เที่ยวเกาหลีกับลีซังกุง ตอนที่ 3 : จากประตูหลักสู่ประตูรอง
โดย : ลีซังกุง
ไม่ได้มีแค่ นิยายออนไลน์ ให้อ่าน ที่ อ่านเอา แต่เรายังมีเรื่องราวของดินแดนแห่งแสงสว่างยามเช้าและคำบอกเล่าของกาลเวลา โดย ลีซังกุง ให้ทุกคนได้ อ่านออนไลน์ กันเพลินๆ ในคอลัมน์ เที่ยวเกาหลีกับลีซังกุง
…………………………………………..
– 3 –
สวัสดีค่ะ สองตอนที่แล้วซังกุงได้พาท่านไปรู้จักกับพระราชวังคยองบกกุง ได้ไปรู้จักประตูสำคัญสี่ด้าน วันนี้เราจะเข้าไปในเขตพระราชฐานชั้นนอกที่ประกอบด้วยพระที่นั่งต่างๆ ที่ใช้ในงานและโอกาสแตกต่างกัน อย่างที่เคยได้เขียนไปแล้วในตอนก่อนๆ การก่อสร้าง
พระราชวังของเกาหลีนั้นมีพื้นฐานและรับความเชื่อมาจากจีนค่ะ ซึ่งที่เราเห็นปัจจุบันโดยมากเป็นของใหม่ที่ก่อสร้างทดแทนในส่วนที่เสียหายและถูกทำลายไป โดยคงความเป็นรูปแบบเดิมไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ปัจจุบันพระราชวังคยองบกกุงถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ
ซังกุงเองตอนที่ได้ไปที่คยองบกกุงครั้งแรกก็รู้สึกชอบมากค่ะ แต่ตอนที่ไปแรกๆ มีเวลาน้อยเพราะไปกับอาจารย์และเพื่อนๆ ไม่ได้เดินดูอะไรมากนัก จึงมาเดินอีกหลายครั้ง จนมาถึงตอนนี้ก็นับไม่ได้ว่าเดินไปเป็นครั้งที่เท่าไหร่แล้ว แต่ไปทีไรก็ใช้เวลาเกือบทั้งวันเลยค่ะ กว่าจะเดินได้ทั่วๆ
เรารู้จักประตูใหญ่สี่ทิศของพระราชวังแล้ว จากประตูหลักควางฮวามุน เราก็จะเดินตามทางเข้าเรื่อยๆ และจะเข้าสู่ประตูชั้นที่สองที่มีชื่อว่าฮึงรเยมุน ประตูนี้ยังมีสามช่อง การก่อสร้างเป็นไม้มีสองชั้น ที่ชั้นบนมีบันไดขึ้นไปด้วยค่ะ แต่ว่าหากเป็นนักท่องเที่ยวก็ไม่ได้ขึ้นไป (ข้อมูลในจุดนี้ซังกุงอ่านมาจากในบล็อกและหนังสืออีกทีค่ะ ซึ่งก็เป็นรูปเก่า ไม่เคยได้ขึ้นไปอีกเหมือนกัน) ที่เขาไม่ให้ขึ้นอาจจะกลัวว่าประตูจะรับน้ำหนักไม่ไหว อาจจะเสียหายได้ในอนาคต แต่มีการเข้าไปทำความสะอาดได้ เฉพาะเจ้าหน้าที่เท่านั้นค่ะ
ประตูฮึงรเยมุนเป็นประตูที่สองอยู่ระหว่างประตูใหญ่ควางฮวามุนและประตูที่สามคึนจองมุน มีช่องให้เข้าออกสามช่องโดยช่องกลางจะเป็นทางเดินของกษัตริย์ ส่วนข้าราชบริพารและขุนนางจะเดินเข้าประตูข้างซ้ายขวาแทนค่ะ ในอดีตเป็นประตูที่ถูกรื้อเพื่อก่อสร้างสภาข้าหลวงญี่ปุ่นประจำเกาหลี ประตูที่ท่านเห็นจะถูกสร้างขึ้นมาใหม่ เวลาแสดงการเปลี่ยนเวรยามเขาจะแสดงที่หน้าประตูนี้ค่ะ
พอเราเดินผ่านประตูฮึงรเยมุนมา เราก็จะเห็นสะพานที่มีน้ำไหลผ่าน สะพานแห่งนี้ชื่อยองแจเคียวหรือชื่อเดิมว่ากึมชอนเคียว ในอดีตจะมีลำน้ำไหลผ่านพระราชวังโดยเป็นความเชื่อด้านโหราศาสตร์และการวางผังเมืองอีกนั่นแหละค่ะ เรื่องลำน้ำที่เรียกว่ากึมชอนในภาษาเกาหลีนี่จะมีทุกพระราชวังของเกาหลี ไม่ว่าจะเป็นชางคยองกุง ชางด็อกกุง ท็อกซูกุง ถ้าย้อนไปในสมัยโครยอก็จะมีลำน้ำผ่านวังไปค่ะ สันนิษฐานว่าการสร้างพระราชวังในสมัยโชซอนจะมีต้นแบบความเชื่อมาจากจีน
ถ้าเราสังเกตให้ดี พระราชวังเมืองเว้ของเวียดนามก็มีความเชื่อนี้อยู่ น่าเป็นการรับแม่แบบการสร้างพระราชวังมาจากจีนอีกที เพราะพระราชวังกู้กงของจีน เกาหลี และเวียดนาม การวางผังจะคล้ายกันมาก แต่จะแตกต่างก็ตรงที่เอกลักษณ์บนลายไม้ ปูนปั้น การเขียนการตกแต่งจะแตกต่างไปตามศิลปะประจำชาตินั้นๆ อย่างสีของจีนจะมีการใช้หลังคาทาสีทอง(ความเชื่อเรื่องสีของพระจักรพรรดิ) ของเกาหลีใช้กระเบื้องเผาสีดำ ส่วนลายเขียนสีเน้นสีแดง สีเขียว สีขาวตัดขอบลวดลายด้วยสีดำอีกทีค่ะ
จากสะพานยองแจเคียวที่ทอดผ่านไป จะมีสัตว์มงคลทำหน้าที่เป็นทั้งยามเฝ้าลำน้ำและขจัดสิ่งชั่วร้ายชื่อว่าชอนรุก จะเป็นสัตว์ในจินตนาการ หน้าตาก็จะไม่เหมือนกันนะคะ ตัวหนึ่งจะแลบลิ้นแล้วมองไปยังสายน้ำ อีกตัวจะทำหน้าขึงขังจ้องมองไปยังสายน้ำ แต่ต้องบอกก่อนเลยนะ ช่วงหลังๆ ซังกุงไปคยองบกกุงจะไม่เห็นน้ำไหลผ่านแล้ว ช่วงแรกๆ จะมีน้ำขังอยู่ต่อมาน้ำแห้งหมดแล้ว เชื่อว่าเป็น เพราะการวางท่อประปาในปัจจุบันค่ะ และบางทีมีน้ำขังอยู่จะทำความสะอาดยาก หลังๆ มาสัตว์มงคลที่ว่านี้จึงได้แต่จ้องมองทางเดินที่แห้งขอดของน้ำแทน
สองข้างทางของลำน้ำนี้ก็จะมีการปลูกต้นไม้ขนาบข้างไปจนสุดแนวเลยค่ะ มีทั้งต้นเหมย ต้นท้อ และต้นแองดูหรือเป็นต้นเชอร์รีลูกเล็กๆ รสชาติเปรี้ยวอมฝาดนิดๆ สะพานนี้จะงดงามมาก ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ เพราะดอกไม้จะออกดอกแข่งกันค่ะ ช่วงที่คยองบกกุงจะมีการจัดงานแสดงแสงสีเสียง เขาจะมีไกด์นำเที่ยววังในตอนกลางคืน ที่สะพานยองแจเคียวนี้ก็จะมีการแสดงแสงสีเสียงในช่วงกลางคืน การไปช่วงนั้นนอกจากต้องจองตั๋วในเว็บไชต์แล้ว เราต้องเผื่อเวลาด้วย เพราะทางไกด์จะพาเราเดินชมส่วนต่างๆ และจะมีการแสดงในจุดที่สำคัญด้วยค่ะ ดูแล้วก็น่าตื่นตาไม่น้อย เพราะบางทีการเดินเที่ยววังตอนกลางวันแดดจะร้อนมาก ยิ่งในช่วงหน้าร้อนเกาหลีแดดร้อนพอๆ กับบ้านเราเลยค่ะ ในช่วงนั้นอาจจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศลดลง การจัดงานเที่ยวชมวังในช่วงกลางคืนอาจจะเป็นทางเลือกและประสบการณ์แปลกใหม่ของการเดินเที่ยววังก็ได้ค่ะ นอกจากไม่ร้อนเพราะแดดแล้ว อาจจะทำให้จินตนาการบรรยากาศในวังหลวงตอนกลางคืน เมื่อหลายร้อยปีก่อนก็ได้นะคะ
และเมื่อเราเดินเข้าอีกตามทางหิน เราก็จะเห็นประตูชั้นที่สาม ประตูนี้มีชื่อเรียกว่า ประตูคึนจองมุน ประตูนี้ก็จะมีสามช่องเหมือนควางฮวามุนและฮึงรเยมุนค่ะ ตรงส่วนนี้เป็น ส่วนที่สำคัญเพราะจะมีขุนนางระดับสูงเท่านั้นที่จะผ่านเข้าได้ พื้นที่หน้าประตูนี้เคยใช้ประกอบพิธีสำคัญๆ เช่นพิธีราชาภิเษกของพระราชาทันจงยุวกษัตริย์ (รัชกาลที่ 7) ถือเป็นพระราชาพระองค์แรก ที่ใช้สถานที่นี้ในการราชาภิเษกค่ะ โดยจะแบ่งตำแหน่งขุนนางตั้งแต่ชั้นสูงถึงต่ำลดหลั่นกันไปค่ะ
อ้อ… ลืมบอกค่ะ บางท่านอาจจะมาทางด้านข้างทางรถไฟใต้ดิน เราเดินขึ้นมาจากสถานีคยองบกกุง ก่อนเข้าวังมาจะมีพิพิธภัณฑ์อยู่ข้างก่อนเข้าวัง พิพิธภัณฑ์นี้มีชื่อว่า National Palace Museum of Korea เราไปเดินดูอะไรในนั้นก่อนได้ค่ะ เพราะพิพิธภัณฑ์นี้ไม่เก็บค่าเข้านะคะ ซังกุงเองก็เข้าไปทุกครั้งก่อนจะเข้าไปเดินดูในวัง ในนั้นจะมีการจัดแสดงภาพเก่าโบราณวัตถุ ส่วนมากจะเป็นสิ่งของในสมัยโชซอน การจัดการในพิพิธภัณฑ์จะเป็นระเบียบน่าเข้ามากเลยค่ะ มีแผ่นพับแนะนำทั้งภาษาอังกฤษ เกาหลี ญี่ปุ่น และจีน
ในทุกวันที่นี่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวมากมายในแต่ละวัน แต่น่าเสียดายอย่างหนึ่ง ถ้าหากมากันเป็นหมู่คณะ ส่วนมากทางทัวร์จะพาเข้าไปที่ประตูหน้าควางฮวามุนเลย และมักจะผ่านพิพิธภัณฑ์นี้ไป ที่จริงในคยองบกกุงจะมีพิพิธภัณฑ์อีกที่จะเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่พื้นบ้าน เดี๋ยวซังกุงจะขยายความในบทท้ายๆ ในหัวข้อคยองบกกุงนะคะ ถ้าหากท่านใดเคยมากับทัวร์ พิพิธภัณฑ์แห่งที่สองนี่จะไม่ค่อยพลาด เพราะเป็นหนึ่งในโปรแกรมที่ไกด์จะพาไปค่ะ
มีครั้งหนึ่งซังกุงเดินปะปนไปกับลูกทัวร์ เข้าไปในพิพิธภัณฑ์บ้านแบบเนียนๆ คืออยากจะมีอารมณ์แบบนักท่องเที่ยวบ้าง (ฮ่าๆ) เลยลองเดินตามแถวกับเขาแต่เดินห่างๆ นะคะ กลัวไกด์จับได้ คือจะมีไกด์คนไทยเป็นคนพาไปและหากจะอธิบายเกี่ยวกับข้าวของเครื่องใช้ที่จัดแสดงในนั้น จะมีไกด์ชาวเกาหลีที่พูดภาษาไทยได้ให้ความรู้ตรงนี้ ตอนนั้นถ้าจำไม่ผิด นักท่องเที่ยวจะมีเวลาเดินอยู่สี่สิบนาทีก่อนจะออกนอกวังไปค่ะ
ถ้าหากท่านได้แวะเข้ามา จะได้เห็นชุดโบราณ เครื่องประดับ เอกสารทางประวัติศาสตร์มากมาย ซังกุงชอบที่นี่มาก และจะใช้เวลาเดินเที่ยวมากกว่าในวังเสียอีกเพราะไม่ร้อน และได้เดินดูศิลปวัตถุที่รวบรวมมาไว้ให้เราได้ชมค่ะ อันนี้ชื่นชมเกาหลีอย่างหนึ่ง คือการประชาสัมพันธ์หลายภาษา ไม่เก็บค่าเข้าชม ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ชอบเรื่องประวัติศาสตร์ ได้เข้าไปศึกษาหาความรู้ แถมยังมีแผ่นพับและยังมีวีดิทัศน์บรรยายในภาษาที่กล่าวไว้ข้างต้นด้วยค่ะ ซังกุงเอาภาพบรรยากาศมาฝากด้วยนะคะ ข้างจะแบ่งเป็นห้องๆ ซึ่งจะแบ่งเป็นห้องที่แสดงเครื่องใช้ของพระบรมวงศานุวงศ์ อย่างห้องในรูปนี้ จะมีข้าวเครื่องใช้ฉลองพระองค์ฮงรยงโพ่ขององค์ยองชิน (ลีอึน) หรือมกุฎราชกุมารองค์สุดท้ายของเกาหลี และชุดชอกอึยขององค์หญิงบังจาพระชายารัชทายาทจัดแสดงในนี้ด้วยค่ะ
อย่างในห้องนี้จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ที่เอาไว้ใช้ในพระราชพิธีสำคัญต่างๆ อย่างเช่นเครื่องทองเหลืองที่เอาไว้ในพิธีเซ่นไหว้ดวงพระวิญญาณของบูรพกษัตริย์ หรือแม้แต่เครื่องใช้ในโต๊ะเสวยที่ทุกวัน ในห้องนี้ยังมีเกี้ยวแบกหามแบบโบราณจัดแสดงให้เราได้ดูด้วยค่ะ
ถัดมาอีกห้อง นี่จะอยู่ในสมัยใหม่หน่อย มีภาพถ่ายให้เราชมด้วย เป็นห้องที่แสดงเกี่ยวกับเกาหลีสมัยจักรวรรดิ นอกจากข้าวของเครื่องใช้ รายละเอียดจะแตกต่างจากยุคก่อนๆ ช่วงปลายยุคโชซอน ยังมีรูปถ่ายเก่าๆ ที่บอกเล่าถึงเรื่องราวที่แผ่นดินนั้นได้ผ่านมา หากท่านได้มาเที่ยวที่นี่ หวังอย่างยิ่งว่าท่านจะได้เข้ามาดูข้างในนี้ เกาหลีเป็นประเทศเล็กที่ปกครองในระบอบกษัตริย์มาหลายพันปี และในสมัยโชซอนก็มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมาก ทั้งเรื่องราวหลากหลาย บางทีการไปดูสิ่งของที่ผ่านกาลเวลาในพิพิธภัณฑ์อาจจะทำให้เราได้อะไรดีๆ จากสิ่งที่เราดูก็ได้ค่ะ
แล้วพอออกจากพิพิธภัณฑ์ เราก็ไม่ต้องเดินอ้อมไปข้างหน้าประตูควางฮวามุนก็ได้นะคะ เราเดินเข้าประตูที่อยู่ข้างๆ เลยก็ได้ค่ะ ไม่เสียเวลาอ้อม ประตูนี้มีชื่อว่าประตูยูฮวามุน ประตูนี้จะอยู่ด้านทิศตะวันตกของวังฝั่งตรงข้ามกับที่ขายตั๋วเลยนะคะ
ในตอนหน้าเราจะเข้าสู่เขตพระราชวังชั้นนอกแล้วนะคะ เรื่องราวของคยองบกกุงยังมีอีกหลายตอน โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ
ซื้อหนังสือที่ www.naiin.com ไม่ว่าเล่มใดก็ตาม
ทุกยอดการสั่งซื้อจะมีส่วนแบ่งกลับมาเพื่อสนับสนุนเว็บไซต์อ่านเอา
– โปรดติดตามตอนต่อไปนะคะ –
…………………………………………………
อ่านตอนอื่นๆ ของ เที่ยวเกาหลีกับลีซังกุง
– ตอนที่ 2 : ประตูวังสี่ทิศของคยองบกกุง
– ตอนที่ 1 : ‘พระราชวังแห่งพรที่ส่องสว่าง’ คยองบกกุง พระราชวังของเกาหลีในอดีต