เดดาลัส : เมื่อเลือกทางผิด ชีวิตจึงต้องวกวนวุ่นวาย

เดดาลัส : เมื่อเลือกทางผิด ชีวิตจึงต้องวกวนวุ่นวาย

โดย : นกอัญชันหางดำ

Loading

กลั่นเกลาเล่าเพลิน โดย นกอัญชันหางดำ คอลัมน์ที่ได้แรงบันดาลใจจากโลกวรรณกรรมที่มีตัวละครมากมายโลดแล่นอยู่ในใจนักอ่าน และมีเรื่องราวให้กล่าวถึงได้เสมอ คอลัมน์นี้จึงขอชวนทุกท่านมาเพลิดเพลินกับการรีวิวตัวละคร ทั้งตัวเอก ตัวร้าย และตัวประกอบ ในมุมมองเชิงเปรียบเทียบกับโลกปัจจุบัน พร้อมสอดแทรกข้อชวนคิดไว้เบาๆ

หากให้เอ่ยถึงสิ่งประดิษฐ์ที่น่าอัศจรรย์จากตำนานกรีก คงมีหลายคนนึกถึงอุปกรณ์ที่ช่วยให้บินได้อย่างปีกของอิคารัส ปีกจำลองที่อิคารัสใช้บินทะยานสู่ท้องฟ้า ก่อนจะลืมตัวบินสูงเกินไปและตกลงมาตายในทะเล จนมีการตั้งชื่อเกาะแถวนั้นว่า อิคาเรีย ตามชื่อของเขา หรือบางคนอาจนึกถึงเขาวงกตของราชาไมนอสแห่งเกาะครีต ซึ่งใช้เป็นที่คุมขังไมโนทัวร์ ตัวประหลาดครึ่งคนครึ่งวัวกระทิงที่มีนิสัยดุร้ายชอบกินคน ไม่แปลกที่คนส่วนใหญ่มักจะนึกเชื่อมโยงจดจำสิ่งของนั้นกับชื่อคนที่ใช้งานมากกว่าชื่อผู้สร้างสรรค์ ทั้งที่สิ่งประดิษฐ์ทั้งสองอย่างนี้ถูกสร้างขึ้นด้วยฝีมือช่างคนเดียวกันคือ เดดาลัส

เดดาลัสเป็นสุดยอดช่างฝีมือของยุคนั้น เขาอยู่ที่เมืองเอเธนส์ เป็นทั้งนักประดิษฐ์และสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญ สร้างผลงานโดดเด่นจนเป็นที่ยกย่องชื่นชม และมีลูกหลานจากตระกูลดังมาฝากตัวเป็นศิษย์หลายคน แต่ลูกศิษย์คนที่เก่งที่สุดของเดดาลัสก็คือหลานชายของเขาเอง ซึ่งเป็นลูกของน้องสาว มีฐานะยากจนแต่มีพรสวรรค์ด้านการช่าง เรียนรู้ได้เร็วจนมีฝีมือเก่งกาจเทียบเคียงเดดาลัสได้เลย ว่ากันว่าหลานคนนี้เป็นคนคิดสร้างใบเลื่อยมาใช้งาน โดยได้ไอเดียจากตอนไปชายทะเลแล้วเห็นกระดูกปลาที่มีรูปร่างเป็นฟันเลื่อย

เมื่อได้ยินชาวเมืองเริ่มพูดกันหนาหูว่าศิษย์คนนี้มีแววไปรุ่งได้มากกว่าอาจารย์ อีกไม่นานฝีมือคงแซงหน้าแล้ว เดดาลัสก็เกิดจิตริษยา ไม่อยากเห็นใครเก่งกว่าหรือดีกว่า แต่แทนที่จะเอาเวลาไปพัฒนาและลับฝีมือตนเอง เขากลับเลือกวิธีการที่เลวร้ายและสิ้นคิด ค่ำวันหนึ่งเขาชวนหลานไปเดินเล่น พอได้จังหวะก็อาศัยความมืดแล้วจึงผลักหลานตกกำแพงเมืองลงไป

ไม่รู้ว่าเดดาลัสจะรู้ไหมว่าชีวิตของหลานไม่ได้ดับสูญเพียงแค่นั้น เพราะเทพีมิเนอร์วา (หรืออะธีนา ตามชื่อกรีก) ซึ่งเป็นเทพีแห่งสติปัญญา ยุทธศาสตร์ ทักษะและงานฝีมือ เกิดเมตตาจึงได้เปลี่ยนร่างของหลานให้กลายเป็นนกชนิดหนึ่ง ตามตำนานบอกว่าเป็นนกต้อยตีวิด (หรือนกกระแตแต้แวด) นกชนิดนี้มักจะหากินและทำรังอยู่ตามพื้นดิน ไม่ได้ขึ้นไปอยู่ตามคาคบไม้สูง (อาจจะกลัวความสูงจนฝังใจ) และเป็นนกระวังภัย ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา มีเสียงร้องแหลมดังคอยเตือนฝูงเวลาเห็นมีอะไรเข้ามาใกล้

ถึงแม้จะไม่มีศพแต่ก็มีพยานที่เห็นเหตุการณ์นั้น การรู้จักมักคุ้นสนิทสนมกับเหล่าขุนนางพ่อค้าตระกูลดังก็ไม่อาจช่วยอะไรได้ เดดาลัสจึงต้องหนีคดีออกนอกเมืองเอเธนส์ไป เขาพาลูกชายคืออิคารัสหนีไปด้วย และดั้นด้นกันไปจนถึงเกาะครีต ที่นั่นเดดาลัสได้รับการต้อนรับอย่างดีจากราชาไมนอส ซึ่งกำลังต้องการช่างเก่งๆ มาสร้างที่คุมขังให้กว้างขวางแต่มิดชิดและแข็งแรงสำหรับการเลี้ยงตัวประหลาดไมโนทัวร์ เดดาลัสจึงได้ออกแบบและสร้าง Labyrinth ถ้ำจำลองที่มีเส้นทางวกวน เต็มไปด้วยช่องคูหาสลับซับซ้อน ยากที่จะจดจำทางเข้าออกได้ ดังนั้นสำหรับคนที่เป็นตกเป็นเหยื่อและถูกส่งเข้ามาเป็นอาหารของไมโนทัวร์ ต่อให้รอดจากการถูกจับกินได้ แต่ก็หาทางหนีออกจากถ้ำคุมขังนี้ไม่ได้อยู่ดี ใครถูกส่งเข้ามาจึงต้องตายทุกคน

ตอนนี้ชีวิตของเดดาลัสอาจดูเหมือนได้ดีมีคนชุบเลี้ยง มีโอกาสสร้างสรรค์งานต่างๆ เช่นเคย แต่คงไม่มีความสุขมากนักเพราะต้องทำงานกับเจ้านายที่มีนิสัยใจคอโหดเหี้ยมและบ้าอำนาจ อยู่กับคนแบบนี้ต้องระวังตัวให้มาก อย่าได้เผลอทำอะไรขัดใจเชียว จุดพลิกผันของเดดาลัสมาถึงอีกครั้งเมื่อแอริแอดนี ลูกสาวของไมนอส มาหว่านล้อมแกมบังคับให้เขาบอกความลับเรื่องวิธีออกจากถ้ำขังไมโนทัวร์ เพราะนางเกิดหลงรักและต้องการช่วยเหลือ ธีซุส ลูกชายของเจ้าเมืองเอเธนส์ ที่ถูกส่งมาเป็นเหยื่อครั้งนี้ ไม่รู้แน่ว่าเดดาลัสคิดเห็นอย่างไร ปฏิเสธลูกของเจ้านายไม่ได้ หรือตัวเขาเองก็เบื่อหน่ายความกระหายเลือดทั้งของไมโนทัวร์และไมนอส แต่ในที่สุดเขาก็ยินยอมบอกวิธีการคือให้ผูกเชือกด้ายไว้ที่ต้นทางแล้วคลี่กลุ่มเชือกระหว่างทางที่เดิน พอตอนกลับก็ม้วนเชือกกลับมาตามทางที่โรยไว้

เมื่อธีซุสฆ่าไมโนทัวร์ได้และพาแอริแอดนีหนีไปแล้ว ไมนอสจึงหันมาเล่นงานเดดาลัสแทนเพราะรู้ว่าต้องมีส่วนช่วยด้วยแน่ ไมนอสจับเดดาลัสกับลูกชายขังไว้ใน Labyrinth แทน ไม่ได้สั่งประหารเพราะตั้งใจจะใช้ให้ทำงานอื่นอีก ฝีมือระดับนี้หาได้ยากปล่อยไปไม่ได้ แต่ตอนนี้เดดาลัสก็ไม่มีใจจะอยู่ทำงานกับไมนอสแล้วจึงคิดหาทางหนี แม้จะไม่ทันได้ผูกเชือกนำไว้ก่อนเข้ามาแต่เดดาลัสก็หาวิธีอื่นจนได้ เขาสร้างปีกจำลองขึ้นมาสองคู่ ใช้ขนนกใหญ่เล็กมาเย็บสลับกัน ยึดติดให้แน่นและอุดช่องโหว่ด้วยขี้ผึ้ง (ที่ยังพอหาวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ได้คงเพราะถ้ำนี้ถูกจัดให้เป็นห้องทำงานของเขาด้วย)

เมื่อสบโอกาสเดดาลัสกับลูกชายก็ใช้ปีกจำลองบินหนีออกมาจากที่คุมขังได้สำเร็จ และบินออกจากเกาะครีตเพื่อไปหาที่อยู่ใหม่ ระหว่างทางเดดาลัสต้องคอยเตือนลูกชายไม่ให้บินสูงนักเพราะยิ่งอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ขี้ผึ้งถูกแดดแผดเผาก็ยิ่งละลายง่าย และไม่ควรบินต่ำเกินไปเพราะถ้าถูกคลื่นซัดจนตัวเปียก ปีกก็จะรับน้ำหนักไม่ไหว แต่พอบินไปนานเข้าอิคารัสก็รู้สึกฮึกเหิมจนเผลอตัวบินสูงขึ้นทุกที เมื่อขี้ผึ้งละลายเขาจึงตกลงไปตายในที่สุด เดดาลัสเสียใจมาก เขาร่อนลงสู่พื้นรอจนคลื่นซัดร่างของลูกชายมาเกยฝั่งแล้วจึงทำพิธีฝังศพให้ จากนั้นเขาก็บินหนีต่อไป แม้จะอยากกลับไปเอเธนส์บ้านเกิดก็ไม่อาจทำได้ เดดาลัสจึงต้องหนีไปเรื่อยๆ จนได้ไปขอพึ่งใบบุญราชาโกเกลัสแห่งเกาะซิซิลี

ส่วนบนของรูปปั้น Daedalic ของชาว Kore หิน Poros เมือง Eleutherna ยุคโบราณ ศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสตกาล

อย่างไรก็ตาม ไมนอสยังคงตามจองเวรไม่เลิกรา ออกเที่ยวค้นหาเดดาลัสไปตามเมืองต่างๆ โดยใช้อุบายว่า ผู้ใดสามารถร้อยด้ายตลอดรูคดเคี้ยวของเปลือกหอยที่พกมาด้วยนี้ได้ จะมีรางวัลให้อย่างงาม เมื่อมาถึงซิซิลีได้เจอกับโกเกลัสที่บอกว่าสามารถทำได้และส่งผลงานกลับมาให้เห็นจริง ไมนอสก็รู้เลยว่าเดดาลัสอยู่กับโกเกลัส จึงบังคับให้ส่งตัวคืนมาให้ แน่นอนว่าโกเกลัสไม่ยินยอมง่ายๆ จึงเกิดการต่อสู้กัน ผลสุดท้ายไมนอสก็ต้องมาจบชีวิตลงที่นี่ จากนั้นเดดาลัสจึงได้ใช้ชีวิตอยู่ที่เกาะซิซิลีจนสิ้นอายุขัย

ที่จริงเดดาลัสคงไม่ใช่คนที่มีจิตใจดุร้ายทารุณโดยสันดาน ดูจากการที่เขาไม่อาจทนเห็นดีเห็นงามกับความเหี้ยมโหดและการฆ่าคนแบบไม่รู้จบของไมนอสได้ หากเขาไม่ปล่อยให้จิตฝ่ายมืดเข้าครอบงำจนถึงขั้นคิดฆ่าคน ป่านนี้ก็คงได้อยู่อย่างสุขสบายที่บ้านเกิดเมืองนอน พร้อมหน้าพร้อมตากับลูกชาย และเป็นที่เคารพนับถือของผู้คน ได้สร้างสรรค์งานอย่างอิสระโดยไม่ต้องหนีหัวซุกหัวซุนหรือทนอยู่ใต้อาณัติคนอื่น แต่ก็ถือว่ายังดีที่ในบั้นปลายชีวิตรอดพ้นจากไมนอสมาได้

ชีวิตย่อมมีขึ้นมีลง ผู้สร้างเขาวงกตก็มีเส้นทางชีวิตที่วกวนไม่ต่างกัน สำหรับเดดาลัส การที่ชีวิตเขาต้องวุ่นวายเช่นนี้ส่วนหนึ่งเริ่มมาจากการเลือกและการกระทำของเขาเอง เลือกที่จะทำลายแทนที่จะส่งเสริมลูกศิษย์ดีๆ แล้วเลือกที่จะหนีแทนการยอมรับผิด การต้องพบเจอกับคนไม่ดีและการสูญเสียที่เกิดขึ้นระหว่างทางนั้น ล้วนเป็นผลต่อเนื่องมาจากการเลือกของเขาเองที่ได้กระทำการต่างๆ หากเริ่มต้นด้วยการทำผิด เมื่อถลำลึกแล้วก็ยิ่งกลับตัวยากและค่อยๆ สูญเสียสิ่งสำคัญไป

 

อ้างอิงจาก 

  • เทวดาฝรั่ง กรีก-โรมัน โดย อ. สายสุวรรณ
  • เหตุแห่งอีเลียด กับตำนานปรัมปรากรีก โดย นายตำรา ณ เมืองใต้
  • เทพนิยายและตำนานกรีกโบราณ โดย ดารณี เมืองมา

Don`t copy text!