ละอ่อนบ้านบน บทที่ 2 : เพื่อนผู้อาภัพ

ละอ่อนบ้านบน บทที่ 2 : เพื่อนผู้อาภัพ

โดย : มาลา คำจันทร์

Loading

เมื่อครั้งความเจริญยังไม่ย่างกรายเข้ามาในดินแดนแห่งนี้ ภูตผีดีร้ายและความเชื่อหลากหลายยังวนเวียนอยู่รอบกาย ผีกับคนอะไรน่ากลัวกว่ากัน ผีมีจริงหรือไม่ ผีคือะไรกันแน่ ‘ละอ่อนบ้านบน’ คือนวนิยายเรื่องล่าสุดโดย มาลา คำจันทร์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ ๒๕๕๖ จะพาคุณไปสำรวจเรื่องราวส่วนลึกในใจของผู้คนและในใจของตัวเราเอง

แต่เดิมมานั้น โรงเรียนวัดมังคลารามอยู่ในวัด อาศัยศาลาบาตรของวัดเป็นที่สอนที่เรียน ต่อมาราชการท่านย้ายโรงเรียนออกจากวัดมาปลูกแปลงแต่งสร้างอยู่ยังพื้นที่ปัจจุบัน ตัวโรงเรียนเป็นอาคารไม้ยกพื้นสูงสักสองศอก มีสี่ห้องเรียน กับหนึ่งห้องพักครู เหมือนๆ ว่าจะสร้างมาแต่ปี 2495 เมื่อบุญส่ง สุมิตร สมยศ คำผุยคำผายเพิ่งชวนกันคลานออกมาจากท้องแม่โน่นแล้ว พวกเราเป็นเพื่อนกัน เป็นละอ่อนบ้านบนบ้าง ละอ่อนบ้านลุ่มบ้างแต่ก็เป็นบ้านเดียวกัน ทางราชการท่านจัดให้เป็นหมู่ที่ 11 คนบ้านอื่นเรียกว่าบ้านทุ่งตีนดอย แต่เราแยกเรียกเป็นบ้านลุ่มบ้านบนโดยเอาแนวถนนใหญ่สายหลักเป็นเส้นแบ่ง บ้านทุ่งตีนดอยมีประชากรทั้งหมดเกือบสองร้อยครัวเรือน โรงเรียนมีนักเรียนแปดสิบกว่าคน ที่จำได้เพราะข้างฝานอกห้องพักครูมีกระดานแผ่นหนึ่งแสดงจำนวนนักเรียนแต่ละชั้น กระดานอีกแผ่นเป็นรายชื่อครู อีกแผ่นอยู่ข้างบนเป็นรายชื่อครูใหญ่ที่สืบเนื่องกันมา

“มึงรู้ไหม ครูบุญชูเป็นอะไรตาย”

อยู่มาวันหนึ่ง สมยศก็ตั้งปัญหาขึ้นมา ตอนนั้นพวกเรากำลังช่วยกันถูระเบียงแล่นผ่านหน้าห้องทั้งห้าไปตามความยาวของตัวอาคาร ไม่ได้ใช้ผ้าชุบน้ำมาถู แต่ใช้มะพร้าวแห้งทั้งลูกผ่าครึ่งเป็นเครื่องมือขัดถู ทั้งขัดทั้งถูจนกระดานเลื่อมปลาบ พวกผู้ชายทั้งนั้นที่เป็นคนถูเพราะต้องใช้แรงมาก ท่าทางการถูก็ผาดโผน เราจะใช้เท้าข้างที่ถนัดเหยียบมั่นบนเปลือกมะพร้าวแห้งผ่าครึ่ง เท้าอีกข้างเหยียบพื้นแล้วออกแรงถูบิดเอวบิดขาออกท่าฉวัดเฉวียน พวกเด็กเล็กๆ ชั้น ป.1 ป.2 เรี่ยวแรงไม่พอก็จะขัดถูด้วยมือในท่านั่งยองๆ หรือนั่งคุกเข่าแล้วแต่ถนัด ส่วนพวกนักเรียนหญิงครูจะให้ปัดกวาดทำความสะอาดในห้อง

ครูบุญชูเป็นครูใหญ่เก่าคนหนึ่งที่มีชื่อบนกระดาน

“เป็นลมตายไม่ใช่หรือ” สุมิตรย้อนถาม

“ไม่ใช่ ครูบุญชูโดนผีบิดคอ คอเหลียวกลับหลังเลย พ่อกูว่า”

 

ย้อนนึกไปถึงคืนนั้น ดึกดื่นค่อนคืนที่ตามหลังหลวงพี่ไปดูพรายถูกเรียกให้ลุกถูกปลุกให้ตื่น เดือนดับเดือนแดงแฝงอยู่หลังเมฆหนา ป่าช้ามืดดำยามดึก หลังต้นไม้ทุกต้นเหมือนจะมีผีโหงผีห่า ผีป่าผีบ้าน ผีตายเน่าตายนานหลวงหลายแลบหน้าออกมาออกมาดูเรา ไม่มืดจนดำไปหมด กองไฟที่เณรสิทธิ์ก่อไว้ยังลุกอยู่ แต่เทียนสะกดวิญญาณเล่มเท่านิ้วโป้งดับไปแล้ว ดินกลบหลุมผีเริ่มปริแตกเป็นปล่องเป็นรู แล้วผีตายพรายตนนั้นก็ลุกทะลึ่งผลึงโผล่ขึ้นมา ผมหัวไอ้มิตรลุกเด่ทุกเส้น แม่ผีแม่พรายตัวนั้นยื่นมือคว้าหมับที่คอหลวงพี่

บุญส่งดับวูบไปเลย

ก่อนดับเหมือนมีมือใหญ่ยื่นจากไหนไม่รู้มาปิดหน้า รู้ตัวอีกทีเพราะถูกเขย่าเรียก หลวงพี่นั่นเอง ท่านถูกผีถูกพรายก้นหลุมยื่นมือยาวมาคว้าคอ แต่ท่านไม่เป็นอะไรเลย

“ผีตัวนั้น…”

“ตุ๊พี่ส่งมันลงก้นหลุมไปตามเดิม เอาละเรียบร้อยแล้ว ไม่มีอะไร ปลอดภัยทุกคน กลับกุฏิ ห้ามรู้ถึงหูตุ๊หลวงตุ๊รองเด็ดขาด หาไม่จะเรียกพรายไปบิดคอ”

แต่ทว่าลงมาถึงลานพระเจดีย์เท่านั้นเอง เสียงกระอือกระแอมก็ดังขึ้น สะดุ้งกันทุกคนไม่เว้นแม้หลวงพี่

“ครูบา!”

โรงเรียนวัดมังคลารามมี 4 ชั้น ครูมี 4 คนเป็นชายสองหญิงสอง ครูใหญ่ชื่อครูอนันต์สอนชั้น ป.1 ครูลัดดาวัลย์สอนชั้น ป.2 ครูแจ่มจันทร์สอนชั้น ป.3 ครูบรรจงสอนชั้น ป.4 บ้านพักครูก็มีแต่ไม่มีครูมาพักสักคน คุณครูต่างถีบรถถีบมาสอนกันทั้งนั้น แต่พวกเราเหล่าลูกเล็กเด็กชายหญิงสองสามหมู่บ้านต่างเดินมาทั้งนั้น สองสามหมู่บ้านที่เอ่ยถึงได้แก่บ้านทุ่งตีนดอย บ้านหนองผำและบ้านสันผักหวาน

สมยศมีเหย้าเรือนอยู่ทางบ้านลุ่ม คืนนั้นมันไม่ได้ไปเห็นหลวงพี่เรียกพราย แต่เช้าวันนี้มันเอาเรื่องครูใหญ่เก่ามาล่อว่าไม่ใช่ตายเพราะเป็นลม แต่ตายเพราะผีบิดคอ

“พ่อมึงเห็นกับตาหรือ” สุมิตรแย้ง “ผีบิดคอครูบุญชูกลับหลัง”

“ตอนผีบิดคอครูบุญชูพ่อกูไม่ได้เห็นกับตา” สมยศหยุดเท้าที่เหยียบบนมะพร้าวแห้งผ่าครึ่ง ชะโงกหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอาคารที่มีบ้านพักครูตั้งอยู่ “แต่พ่อกูเป็นคนแรกที่กระแทกประตูห้องนอนครูเข้าไป”

“แล้วอย่างใดอีก เป็นอย่างใด” บุญส่งกระชั้น

“อยากรู้หมู่มึงเอาหนังว้องหื้อกูคนละห้าเส้น”

“สามเส้นเทอะ” คำผายต่อรองขึ้น มันเข้ามาแอบฟังแต่เมื่อไรพวกเราไม่ทันสังเกต

“บ่ได้ เรื่องนี้ม่วน ต้องคนละห้าเส้น”

“ก็ได้ๆ”

คำผายรูดหนังว้องหรือยางยืดออกจากข้อมือก่อน คำบ้านเราเรียกหนังว้อง คำไทยเรียกยางยืด เป็นของหายาก เป็นเครื่องเชิดหน้าชูตาของไอ้อี ป.4 ป.3 สมัยนั้นไม่มีขาย หรือมีขายแต่พ่อแม่เราไม่ยอมซื้อให้เราใส่ก็ไม่รู้ พวกเราต้องพากเพียรเก็บหอมรอมริบเอาได้ทีละเส้นสองเส้นจากยางรัดข้าวของที่พ่อแม่เราซื้อมาจากตลาด ใครมีใส่มากๆ ก็โก้มากๆ มันไม่ได้บอกแต่ความโก้เท่านั้น แต่มันบอกถึงความเก่งได้ด้วย พวกคนเก่งเขาจะได้ยางยืดเพิ่มขึ้นจากการละเล่นที่มีสินพนันเป็นตัวประกอบ อย่างอีคำผายก็เป็นผู้หนึ่งที่มีหนังว้องใส่ข้อมือหนาเตอะราวกับกำไลมือ

คำผายเป็นอีผู้ สมัยโน้นผู้หญิงที่กระเดียดมาทางผู้ชายจะรียกว่าอีผู้ ส่วนผู้ชายที่กระเดียดไปทางผู้หญิงเรียกว่าผู้เมีย คำผายเก่งในหมู่ผู้หญิงแล้วชอบมาท้าพนันในหมู่ผู้ชาย ชอบเข้ามาจุ้นจ้านวุ่นวายในการละเล่นแบบผู้ชายเช่นทอยกอง โยนหลุม ยิงเป้า เป็นต้น การละเล่นของเด็กผู้หญิงอย่างเล่นหม้อข้าวหม้อแกง เล่นหมากเก็บมันไม่ชอบ เสาร์อาทิตย์ก็สลัดผ้าถุงนุ่งกางเกงไปเลี้ยงควาย จนบางทีเราก็ลืมนึกไปว่ามันเป็นผู้หญิง

 

ยังเช้าอยู่ ครูยังไม่มา โรงเรียนเข้าเก้าโมง เลิกบ่ายสาม ก่อนโรงเรียนเข้าพวกเราต้องทำเวรให้เรียบร้อยเสียก่อน มีเวรขัดถูระเบียง เวรรดน้ำดอกไม้รอบๆ เสาธง เวรตักน้ำใส่ส้วม เวรเก็บกวาดรอบๆ อาคารเรียนเป็นต้น เช้าวันนี้นักเรียนชายชั้น ป.4 ห้าหกคนทำเวรขัดถูระเบียง อีผู้เข้ามาร่วมด้วย มันชอบสุงสิงในหมู่ผู้ชาย ไม่ชอบสิงสู่ในหมู่ผู้หญิง

“ฮากเลือดหนังว้องกูห้าเส้นแล้ว รีบเล่าเลยมึง”

ทองอินทร์กระตุ้นว่ามึงแดกยางยืดกูห้าเส้นแล้ว รีบเล่า สมยศกระอือกระแอม เสียงกะโหลกมะพร้าวครึ่งใบที่ใช้ขัดถูพื้นกระดานเพลาลง สมยศยืดคอยาวมองไปยังบ้านพักครูที่ร้างไปแล้วอย่างน้อยห้าหกปีนับแต่ครูบุญชูตาย มันว่าวิญญาณครูใหญ่คนเก่ายังอยู่ ยังไม่ไปไหน ยังไปไหนไม่ได้เพราะต้องหาตัวตายตัวแทนให้ได้เสียก่อน ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีครูคนใดกล้าไปพักอยู่ที่บ้านพักครูอีกเลย

สมยศเล่าว่าครูบุญชูท่านเป็นคนห้าวๆ บ้านท่านอยู่ไกล ชาวบ้านสามสี่หมู่บ้านจึงพร้อมใจกันปลูกแปลงบ้านพักครูหลังน้อยให้ท่านพัก แต่ต่อมาท่านผิดพลาดผีจึงบิดคอจนหน้าหันกลับ

“ท่านผิดพลาดอันใด…”

ไม่ทันที่สมยศจะตอบ ก็มีเสียงข่มขู่คุกคามมาว่าหมู่มึงรีบถูให้เสร็จ ไม่เสร็จกูจะชกหัว

“ไอ้ศักดิ์…”

หลายเสียงหลุดจากหลายปาก แล้วเสียงโกกๆ กากๆ อันเนื่องจากกะลามะพร้าวขัดถูกับพื้นกระดานก็รีบดังขึ้นทันที ทองอินทร์ตัวเล็กกว่าเพื่อนปากเบะหน้าเบ้เหมือนจะร้องไห้ออกมา

ทองอินทร์กลัวสมศักดิ์มาก บางครั้งกลัวจนตัวสั่นเหมือนนกเหมือนหนูที่แมวคาบมาเล่น ทองอินทร์เป็นลูกกำพร้าพ่อ บ้านอยู่ทางท้ายวัดทิศตะวันตกเฉียงใต้ ถือว่าไม่อยู่ในเขตหมู่บ้านเพราะพื้นที่แถวนั้นเป็นป่าใช้สอยของคนทั้งบ้าน เป็นพื้นที่สูง ลำบากมากเรื่องน้ำกินน้ำใช้

ทองอินทร์คือเพื่อนผู้อาภัพของพวกเรา

 

“ครูบุญชูโดนผีบิดคอจริงหรือตา”

“เอ็งเอาที่ไหนมาว่า”

“ไอ้สมยศว่าพ่อมันเป็นคนแรกที่ถีบประตูเข้าไป แล้วพบครูบุญชูคาที่นอน ตัวหันไปทางหน้า หน้าหันไปทางหลัง”

“เข้าใจพูด ตัวหันไปทางหน้า หน้าหันไปทางหลัง ว่าแต่เอ็งเถิด ไปป้วนเปี้ยนวอแวแถวบ้านพักครูร้างบ้างหรือไม่”

“ไม่เลยตา ยิ่งไปคนเดียว ยิ่งไม่กล้าไป”

“เป็นใดบ่กล้า”

“กลัว”

“อือ กลัวก็ดี กล้าก็ดี กล้าโดยบ่กลัวบ่ดี กลัวโดยบ่กล้าก็บ่ดี”

เป็นยามบ่ายแก่ควรแก่การติดตามพี่ชายไปต้อนควายคืนแหล่งแล้ว แต่หลานชายคนเล็กที่ร่วมหลังคาเรือนกับตายังไม่ลุกไป ตาอายุราว 68 เส้นผมหงอกขาว เลยหัวเข่าขึ้นไปจนเกือบถึงสะดือมีรอยสักดำมืดเต็มไปหมด เรียกว่าสักขาก้อม

“สักไว้เยียะหยังตา ลายพุ้ย”

“เปิ้นสักเฮาสัก” ตาว่าคนอื่นสักเราก็สัก “ชายผู้ใดบ่สักหมึกหาเมียยาก ว่าแต่เอ็งเถิด ไอ้หล้า ยกเอาเรื่องครูบุญชูมาตั้ง ติดข้องสงสัยอันใด”

“ไอ้สมยศว่าครูบุญชูเป็นคนห้าวๆ แล้วไปผิดพลาดอันใดสักอย่าง ผิดพลาดอย่างใด”

ตาวางมีดเหลาในมือขวา ถอดปลอกสวมนิ้วชี้มือขวาออก ปลอกเป็นรังหนอนบุ้งตัวใหญ่คล้ายปลอกหนอนไหมแต่ใหญ่กว่ามาก แน่นเหนียวมากยากที่คมมีดจะบาดเข้าถึงนิ้ว มันเป็นบุ้งหนอนตัวใหญ่ชอบกินใบฝรั่ง ใบกระท้อนและใบกระดังงา เมื่อมันโตเต็มที่ จะคายเส้นใยออกจากปากแล้วลากพันหุ้มตัวไม่รู้กี่พันกี่หมื่นรอบ มันจะอยู่ในปลอกนี้ไม่กินอะไรอีกเลย จนถึงเวลาหนึ่งที่มันฟักตัวจนแก่เต็มที่จะกัดปลอกออกมาเป็นผีเสื้อตัวใหญ่ที่เราเรียกว่าก่ำเบ้อช้าง เวลามันกางปีก ปีกสองข้างจะกว้างกว่าฝ่ามือเราเสียด้วยซ้ำ

 

ราวบ่ายสี่กว่าๆ แล้ว พี่ชายคนโตไม่รอน้องชายคนเล็กก็ออกไปเอาควายคืนแหล่งก่อน ไอ้หล้ายังอยู่กับตา

“ที่เอ็งถามว่าครูบุญชูผิดพลาดอันใด” ตาพูด “หากตาตอบข้อผิดพลาดอันนั้นแล้ว เอ็งจะผิดพลาดอย่างครูบุญชูไหม”

“ไม่”

“ดีแล้ว อันใดบ่ดีอย่าเอาเป็นตัวอย่าง ครูบุญชูเป็นคนดีผู้หนึ่ง เอาใจใส่หน้าที่การงานดี ชาวบ้านรัก แต่ท่านอวดห้าวอวดหาญ ท่านท้าผี”

“ผีไม่ควรท้าใช่ไหมตา”

“ไม่ว่าผีหรือคน ไม่ควรท้าทั้งนั้น ครูบุญชูอยู่ดีๆ ก็ไม่อวดห้าวอวดหาญนะเอ็ง แต่พอเหล้าเข้าปาก มักท้าผีท้าสาง เอ็งเห็นไหม มะม่วงฝ้ายต้นใหญ่ อยู่ทางตะวันตกโรงเรียนน่ะ ต้นนั้นละ ครูบุญชูเยี่ยวรด”

“มะม่วงฝ้ายต้นใหญ่ เยี่ยวรดไม่ได้หรือตา”

“จะต้นใหญ่ต้นเล็กก็บ่ควรเยี่ยวรดทั้งนั้น มันบ่เหมาะสม เป็นกิริยาอันหยาบ น้ำเยี่ยวถือว่าเป็นของเน่าของเสียที่ถูกขับออกจากร่างกาย บ่ควรเอาของเน่าของเสียไปรดท่าน เราบ่ใช่คนถ่อย ของอันถ่อยบ่ควรเอาไปรดของอันดี ต้นไม้ต้นตอกเป็นของอันดีทั้งนั้นเอ็งเอ๋ย ครูปู่หมอโกมารภัจจ์ผู้รักษาเยียวยาพระพุทธเจ้ากล่าวว่าไม้ทุกต้นเป็นยา ต้นไม้ใบหญ้ามีคุณต่อคนทั้งนั้น จึงบ่ควรไปลบหลู่ดูแคลน เอ็งจำไว้ อย่าเยี่ยวรดต้นไม้เด็ดขาด ไม่ว่าต้นใหญ่ต้นเล็ก คนบ้านเราถือ หากจำเป็น เลี่ยงบ่ได้ ควรขอขมาคารวะท่านก่อน”

“มะม่วงฝ้ายต้นใหญ่มีผีใช่ไหมตา เห็นพูดกันหลายคนอย่างนั้น”

ตาเอาปลอกรังหนอนผีเสื้อสวมนิ้วมือตามเดิม จับด้ามมีดเหลาแล้วเอาตอกไม้ไผ่เส้นยาวมาเหลาให้ได้ขนาดอ่อนแข็งใหญ่เล็กเท่าเทียมกัน ตาเป็นหมอ เป็นปู่จารย์หรือมัคนายกประจำวัด แล้วยังเป็นช่างจักสานกระบุงตะกร้าฝีมือดีคนหนึ่ง กระบุงกระบายที่ตาสาน จะมีคนมาซื้อ บ้างก็ซื้อไปใช้ บ้างก็ซื้อจำนวนมากๆ เอาไปขายต่อที่ตลาดประจำอำเภอ ข้าวของเครื่องใช้หลายอย่างในบ้านเราก็เกิดจากมือของตา

ตาเล่าว่ามะม่วงฝ้ายต้นใหญ่แผ่ร่มแผ่เงากว้างไกลต้นนั้นเป็นที่สิงสถิตของผีอารักษ์ผู้พิทักษ์รักษาอาณาบริเวณแถวนั้น มีศาลเล็กๆ หลายหลังเรียงรายแวดล้อมโคนต้น ต้นใหญ่มาก สักสี่ห้าโอบเป็นอย่างต่ำ ครูบุญชูอาจจะเมาเต็มที่ อาจเกิดการลองดีท้าทายกันขึ้นมาในวงเหล้าทำนองว่าถ้าครูไม่กลัวผี ครูกล้าเยี่ยวรดมะม่วงฝ้ายไหม ครูบุญชูก็ไปเยี่ยวรด อยู่ต่อมาได้สักสองสามเดือนครูก็ปวดขัดเยี่ยวค้างในลำกล้องจนเยี่ยวไม่ออก ตาเองยังได้ปรุงยาตามตำราที่ยืดถือไปให้ครูต้มกิน ต้มยากินกี่หม้อก็ไม่หาย ผู้เฒ่าผู้แก่แนะนำครูให้ทำพิธีขอขมาคารวะเทวดาอารักษ์ผู้สิงสู่อยู่จำในไม้เก่าแก่ใหญ่โตต้นนั้นเสีย แต่ครูมีทิฐิมานะแข็งกล้าไม่ยอมทำ สุดท้ายก็นอนตายคอบิดกลับหลัง

ครูใหญ่หายไปสองสามวัน ครูน้อยร้อนใจ พากันไปหาพี่น้องชาวบ้าน พ่อของสมยศเป็นคนหนึ่งที่ไปกับเขา ศพเริ่มมีกลิ่นแล้ว คงตายมาอย่างน้อยสองสามวัน เขาว่าอย่างนั้น พ่อไอ้ยศเป็นคนถีบประตูเข้าไป แล้วก็พบเห็นภาพน่าสลดใจอย่างที่สมยศเอามาเล่า

“เทวดาอารักษ์บิดคอครูบุญชูหรือตา”

“บ่แม่น เทวดาอารักษ์ใจดี ท่านมีเทวธรรมประจำใจจึงไม่บิดคอคนเด็ดขาด เอ็งรู้จักไหม เทวธรรม”

“ไม่รู้จัก”

“เทวธรรมคือหิริกับโอตตัปปะ หิริคือความละอายแก่ใจ โอตตัปปะคือความเกรงกลัวต่อบาป ผู้ใดมีหิริกับโอตตัปปะชื่อว่ามีเทวธรรม หากบำเพ็ญได้ตลอดชีวิต ตายแล้วจะได้ไปเกิดเป็นเทวดา อันที่ไปบิดคอครูบุญชูคือผี ผีไม่พอใจ จึงไปบิดคอครูบุญชู”

 

จะเล่าเรื่องเพื่อนผู้อาภัพต่อ ทองอินทร์ เป็นคนตัวน้อยเพราะไม่ค่อยได้กินอิ่มกินเต็ม อาศัยอยู่กับแม่แต่ลำพังกันสองคนที่กระท่อมท้ายวัดนอกเขตหมู่บ้าน พ่อแม่ของทองอินทร์ไม่ใช่คนบ้านทุ่งตีนดอยมาแต่เดิม แต่เป็นคนทางลำปางเมืองแพร่ที่เอากันหนีมาซุกหลืบซุกรูอยู่ท้ายหมู่บ้าน เรื่องนี้พ่อเล่าว่าสองคนเขารักกัน แต่พ่อแม่สาวไม่อยากได้พ่อของทองอินทร์เป็นเขยเพราะลำบากยากจนมาก บังเอิญว่ามีลูกผู้มั่งคั่งคนหนึ่งมาชอบใจพี่คำแพงแม่ของทองอินทร์ สองเฒ่าจึงกีดกันไอ้หนุ่มคนยาก แต่พี่คำแพงตัดสินใจหนีตามพ่อของทองอินทร์

พวกเราไม่เรียกแม่ของเพื่อนคนนี้ว่าแม่คำแพงเพราะอายุน้อยกว่าแม่ของพวกเรามาก แม่ของบุญส่งอายุราว 38 แต่แม่ของเพื่อนตัวน้อยหย็องกรอดอายุราว 27 ปี พี่คำแพงเป็นคนสวย สวยแต่ก็ดูเศร้าๆเพราะระทมตรมทุกข์ พี่คำแพงเป็นหม้ายมาแต่เมื่อไอ้อินทร์คนอาภัพอายุได้สักสี่ขวบ พี่คำแพงไม่กล้าพาลูกกลับไปบ้านเดิมเพราะทำให้พ่อแม่เสียอกเสียใจและเจ็บช้ำน้ำใจที่พี่คำแพงไม่เห็นแก่พ่อแม่แต่ไปเห็นแก่ความรัก เรื่องนี้เข้าใจยาก คนแต่ก่อนไม่ได้เห็นแก่ความรักเป็นใหญ่ แต่คิดเห็นกันว่าความกตัญญูรู้คุณพ่อแม่ที่เลี้ยงดูมาเป็นคุณงามความดีที่ควรกระทำ พ่อแม่พี่คำแพงรับเงินทองของหมายจากลูกผู้มีอันจะกินมาแล้ว แต่พี่คำแพงหนีตามพ่อของทองอินทร์ พ่อแม่พี่คำแพงนอกจากจะเสียหน้า จะอัปยศอดสูแล้ว ยังต้องคืนค่าสู่ขอที่ดูเหมือนจะเป็นสร้อยเป็นแหวนไป พี่คำแพงกับผัวตั้งใจว่าจะเก็บออมเงินทองให้ได้แล้วซื้อสร้อยคอทองคำกลับไปขอขมาสองเฒ่า แต่พ่อของทองอินทร์กลับมาเสียชีวิตไปเสียก่อน

“มันก็เป็นคนดีผู้หนึ่ง” พ่อเล่า “หนักเอาเบาสู้ รับจ้างทุกอย่างที่มีคนจ้าง ก็พอเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียได้อยู่แต่บ่เหลือเก็บเหลือออม อยู่ต่อมามันก็เป็นตุ่มพิษตายไป”

“ตุ่มพิษ? ตุ่มพิษคืออะหยัง อีพ่อ”

“ไปถามตาเอ็ง”

 

จบ ป.4 มาพร้อมกัน 21 คน สอบตกไปสองคน เรียนต่อชั้น ป.5 แค่เพียงสองคนคือบุญส่งกับสมยศ พวกเพื่อนที่เหลือยุติชีวิตนักเรียนไว้เพียง ป.4 ผู้หนึ่งที่ไม่เรียนต่อก็คือไอ้อินทร์หรือทองอินทร์ลูกกำพร้าพ่อ ทองอินทร์ตัวน้อยรับจ้างเลี้ยงควาย ค่าจ้างไม่ใช่เงินทอง แต่เป็นลูกควายที่จะคลอดออกมา ลูกตัวแรกเป็นของเจ้าของควาย ลูกตัวที่สองถึงจะเป็นของคนเลี้ยง อีกคนที่ไม่เรียนต่อ ป.5 ก็คือสมศักดิ์ แม้เมื่อจบ ป.4 ออกมาแล้ว ไอ้ศักดิ์ก็ยังตามรังควานไอ้อินทร์ไม่หยุดหย่อน ไอ้ศักดิ์ตัวโตกว่าไอ้อินทร์มากมาย มันเกิดก่อนพวกเราสองปี เข้าโรงเรียนช้ากว่าเกณฑ์ไปหนึ่งปี สอบตกหนึ่งปีจึงซ้ำชั้นเรียน ป.4 ร่วมกับพวกเรา นิสัยเกเรชอบข่มเหงรังแกคนอ่อนแอ คนที่มันข่มจนจมมิดก็คือทองอินทร์ลูกกำพร้าพ่อ อย่างพวกเราที่มีพ่อแม่อยู่พร้อมมันก็ไม่กล้าข่มเหงรังแกอะไรมากมาย  แต่ทองอินทร์ไม่มีพ่อคอยปกป้องคุ้มครอง แม่เองก็ออดแอดอ่อนแอแพ้พ่ายต่อทุกข์หนักทั้งทางร่างกายและจิตใจ แต่ว่าช่วงเวลาถัดนั้นบุญส่งไม่ค่อยได้พบปะสุงสิงกับทองอินทร์เพราะวิถีชีวิตไม่สอดคล้องกัน บุญส่งเรียนต่อ ป.5 ส่วนทองอินทร์เป็นเด็กเลี้ยงควาย เส้นทางชีวิตจึงค่อยถ่างออกห่างกัน กระทั่งปี พ.ศ.2510 หรือ พ.ศ.2511 ราวๆ นั้น สมศักดิ์อายุ 18 ปีแล้ว มันก่อเหตุร้ายทั้งฆ่าคนและข่มขืนคน

มันฆ่าทองอินทร์

แล้วข่มขืนพี่คำแพงแม่ของทองอินทร์

 



Don`t copy text!