ぼくがラーメンたべてるとき : ตอนที่ผมกินราเม็ง (2007)

ぼくがラーメンたべてるとき : ตอนที่ผมกินราเม็ง (2007)

โดย : ศุภสวัสดิ์

Loading

ฉันวางหนังสือนิทานระหว่างเรา คอลัมน์เกี่ยวกับ “นิทาน” ในรูปแบบวรรณกรรมเยาวชนทั้งที่เคยได้อ่านในวัยเด็กและวัยนี้ ที่ ‘ศุภสวัสดิ์’ คัดเลือกมาเล่าให้อ่านกันที่ อ่านเอา เว็บไซต์ที่ไม่ได้มีดีแค่นวนิยายออนไลน์ แต่เรายังมีคอลัมน์ต่างๆ รอให้คนรักการอ่านได้อ่านออนไลน์

**********************************

นานมาแล้วเหมือนเคยมีคนญี่ปุ่นสักคนถามผมว่า “รู้ไหม… ทำยังไงถึงจะกินราเม็งให้อร่อย” …ยังไม่ทันปล่อยให้ผมได้คิด เขาก็ชิงบอกออกมาก่อนว่า “คำตอบก็คือ… ต้องรู้จักวิธีสูดเส้นราเม็งเข้าไปด้วยยังไงล่ะ!”

“การสูดเส้นราเม็งเข้าไปจะช่วยให้เรารับรู้ถึงกลิ่นหอมของน้ำซุปได้มากขึ้น ถือเป็นการพากลิ่นหอมทั้งหมดทั้งมวลเข้าไปอบอวลอยู่ภายในปาก และในขณะที่ลิ้นของเรากำลังเพลิดเพลินอยู่กับรสชาติที่แสนอร่อยของราเม็งอยู่นั้น กลิ่นหอมของน้ำซุปก็จะหวลกลับมาอีกครั้งผ่านทางลมหายใจออก ยิ่งเราสูดเส้นเสียงดังเท่าไหร่ รสชาติที่เกิดทั้งจากรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสก็จะช่วยทำให้ราเม็งชามนั้นอร่อยขึ้นอีกเป็นสองเท่า…” เขาว่าอย่างนั้น

หนังสือนิทานภาพเรื่อง ぼくがラーメンたべてるとき หรือ ตอนที่ผมกินราเม็ง ในเวอร์ชันภาษาไทยนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรับประทานราเม็งแต่อย่างใด หลายคนยังบอกอีกว่าเนื้อหาข้างในนิทานเล่มนี้สามารถตีความไปได้กว้างไกลและลึกซึ้ง ถึงขั้นที่ไม่น่าเชื่อว่านี่จะเป็นหนังสือนิทานภาพสำหรับเด็ก.. ใครจะไปคิดว่าขณะที่เด็กคนหนึ่งกำลังใช้ชีวิตปกติประจำวันอยู่นั้น เด็กคนอื่นๆ ที่อยู่บ้านติดๆ กัน หรืออยู่ห่างออกไปอีกสองหลัง หรือห่างออกไปอีกเมือง หรืออยู่อีกประเทศ หรืออยู่ในอีกมุมหนึ่งของโลก พวกเขาเหล่านั้นกำลังทำอะไร มีชีวิตอย่างไร และกำลังเผชิญอะไรอยู่บ้าง หนังสือนิทานเล่มนี้เริ่มต้นประมาณว่า..

“ตอนที่ผมกินราเม็งอยู่นั้น เจ้าเหมียวมิเกะอ้าปากหาวอยู่ข้างๆ…

ตอนที่มิเกะกำลังอ้าปากหาวอยู่ข้างๆ มิจจังคนบ้านข้างๆ กำลังเปลี่ยนช่องโทรทัศน์…

ตอนที่มิจจังคนกำลังเปลี่ยนช่องโทรทัศน์ ไทจังคนบ้านถัดๆ ไปก็กำลังกดชักโครก..”

 

ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องราวที่เรียบง่าย.. แต่ภาพในหน้าท้ายๆ ของหนังสือนิทานก็อาจทำให้ใครหลายคนตกใจและเผลอหุบยิ้มไปชั่วขณะ หนังสือที่เพิ่งชวนคุยถึงเหตุการณ์ต่างๆ บนโลกใบนี้ ชักชวนให้เด็กๆ มองเห็นสุขทุกข์ของคนอื่นๆ และสัจธรรมในโลกคู่ขนาน อาจจะไม่ยากจนเกินไปนักที่จะเข้าใจถึงเด็กคนอื่นๆ ที่ไม่ได้มี ‘ชีวิต’ แบบเดียวกับเรา..

ตอนที่ผมกินราเม็ง ผลงานนิทานภาพเล่มแรกๆ  ของอาจารย์ ‘ฮาเซงาวะ โยชิฟุมิ’ (長谷川義史) จิตรกร นักวาดภาพประกอบ และนักเขียนหนังสือภาพชาวญี่ปุ่น วัย 61 ปี เกิดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 1961 ที่เมืองฟูจิอิเดระ จังหวัดโอซาก้า เนื่องจากฐานะทางครอบครัวที่ไม่ค่อยดีนัก ประกอบกับคุณพ่อเสียชีวิตตั้งแต่ตอนที่อาจารย์ยังเรียนอยู่ชั้นประถม ทำให้อาจารย์ฮาเซงาวะไม่สามารถเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยศิลปะได้เหมือนอย่างที่ตั้งใจ เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายอาจารย์จึงไปสมัครเรียนศิลปะจากโรงเรียนสอนวิชาชีพทั่วไป จนได้มากเรียนรู้พื้นฐานของการวาดภาพและการออกแบบอย่างจริงจังจากการทำงานในบริษัทผลิตป้ายโฆษณา และได้มาเป็นนักวาดภาพประกอบในภายหลัง จนมีหนังสือนิทานภาพเล่มแรกเป็นของตัวเองในปี 2001 จากเรื่อง おじいちゃんのおじいちゃんのおじいちゃん หรือ ปู่ของปู่ของปู่

ในบทสัมภาษณ์ตอนหนึ่ง อาจารย์ฮาเซงาวะได้เล่าให้ฟังว่า สมัย ป.5 ท่านมีครูสอนศิลปะคนหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจและทำให้รักการวาดรูปมาจนถึงปัจจุบัน ครูผู้ชายวัยกลางคนที่อนุญาตให้บรรดาลูกศิษย์ได้ลองเขียน ลองวาดได้ตามใจชอบ ลองให้ใช้พู่กันขนาดใหญ่ ใช้ถังน้ำ กับจานสีกว้างๆ มาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะต่างๆ ออกมาโดยไม่มีขีดจำกัด และคำพูดที่คุณครูท่านนั้นได้สอนอาจารย์ฮาเซงาวะไว้และอาจารย์ก็นำมาใช้ในงานเขียนจนถึงทุกวันนี้ก็คือ “จงจดจำภาพและสีสันของทิวทัศน์ทั้งหมดให้ได้ในทันทีที่มองเห็น แล้วจากนั้นจึงค่อยใช้ใจวาดและเขียนมันออกมา..” จนในปี 2019 อาจารย์ฮาเซงาวะก็ได้นำเรื่องของครูท่านนี้มาเขียนเป็นนิทานภาพเรื่อง おおにしせんせい หรือ คุณครูโอนิชิ (ยังไม่มีเวอร์ชันภาษาไทย)

ผลงานของอาจารย์ฮาเซงาวะโดดเด่นในเรื่องของวิธีการวาดและการใช้สี คนที่ชอบนิทานภาพส่วนใหญ่จะตกหลุมรักในบุคลิกตัวละครที่ดูแล้วอบอุ่นใจ การลงสีที่สนุกสนาน และลายเส้นจากพู่กันขนาดใหญ่ รูปวาดและการให้สีที่มีสัดส่วนและลักษณะคล้ายคลึงกับการวาดของเด็กประถมก็เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน หนังสือนิทานเรื่อง ตอนที่ผมกินราเม็ง นั้นกวาดรางวัลหนังสือภาพยอดเยี่ยมมาได้จากหลายสถาบันในปี 2007-2008 และยังถูกนำมาใช้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาให้กับเด็กนักเรียนในระดับประถมของประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย

ผมว่า อาจารย์ฮาเซงาวะ โยชิฟุมิ ไม่ได้เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อให้เด็กๆ ทุกคนที่กำลังจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตได้อ่านเท่านั้น แต่ด้วยความหวังลึกๆ ที่อยากจะเห็นโลกใบนี้สงบสุขในสักวันหนึ่ง โลกที่เราทุกคนร่วมกันสร้างขึ้นมาจากการเปิดตาและเปิดใจ ‘มองเห็น’ และ ‘รับรู้’ ถึงความเป็นไปของเพื่อนมนุษย์รอบข้าง โลกที่เคยคิดว่ากว้างปัจจุบันกลับแคบลงทุกทีในความรู้สึก การอยู่ร่วมกันด้วยความพยายามที่จะไม่รับรู้หรือใส่ใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันบางครั้งก็อาจจะทำให้เรามีความสุขในชีวิตได้ไม่เต็มที่นัก… ถ้าไม่เป็นการกล่าวจนเกินเลยไป ผมว่าหนังสือนิทานเล่มนี้น่าจะเหมาะกับคนทุกๆ คนที่กำลังดำเนินชีวิตอยู่บนโลกใบนี้

ผมคงเล่าอะไรเกี่ยวกับหนังสือนิทานเล่มนี้ได้ไม่มากนัก.. ตอนที่ใครสักคนกินราเม็งอยู่นั้นกำลังเกิดอะไรขึ้น?  คำตอบดังกล่าวคงล่องลอยอยู่ในสายลม ล่องลอยราวกับขนนกที่จะร่วงหล่นสู่พื้นบ้างเป็นบางคราว แต่ปัญหาก็คือ… เมื่อมันตกลงมาแล้ว จะมีใครหยิบมันขึ้นมาหรือเปล่า… คงมีคนอีกจำนวนมากที่ยังคงไม่มีโอกาสรับรู้ว่าคำตอบนั้นคืออะไร… แล้วขนนกก็ถูกพัดให้ลอยขึ้นไปอีกครั้ง

ป.ล. กรอบรูปในบ้านหลังหนึ่งมีกลอนไฮกุที่พูดถึงเรื่องนี้แขวนไว้ด้วยเช่นกัน

The answer, my friend, is blowinin the wind. The answer is blowinin the wind.

Don`t copy text!