อะกาเมมนอน : ผู้ชนะศึกนอกแต่พ่ายศึกใน
โดย : นกอัญชันหางดำ
กลั่นเกลาเล่าเพลิน โดย นกอัญชันหางดำ คอลัมน์ที่ได้แรงบันดาลใจจากโลกวรรณกรรมที่มีตัวละครมากมายโลดแล่นอยู่ในใจนักอ่าน และมีเรื่องราวให้กล่าวถึงได้
สงครามกรุงทรอยเป็นเรื่องราวที่อยู่ในมหากาพย์อีเลียด (Iliad) วรรณคดีโบราณของกรีกซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เมื่อปารีสลักพาตัวเฮเลนไปจากเมนีเลียส ฝ่ายกรีกก็เรียกระดมพลเจ้าเมืองและขุนศึกจากทั่วทุกทิศมารวมตัวกันที่เมืองโอลิสเพื่อยกทัพข้ามทะเลไปรบกับพวกทรอยและชิงตัวเฮเลนกลับคืน โดยเมนีเลียสตั้งให้พี่ชาย คือ อะกาเมมนอน เจ้าเมืองไมซีนีซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุด เป็นแม่ทัพใหญ่
การรวมพลนี้เป็นไปตามพันธะสัญญาที่เคยตกลงกันไว้ในอดีตตั้งแต่สมัยพ่อของเฮเลนเป็นเจ้าเมือง ดังนั้นเมื่อเมนีเลียสผู้ซึ่งได้สืบทอดตำแหน่งเจ้าเมืองสปาร์ตาต่อจากพ่อตาส่งสาส์นไปถึงทุกคน จึงมีขุนพลและผู้กล้าฝั่งกรีกมากมายมาร่วมทัพด้วย เช่น ยูลิสซิส เจ้าเมืองอิทาคา ผู้เฉียบคมและเชี่ยวชาญกลศึก อะคิลิส นักรบผู้แข็งแกร่งและเป็นที่ครั่นคร้าม เพียงชุดเกราะประจำตัวก็ทำให้ข้าศึกที่เห็นเกิดเสียขวัญกันแล้ว
อะกาเมมนอนได้ตำแหน่งใหญ่ที่สุดในทัพกรีก แต่ตอนจบกลับเป็นผู้สูญเสียมากที่สุดไม่ต่างจากเจ้าเมืองทรอย แม้ว่าผลการรบจะเป็นตามที่คาดหวัง จากแผนการทำศึกที่หารือกันมาอย่างดี นักรบผู้เก่งกาจก็มีในบังคับบัญชาอยู่อักโข การบุกตีหัวเมืองที่อยู่รายรอบกรุงทรอยเพื่อตัดกำลังไม่ให้มาตลบหลังก็ทำสำเร็จ ยึดเสบียงกับทรัพย์สินและจับเชลยศึกมาได้มากมาย ฝ่ายทรอยดูจะเสียเปรียบเพราะผู้นำทัพเด่น ๆ เหมือนจะมีเพียงเฮกเตอร์กับเอนิสเท่านั้น การที่ยังยืนหยัดต่อสู้มาได้ร่วมสิบปีนี่ส่วนหนึ่งคงเพราะกำแพงเมืองทรอยแข็งแรงมั่นคงจนพวกกรีกไม่สามารถตีแตกได้ในเวลาสั้น ๆ
ในบรรดาเชลยจากหัวเมืองที่จับมาได้นั้นมีสาวสวยคนหนึ่งชื่อไบรสีอิส เป็นเชลยของทัพอะคิลิส แล้วทั้งสองคนเกิดตกหลุมรักกันขึ้นมา แต่อะกาเมมนอนถืออำนาจบาตรใหญ่ว่าเป็นเบอร์หนึ่งแล้วบังคับเอาตัวนางไป ทำให้อะคิลิสโกรธที่ถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรีจนไม่ยอมให้กองทหารของตนร่วมออกรบกับทัพของอะกาเมมนอนต่อ ส่งผลให้กรีกรบแพ้ไปหลายรอบจนค่ายแทบจะถูกโจมตีแตกได้เลย อะกาเมมนอนจึงยอมกลับมาง้ออะคิลิส แต่ก็ไม่สำเร็จ จนไพร่พลฝ่ายกรีกต้องล้มตายไปเป็นจำนวนมาก
หนังสือบางเล่มให้รายละเอียดว่า ก่อนหน้านั้นพวกกรีกไปตีหัวเมืองหนึ่งแล้วปล้นทรัพย์สินจากศาลบูชาเทพอะพอลโล และพรากนางไครสีอิสมาจากพ่อซึ่งเป็นเจ้าพิธีผู้ดูแลศาลนั้นแล้วนำมาส่งมอบให้อะกาเมมนอน แม้พ่อผู้ชราจะนำทองคำจำนวนมากมาไถ่ตัวลูก แม่ทัพใหญ่ก็ไม่ยอมคืนให้แถมยังไล่ตะเพิดกลับไปโดยไม่ยอมฟังคำแนะนำจากแม่ทัพคนอื่นที่เห็นควรให้รับแลก จาบจ้วงกันถึงสองรอบขนาดนี้พ่อของนางจึงไปสวดอ้อนวอนขอให้เทพอะพอลโลช่วยลงโทษคนวางโตที่เหลิงอำนาจด้วย จากนั้นก็เกิดโรคระบาดขึ้นในกองทัพกรีกจนสูญเสียกำลังพลไปมาก เหล่าแม่ทัพจึงมาประชุมกันเพื่อหาทางแก้เหตุวิกฤต ผู้พยากรณ์ทำนายสาเหตุว่าเกิดอาเพศเพราะไปลบหลู่เทพ จึงควรไถ่โทษโดยส่งตัวนางไครสีอิสกลับไปไม่ใช่เอาตัวมาเป็นทาสแบบนี้ แต่อะกาเมมนอนไม่เชื่อและเกิดทะเลาะกันอย่างรุนแรงกับอะคิลิส สุดท้ายเรื่องจบลงที่อะกาเมมนอนยอมส่งคืนนางไครสีอิส แต่อะคิลิสต้องยกนางไบรสีอิสมาให้แทน อะคิลิสจึงยอมเพื่อให้เรื่องนี้จบ ๆ ไป แต่ก็ไม่ยอมร่วมสู้ศึกกับอะกาเมมนอนต่อดังที่กล่าวแล้วข้างต้น
การเป็นเจ้านายเป็นหัวหน้าคนไม่ควรไปบังคับหักหาญน้ำใจใครขนาดนั้น ไม่ว่าจะฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายตนเอง ไม่ควรไล่ต้อนคนให้จนมุม หรือลุแก่อำนาจไปข่มเหงจิตใจใครเขา การที่อะคิลิสยอมกลับไปร่วมรบอีกครั้งก็ไม่ใช่เพราะอะกาเมมนอนมาขอร้อง แต่เพราะต้องการไปฆ่าเฮกเตอร์เพื่อแก้แค้นให้เพื่อนรักคือ พาโทรเคิล ซึ่งประมาทลืมตัวจนถูกเฮกเตอร์ฆ่าตายในระหว่างการรบที่อะคิลิสไม่ได้ไปด้วย แล้วหลังจากแก้แค้นสำเร็จได้ไม่นานอะคิลิสก็ถูกฆ่าตายตามเฮกเตอร์ไป โดยปารีสลอบยิงธนูอาบยาพิษไปถูกที่ส้นเท้าซึ่งเป็นจุดอ่อนเดียวของอะคิลิส เป็นไปตามคำทำนายที่แม่ของอะคิลิส (ซึ่งเคยพยายามห้ามแล้วแต่ลูกไม่ฟัง) เคยเตือนว่าเมื่อเฮกเตอร์ตาย อะคิลิสก็จะสิ้นอายุขัยด้วย … การมุ่งงานจนตัวตายเป็นความสูญเสียของครอบครัว แต่สำหรับองค์กรก็ยังต้องหาคนมาทำงานแทนคนที่หายไปได้เสมอ ฝ่ายกรีกก็ยังมียูลิสซิสที่สามารถคิดกลอุบายมาสู้ศึกจนทำให้ทรอยแพ้ได้ในภายหลัง
สำหรับอะกาเมมนอนนั้นการที่ดึงดันไม่ฟังใครส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคิดว่าการมารบในครั้งนี้ตนเองต้องเสียสละมากกว่าคนอื่นไปแล้วจึงสมควรได้รับผลตอบแทนมากกว่าใคร เพราะก่อนออกเดินทางมาทรอย อะกาเมมนอนจำใจต้องเรียกให้ลูกสาวคือ อีพิเจนี มาหาที่เมืองโอลิส เพื่อใช้นางเป็นเครื่องสังเวยในพิธีบูชายัญถวายเทพีไดอาน่า (หรืออาร์ทีมิส ตามชื่อกรีก) เพื่อไถ่โทษตามคำทำนาย เนื่องจากผู้พยากรณ์บอกว่าเหตุที่กองทัพยังไม่สามารถออกดินทางได้เพราะเทพีไดอาน่าโกรธที่อะกาเมมนอนไปฆ่ากวางตัวโปรด จึงบันดาลให้ไม่มีลมทะเลพัดจนไม่สามารถแล่นเรือได้ อะกาเมมนอนจึงยอมทำตามก็เพราะเกรงจะกระทบขวัญกำลังใจของไพร่พลที่เกิดลางไม่ดีตั้งแต่ต้น และยิ่งอยู่เฉย ๆ นาน ๆ ความฮึกเหิมของนักรบก็จะยิ่งลดลง ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นสาเหตุให้ไคลเทมเนสตรา ชายาของอะกาเมมนอนโกรธแค้นมากที่อยู่ดี ๆ ก็ต้องมาสูญเสียลูกสาวไป
แต่คงไม่ถูกต้องนักถ้าอะกาเมมนอนจะเอาเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างฉกฉวยผลประโยชน์จากลูกน้องเพราะคิดว่าตัวเองต้องได้มากกว่าใคร มีหัวหน้าที่เอาเปรียบแบบนี้กำลังใจในการทำงานของลูกน้องก็ไม่เหลือเหมือนกัน หนังสือบางเล่มบอกว่าที่จริงอะกาเมมนอนเปลี่ยนใจแล้วเพราะสงสารลูกจึงส่งข้อความไปอีกครั้งเพื่อยับยั้งไม่ให้มา แต่เมนีเลียสแอบกักไว้เพราะกลัวจะไม่ได้ออกเดินทางไปตามเฮเลน เมื่ออีพิเจนีมาถึงตามคำสั่งเดิม อะกาเมมนอนจึงจำใจยอมให้ทำพิธี และถึงแม้ความจริงจะปรากฏในภายหลังว่าอีพิเจนีไม่ตาย เพราะเทพีไดอาน่าเกิดเมตตาไว้ชีวิตและส่งนางไปเป็นเจ้าพิธีผู้ดูแลศาลบูชาองค์เทพีที่เมืองอื่น แต่ก็เปลี่ยนข้อเท็จจริงไม่ได้ที่ว่าอีพิเจนีมาประสบชะตากรรมที่เมืองนี้เพราะพ่อสั่ง ด้วยสาเหตุจากเรื่องที่อะกาเมมนอนเป็นคนทำผิดพลาดเอง (ฆ่ากวาง) และเขาเองเป็นคนยอมให้ลูกถูกบูชายัญ (ถึงไม่ตายก็ต้องพลัดพรากจากพ่อแม่พี่น้องและบ้านเกิดเมืองนอนโดยไม่รู้อีโหน่อีเหน่) ถ้าเขาเปลี่ยนใจจริง ต่อให้มาถึงแล้วก็น่าจะสั่งล้มเลิกพิธีมากกว่าปล่อยให้เลยตามเลยแบบนี้
ปกติในตำนานมักจะเห็นการบูชายัญลูกสาวเจ้าเมืองก็ต่อเมื่อเกิดเหตุร้ายกับเมืองตนเอง เช่น มีสัตว์ร้ายมาอาละวาดกินคน จึงจำต้องยอมเสียสละเพื่อส่วนรวม ไม่ใช่หลอกแม่ให้ส่งลูกไปหาพ่อแล้วต้องกลายเป็นเหยื่อสังเวย ครั้งนี้เป็นการไปรบเพื่อคนอื่น ถึงแม้อาจจะมีจุดประสงค์รองในเรื่องไปยึดทรัพย์สินและกวาดต้อนเชลยศึกมาเป็นทาสเพื่อเสริมความยิ่งใหญ่ให้ตัวเอง แต่ก็ไม่ใช่เหตุจำเป็นร้ายแรงถึงชีวิตที่ต้องช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ดังนั้นหากมองในมุมของไคลเทมเนสตราก็เข้าใจได้ถ้านางจะโกรธแค้นมากจนไม่สามารถให้อภัยได้ แต่วิธีที่นางเลือกใช้เพื่อแก้แค้นนั้นก็ไม่ถูกทำนองคลองธรรมเช่นกัน
หลังจากรบชนะพวกทรอยแล้วกลับไปถึงเมืองไมซีนี อะกาเมมนอนก็ถึงฆาตด้วยน้ำมือของชายาตนเอง ไคลเทมเนสตราต้องการให้เขาชดใช้ด้วยชีวิต จึงเลือกที่จะสมคบคิดและเป็นชู้กับอีจีส (ซึ่งเล็งจะยึดอำนาจอยู่แล้วและสบโอกาสเมื่ออะกาเมมนอนไม่อยู่) การกระทำของไคลเทมเนสตรานี้ ลูกสาวอีกคนคือ อีเลคตรา ก็ไม่ให้อภัยเช่นกัน นางโกรธที่แม่ฆ่าพ่อและคิดทำร้ายลูกชายคือ โอเรสเตส (เพื่อป้องกันไม่ให้มาล้างแค้นแทนพ่อ) จึงลอบส่งตัวน้องชายไปอยู่ที่เมืองอื่นเพื่อรอเวลาให้เติบโต ต่อมาโอเรสเตสก็กลับมาร่วมมือกับพี่สาวฆ่าแม่และชายชู้ให้ตายตกตามกันไป โดยที่โอเรสเตสเองก็ต้องรับผลกรรมหนักจากการทำอนันตริยกรรมเช่นกัน ตอนที่ยังไม่ตายก็หาความสงบสุขในชีวิตไม่ได้อีกเลย
สุดท้ายแล้วครอบครัวของอะกาเมมนอนก็ต้องล่มสลาย ทรัพย์สมบัติที่สู้อุตส่าห์ไปหาไปยึดมาก็ยังไม่ทันได้ใช้ให้คุ้ม อย่าว่าแต่อำนาจหรือชื่อเสียงเลย แม้แต่ชีวิตของตนเองก็รักษาเอาไว้ไม่ได้ อันที่จริงเมื่อในครอบครัวเดียวกันเกิดการทรยศและมีการทวงแค้นเอาคืน ไม่ว่าใครชนะก็ต้องเจ็บปวดกันทุกฝ่าย เรื่องราวนี้จึงเป็นตัวอย่างของคนที่มุ่งแต่เรื่องงานหรือเกียรติยศชื่อเสียงเงินทอง แต่ละเลยไม่ใส่ใจกับความรู้สึกของคนในบ้าน สุดท้ายก็ต้องสูญสิ้นทุกอย่างแม้แต่สิ่งที่เคยครอบครองอย่างภาคภูมิใจ และยังเป็นแผลในใจของคนที่ยังอยู่ไปอีกแสนนาน
อ้างอิงจาก
- เทวดาฝรั่ง กรีก-โรมัน โดย อ. สายสุวรรณ
- เทพนิยายและตำนานกรีกโบราณ โดย ดารณี เมืองมา
- READ ยูลิสซิส : เมื่อมีความตั้งใจก็ย่อมหาหนทางไปได้เสมอ
- READ อะกาเมมนอน : ผู้ชนะศึกนอกแต่พ่ายศึกใน
- READ ปารีส : เพราะชะตากรรมหรือทำตัวเอง
- READ หนึ่งมิจ (ฉาชีพ) ชิดใกล้ : เคร้าช์ จูเนียร์
- READ คนที่คุณเองก็จะนึกถึงตลอดไป : ดัมเบิลดอร์กับสเนป
- READ อยู่และเรียนรู้
- READ รวมมิตรที่คิดไม่ถึง : ด๊อบบี้ กับ ครีเชอร์
- READ ทางที่เลือก : แฮร์รี่ vs โวลเดอมอร์
- READ มีแต่เพื่อนแท้เท่านั้นที่อยู่เหนือกาลเวลา
- READ ขมิ้นกับปูน : มัลฟอย
- READ เสาหลักที่แข็งแกร่งมั่นคงและตรงแบบแผน : มักกอนนากัล
- READ มีใครร้ายกาจกว่านี้อีกไหม : อัมบริดจ์
- READ อย่าตัดสินเนื้อหาจากปกหนังสือ : แฮกริด