ซะป๊ะเรื่องเล่าหมู่เฮาคนเมือง​ ตอน มารู้จักตุงสามหางกันเถอะ

ซะป๊ะเรื่องเล่าหมู่เฮาคนเมือง​ ตอน มารู้จักตุงสามหางกันเถอะ

โดย : ต้องแต้ม

Loading

ผ้าดิบสีขาวที่ตัดเป็นรูปร่างคล้ายคน มีส่วนหัว ส่วนลำตัว แต่แปลกประหลาดที่มี 3 ขา แขวนเหนือโลงศพ ที่มีร่างไร้วิญญาณนอนเงียบสงบอยู่ข้างใน

“นั่นอะไร รูปร่างคล้ายคนเลย”

คำถามนี้คนภาคอื่นมักสงสัยเวลาไปงานศพของชาวเหนือ หรือชาวล้านนาเมื่อสามสิบ-สี่สิบปีก่อน ใครไปงานสวดพระอภิธรรมที่ภาษาชาวบ้านมักจะเรียกสั้นๆ ว่า ‘สวดศพ’ มักจะเห็นตุงสามหางแขวนในงานสวดอยู่เสมอ มักทำให้คนทั่วไปสงสัยว่าสิ่งนี้คืออะไร และมีไว้ทำไม

‘ตุงสามหาง’ มีรูปร่างคล้ายคน มีส่วนหัว ส่วนลำตัว และส่วนหางที่ตัดยาวลงมามีสามหาง เป็นตุงอวมงคล หมายถึงตุงที่ใช้ในงานศพเท่านั้น มีความเชื่อต่อๆ กันมาว่า เมื่อวิญญาณออกจากร่างแล้วจะไปอาศัยอยู่ที่ตุงสามหางที่เปรียบเหมือนร่างหนึ่ง เพื่อนำพาวิญญาณนั้นไปสู่ภพภูมิที่ดี สู่สรวงสวรรค์ ตุงสามหางจึงมีรูปร่างคล้ายๆ ตัวคน หางทั้งสามมีความหมายเชิงปริศนาธรรม ไม่ว่าจะเป็น สวรรค์ โลก นรกภูมิ หรือ ไตรลักษณ์ อันได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ฉันก็ฟังมาแบบนี้ตั้งแต่เด็กเหมือนกัน ความเข้าใจฉันคือ วิญญาณออกจากร่างไป ตามความเชื่อของคนโบราณ เพื่อให้วิญญาณไม่ล่องลอยไม่มีร่างอยู่อีกต่อไปแล้ว ให้มาสิงสถิตยังตุงสามหางนี้

หลังจากสิ้นสุดการสวดพระอภิธรรม ถึงวันที่นำร่างไปทำพิธีฌาปนกิจยังสุสาน หรือป่าช้า ที่ทางเหนือจะเรียกว่า ‘ป่าเฮ่ว’ โดยมีสัปเหร่อถือไม้สูงสองเมตรที่ปลายยอดแขวนตุงสามหางปลิวสะบัดไปตามเท้าที่ก้าวเดินนำหน้าขบวนแห่ศพ สะพายย่ามสีขาว หรือที่เขาเรียกว่า ‘ถุงข้าวด่วน’ ข้างในจะมีข้าวขนาดพอดีคำห่อใบตองกลับด้าน ขนม ผลไม้ใส่ไว้ข้างใน เชื่อกันว่าเพื่อเป็นเสบียงระหว่างเดินทาง มีคนถือหม้อไฟที่มักทำด้วยหม้อดินเผามีถ่านไฟก้อนแดงๆ สามสี่ก้อน เดินตามมา หม้อไฟนี้ปัจจุบันบางทีก็จะใช้ธูปกำมือหนึ่งจุดให้มีควันไฟออกมาแทน เพื่อขจัดปัดเป่าสิ่งไม่ดีระหว่างทางให้พ้นไป

ในสมัยนั้นมักนิยมเผากลางลาน ที่อื่นเป็นยังไงไม่รู้ แต่ที่ฉันเห็นเขาจะจุดบอกไฟไปยังเชือกที่ห้อยอยู่ แล้วก็จะมีไฟวิ่งไปตามเชือกที่ผูกยาวไปยังโลงศพที่ตั้งอยู่กลางลาน เสียงดังวี้ด วี้ด ดังไปตามลูกไฟเล็กๆ ที่วิ่งไปยังจุดหมาย เมื่อถึงจุดหมายก็จะมีเปลวไฟคุขึ้นมา ตุงสามหางก็จะเผาไปด้วยกับร่าง แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว ก็จะเป็นการเผาในเตาเผาศพแทน

ตุงสามหาง ถือได้ว่าเป็นตุงขันครูที่แรงในเรื่องของพิธีกรรม การตั้งขันครู การสืบทอด เกี่ยวโยงไปถึงเรื่องราวของเรื่องลึกลับ เช่น การผิดครู ในสมัยก่อนผู้ที่ทำตุงสามหางจะเป็นผู้ที่บวชเรียน มีคาถาอาคม มักนิยมสืบทอดกันรุ่นสู่รุ่นในลูกหลานรับขันครูสืบต่อกันมา

ขันครู

แต่สิ่งที่ทำให้ฉันว้าวและสนใจมากขึ้นคือ ในหนังสือวรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอ วรรณคดีตั้งแต่สมัยอยุธยาก็มีการกล่าวถึงตุงสามหาง ตุงสามหางนี้มีมาแต่โบราณเมื่อไหร่ไม่ปรากฏชัด แต่ในวรรณกรรมลิลิตพระลอ ปู่เจ้าสมิงพรายได้ใช้ตุงสามหางในการทำเสน่ห์พระลอให้กับพระเพื่อนพระแพง โบราณจึงใช้เป็นส่วนหนึ่งของการทำเสน่ห์ด้วย

(ร่าย) ปู่ก็เอาธงสามชาย รายยันต์มากกว่าเก่า เขียนพระลอเจ้าอยู่กลาง เขียนสองนางแนบสองข้าง กอดเจ้าช้างรัดรึง ชักทึงท้าวชวนเต้า แล้วปู่เป่าตะเคียนใหญ่เก้าอ้อมใช่สามาญ ปลายไม้กรานก้มลง ปู่เอาธงปักผลักขึ้น ต้นไม้ฟื้นฟะฟั่น ใบไม้สั่นฟะฟัด ลัดลุกขึ้นยืนตรง ลมลิ่วธงทะทัด พัดถูกธงทะท้าว ลมกร้าวเสียวเสียวเฉียวฉิวปลิวกระพือยาหยูก ถูกพระองค์ท่านไท้ ถนัดดังสองนางไล้ ลูบให้เห็น องค์นาฯ … จากหนังสือ รวมยอดลิลิต 3 เรื่อง หน้า 170 สำนักพิมพ์ศรีปัญญา)

สำหรับฉันรู้จักตั้งแต่เด็ก คุ้นเคยกับตุงสามหางเป็นอย่างดี อาจจะเป็นความโชคดีอย่างหนึ่งที่คุณตาของฉัน ที่ฉันเรียกท่านว่า ‘อากง’ เป็นสล่าหรือช่างที่รักศิลปะ ท่านกับเพื่อนของท่าน ที่บ้านจะเรียกว่า ‘ครูเนาว์’ ท่านจบจากช่างสิบหมู่ในสมัยก่อน หรือโรงเรียนเพาะช่างในสมัยนี้ช่วยออกแบบลวดลายบนตุงสามหางของที่บ้าน เป็นงานที่ทำด้วยมือล้วนๆ ที่เขาเรียกว่างานแฮนด์เมด ตั้งแต่จักตอกจากไม้ไผ่เพื่อทำเป็นโครง ตัดผ้าดิบสีขาวเป็นรูปร่างคล้ายคน และตัดกระดาษทอง กระดาษสี เพื่อประดับลวดลาย ลวดลายของที่บ้านล้วนมีความหมาย

ฉันจึงได้เห็นและช่วยงานบ้างที่ไม่ยากเกินไปนักสำหรับเด็ก มันเลยเป็นความเคยชิน ตุงสามหางจึงไม่ใช่สิ่งแปลกอะไร เมื่ออากงจากไป แม่จึงเป็นคนรับช่วงทำต่อกับพ่อของฉัน เป็นรุ่นที่สอง ฉันเริ่มโตขึ้นและเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ จะกลับบ้านก็แค่เพียงปิดเทอม พอทำงานก็นานๆ กลับบ้านที ก็ยังเห็นแม่ทำตุงสามหาง ทุกปีที่จัดงานไหว้ครู ที่บ้านก็จะโทรมาให้ระลึกถึงครู และฉันก็ได้รับรู้เพิ่มขึ้นว่า คนที่รับขันครูที่บ้านต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น ทุกครั้งที่มีพิธีจะเป็นน้าชายลูกบุญธรรมของอากงเป็นคนยกขันครูขึ้น แต่เมื่อนำลงมาแล้ว แม่ฉันจะเป็นคนจัดการเตรียมของไหว้ในขันครู วันงานวัฒนธรรมทางเหนือจะมีการไหว้ท้าวทั้งสี่ก่อน ส่วนอาหารที่ไหว้ครูก็จะเป็นพวกหัวหมู ไก่ อาหารคาวหวาน ขนมต้มขาว ต้มแดง มีการเชิญเทพเทวดา ครูทั้งหลายมารับของไหว้

พิธีไหว้ครู

เขาว่ากันว่า ครูของตุงสามหาง ‘แรงมาก’ จะทำกันเล่นๆ ลบหลู่ไม่ได้ หากใครทำผิดจะมีแต่เรื่องไม่ดีกับตัวเอง ที่ทางเหนือเรียกว่า ‘ขึด’ คือทำอะไรไม่ขึ้น หากร้ายแรงกว่านั้น ก็จะมีอันเป็นไป ฟังดูแล้วอาจจะเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อ บ้างก็ป่วย หนักเข้าบางรายก็เป็นบ้า แต่ยุคสมัยนี้อาจจะไม่เชื่อ มองในมุมวิทยาศาสตร์มันก็มีเหตุมีผลของมัน แต่คนที่คลุกคลีกับงานประเภทนี้เขาก็จะเชื่อ จะว่าไปก็เป็นเรื่องอธิบายยาก เป็นเรื่องที่แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละบุคคล

พิธีกรรมทางศาสนาในเรื่องของการจัดงานศพประมาณยี่สิบ-สามสิบปี เริ่มเปลี่ยนรูปแบบมากขึ้น เนื่องจากมีคนต่างถิ่นต่างวัฒนธรรมเข้ามาอยู่อาศัยกันมากขึ้น วัฒนธรรมเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง สังคมสมัยใหม่เริ่มครอบคลุมสังคมสมัยเก่า คนรุ่นใหม่เริ่มไม่รู้จัก คนที่รู้จักตุงสามหางเป็นอย่างดีมักเป็นคนที่อายุหกสิบปีขึ้นไป

ประเพณีงานศพของทางภาคเหนือซึ่งมีความแตกต่างจากภาคอื่น โดยมีการผสมผสานความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ ปัจจุบันความเชื่อของคนรุ่นเก่า ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ต่างก็มีความเชื่อที่แตกต่างกัน ก่อนที่ทุกอย่างจะเลือนหายไปกับกาลเวลา อยากให้คนได้รู้จักหนึ่งในความเชื่อของคนรุ่นเก่าที่มีมาแต่โบราณ วัฒนธรรมที่ไม่ได้เป็นแค่วัฒนธรรม แต่มันยังแฝงจิตวิญญาณ แฝงเรื่องราวที่เป็นมากกว่าที่คนเห็นที่คนเข้าใจ อย่างน้อยเมื่ออ่านเรื่องเล่านี้จบ คุณก็รู้จักตุงสามหางบ้างแล้วล่ะ

Don`t copy text!