ละอ่อนบ้านบน บทที่ 5 : อุ่มลี้

ละอ่อนบ้านบน บทที่ 5 : อุ่มลี้

โดย : มาลา คำจันทร์

Loading

เมื่อครั้งความเจริญยังไม่ย่างกรายเข้ามาในดินแดนแห่งนี้ ภูตผีดีร้ายและความเชื่อหลากหลายยังวนเวียนอยู่รอบกาย ผีกับคนอะไรน่ากลัวกว่ากัน ผีมีจริงหรือไม่ ผีคือะไรกันแน่ ‘ละอ่อนบ้านบน’ คือนวนิยายเรื่องล่าสุดโดย มาลา คำจันทร์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ ๒๕๕๖ จะพาคุณไปสำรวจเรื่องราวส่วนลึกในใจของผู้คนและในใจของตัวเราเอง

“อุ่มจะหลี้ จี้จะหลุบ อุ่มจะหลี้ จี้จะหลุบ”

สายๆ วันเสาร์ โรงเรียนเหงาร้าง หญ้าเหี่ยว ดอกไม้รอบๆ เสาธงก็เหี่ยว ธงชาติยังแขวนสูงอยู่ปลายเสา ตอนเย็นวันศุกร์ ครูไม่ให้ชักธงลงเพราะเกรงว่าเสาร์อาทิตย์ไม่มีใครมาโรงเรียน วัวอาจมาแทะเล็มธงชาติจนเหี้ยนไปทั้งผืน มันเป็นธงเก่า ตากแดดตากฝนมาสองสามปีจนขึ้นรา จะมีรสเกลือจากเหงื่อไคลคนปนกับความเค็มในความชื้น ผืนผ้าแผ่นแพรเก่าๆ เสื้อผ้าเก่าๆ ที่เราทิ้งไว้ วัวควายมักชอบเล็มเอารสเกลือ

“ใช่แต่งัวควายนะเอ็ง มดแมงทั้งหลายก็ชอบมาเอารสเกลือจากเสื้อจากผ้า” ยายพูด “เสื้อผ้าเก่าๆ เราเลิกใช้แล้ว คนแต่ก่อนจะไม่ทิ้งเปล่า จะเอาซุกง่ามไม้ไว้ต้นนั้นต้นนี้ นานๆ เข้ามดก็มาเอาเกลือ เป็นทานอย่างหนึ่งนะเอ็ง ทานเหื่อทานไคลแก่มด”

“จะได้บุญหรือยาย ทานให้มด”

“ไปถามตาเอ็ง”

แม้จะย้ายออกมาจากวัดแล้ว แต่โรงเรียนก็ยังใช้ชื่อว่าโรงเรียนวัดมังคลาราม มีถ้อยคำในวงเล็บว่าอินทาราษฎร์อุปถัมภ์ คำว่าอินทาหมายถึงครูบาอินทา ราษฏร์หมายถึงชาวบ้าน เมื่อหลวงท่านเริ่มย้ายโรงเรียนออกมานั้น ทางราชการอำเภอมาขอครูบาให้ช่วยปกป่าวชาวบ้านมาช่วย ครูบาก็ทำตามที่หลวงขอ ศรัทธาญาติโยมมากหลายเอาเรี่ยวแรงมาช่วยนานอยู่เหมือนกัน ไม่มีค่าจ้างรางวัลอะไรเลย มาด้วยศรัทธาในตัวตนครูบาที่เขาเคารพนับถือ ใช่เพียงพี่น้องบ้านลุ่มบ้านบนเท่านั้น บ้านหนองผำบ้านสันผักหวานก็มาซึ่งไม่ได้ไหว้พระเจ้าวัดนี้ก็มา

“มาปราบแผ้วถากถางที่ทางเป็นหลัก” พ่อเล่า “ไม่มีหรอกเครื่องจักรเครื่องยนต์ รถขุดรถไถใดๆ ยังไม่มี มีแต่จอบเสียม บ่าไหล่สองมือของพี่น้องชาวบ้านเป็นหลัก พ่อค้าแม่ขายที่ตลาดอำเภอเขารู้ เขาก็มีใจมาตั้งโรงทานเลี้ยงคนทำงานทั้งหลาย สลับสับเปลี่ยนกันมา แม่เลี้ยงสีทา มีเจตนาทานข้าวร้อยห่อทุกวันเป็นเวลาสิบวันติดต่อกัน”

“แม่เลี้ยงสีทาเป็นไผ อีพ่อ”

ไอ้ลูกชายตัวน้อยเกาะเข่าพ่อไถ่ถาม พ่อชื่อว่าบุญยืน พ่อเอาบ่าไหล่แรงหลายเข้ามาเป็นเขยของตากับยายไม่ต้องสิ้นเปลืองเงินทองของหมายอันใดสักอย่าง มีสำนวนพื้นบ้านเปรียบเปรยไว้ว่า มาแต่ผ้าพกกับดาบ คือของที่ติดตัวเขยมามีเพียงห่อผ้าที่พกเสื้อผ้าข้าวของส่วนตัวคล้องไว้ที่ไหล่ข้างหนึ่ง กับดาบอีกเล่มที่คล้องไหล่อีกข้าง แต่ในส่วนของตา ทวดฝ่ายตาต้องการลูกสะใภ้เข้าบ้านจึงต้องเอาทรัพย์สินเงินทองไปขอ ทวดฝ่ายยายเสียลูกสาวไป แต่ได้เงินทองของขอเป็นสิ่งตอบแทน เรียกว่าค่าข้าวม่ามน้ำนม

“แม่เลี้ยงสีทาเป็นเมียพ่อเลี้ยงสมหมาย เป็นแม่ไอ้มีงึกงัก ผัวอีสมศรี”

“แม่เลี้ยงสีทาเป็นจ่อมเจาะเดาะด้อยมาหลายปี” พ่อหมายถึงเจ็บป่วยกระเสาะกระแสะ รักษาทางใดก็ไม่หาย “หมอโม่งบ้านหนองผำแนะนำให้ทานข้าวลดเคราะห์ ก็เลยทำข้าวร้อยห่อทุกวัน เอามาทานแก่หมู่คนบ่าคนแรงหมู่หลายที่มาขุดถากหน้าดินปลูกแปลงโรงเรียน”

“ทานข้าวลดเคราะห์แล้วหายจากจ่ออมเจาะเดาะด้อยได้หรือพ่อ”

“ไม่ถึงกับหาย แต่ลดบาปเคราะห์พาเป็นได้ คนเรานะเอ็ง พอได้ให้ทาน ใจก็ฟูขึ้นจากเคราะห์จากภัยได้ ข้อสำคัญ ทานนั้นต้องออกจากใจ ไม่เต็มใจทาน แต่จำใจทาน ก็พาใจที่จอมจมในทุกข์ออกมาไม่ได้”

“พ่อเองล่ะ ใจพ่อเคยจ่อมจมในทุกข์บ้างไหม”

“เกิดเป็นคน มันก็มีด้วยกันทั้งนั้นแหละเอ็ง หนักบ้างเบาบ้างเท่านั้น”

พ่อเองก็เอาบ่าไหล่เรี่ยวแรงไปช่วยปรับถากหน้าดินให้ราบให้เพียงพอจะปลูกแปลงอาคารเรียนได้สะดวก  ที่ทางแถวนั้นยังเป็นละเมาะไม้ชายบ้าน เป็นป่าใช้สอยมาแต่ดั้งแต่เดิม ไม้ใหญ่ยังพอมีอยู่บ้างแต่ห่างๆกัน เป็นไหล่ดอยที่ลาดเอียงลงมาจากสันดอย ค่อยลาดต่ำลงไปติดถนนใหญ่เส้นเดียวของตัวจังหวัด บนไหล่ดอยที่สูงขึ้นไปทางตะวันตกมีมะม่วงดึกดำบรรพ์สูงใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง ไม่มีใครกล้าโก่นโค่นลิดรานก้านกิ่งใดๆ ทั้งสิ้น ไม่สูงใหญ่อย่างไม้ตะเคียนท้ายวัด แต่ขึ้นบนพื้นที่ซึ่งสูงกว่าจึงดูเหมือนว่าไม้มะม่วงจะสูงกว่าแต่ไม่ใหญ่กว่าไม้ตะเคียนท้ายวัด ไม้มะม่วงต้นนี้มีเรื่องราวเล่าขานอยู่เหมือนกัน วันภายหน้าถ้ามีโอกาสอาจได้มาเล่า

อาคารเรียนไม่ได้ตั้งชิดติดถนน แต่ตั้งบนเนินสูงขึ้นไป อยู่ห่างจากถนนราวสองร้อยเมตร หากมองจากถนน ที่ดินค่อยๆ ลาดขึ้นไป ไม่ว่าครูหญิงครูชายคนใด ต่างไม่มีใครปั่นรถขึ้นไปถึงลานหน้าอาคารเรียนเลย ขึ้นได้สักครึ่งทางต่างลงจูงทั้งนั้น สางสายวันเสาร์ พวกเราหลายคนไปโรงเรียนโดยไม่ได้นัดหมาย บ้างมาเกี่ยวหญ้า บ้างมาเสาะหามดแมงไปแกงกิน บ้างมาเอาหลัวเอาฟืน โรงเรียนมีพื้นที่กว้างขวางมาก ไม่มีรั้วรอบขอบชิดที่ชัดเจน พื้นที่ทางด้านหน้าลงไปหาถนนปลอดโปร่งโล่งเตียนไปมากแล้ว บางส่วนถูกปรับหน้าดินให้ราบเรียบเสมอกันเป็นสนามฟุตบอล แต่ส่วนใหญ่ที่ยังเหลือไม่ได้ปรับ จึงเอียงเทอยู่ ส่วนพื้นที่ทางด้านหลังเป็นป่าละเมาะหรือป่าใช้สอยของคนทั้งบ้าน แยกไม่ค่อยออกหรอกเพราะไม่มีแนวรั้วหรือหมุดหมายบอกที่บอกแดน

“มา เล่นอุ่มลี้กับฮา ไผบ่เล่น ฮาเตะ”

ไอ้ตัวร้ายประจำโรงเรียนละตะกร้ากับเคียวเกี่ยวหญ้าไว้ที่โคนต้นพุทราป่า ประกาศิตขึ้นว่าจงมาเล่นซ่อนหากับกู ใครไม่เล่นกูเตะ

มันเป็นเจ้าพ่อ เป็นตัวร้าย เป็นตัวป่วนที่ครูเองก็ปวดหัว ตัวมันใหญ่กว่าใครเพราะเป็นรุ่นพี่พวกเราถึงสองปีแต่สอบตกจึงต้องเรียนซ้ำชั้นร่วมกับพวกเรา ต่อหน้าครูมันก็ไม่ร้ายเท่าไร แต่ลับหลังครูมันชอบแกล้งชอบรังแกคนอื่นไม่เว้นแม้แต่ผู้หญิง มันชอบเอาหญ้าหัวยุ่งไปโยนใส่ผมผู้หญิง ไม่ได้โยนใส่ทั้งต้น แต่เอาผลกลมๆ ที่มีขนแหลมอยู่โดยรอบโยนใส่ ขนแหลมจะเกาะผมทำให้ผมยุ่ง บางทีพวกผู้หญิงล้อมวงเล่นหมากเก็บมันก็เอาบุ้งหนอนไปโยนใส่กลางวง หนอนคลานกระดื๊บ ๆ พวกผู้หญิงก็ร้องหวีดว้ายโวยวายลุกแล่นหนี มันจะตบมือหัวเราะชอบใจ

“อุ่มจะหลี้ จี้จะหลุบ อุ่มจะหลี้ จี้จะหลุบ”

การเล่นอุ่มลี้จะเริ่มต้นด้วยบทร้องเล่นบทนี้ ถ้อยคำโดยรวมๆ แล้วไม่มีความหมาย หากแยกแต่ละคำออกมา บางคำก็มีความหมาย ย่างคำว่าอุ่มหมายถึงปกหรือปิด จะหลี้ไม่มีความหมาย จี้มีความหมายตรงกับจี้ในภาษาไทยกลาง จะหลุบไม่มีความหมาย ส่วนคำว่าอุ่มลี้อาจจะแปลให้ง่ายได้ว่ามีทั้งการปิดและการซ่อน

อุ่มคือเอามือปิดตา

ลี้คือซ่อน

เริ่มเล่น หัวโจกจะแบมือข้างหนึ่ง ทุกคนที่ร่วมเล่นจะเอานิ้วชี้จิ้มใส่ในฝ่ามือที่แบไว้แล้วจะร้องว่า อุ่มจะหลี้ จี้จะหลุบ อุ่มจะหลี้ จี้จะหลุบ จบคำว่าหลุบก็จะหุบหรือรวบนิ้วที่กางแบ คนร่วมเล่นต้องชักนิ้วออกให้ทัน นิ้วใครถูกงับ คนนั้นจะเป็นคนแรกที่ต้องยกมืออุ่มหน้าเรียกว่าขี้แนด

ขี้แนดหรือตัวอุ่มจะนับหนึ่งถึงสิบช้าๆ ที่เหลือจะหนีไปลี้ แล้วขี้แนดก็ออกตามหา ใครถูกหาพบเป็นคนแรกจะต้องเป็นขี้แนดตัวต่อไป

สมยศคนบ้านลุ่มเป็นขี้แนดตัวแรก สมยศยกมือขึ้นอุ่มหน้าปิดตาแล้วเริ่มต้นนับหนึ่งถึงสิบ คนอื่นๆ หนีไปลี้ตามร่องหลุมพุ่มพงหรือกอไม้ใบหญ้าแล้วแต่ว่าจะเห็นเหมาะ สายวันนั้นทองอินทร์ไม่ได้มาที่โรงเรียน จะไปรับจ้างตักน้ำตำข้าวกับแม่มันที่ไหนไม่มีใครรู้ สมัยโน้นโรงสีก็มีแล้ว แต่ไม่ได้มีที่บ้านลุ่มบ้านบน มีอยู่ที่บ้านน้ำชำ คนที่มีรถถีบก็จะเอาข้าวเปลือกใส่กระสอบมัดซ้อนท้ายไปสีที่โรงสี คนไม่มีรถถีบก็ยังตำข้าวกิน สายวันนั้นสุมิตรก็ไม่ได้มา สายวันเสาร์อาทิตย์ สุมิตรมีหน้าที่ออกไปเก็บปิ่นโตมาแต่งเตรียมภัตตาหารเพลถวายพระเณร แต่ทุกๆ วัน สุมิตรมีหน้าที่ไปรับปิ่นโตที่บ้านเจ้าตุ้ยมาถวายหลวงพี่ก่อนไปโรงเรียน

บุญส่งเองไม่ได้ออกมาเสาะหามดแมงแมลงกินได้ แต่ตาใช้ให้มาขุดหญ้าเอ็นยืด มักขึ้นอยู่ตามขอบบวกควายใกล้ไปทางบ้านพักครูร้างที่ครูบุญชูตายคา แล้วบ้านพักครูก็ไม่มีครูท่านใดมาพักอีกเลย

บวกคือหลุมหรือแอ่ง บวกควายคือแอ่งที่ควายลงเกลือกปลัก หน้าฝนน้ำจะขังค่อนแอ่ง อึ่งอ่างร้องเอ็ดอึงเลย เป็นที่ลี้ลับน่ากลัวแห่งหนึ่งบริเวณโรงเรียน บางคนก็ว่าไม่ใช่บวกควาย แต่เป็นหลุมหลบภัยสมัยสงครามญี่ปุ่น มีหลายหลุม อยู่ห่างๆ กัน บางคนก็ว่าเป็นสนามเพลาะที่ทหารญี่ปุ่นขุดไว้ กลางค่ำกลางคืนมักมีคนเห็นทหารญี่ปุ่นออกมาเดินตบเท้าแล้วร้องว่าโอโซะๆ ฮ้าไฮ้

หลานคนเล็กของตามุดเข้าไปลี้ใต้พุ่มหญ้าแมงวายหรือหญ้าสาบเสือ ไม่ได้เอามืออุ่มตาไว้เพราะกลัวจะเห็นทหารญี่ปุ่นออกมาชักดาบซามูไรแล้วร้องว่าโอโซะๆ ฮ้าไฮ้ เรื่องเล่ามีมากมาย ส่วนคนตายก็มีทุกเส้นหญ้า ตาว่าอย่างนั้น กลัวทำไมกับผี ผีก็คือคนตาย วันหนึ่งเราก็ตายแล้วกลายเป็นผี

“ทำไมผีถึงชอบหลอกคนล่ะตา”

“คนกลัวผี มันจึงหลอกได้ แต่หมูหมากาไก่ไม่กลัวผี มันจึงหลอกไม่ได้”

“ถ้าเราไม่กลัวผี ผีก็ไม่หลอกใช่ไหม”

“ผีบางพวกก็ควรกลัว กลัวเกรงท่านไว้ก็จะดีกับตัว ผีส่วนมากไม่น่ากลัวหรอก น่าเวทนาเสียด้วยซ้ำ”

ตาพูดแปลกๆ ตาว่าผีส่วนมากไม่น่ากลัวแต่น่าสงสาร

“ผีใดควรกลัว กลัวเกรงท่านไว้แล้วดีกับตัว ผีใดไม่ควรกลัว แต่ควรเวทนาล่ะตา”

“ผีดีทั้งหลายควรกลัวเกรงท่านไว้ กลัวเกรงคือเคารพยำเกรง ผีปู่ย่า ผีหอผีเรือน แม่เชื้อเสื้อด้ำ ผีมเหสักข์อารักข์ทั้งหลาย อย่างนี้เป็นผีดีควรเคารพยำเกรง ผีไม่ควรกลัว แต่ควรเวทนาได้แก่ผีทั่วไปที่คนเข้าใจว่าเขามาหลอก ที่จริงไม่มาหลอก แต่มาแสดงตัวเท่านั้นเอง”

คำพูดของตาลึกซึ้งเกินไป เกินสติปัญญาลูกอ่อนเรียนชั้น ป.4 จะหยั่งรู้ ได้แต่จำ แต่แทงไม่ทะลุ

“อุ่มจะหลี้ จี้จะหลุบ อุ่มจะหลี้ จี้จะหลุบ”

เล่นอุ่มลี้วันนั้น เล่นกันอยู่จนใกล้เพล มีเสียงฆ้องมองๆ ดังจากวัด คงสิบเอ็ดโมงแล้ว สุมิตรออกเก็บปิ่นโต ขี้แนดตัวที่สามหรือสี่ออกตามหาตัวลี้ได้เกือบครบคนแล้ว ขาดไปแต่ไอ้ตัววายร้ายชอบหาเรื่องเพียงคนเดียว แต่หาเท่าไรก็ไม่เจอ พวกเราที่ไม่ใช่ขี้แนดก็ช่วยกันออกตามหา ไม่พบไม่พานที่ไหนก็เข้าใจไปว่ามันอาจแอบกลับบ้านไปแล้ว ต่างคนต่างกลับเรือนตน บุญส่งเอาหญ้าเอ็นยืดกำใหญ่ไปให้ตา

“ไยช้านัก”

“เล่นอุ่มลี้ ไอ้สมศักดิ์บังคับเล่น ใครไม่เล่นมันจะเตะ”

“เอ็งไปลี้ที่มะม่วงฝ้ายต้นนั้นไหม”

“บ่ไป”

“อย่าไปใกล้เด็ดขาด ผีโหงโพรงพรายร้ายกาจอยู่ที่นั่นยุบๆ ยับๆ เหล่านี้เป็นผีร้าย ไม่ใช่ผีดี”

“แล้วคนรมผึ้งล่ะตา เขาตอกทอยขึ้นเอารังผึ้ง ผีโหงโพรงพรายร้ายกาจทำอะไรเขาไม่ได้”

“เขามีครู”

“แล้วเมื่อไรตาจะให้หล้ารับครู”

“มีคายหน่อไล่ละยัง”

“คายหน่อยไล่?” หลานชายงงเป็นไก่ตาแตก “คายหน่อไล่คืออะไรหือ ตา”

“ไปถามอ้ายมึง”

“แล้วที่ตาเคยว่าผีไม่ได้มาหลอก แต่มาแสดงตัว มาแสดงทำไม หล้าไม่เข้าใจ”

“มาขอส่วนบุญ”

 

มุ้งหมอน เสื้อผ้าเก่าใหม่ตากพาดเต็มราว เรือนนี้มีแปดคน ชายสี่หญิงสี่พอดิบพอดี ยายเป็นคนขยัน นิสัยนี้สืบทอดมาถึงแม่และพี่เพ็ญ ส่วนพี่ทิพย์ไม่แน่ใจนัก ทั้งแม่และยายมักบ่นเรื่องพี่ทิพย์ทำงานลวกๆ ไม่เรียบร้อยแนบเนียนเหมือนพี่เพ็ญ งานซักเสื้อผ้าเป็นงานผู้หญิง วันนี้ซักมากยายจึงมาช่วยอีกแรง

ยายชื่อว่าบัวเกี๋ยง

เข้ามาเป็นสะใภ้ในครอบครัวของตา พ่อแม่ของยายได้ค่าข้าวม่ามน้ำนมเป็นควายน้อยเขาเพียงหูสองตัวกับจี้หูทองคู่หนึ่ง พี่สมศรีเมียอ้ายมีงึกงักก็เข้าไปเป็นสะใภ้ของพ่อแม่อ้ายมีงึกงัก จะได้อะไรเป็นค่าข้าวม่ามน้ำนมก็ลืมไปแล้ว พี่สมศรีเป็นคนดี ก่อนหน้านั้นอ้ายมีงึกงักก็มีเมียมาแล้วคนหนึ่ง แต่ดูเหมือนว่าไม่เป็นที่ถูกอกถูกใจของแม่เลี้ยงสีทาจึงถูกกดดันเก็บเสื้อผ้าข้าวของกลับไปอยู่เรือนเดิม แต่พี่สมศรีเป็นที่ถูกอกถูกใจของแม่เลี้ยง ภายหลังแม่เลี้ยงป่วยใหญ่ไข้ยาวซบแซ่วติดฟูก พี่สมศรีเช็ดขี้เช็ดเยี่ยวไม่ได้รังเกียจ หมดชั่วพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยง อ้ายมีงึกงักมั่งคั่งขึ้นมาแอบมีเมียลับเมียพรางอย่างที่ได้เล่าไปแล้ว เมียน้อยคนใดคนหนึ่งของอ้ายมีจ้างหมอม่านใช้อวิชชาต่อดำทำร้ายหมายฆ่าพี่สมศรี แต่ผู้เฒ่าหลักวัดทั้งสองกับรองเจ้าอาวาสร่วมกันแก้ได้ ต่อดำกลับไปเข้าเมียน้อยคนนั้นแล้วตกนรกทั้งเป็น ส่วนพี่สมศรีอยู่ดีมีสุขมาถึงอายุเจ็ดสิบกว่าปีค่อยตายจากไป ส่วนอ้ายมีงึกงักตายไปก่อน เป็นผีตายโหงรถตกดอยเมื่ออายุราวห้าสิบเศษเท่านั้นเอง

บ่ายแก่ๆ แดดแรงลมแรง ผืนแผ่นผ้าพลิกพลิ้วปลิวไหวเป็นภาพงดงามจำได้ติดตา สมัยนั้นเรายังไม่รู้จักผงซักฟอก แต่สบู่ซักผ้ามีขายแล้วเรียกว่าสบู่ลายกับสบู่ซันไลต์ ส่วนสบู่ถูตัวเรียกว่าสบู่หอมตรานกแก้ว ก่อนหน้านั้นขึ้นไป ย้อนหลังไปในวันคืนก่อนเก่ายาวนาน แม่ว่าสมัยเมื่อแม่ยังเด็กเวลาซักผ้าจะใช้ลูกหมากซักมาแช่ในหม้อแล้วตีให้ขึ้นฟอง แล้วเอาผ้าลงขยี้ทีละผืน สบู่ถูตัวยังไม่มี ใช้ซังบวบหอมถูตัว ยาสระผมก็ยังไม่มี ใช้มะกรูดเผาไฟ หรือใช้ใบหมี่หมักน้ำ หรือใช้ซังมะขามกับน้ำข้าวมวกก็แล้วแต่ใครจะชอบอันใด

บ่ายแก่ๆ หมู่บ้านเงียบเชียบ น้องชายคนเล็กติดตามพี่ชายคนโตไปดูแลควาย เราสองคนพี่น้องอายุห่างกันเจ็ดปี บางทีก็เหมือนครูกับลูกศิษย์ ชื่อจริงของพี่ชายว่าสุพจน์ แต่พวกเราที่เป็นน้องเรียกว่าไอ้อ้ายจนติดปาก จนเกือบจะลืมชื่อจริงไปเลย ไอ้อ้ายเรียนหนังสือไม่จบชั้น ป.4 ก็ออกโรงเรียน สาเหตุที่ออกเหมือนจะเกี่ยวข้องกับความป่วยไข้พยาธิร้ายอันใดอันหนึ่งลืมไปเสียแล้ว ไอ้อ้ายไม่ได้ไปสอบไล่ก็เลยสอบตก แล้วก็เลยเลิกเรียนไม่ไปซ้ำชั้นเพราะอับอายที่คายหน่อไล่ขึ้นแล้ว

“ไอ้อ้าย คายหน่อไล่คืออะหยัง”

“หือ” พี่ชายมีท่างวยงงไม่ต่างจากน้องชายเมื่อช่วงใกล้เที่ยง “ถามทำไมคายหน่อไล่หน่อบง”

“หล้าถามตาว่าเมื่อไรจะให้รับครู ตาถามว่าคายหน่อไล่มีละยัง”

“อ๋อ” พี่ชายหัวเราะ ยื่นมือมาขยี้หัวน้องชาย “เอ็งอยากรับครูจากตาหรือ หากคายหน่อไล่ยังไม่ขึ้นก็รับครูไม่ได้ ธาตุขันธ์จะแตก” (1)

“ธาตุขันธ์คืออะไร”

“ไปถามตา”

“วะ โยนกันไปก็โยนกันมา”

 

พี่ชายล่ามควายทิ้งไว้ที่นาของตา ต้องเดินไปตามถนนที่ตัดผ่านด้านหน้าของโรงเรียนขึ้นไปทางทิศเหนือ ฟากตะวันตกเป็นพื้นที่ลาดสูงขึ้นไปจนถึงสันดอยที่ยาวเป็นแนวจากใต้ขึ้นเหนือเรียกว่าไหล่ดอย บ้านบนอยู่บนส่วนที่เป็นไหล่ดอย ส่วนบ้านลุ่มเป็นตีนดอยติดนา สุดเขตหมู่บ้านเป็นทุ่งนากว้างขวางเรียกว่าทุ่งปู่หนาน นาของตาเป็นส่วนหนึ่งของทุ่งปู่หนาน ปู่หนานเป็นคนเก่าแก่ดั้งเดิมที่ความทรงจำของคนลบเลือนไป ตาว่าเป็นขุนกินนาผู้หนึ่งที่เจ้าหลวงท่านใช้ให้มาปกครองดูแลหย่อมย่านบ้านช่องแถวนี้แต่สมัยเมื่อฟื้นฟูบ้านเมืองขึ้นจากการปกครองของม่านเม็งอังวะหงสาโน่นแล้ว

“ไอ้อ้ายถือคาถาใดขึ้นแล้ว”

“คาถาเทวาวุธ”

“คำยากคำเย็น เวทาวุดคืออะไร”

“เทวาวุธ” พี่ชายหัวเราะ” เทวาวุธคืออาวุธของเทวดา”

“ใช้อย่างใด”

“เสกก้านข่าฟันผี ต่อให้มันมีหัวเป็นร้อยก็ฟันขาดหมด”

“หล้าใคร่ได้”

“อะไรๆ เอ็งก็ใคร่ได้ มีอะไรบ้างที่เอ็งไม่อยากได้ เอาไว้ก่อน รอคายหน่อไล่ขึ้นก่อน ค่อยเรียนเอาจากตา”

เพลิดเพลินเลย ลืมเรื่องที่ไอ้ตัวร้ายหายแสบหายสอยเหมือนนกบินลอยเข้าป่าไม้ไปหมด ถึงนาของตาที่พี่ชายล่ามควายติดแร้วเอาไว้ ปลดควายออกจากแร้ว เอาควายไปกินน้ำ แร้วคือหลักล่ามควายรูปร่างคล้ายแร้วที่ใช้ดักหนูแต่ขนาดใหญ่โตกว่ามากเพราะใช้ไม้ไผ่ทั้งลำ แร้วล่ามควายต้องปักบนนาของตัวเองเท่านั้น จะเที่ยวปักเรื่อยเปื่อยบนนาของคนอื่นไม่ได้ บ้านเราถือสากันมาอย่างนี้ แต่หากเป็นพื้นที่ไม่มีเจ้าของก็อาจปักได้ ที่ทางแถวปลายขอบแดนโรงเรียนความจริงก็มีเจ้าของ แต่คนก็เอาแร้วควายไปปักบ้างเหมือนกัน เวลาจะล่ามควาย ก็เอาปลายแร้วลงมาแล้วเอาเชือกล่ามควายผูกกับปลายแร้ว ควายจะวนเวียนหากินได้ไกลเท่ากับความยาวของเชือกรวมกับความยาวของคานแร้ว คานแร้วจะติดอยู่กับหลักแร้ว ส่วนปลายสุดของคานแร้วด้านโคนจะถ่วงไว้ด้วยท่อนไม้หนักๆ เวลาเราปลดควาย ท่อนไม้หนักๆ จะถ่วงลงดิน ปลายแร้วจะชี้โด่ขึ้นไปบนฟ้า

เอาควายคืนคอก ตะวันลอแลใกล้ลับหลังดอย ปลีกตัวไปตักน้ำจากบ่อเอาไปเทใส่หม้ออาบน้ำในซุ้มน้ำ อิฐเก่าแก่มีตะไคร่เกาะบ้าง เปื่อยยุ่ยไปบ้าง ไม่ได้สอด้วยปูนซีเมนต์เพราะยังไม่รู้จักกันเลย ใช้ดินแดงเป็นเครื่องสอ อาบน้ำยังไม่ทันเสร็จดีนักมีเสียงหมาเห่า มีเสียงหญิงเสียงชายหลายคนเอะอะทางประตูรั้วด้านหน้า น่าจะมีใครเดือดร้อนแล้วมาขอให้ตาช่วยอีกแล้ว

รีบเข้าเสื้อเข้าผ้า ออกซุ้มน้ำไม่ขึ้นเรือนทางกระไดหลัง อ้อมเรือนไปทางหน้า ผู้มาหาตาคือพ่อแม่ของไอ้ศักดิ์ตัวร้าย

 

ย้อนนึกกลับไปในวัยเยาว์เก่าก่อน มันเป็นเรื่องพึงกลัว บางเรื่องถึงกับขนหัวลุกอย่างผีตายพรายที่หลวงพี่ร้องเรียกเพรียกมันขึ้นมาจากหลุมเป็นต้น ยังมีเรื่องอื่นๆ อีก ค่อยนึกค่อยเล่าไป แต่เรื่องที่เกิดขึ้นจากการเล่นอุ่มลี้วันนั้นไม่ถึงกับชวนขนหัวลุก แต่เป็นเรื่องชวนฉงน เป็นเรื่องที่พวกเราอธิบายไม่ได้ เข้าใจไม่ถูก พ่อแม่ไอ้วายร้ายที่ตายเอามีดปักอกตัวเองเข้าบ้านมาขอร้องตาว่าช่วยสอดส่องมองในให้เห็นคนหายด้วยเถิด สมศักดิ์ยังกลับไม่ถึงบ้านเลย ตะกร้ากับเคียวเกี่ยวหญ้ายังอยู่ที่โคนพุทราป่า แต่ว่าตัวมันอยู่ที่ไหนไม่รู้

ตาขึ้นไปบนโถงบ้าน นั่งลงตรงอาสนะฟางถักเป็นแผ่นกลมแบนแต่หนา ตาจุดธูปเทียนไหว้พระ ตาเอาประคำที่ครูของท่านมอบให้มาพันรอบฝ่ามือขวาแล้วนั่งทำสมาธิ นั่งนิ่งไม่ติงไหวอยู่นาน นานมาก แล้วตาก็ทอดถอนใจลืมตาขึ้นมา ท่าทีหนักเหนื่อยเหมือนแบกกระสอบข้าวเดินฝ่าแดด

“มันอยู่ในที่ลับลี้บดบัง มีบางอย่างบังคับมันไว้”

“ลูกข้าจะตายไหม พ่อหนาน”

“วันนี้ยังบ่ตาย สองสามวันไปหน้าหากหาไม่พบก็อาจตาย”

“พ่อหนานช่วยมองอีกทีเทอะ เอาให้รู้แจ้งเห็นจริง มันอยู่ตรงไหน”

แม่ของสมศักดิ์ยังรุกเร้าเซ้าซี้จะเอาคำตอบที่ตนพอใจ ตาถอนใจ เหลือบตามองเหมือนตำหนิ พ่อของสมศักดิ์คงเข้าใจสายตาของตาจึงตัดบทว่าวันนี้ก็มืดค่ำดำเข้มแล้ว ถึงหาก็คงหาไม่พบ แล้วเขาก็พากันลงจากบ้านไป วันใหม่เขาไปตามหาอีก เขาไปได้ยินเสียงร้องไห้วอแวอยู่บนยอดมะม่วงฝ้ายสูงใหญ่ ไอ้สมศักดิ์มันขึ้นไปได้อย่างไร มันเองแม้โตกว่าพวกเราแต่อายุก็เพียง 12 ขวบ ต่อให้ใหญ่โตเป็นบ่าวแถ่วแอวยาวขนาดไอ้อ้ายก็ไม่มีใครกล้าขึ้น

มะม่วงฝ้ายดึกดำบรรพ์ต้นนั้นใหญ่สักสามสี่โอบ สูงสักเท่าไรไม่รู้ สักสองชั่วลำไผ่เป็นอย่างต่ำ มีแต่คนรมผึ้งเก่งๆ เท่านั้นที่ตอกทอยขึ้นไปเอารังผึ้งลงมาได้ แต่ไอ้ตัวร้ายกลับขึ้นไปร้องไห้วอแวเสียงดังแหว่ๆ เหมือนลูกอ่อนลูกแอร้องแงๆ ขอกินนมแม่ เสียศักดิ์ศรีไอ้ตัวร้ายไปหมดเลย ทางเดียวที่จะมันขึ้นไปได้ก็คือผีเอามันขึ้นไป

แต่ผีไม่เอามันลงมา

จำไม่ได้ชัดนัก เหตุการณ์ผ่านไปห้าสิบกว่าปีแล้ว ดูเหมือนว่าจะเสียเวลากันเกือบทั้งวันในวันนั้น ต้องไปขอคนรมผึ้งมาช่วย กว่าเขาจะมาถึงก็บ่าย กว่าจะขึ้นไปถึงแล้วเอาเชือกค่าวเส้นเท่าเชือกล่ามช้างมัดตัวมันแล้วหย่อนลงมาก็เย็นย่ำมากแล้ว เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้สมศักดิ์หายซ่าไปอีกนาน แต่ท้ายๆ ปลายปีมันก็เริ่มร้ายอีก แม้เมื่อจบ ป.4 มันก็ยังมาราวีเด็กรุ่นน้องอยู่บ้าง สร้างความเดือดร้อนถึงครู ถึงพ่อแม่มัน พ่อแม่ผู้ปกครองคนนั้นคนนี้ มีการคาดโทษสบถสาบานอะไรสักอย่างระหว่างพ่อแม่มันกับพ่อแม่ผู้ปกครองรุ่นน้องรุ่นหลัง โดยมีพ่อหลวงหรือผู้ใหญ่บ้านรับรู้ หากมันไปทำร้ายรุ่นน้องผู้นั้นอีก เขาจะจับมันไปขังคอก

ขังคอกคือติดคุก เป็นสิ่งที่คนบ้านนอกคอกนายุคนั้นหวาดกลัว

สมศักดิ์คนเกเรค่อยออกไปจากความทรงจำของลูกพ่อบุญยืนหลานปู่หนานสิน มันกลับสู่ความทรงจำอีกครั้งเมื่อเรียนชั้น ม.ศ.3 มันแทงทองอินทร์ตาย ข่มขืนพี่แสงคำแม่ของทองอินทร์แล้วฆ่าปิดปาก มันหนีหายจนคนนึกว่ามันตายไปแล้ว ราวยี่สิบปีให้หลังมันกลับมาแล้วฆ่าตัวตาย เขาว่าผีพี่แสงคำอาฆาตพยาบาทจองเวรมัน เรื่องราวเล่าลือมีหลายอย่าง บ้างว่าตัวมันหนีไปแล้วแต่ผีเขาสามคนพ่อแม่ลูกตามหลอกตามหลอนจนมันอยู่ไหนก็ไม่เป็นสุข พ่อของทองอินทร์ตายไปแต่ทองอินทร์ยังตัวน้อยๆ ตายเพราะตุ่มพิษขึ้นตามตัว ตุ่มพิษเป็นโรคร้ายชนิดหนึ่งที่คนสมัยก่อนกลัวกันมาก จะมีตุ่มขึ้นแล้วขบหนองลุกลามเจ็บปวดทรมานมาก รักษาไม่ทันจะตาย ต่อมาภายหลัง เมื่อเรียนหนังสือมากๆ จึงรู้ว่าตุ่มพิษก็คือโรคแอนแทรกซ์ที่แพร่จากสัตว์สู่คน

สมศักดิ์อาจหนีกฎหมายพ้นแต่หนีบ่วงกรรมไม่พ้น ภายหลังต่อมา ก็ยังมีผู้พบเห็นผีมันออกมาหลอกหลอน เอามีดแทงอกตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า

“ผู้ใดฆ่าตัวตาย ได้ชื่อว่าทำลายกฎแห่งกรรม” ตาพูด

“ทำลายอย่างใด” หลานถาม

“มันบ่ยอมรับผลแห่งกรรมที่ได้ทำไว้แล้ว มันนึกว่าฆ่าตัวตายก็หลบหนีผลแห่งกรรมที่มันได้ทำไว้พ้นแล้ว อันนั้นบ่ถูก บ่มีผู้ใดหลบหนีผลแห่งกรรมได้เด็ดขาด ฆ่าตัวตายก็หนีกฎแห่งกรรมบ่พ้น หนักหนากว่าเดิม ผลที่มันจะได้รับหนักหน่วงกว่าเก่า มันจะต้องมาฆ่าตัวตายซ้ำแล้วซ้ำเล่า ฆ่าไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดอายุขัย แล้วจึงค่อยไปตามกรรมอันอื่นที่มันได้ทำมา”

“สมมุติว่าอายุขัยมันอยู่ที่อายุ 60 ปี ผีมันจะต้องออกมาฆ่าตัวตายไปจนกว่าจะครบ 60 ปีอย่างนั้นหรือตา”

“ถูกต้องแล้ว หลังจากนั้นมันจึงค่อยไปเสวยผลแห่งกรรมอันอื่นที่มันได้ทำมา”

“แล้วที่ว่าผีไม่หลอก แต่มาแสดงตัวขอส่วนบุญ มาขอทำไม”

“เพราะมันไม่มีบุญ”

“ทำไมบุญมันไม่มี”

“บุญมันหมดแล้ว เมื่อเป็นคนมัวเมาประมาท ไม่สร้างสมผลบุญไว้มากเพียงพอ พอตายเป็นผีไม่ทันได้ไปเกิด บุญเก่าหมดเสี้ยงจึงมาขอจากคน”

 

เชิงอรรถ :

(1) คายหน่อไล่ หมายถึงขนอ่อนแรกขึ้นในที่ลับของเด็กหญิงเด็กชายที่กำลังจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ มีลักษณะคล้ายๆ ขนคายของหน่อไม้ไผ่ไล่ มีข้อห้ามทางความเชื่อของคนบางท้องถิ่นว่าหากยังไม่ถึงวัยนี้ ไม่ควรร่ำเรียนวิชาคาถาอาคมที่เรียกว่ารับครูหรือรับขันครู หากฝ่าฝืนอาจทำให้ธาตุขันธ์หรือร่างกายและจิตใจรองรับไม่ไหว หากธาตุขันธ์แตกก็อาจถึงตายหรือเป็นบ้า

 



Don`t copy text!