สะสมศิลปะอย่างเซียน ต้องเขียนข้อมูลให้ครบ

สะสมศิลปะอย่างเซียน ต้องเขียนข้อมูลให้ครบ

โดย : ตัวแน่น

Loading

นอกจาก นิยายออนไลน์ สนุกๆ แล้ว อ่านเอา ยังมีคอลัมน์ ‘หลงรูป’ บทความแสดงมุมมอง เล่าเรื่อง บอกต่อ สารพัดความรู้และเรื่องราวใน แวดวงศิลปะ โดย ตัวแน่น ที่อยากแนะนำให้คุณได้ อ่านออนไลน์

………………………………………………..

‘ของมีค่า ถ้าอยู่กับคนที่ไม่รู้ค่า ก็กลายเป็นของที่ไร้ค่า’ จำไม่ได้ว่าไปได้ยินโควตนี้มาจากไหน แต่จู่ๆ ก็นึกถึงขึ้นมาทันที พอได้ยินเรื่องราวที่นักสะสมศิลปะรุ่นใหญ่ท่านหนึ่งอุตส่าห์กรุณาโทร.มาเล่าให้เราฟัง เรื่องมีอยู่ว่ามีฝรั่งชื่อย่อ อ. เปิดแกลเลอรีขายผลงานศิลปะอยู่ในเมืองไทยมาเป็นเวลานานหลายสิบปี แกลเลอรีแห่งนี้เป็นเจ้าแรกๆ ที่มีส่วนช่วยปั้นศิลปินไทยหลายท่านจนมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นพลุแตก ถ้าให้บอกชื่อก็เช่น ถวัลย์ ดัชนี, ประเทือง เอมเจริญ, พิชัย นิรันต์, ปัญญา วิจินธนสาร, มณเฑียร บุญมา, และท่านอื่นๆ อีกมากมาย ที่ทำอย่างนี้ได้เพราะ อ. มีสายตาที่เฉียบขาด มีมุมมองที่เป็นสากลทันยุคทันสมัย ผนวกกับมีคอนเนกชันกับเหล่าแกลเลอรีด้วยกัน รวมถึงพิพิธภัณฑ์ศิลปะในต่างประเทศ

เรื่องราวก็ดำเนินมาเป็นปกติดีจน อ. กลับประเทศไปตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ก่อนจะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในบ้านเรา อ. คงไม่รู้ตัวว่าการจากประเทศไทยไปในครั้งนั้นจะเป็นครั้งสุดท้ายที่จะไม่มีวันได้หวนคืนมาอีก เพราะระหว่างที่ อ. อยู่ในต่างประเทศ อ. ก็ล้มป่วยและเสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน ทิ้งสมบัติต่างๆ ไว้ในเมืองไทยซึ่งส่วนหนึ่งคือผลงานศิลปะฝีมือศิลปินคนสำคัญ และอีกส่วนคือฐานข้อมูลที่มีทั้งสูจิบัตร หนังสือ รูปถ่าย วิดีโอ และทุกสิ่งอย่างที่เคยผ่านมาในแกลเลอรีของ อ. ได้ถูกรวบรวมไว้หมดอย่างครบครันไม่ขาดตกบกพร่อง ซึ่งนับว่ามีค่ามหาศาลในแง่วิชาการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ในเมืองไทย

และแล้วปัญหาก็บังเกิดเพราะสมัยที่ อ. ยังอยู่ อ. โปรโมตศิลปิน ซื้อๆ ขายๆ ค้นคว้าเก็บข้อมูลอยู่คนเดียว ภรรยาและลูกไม่ได้รับรู้อะไรด้วย พอข่าวการเสียชีวิตของ อ. แพร่ออกไป ก็เลยมีคนส่งรถมาขนงานศิลปะที่เหลือแทบทั้งหมดซะเรียบแปล้และทิ้งเงินไว้ไม่กี่หมื่นบาทแก่ภรรยา และลูกของ อ. ผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ส่วนฐานข้อมูลอันล้ำค่าคนที่มาขนงานศิลปะไปเขาไม่ได้เอาไปด้วย ภรรยาของ อ. ก็เลยผนึกลงกล่องใหญ่ๆ ไว้นับสิบกล่องเตรียมพร้อมจะส่งไปให้ผู้ที่อยากได้ในต่างประเทศแบบฟรีๆ นี่ขนาด อ. เก็บฐานข้อมูลไว้มากมายขนาดนี้ แต่ถ้าทำเองรู้เองไม่บอกคนใกล้ตัวหรือใครๆ เลยว่าชิ้นไหนคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร ราคาเท่าไหร่ สุดท้ายสิ่งทั้งหลายอาจจะถูกกระจายออกไปอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ดั่งของไม่มีค่าไม่มีราคา

“Ponte Fabricio” พ.ศ.2503 เทคนิค สีน้ำมันบนกระดาษ ขนาด 72 x 50.5 เซนติเมตร ศิลปิน ประหยัด พงษ์ดำ

ดังนั้น สำหรับนักสะสมผลงานศิลปะ การบันทึกข้อมูลจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก และที่สำคัญพอๆ กันคือต้องให้คนอื่นเขารู้ด้วย ว่าแล้วเรามาเก็บรวบรวมและบันทึกข้อมูลผลงานศิลปะที่หมกอยู่ตามซอกหลืบรอบๆบ้าน และออฟฟิศที่ทำงานกันดีกว่า หลักๆ แล้วข้อมูลผลงานศิลปะแต่ละชิ้นควรจะประกอบไปด้วยชื่อผลงาน, ปีที่สร้าง, วัสดุที่ใช้, ขนาด, ชื่อศิลปิน, เคยจัดแสดงที่ไหน, เคยถูกตีพิมพ์เป็นภาพหรือถูกกล่าวถึงในสิ่งพิมพ์หรือสื่ออื่นๆ หรือเปล่า, เจ้าของเก่าเป็นใคร มีชื่อเสียงไหม, ซื้อมาเมื่อใด, ราคาเท่าไหร่ ถ้าผลงานศิลปะชิ้นไหนมีข้อมูลเหล่านี้ครบครัน ผลงานชิ้นนั้นจะมีค่าน่าสนใจกว่าชิ้นที่ไร้ซึ่งหัวนอนปลายเท้าไม่มีประวัติอะไรเลยซักกะอย่าง

ในบรรดานักสะสมศิลปะชาวไทยระดับตำนาน มีท่านหนึ่งที่เป็นตัวอย่างที่ดีของการเก็บข้อมูลยุบยิบได้ละเอียดที่สุด บุคคลที่เราอยากจะเล่าถึงคือ เทพ จุลดุลย์ นักสะสมท่านนี้ต้องยกให้เป็นรุ่นบุกเบิก เพราะเป็นคนไทยคนแรกๆ ที่เริ่มสะสมผลงานศิลปะสมัยใหม่ของบ้านเรา เดิมทีเทพก็ไม่ได้มาทางสายศิลปะ ท่านเรียนมาทางกฎหมาย แต่ด้วยความรักในดนตรีและจิตรกรรม เทพเลยศึกษาด้วยตนเองจนแตกฉาน ได้มาทำงานอยู่ในแผนกดนตรีสากล กรมศิลปากร อยู่ไปอยู่มาก็เลยคุ้นเคย กลายเป็นเพื่อนกับเหล่าศิลปินลูกศิษย์ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งสมัยนั้นก็ยังเป็นวัยรุ่น ไม่ได้มีชื่อเสียงเรียงนามอะไร

เทพ จุลดุลย์ และผลงานศิลปะที่สะสมไว้ (ภาพจากหนังสือ นิทรรศการผลงานสะสม กลับบ้าน)

ถ้าเราย้อนไปในสมัยเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่แล้ว คนที่ซื้อผลงานศิลปะจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ งานแสดงทั่วๆ ไป หรือที่แขวนโชว์อยู่ตามแกลเลอรี แทบจะร้อยทั้งร้อยเป็นชาวต่างชาติ ชาวไทยยังไม่ค่อยจะเก็ตกับของทำนองนี้เท่าไหร่ ยกเว้นเทพกับนักสะสมชาวไทยอีกแค่หยิบมือ เทพได้เปรียบนักสะสมชาวต่างชาติตรงที่ได้ผลงานชิ้นเด็ดๆ ชิ้นที่ได้รับรางวัลจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ และการประกวดศิลปะนานาชาติไปครอบครองทั้งๆ ที่ท่านก็ไม่ได้มีสะตุ้งสตางค์มากมาย อาศัยเพราะเทพสนิทสนมกับเหล่าศิลปิน จนบ่อยครั้งก็ได้ผลงานมาในราคาเฟรนด์ลี่ หรือบางทีศิลปินเขาก็ให้ฟรีมาก็มี

คอลเลกชันของเทพเลยสุดแสนจะหลากหลาย ไม่ยึดติดอยู่กับเทคนิคหรือศิลปิน มีหมดทั้งผลงานจิตรกรรมสีน้ำมัน, สีน้ำ, ลายเส้น, ภาพพิมพ์ ฝีมือศิลปินในสมัยนั้นแทบจะทุกคน มีแม้กระทั่งภาพร่างที่อาจารย์ศิลป์เขียนให้ลูกศิษย์ดูหน้าห้องเป็นภาพสุดท้ายก่อนเสียชีวิต และต้นฉบับเพลงชาติไทยที่เขียนด้วยลายมือของพระเจนต์ดุริยางค์ อย่าเพิ่งงงนะ เพราะดนตรีก็เป็นศิลปะใช่ปะ

จนเมื่อปี พ.ศ. 2511 เทพและครอบครัวตัดสินใจย้ายสำมะโนครัวไปลงหลักปักฐานอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ของรักของหวงที่ประกอบไปด้วยผลงานศิลปะมากมายก็เลยถูกส่งตามไปด้วย เทพเก็บรักษาผลงานต่างๆ ไว้ภายในบ้านเป็นอย่างดี และที่ต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษคือวิธีการการบันทึกข้อมูลผลงานศิลปะของเทพนั้นแน่นปึ้ก เทพเขียนรายละเอียดที่สำคัญทั้งหมดด้วยลายมือไว้ด้านหลังภาพ มีหมดทั้งชื่อภาพ, ชื่อศิลปิน, เทคนิคที่ใช้, ขนาด, วันเดือนปีที่ได้มา, ได้มาจากใคร, ราคาเท่าไหร่, เขียนหมดแม้กระทั่งใส่กรอบที่ไหน เมื่อไหร่ กับใคร แถมยังมีการเซ็นชื่อกำกับเป็นการยืนยันว่าข้อมูลเหล่านี้เทพเขียนเองไว้ด้วยอีกต่างหาก ครบซะขนาดนี้ ต้องยกให้เป็นที่สุดของความละเอียด

แค่นี้ยังไม่พอ เทพยังบันทึกข้อมูลไว้เป็นเอกสาร บอกกล่าวถึงเรื่องราวและความสำคัญของผลงานแต่ละชิ้นที่เทพได้รับรู้มา เรื่องที่ว่านี้ก็แสนจะสนุกสนานและมีรายละเอียดยาวเหยียดจนเอามาสร้างหนังได้เป็นตอนๆ ยกตัวอย่างอย่างเรื่องผลงานภาพวัดโพธิ์ของ อาจารย์ทวี นันทขว้าง เทพได้เขียนไว้เป็นบทความชื่อ ‘การเดินทางของรูปวัดโพธิ์’ เล่าให้ฟังเป็นฉากๆ ว่าภาพวัดโพธิ์ และประติมากรรมขลุ่ยทิพย์ของ เขียน ยิ้มศิริ ถูกคัดเลือกโดย อาจารย์ศิลป์ พีระศรี เพื่อส่งไปประดับสถานทูตไทย ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 หลังจากนั้นก็เหมือนภาพวัดโพธิ์จะหายสาบสูญไป จนเมื่อ ประหยัด พงษ์ดำ และ ทวี นันทขว้าง ได้ทุนไปเรียนต่อที่สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งกรุงโรม ทั้งคู่ก็เลยลองตามหาผลงานชิ้นนี้ดูที่สถานทูต แต่ก็ไม่เจอ โชคยังดีที่ประหยัดไปตีซี้กับแม่บ้านที่ทำงานในนั้นเลยสืบทราบมาว่าภาพนี้ถูกถอดออกจากกรอบและหมกไว้ในห้องเก็บของชั้นใต้ดิน ประมาณช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2504 ประหยัดกลัวภาพวัดโพธิ์จะพังพินาศเพราะไม่มีใครแยแส เลยตัดสินใจขนขึ้นแท็กซี่เอากลับด้วยซะเลย ระหว่างทางแท็กซี่พาขับอ้อมจนประหยัดต้องตัดสินใจลงกลางทางเพราะกลัวเงินจะไม่พอจ่ายค่ารถ เป็นอันว่าต้องเดินหอบภาพตุเลงตุเลงกลับที่พัก พอถึงที่หมายความวัวยังไม่ทันหายความควายเข้ามาแทรก ประหยัดดันลืมกุญแจซะอย่างนั้น ต้องนั่งแกร่วอยู่หน้าบ้านจนเที่ยงคืนกว่าพ่อบ้านจะกลับมาเปิดประตูให้

ภาพ “วัดโพธิ์” ฝีมือ ทวี นันทขว้าง (ภาพจากหนังสือ นิทรรศการผลงานสะสม กลับบ้าน)

ด้วยความตื่นเต้นที่ได้ภาพวัดโพธิ์มา ประหยัดเลยชวนทวีมาดู ทวีแฮปปี้มากที่ได้เห็นผลงานชิ้นนี้อีกครั้งและอยากได้คืนเลยขอประหยัดเอาดื้อๆ เมื่อทวีเรียนจบในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2504 ก็เอาภาพวัดโพธิ์ที่แกะออกจากเฟรมไม้พับใส่กระเป๋าเดินทางกลับมาด้วย พอมาถึงเมืองไทยภาพเลยพัง มีสีหลุดล่อนตามรอยพับ ภาพวัดโพธิ์ที่ยับเยินนี้ถูกหมกให้พ้นสายตาผู้คนอีกครั้งอีกหลายปีถัดมาตอนที่ สุวรรณี นันทขว้าง ภรรยาของทวี ทำความสะอาดบ้านเคลียร์ของที่รกรุงรัง ภาพวัดโพธิ์รวมถึงภาพวาดชิ้นสำคัญจากยุคแรกของทวีจึงถูกเอาไปสุมๆ ไว้บนช่องเหนือเพดานบ้าน

อยู่มาวันหนึ่งเทพซึ่งสนิทกับทวีอยู่แล้ว ออกปากขอภาพวาดฝีมือทวีไว้ไปประดับบ้าน ทวีก็โอเคยอมให้เทพไปปีนเอาภาพเองจากเพดานบ้านในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2510 วันนั้นเทพเลยได้ภาพวัดโพธิ์และภาพอื่นๆ มา แต่ว่าทุกชิ้นเสียหายหนักต้องส่งไปให้ อาภรณ์ ณ สงขลา เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านการซ่อมผลงานศิลปะ เป็นผู้ซ่อม จนในที่สุดภาพวัดโพธิ์และภาพสำคัญภาพอื่นๆ ที่เทพกู้ซากลงมาจากเพดานก็อยู่ในสภาพดีพร้อมจะอวดสู่สายตาประชาชีอีกครั้ง ที่เล่ามานี่เราย่อไปเยอะแล้วนะ เวอร์ชั่นเต็มของเทพละเอียดกว่านี้มาก เป็นไงล่ะ นี่แค่เล่าถึงภาพวัดโพธิ์ภาพเดียวเอง

ระหว่างที่เทพยังมีชีวิตอยู่ ท่านได้ระบุเอาไว้เป็นพินัยกรรมว่าภาพสำคัญๆ จะขอยกให้กับประเทศไทย จนเมื่อเทพถึงแก่กรรม ผลงานเหล่านั้นจึงถูกส่งต่อให้กับสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม เพื่ออนุรักษ์ไว้เป็นสมบัติของชาติ และจัดแสดงให้ชาวไทยได้ชื่นชมต่อๆ ไป จัดการเสร็จสรรพเรียบร้อยทายาทไม่ต้องวุ่นวายหารายละเอียดว่าของแต่ละชิ้นคืออะไร ควรจะจัดสรรไปอยู่ที่ไหน แฮปปี้เอ็นดิ้งกันทุกฝ่าย

“Materialism” พ.ศ.2499 เทคนิค ภาพพิมพ์ ขนาด 32 x 45 เซนติเมตร ศิลปิน ประหยัด พงษ์ดำ

เห็นไหมว่าการบันทึกข้อมูลผลงานศิลปะไม่ใช่แค่ช่วยออร์แกไนซ์คอลเลกชันให้เป็นระเบียบ และส่งไม้ต่อได้ง่าย นานวันเข้าเรื่องราวที่เราบันทึกไว้อาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่เติมเต็มประวัติศาสตร์ศิลปะ ถูกเล่าต่อๆกันเป็นที่กล่าวขานยันลูกหลานเหลนโหลนก็ได้

สมัยก่อนวิธีที่จะบันทึกข้อมูลนั้นไม่มีออพชันให้เลือกมาก ถ้าไม่แปะเอาไว้หลังภาพ ก็เขียนหรือพิมพ์ใส่กระดาษเก็บเอาไว้ แต่สมัยนี้เทคโนโลยีล้ำหน้า มีโปรแกรมมากมายสำหรับใช้เก็บข้อมูลไว้ในคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมที่ใช้ในออฟฟิศทั่วไป หรือโปรแกรมที่ออกแบบมาเพื่อจัดเก็บข้อมูลผลงานศิลปะโดยเฉพาะเลยก็มี ถนัดแบบไหนก็เลือกใช้กันเอง หรือถ้านอยด์จัดจะเขียนใส่กระดาษก็กลัวมอดกิน จะเอาลงคอมพ์ก็กลัวไฟชอร์ต ฮาร์ดไดรฟ์ระเบิด งั้นขอแนะนำให้โหลดข้อมูลไปเก็บไว้บนอินเทอร์เน็ตซะเลยให้รู้แล้วรู้รอด

วิธีในการเก็บข้อมูลผลงานศิลปะบนโลกออนไลน์ที่เราว่าสะดวกดี และฟรี คือการประยุกต์เอาเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมมาใช้ บนแอพพลิเคชันเหล่านี้เราสามารถอัพโหลดภาพและคำอธิบายทั้งหมดเก็บไว้ได้ วันหน้าวันหลังถ้ามีข้อมูลอะไรเพิ่มเติม หรือจะแก้อะไรก็ทำได้เลยไม่ลำบาก ถ้ากลัวคนอื่นเข้ามาเห็นสมบัติบ้าของเราก็แค่ตั้งไพรเวตเอาไว้ แล้วให้พาสเวิร์ดหรืออินไวต์เฉพาะคนใกล้ชิดให้เข้ามาดูได้ ง่ายดายจนขนาดตัวเราเองที่เป็นมนุษย์โลว์เทคเอามากๆ ยังเลือกใช้วิธีนี้ในการเก็บข้อมูลผลงานศิลปะ รายละเอียดจิปาถะของผลงานแต่ละชิ้นเราเลยใส่ไว้หมดไส้หมดพุง ครบซะยิ่งกว่าครบ กลัวลืม

มีแค่ตรงราคาเท่านั้นแหละที่บางทีก็ตัดศูนย์ออกตัวหนึ่ง บางครั้งก็ตัดศูนย์ออกสองตัว เพราะพักหลังยิ่งซื้อยิ่งแพงเดี๋ยวจะโดนที่บ้านเพ่งเล็ง แต่ไปๆ มาๆ ภรรยาชักจะรู้เรื่องอาร์ตมากกว่าเราเธอเลยดูออก และถึงจะเปลียนวิธีใส่ราคาเป็นโค้ดลับภรรยาเราก็สามารถจัดการถอดรหัสได้ พอดีช่วงนี้เธอพอจะมีเวลาว่าง เคจีบี ซีไอเอ เอฟบีไอ หรือหน่วยข่าวกรองไหนกำลังขาดบุคลากร ติดต่อมาได้เลยจ้ะ

Don`t copy text!