงพี่เร่งเร้าบทมนต์ถี่ๆ ลมพัดแรงขึ้น เทียนดับ ทันใดแผ่นดินต่อหน้าหลวงพี่ก็แตกยุบบุบลง มีมือขาวๆ แหวกออก แล้วพรายก็ลุกขึ้นนั่งกลางหลุมพรวดพราด
ขนหัวไอ้มิตรตั้งเด่เลย แทบตั้งขึ้นทุกเส้น
มันเป็นภาพที่น่ากลัวขนหัวลุก แต่ขนหัวตัวเองจะลุกหรือไม่ ไม่ทันสังเกต พรายเหลือแต่โครงกระดูกลุกขึ้นนั่งกลางหลุม มีหัวมีตัวตีนมือครบครัน หัวเป็นกะโหลกตากลวงโบ๋ จมูกก็เป็นรูกลวงโบ๋ ริมปากยุบเห็นเขี้ยวขาวเรียงราย
พรายผู้ถูกเพรียกเรียกเร้าให้ลุกจากก้นหลุมยื่นมือยาวคว้าหมับที่คอหลวงพี่ บุญส่งไม่รับรู้อะไรอีกแล้ว ดับวับไปเลย
เชิงอรรถ :
(1) ยันต์เก้าปล้อง = ตะกรุดเก้าดอก แต่ละดอกมักเป็นโลหะแผ่นบางๆ เล็กๆ จารึกอักขระหรือเลขยันต์แล้วม้วนเป็นหลอดๆ ร้อยแต่ละหลอดเข้าด้วยกันด้วยเชือกฟั่นจากเส้นด้ายสีแดง