อยู่และเรียนรู้
โดย : นกอัญชันหางดำ
กลั่นเกลาเล่าเพลิน โดย นกอัญชันหางดำ คอลัมน์ที่ได้แรงบันดาลใจจากโลกวรรณกรรมที่มีตัวละครมากมายโลดแล่นอยู่ในใจนักอ่าน และมีเรื่องราวให้กล่าวถึงได้
หลายคนที่ได้อ่านหนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ของ เจ.เค. โรว์ลิ่ง จนครบทั้งเจ็ดเล่มคงมีความรู้สึกเหมือนกันว่าไม่ใช่วรรณกรรมสำหรับเด็กเท่านั้น ผู้ใหญ่ก็อ่านได้สนุกด้วย บางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่บรรยายเด็กที่อายุน้อยอาจจะเข้าใจได้ไม่หมด แต่สำหรับผู้ใหญ่แล้วเป็นคำพูดที่เหมือนมานั่งอยู่กลางใจเลย เหมือนกับว่าบางทีก็คิดหรือรู้สึกอย่างนั้นเหมือนกันแต่อธิบายเป็นคำพูดออกมาไม่ถูก
การใช้สื่อสัญลักษณ์เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนก็มีหลายแห่ง ตัวอย่างเช่นตอนที่มีการต่อสู้ที่กระทรวงเวทมนตร์มีฉากที่รอนต่อสู้กับก้อนสมองที่มีเส้นหนวดเหมือนปลาหมึกหรือแมงกะพรุนแล้วหลังจากกลับมารอนก็มีแผลกดลึกที่เหมือนรอยเฆี่ยน เป็นแผลที่หายช้าจึงทิ้งร่องรอยบาดเจ็บไว้นานกว่าส่วนอื่น ซึ่งผู้รักษาบอกว่าเป็นเพราะ “ความคิดนั้นสามารถทิ้งรอยแผลเป็นได้ลึกยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด” (1)
นอกจากนี้ยังมีตอนที่คุยกันเรื่องเพอร์ซี่ วีสลีย์ตอนที่ตัดขาดครอบครัวแล้วไปเข้าข้างที่ทำงานคือกระทรวงเวทมนตร์ ต่อมาเมื่อความจริงปรากฏว่ากระทรวงปกปิดข้อมูลและโวลเดอมอร์กลับมาลอบสร้างความวุ่นวายจริง ๆ เหมือนที่พ่อเคยบอก แฮร์รี่สงสัยว่าทำไมเพอร์ซี่ไม่กลับมาคืนดีกับครอบครัวในเมื่อรู้ความจริงแล้ว คำอธิบายของดัมเบิลดอร์ก็คือ “คนส่วนมากมักจะเห็นว่าให้อภัยคนที่ผิดนั้นง่ายกว่าให้อภัยคนที่ถูก” (2)
คนอ่านได้เห็นความรู้สึกนึกคิดของแฮร์รี่ที่ค่อย ๆ เติบโตขึ้นในแต่ละปี ตอนปีห้าเป็นช่วงที่รู้สึกว่าแฮร์รี่น่ารำคาญมากที่สุด เหมือนมีแต่อารมณ์โมโหคุกรุ่นตลอดเวลาแล้วก็มัวแต่คร่ำครวญมุทะลุไม่ฟังใครเลย ขนาดโดนอัมบริดจ์กรีดมือก็ยังไม่เข็ด ตอนอ่านครั้งแรกก็เข้าใจว่าเพราะเป็นช่วงเข้าสู่วัยรุ่นฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า (ที่ฟินีแอส ไนเจลลัสพูดกับแฮร์รี่คงเป็นคำพูดแทนใจหลายคนไปแล้วตอนที่เอาคำสั่งดัมเบิลดอร์มาบอกช่วงอยู่ที่บ้านซีเรียส)
แต่เมื่อโตขึ้นถึงเข้าใจว่าอาจจะเป็นผลมาจากความเครียดสะเทือนใจหลังผ่านเหตุการณ์ที่ร้ายแรงและเกิดการสูญเสีย (PTSD) ก็เป็นได้ เพราะเมื่อจบการประลองเวทไตรภาคีก็เป็นช่วงเวลาวิกฤตพอดี ทุกคนต้องไปเตรียมตัวรับมือกับโวลเดอมอร์ที่คืนร่างมาแล้วจึงไม่มีเวลามานั่งคุยบำบัดจิตใจกัน ต่างจากตอนปีหกที่แฮร์รี่ดูควบคุมสติได้มากกว่าเดิมทั้งที่การสูญเสียจากการต่อสู้ที่กระทรวงเวทมนตร์ร้ายแรงกว่าด้วยซ้ำ ซึ่งอาจเป็นเพราะครั้งนี้มีโอกาสได้พูดเคลียร์ใจกับดัมเบิลดอร์ตอนจบ การได้พูดระบายความรู้สึกนึกคิดกับคนที่เข้าใจ ไม่ถือสาและพร้อมจะยอมรับเราในทุกเวอร์ชันเช่นนี้เป็นทางหนึ่งที่ช่วยเยียวยาความเจ็บปวดได้
ตลอดเจ็ดปีนั้นแฮร์รี่ได้เรียนรู้สิ่งสำคัญต่าง ๆ มากมาย หลายเรื่องเราเองก็ได้ตระหนักไปพร้อมกับแฮร์รี่ด้วย เราได้เห็นว่าการเอาชนะจอมมารที่มีพลังกล้าแข็งกว่าไม่จำเป็นต้องใช้การพิฆาตฟาดฟันรุนแรง ใช้การตัดกำลังทีละส่วนทำให้อ่อนพลังแล้วค่อยปลดอาวุธก็พอ (แฮร์รี่ได้เรียนรู้คาถาปลดอาวุธมาจากสเนปในชมรมการต่อสู้ตัวต่อตัว ซึ่งตอนนั้นคงไม่คิดหรอกว่าจะกลายเป็นคาถาประจำตัวและทำให้มาไกลได้ถึงเพียงนี้)
และหลังจบศึกที่ฮอกวอตส์เรายังได้เห็นถึงน้ำใสใจจริงของลูน่า เลิฟกู๊ด (เพื่อนแท้อีกคนที่มักจะถูกมองข้ามไปเพราะความแปลกประหลาด) ที่เป็นคนเดียวที่ตระหนักและเห็นอกเห็นใจว่าแฮร์รี่เองก็ผ่านศึกหนักมาเหมือนทุกคนและต้องการการพักอย่างสงบด้วยเหมือนกัน สุดท้ายในตอนจบหลังจากผ่านเรื่องราวและได้รับบทเรียนมามากมาย แฮร์รี่ก็ได้มาคุยสรุปกับดัมเบิลดอร์โดยรู้อย่างแน่วแน่แล้วว่าอะไรคือสิ่งสำคัญอันมีค่าที่ควรเก็บรักษาไว้
เมื่อบรรลุถึงสัจธรรมทั้งหมดแล้วสิ่งที่แฮร์รี่อยากได้ในตอนนั้นก็มีแค่แซนด์วิชและเตียงนอนเท่านั้นเอง เป็นตอนจบที่ทำให้ยิ้มได้ทั้งน้ำตาเลย ก็จริงนะ ความสุขที่แท้จริงก็มักจะเรียบง่ายแบบนี้ล่ะ จะมีอะไรที่เป็นสุขไปยิ่งกว่าเมื่อหิวแล้วได้กิน เมื่อเหนื่อยล้าแล้วได้พักนอนกันเล่า
เชิงอรรถ :
(1) จากหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับภาคีนกฟีนิกซ์ บทที่ 38 หน้า 1019 แปลโดย สุมาลี
(2) จากหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเจ้าชายเลือดผสม บทที่ 5 หน้า 109 แปลโดย สุมาลี
- READ อะกาเมมนอน : ผู้ชนะศึกนอกแต่พ่ายศึกใน
- READ ปารีส : เพราะชะตากรรมหรือทำตัวเอง
- READ หนึ่งมิจ (ฉาชีพ) ชิดใกล้ : เคร้าช์ จูเนียร์
- READ คนที่คุณเองก็จะนึกถึงตลอดไป : ดัมเบิลดอร์กับสเนป
- READ อยู่และเรียนรู้
- READ รวมมิตรที่คิดไม่ถึง : ด๊อบบี้ กับ ครีเชอร์
- READ ทางที่เลือก : แฮร์รี่ vs โวลเดอมอร์
- READ มีแต่เพื่อนแท้เท่านั้นที่อยู่เหนือกาลเวลา
- READ ขมิ้นกับปูน : มัลฟอย
- READ เสาหลักที่แข็งแกร่งมั่นคงและตรงแบบแผน : มักกอนนากัล
- READ มีใครร้ายกาจกว่านี้อีกไหม : อัมบริดจ์
- READ อย่าตัดสินเนื้อหาจากปกหนังสือ : แฮกริด