ว่าด้วยเครื่องหมาย
โดย : ปิยะพร ศักดิ์เกษม
เครื่องหมายที่ใช้กันทั่วไปในการเขียนนวนิยาย มีอยู่หลายอย่าง
ที่แพร่หลายก็มี
จุดไข่ปลา (…)
อัญประกาศ เดี่ยวและคู่ (‘’-“”)
ปรัศนี (?)
อัศเจรีย์ (!)
สำหรับนักเขียนที่ทำงานมานานจนการเขียนกลายเป็นธรรมชาติไปแล้ว การใช้เครื่องหมายเหล่านี้ก็พลอยเป็นธรรมชาติไปด้วย ไม่เหมือนน้องๆ ที่เริ่มหัดเขียนกันใหม่ๆ มักจะเกิดภาวะงุนงนสับสน ไม่แน่ใจว่าควรใช้หรือไม่ หรือควรใช้ที่ไหนและอย่างไร
ยิ่งถ้าพบคนทักท้วงว่าการใช้เครื่องหมายเหล่านี้เป็นเรื่องผิด ไม่สามารถใช้ได้ ก็จะยิ่งเกิดภาวะสับสนหนักยิ่งขึ้นไปอีก บางคนถึงขั้นหนทางตัน… ‘ไปต่อไม่เป็น’ กันเลยทีเดียว
ดิฉันได้รับคำถามมาจากน้องๆ นักเขียนหลายคนถึงวิธีการและหลักการใช้เครื่องหมายเหล่านี้
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าเครื่องหมายเหล่านี้ไม่ใช่ของดั้งเดิมในภาษาไทย เรารับมาจากฝรั่ง วิธีการใช้และข้อกำหนดต่างๆ จึงไม่มีหลักการแน่นอนตายตัวอย่างการใช้ตัวสะกด สระ หรือวรรณยุกต์ เป็นแต่เพียงการกำหนดไว้คร่าวๆ เท่านั้น เช่น
จุดไข่ปลา ใช้ละข้อความที่ไม่ต้องการกล่าวถึงหรือเพื่อแสดงให้เห็นว่ามีข้อความแต่ข้อความนั้นเลือนหายไป
ปรัศนี ใช้หลังข้อความที่เป็นคำถาม หรือใช้อยู่ในวงเล็บหลังข้อความที่ไม่แน่ใจ
อัศเจรีย์ ใช้หลังข้อความที่เป็นเสียงอุทาน เสียงธรรมชาติ (เช่นเปรี้ยง! โพละ!) หรือหลังข้อความสั้นๆ ที่เป็นคำเตือน
อัญประกาศ ใช้เมื่อจะเน้นข้อความให้ชัดเจนขึ้น ใช้เป็นคำพูด หรือใช้เมื่อจะบอกว่าเป็นข้อความที่ยกมาจากที่อื่น ส่วนอัญประกาศเดี่ยวนั้นใช้เมื่อซ้อนอยู่ในอัญประกาศคู่อีกทีหนึ่ง
นี่คือหลักการในการใช้เครื่องหมายเหล่านี้แบบทั่วๆ ไป เป็นหลักการที่แห้งแล้งไร้รส ขณะที่การเขียนนวนิยายนั้นคือข้อเขียนที่มีเรื่องราว ต้องมีรสชาติ ต้องมีการสร้างจินตภาพด้วยตัวอักษร และเมื่อมีตัวละครที่เป็นมนุษย์ก็ต้องมีอารมณ์
เครื่องหมายเหล่านี้แหละที่จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือซึ่งใช้ในการสร้างทุกสิ่งที่กล่าวไว้นี้
การใช้อัศเจรีย์กับปรัศนีนั้นไม่มีปัญหาอะไร เป็นไปอย่างง่ายๆ และสั้นๆ ตามที่กำหนดไว้ การใช้อัญประกาศก็เช่นกัน มีความแตกต่างก็แค่ การเขียนนวนิยายเราจะใช้อัญประกาศคู่ในบทสนทนา ดังนั้นถ้าจะเน้นความให้หนักแน่นถึงอารมณ์ ถ้าจะยกข้อความเก่า ข้อสงสัยเก่าหรือเกิดขึ้นใหม่ในเรื่อง ก็ควรใช้เป็นอัญประกาศเดี่ยวเพื่อไม่ให้เกิดการสับสนกับบทสนทนา
สิ่งที่เป็นปัญหาหรือข้อสงสัย ก็เห็นจะมีแต่จุดไข่ปลาหรือเครื่องหมายวรรคตอนที่เรียกว่า Ellipsis ในภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นของใหม่ของภาษาไทยเท่านั้น
ความจริงจุดไข่ปลาหรือ มหัพภาค (.) ๓ จุดนั้นเป็นเครื่องหมายที่ไม่มีข้อห้ามใช้ในนวนิยาย ซ้ำยังเป็นเครื่องหมายที่สามารถสร้างความเข้าใจ รส และอารมณ์ให้กับงานเขียนได้เป็นอย่างดี โดยไม่ต้องมีคำเชื่อมหรือคำบรรยายมาเพิ่มเติมให้ยาวยืดรุงรัง
เราสามารถใช้จุดไข่ปลาในบทสนทนา เมื่อตัวละครพูดจาตะกุกตะกัก จะด้วยความโกรธหรือเก้อเขินก็ได้ หรืออาจใช้เมื่อขณะที่ตัวละครกำลังร้องไห้แทบไม่เป็นสมปฤดี เช่น “นะ…หนู…ระ…รับเรื่องแบบนี้ไม่ได้…แบกรับ…มะ…ไม่ไหวอีกต่อไปแล้วค่ะ” เป็นต้น เราไม่ต้องเขียนบรรยายว่าตัวละครกำลังร้องไห้ฟูมฟาย พูดไปสะอื้นไปให้ยาวความ ใช้เพียงจุดสามจุดเป็นจุดไข่ปลาก็สามารถแทนบรรยากาศและเร้าความรู้สึกในฉากนี้ได้
ส่วนนอกบทสนทนาเราก็สามารถใช้จุดไข่ปลาในการเชื่อมโยงความคิดหลายๆ อย่างของตัวละครเข้าด้วยกัน อาจใช้คั่นข้อความขยาย หรือแม้กระทั่งใช้เพื่อบอกว่าความคิด บทบรรยาย หรือการเล่าเรื่องเรื่องนี้ยังไม่จบก็ได้
นอกจากนี้ การกระตุ้นให้ผู้อ่านทอดเสียง (ในใจ) เมื่อยามอ่าน หรือบอกเป็นนัยว่า เรื่องนี้ประเด็นนี้ยังมีต่อในย่อหน้าถัดไปก็สามารถทำได้ด้วยการใช้จุดไข่ปลาเช่นกัน
กรอบและกฎเกณฑ์ที่เราพึงระลึกไว้ในการใช้เครื่องหมายเหล่านี้ก็คืออย่าใช้ให้ผิดความหมาย เช่น จะให้ผู้อ่านตกใจ แต่ไปใช้เครื่อหมายปรัศนีย์ และอย่าใช้ให้มากเกินไปจนเกิดความรกรุงทั้งทางสายตาและสะดุดอารมณ์ยามอ่านเท่านั้น
แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแนวทางและสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ของผู้เขียนแต่ละท่านด้วยเช่นกัน
———————————————————-