The Pilot and the Little Prince

The Pilot and the Little Prince

โดย :

Loading

ฉันวางหนังสือนิทานระหว่างเรา คอลัมน์เกี่ยวกับ “นิทาน” ในรูปแบบวรรณกรรมเยาวชนทั้งที่เคยได้อ่านในวัยเด็กและวัยนี้ ที่ ‘ศุภสวัสดิ์’ คัดเลือกมาเล่าให้อ่านกันที่ อ่านเอา เว็บไซต์ที่ไม่ได้มีดีแค่นวนิยายออนไลน์ แต่เรายังมีคอลัมน์ต่างๆ รอให้คนรักการอ่านได้อ่านออนไลน์

**********************************

คำถามว่า ‘พ่อของพวกเราอยู่ที่ไหน’ ยังคงค้างคาใจพวกเราจากคืนนั้น ริวไม่เชื่อว่าพ่อจะทิ้งพวกเราไปอย่างไม่มีวันกลับ เคนจิก็รับไม่ได้กับความเชื่อที่พ่อไปเป็นนักเขียนนิทานที่ญี่ปุ่น พวกเราต่างครุ่นคิดสงสัยและเชื่อไปกันคนละทาง หรือบางทีพ่อก็แค่หายไปจัดการธุระอย่างที่บอก ผมเชื่อว่าพ่อไม่ได้หลอก เสร็จงานเมื่อไหร่แล้วพ่อคงกลับมา… ‘ความเชื่อ’ กับ ‘ความหวังว่า’ บางทีก็ห่างไกลในแง่ของความเป็นจริง… พ่อเคยบอกว่าสิ่งที่เราเลือกจะเชื่อนั้นมักเป็นสิ่งที่ทำให้เราสบายใจ พวกเราต่างนิ่งไปสักพัก… “รู้แล้ว! หรือว่าคุณตาจะแกล้งเป็นอัลไซเมอร์ จริงๆ คุณตารู้ แต่เลือกเก็บเป็นความลับไว้ไม่บอกพวกเรา” เคนจิบอกให้พวกเราลองไปแอบถามตาดูถ้ามีโอกาสได้อยู่กันตามลำพัง

เย็นวันนั้นพวกเราออกมานั่งออกันอยู่ที่ระเบียง ค่อยๆ เลียบๆ เคียงๆ ถามคุณตา แต่แล้วคำตอบว่า ‘พ่อของพวกเราอยู่ที่ไหน’ กลายเป็นเรื่องของ ‘โจจู๋’ ที่จู่ๆ ตาก็นึกอยากเล่าก็เล่าขึ้นมาอีกครั้ง ตัวละครจากเรื่องสามก๊กที่ตารักมากตัวหนึ่ง ถึงขนาดเล่าซ้ำมาซ้ำไปได้ไม่มีเบื่อ เราไม่เชื่อว่าคุณตาจะอ่านสามก๊กไป 3 รอบ แต่คำตอบของตาคราวนี้ก็ทำให้พวกเราได้ฟังสามก๊กตอน ‘โจจู๋ป่วนโจโฉ’ ไปเป็นรอบที่ 4 แล้ว

“โจจู๋ ชายชรารูปร่างประหลาด เดินกระย่องกระแย่ง ขาสั้นข้างยาวข้าง ตาส่อนข้างหนึ่ง แอบแฝงตัวมาลักส้มที่เป็นบรรณการของโจโฉ วิธีการขโมยไปก็พิสดาร คือเอาไปแต่เฉพาะเนื้อส้มโดยที่เปลือกยังไม่ได้แกะ โจโฉให้ทหารไปตามจับตัวมาเพราะความสงสัยว่าโจจู๋ทำได้ยังไง โจจู๋เลยขอเหล้ากับอาหารมามากมายก่อนเฉลย ว่าแล้วโจจู๋ก็เลยกินแพะย่างไป 1 ตัว กินเหล้าหมดไป 5 ไห พร้อมคุยว่าตนเคยได้ศึกษาคัมภีร์วิเศษของลัทธิเต๋ามาหลายปี มีตำราที่เทพยดาเอามาให้อย่างคัมภีร์เทียนตุน-เรียกลมฝน คัมภีร์เตตุน-แทรกภูเขาไชก้อนศิลา และคัมภีร์ยินตุน-กำบังกายหายตัว ‘ถ้าท่านโจโฉสนใจใคร่ศึกษา ข้าก็จะสอนให้ แต่ต้องติดตามข้าออกไปถือศีล ละทิ้งยศถาบรรดาศักดิ์และสมบัติเหล่านี้ แล้วยกให้คนชื่อเล่าปี่ปกครองแทน’

โจโฉได้ยินดังนั้นก็โกรธมาก คิดว่าโจจู๋ต้องเป็นพวกเดียวกับเล่าปี่แน่ จึงรีบสั่งให้ทหารองครักษ์เกือบ 30 คนเข้าจับกุมและทุบตี แต่โจจู๋ก็ไม่ได้แสดงอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด โจโฉเจ็บใจสั่งให้เอาขื่อคามาใส่คอ แล้วเอาตัวโจจู๋ไปตรึงตรวนไว้แน่นหนาอยู่ในคุก เช้าวันรุ่งขึ้นขื่อคาที่ตรึงไว้อย่างแน่นหนาก็หลุดออก โจโฉยิ่งแค้นหนักสั่งผู้คุมขังงดอาหารงดน้ำโจจู๋อีก 7 วันเพื่อหวังให้อดตาย แต่ 7 วันผ่านไปโจจู๋ก็ยังอยู่ได้อย่างสบาย โจจู๋พูดอวดกับโจโฉว่า ‘ต่อให้ข้าอดอาหารสิบปีข้าก็ไม่เป็นอะไร หรือจะบังคับให้กินแพะสักพันตัวในคราวเดียวข้าก็ยังไหว’

วันหนึ่งมีงานเลี้ยงฉลองตำหนักใหม่ โจโฉเปรยออกมาว่าอยากจะได้ ‘ตับมังกร’ ขุนนางได้ยินก็ต่างมองหน้ากันเลิกลั่ก สักพักโจจู๋ยกมือขึ้นอาสา พร้อมหยิบพู่กันออกมาวาดเป็นมังกรตัวใหญ่บนผนังห้อง โจจู๋ค่อยๆ เอามือล้วงเข้าไปตรงส่วนท้อง แล้วค่อยๆ หยิบเอาตับมังกรออกมาจากรูปวาด พวกขุนนางต่างพากันประหลาดใจ แล้วหลังจากนั้นโจจู๋ก็แสดงอภินิหารออกมาอีกมากมาย อย่างเสกขิงสดมาได้จากถาดเปล่า ตกเอาปลากะพงแม่น้ำซ่งได้จากบ่อน้ำใต้ตำหนัก เสกดอกโบตั๋นขึ้นมาได้จากกระถางดิน เสกนกกระเรียนให้บินว่อนไปทั่วโถงทางเดินจากจอกสุราที่ปาขึ้นไปบนอากาศ…”

คุณตากำลังสนุกกับเรื่องที่เล่า แม้จะเป็นเรื่องเก่าที่พวกเราก็จำได้ แต่แค่แววตาตาที่ฉายประกายแห่งความสุขก็ทำให้หลานๆ สนุกตามไปด้วยทุกครั้ง “เดี๋ยวแพะจะออกมาแล้วใช่ไหมครับ” ริวรู้ล่วงหน้าแต่ก็ยังตื่นเต้น “จวนแล้วๆ เดี๋ยวตารีบข้ามไปตอนนั้นเลยดีไหม” ริวพยักหน้าดีใจ ตาก็เล่าต่อไปอย่างออกรส

“ขณะที่นกกระเรียนบินว่อนอยู่ทั่วตำหนัก โจจู๋ก็หายตัวไป โจโฉรีบสั่งให้ ‘เคาทู’ นำทหารม้า 500 นายออกตามล่า เคาทูเห็นโจจู๋เดินกะเผลกอยู่ใกล้ๆ แต่ทำไมถึงควบม้าตามไปไม่ทันสักที เคาทูสั่งให้พลทหารยิงธนูใส่ ธนูก็พุ่งไปไม่ถึง ฝ่ายโจจู๋เห็นเด็กคนหนึ่งกำลังต้อนฝูงแพะเดินผ่านมาพอดี ก็เลยตัดสินใจกระโดดเข้าฝูงแพะแล้วหายตัวไป พวกทหารรีบลงจากม้ามาตามหา แต่หาเท่าไหร่ก็ไม่เจอ เคาทูจึงสั่งให้ทหารฆ่าแพะทั้งหมดนั่นซะ มันจะต้องแกล้งแปลงกายเป็นแพะแน่ แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครพบโจจู๋อยู่ดี เคาทูกับทหารพากันกลับไป ทิ้งเด็กเลี้ยงแพะไว้ให้นั่งร้องไห้อยู่ตรงนั้น… ‘ไม่เป็นไรๆ แพะพวกนี้ที่โดนตัดหัวไป ถ้าเจ้าลองเอาหัวไปต่อกับตัวใหม่ ข้ารับรองว่ามันจะพื้นขึ้นมา’ โจจู๋ก็ปรากฏตัวขึ้นมาทันใด เด็กน้อยได้ยินก็รีบทำตาม หยิบเอาหัวมาต่อกับตัว เอาตัวมาต่อเข้ากับหัว แล้วแพะทั้งหมดก็ฟื้นขึ้นมาตามที่โจจู๋บอก แต่ทว่า… โชคร้ายที่เด็กคนนั้นไม่ได้ดูว่าแพะตัวไหนเป็นตัวไหน จึงต่อหัวตัวผู้ตัวเมียสลับกันมั่วไปหมด และด้วยเหตุนี้เอง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แพะตัวเมียจึงมีเขาและมีเคราเหมือนตัวผู้สืบไป…”

คุณตาหยุดเล่าลงกลางคัน ยังไม่ทันที่เรื่องจะจบ เพราะสุดท้ายโจโฉต้องลนลานจนเกือบตาย กว่าจะหายได้ก็ต้องให้ ‘กวนลอ’ หมอวิเศษมารักษา แต่โจจู๋จะเป็นใคร แค่ตั้งใจเข้ามายั่วโมโหโจโฉแล้วจากไปเฉยๆ เท่านั้นหรือ ตาบอกว่า “ไม่มีใครรู้ความจริงทั้งนั้น บางคนบอกว่าโจจู๋เป็นเซียน เป็นนักพรต หรือเป็นพ่อมดผู้วิเศษ แต่ถ้ารู้ความจริงไปก็ไม่รู้ว่าเรื่องนี้จะยังสนุกอยู่หรือเปล่า อาจจะต้องลองปล่อยให้เป็นหน้าที่ของจินตนาการทำงานดู” พวกเรารู้ว่าเหมือนตาจะแอบตอบคำถามเรื่องพ่อ “ความจริงบางอย่างไม่จำเป็นต้องไปพิสูจน์ให้เห็นด้วยตา บางอย่างแค่อาจยังต้องรอเวลา บางอย่างก็แค่ใช้ใจในการมองและรู้สึกมัน” ตาเดินกลับห้องไปแล้วทิ้งท้ายให้พวกเราฟังว่า “นี่คือความลับของฉัน มันแสนธรรมดา เราจะมองเห็นแจ่มชัดด้วยหัวใจเท่านั้น สิ่งสำคัญไม่​อาจเห็นได้ด้วยดวงตา สุนัขจิ้งจอกฝากบอกมาว่าอย่างนี้

ตอนที่ 4 : The Pilot and the Little Prince: The Life of Antoine de Saint-Exupéry (May, 2014) โดย Peter Sís

Peter Sís เกิดที่เมืองเบอร์โน สาธารณรัฐเช็ก (Brno, The Czech Republic) ในปี 1949 สำเร็จการศึกษาจาก Royal College of Art ประเทศอังกฤษ เขาเริ่มอาชีพเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ทันทีหลังจากที่เรียนจบ และเริ่มเป็นที่รู้จักจากภาพยนตร์สั้นเรื่อง Hlavy* ที่ได้รับรางวัลหมีทองคำ (Golden Bear Award) ในเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลินตะวันตก (West Berlin Film Festival) ในปี 1980 จนในปี 1982 Sís ได้เป็นตัวแทนเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อสร้างภาพยนตร์แอนิเมชันที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของประเทศเชโกสโลวาเกีย** ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กำลังจะมีขึ้นที่นครลอสแอนเจลิส แต่ด้วยปัญหาทางการเมืองบางอย่างที่เกิดขึ้นในขณะนั้น Sís ได้รับการลี้ภัยและอาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกามาจนกระทั่งได้รับสัญชาติอเมริกันในปี 1988

Peter Sís เริ่มหันมาเขียนหนังสือนิทานสำหรับเด็กตั้งแต่ที่ย้ายมาอยู่อเมริกา หนังสือของเขาก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างดี มีรางวัลใหญ่หลายรางวัลการันตี เขาเคยได้รับรางวัล The New York Times Book Review Best Illustrated Book of the Year ถึง 7 ครั้ง และรางวัล Boston Globe–Horn Book Award อีก 4 ครั้ง รวมถึงรางวัล Hans Christian Andersen (2012) ที่จัดขึ้นทุกๆ สองปีโดย International Board on Books for Young People (IBBY) ซึ่งถือเป็นรางวัลสูงสุดสำหรับนักเขียนและนักวาดภาพประกอบหนังสือเด็ก ปัจจุบัน Peter Sís เป็นทั้งนักวาดภาพประกอบและนักแต่งหนังสือสำหรับเด็กที่มีผลงานมาแล้วมากกว่า 30 เล่ม ผลงานภาพวาดประกอบของเขายังมีให้เห็นในหนังสือ Esquire, Atlantic Monthly, Time และ Newsweek อยู่เป็นประจำ

นิทานเรื่อง The Pilot and the Little Prince: The Life of Antoine de Saint-Exupéry หรือจะเรียกว่าเป็นชีวประวัติของ อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี ในรูปแบบของหนังสือภาพก็ได้ ไม่แน่ใจว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะกับเด็กอายุเท่าไหร่ เนื่องจากรูปแบบและขนาดของตัวอักษรที่ใช้มีความหลากหลายมากจนเกินไป แม้ว่าข้อความส่วนใหญ่จะถูกเขียนขึ้นอย่างเรียบง่ายและมีขนาดเหมาะสมสำหรับเด็ก แต่ยังมีข้อความขนาดเล็กอีกจำนวนมากที่บางครั้งก็ยากในการอ่านและลำบากในการจัดลำดับเวลาว่าควรจะเริ่มอ่านจากตรงไหนก่อนดี โดยเฉพาะการวางตัวอักษรเป็นกรอบล้อมรูปภาพเป็นวงกลมอาจดึงดูดให้เราพลิกหนังสือหมุนไปมาในช่วงแรก แต่สักพักก็อาจสร้างความหงุดหงิดขึ้นมาแทน โดยส่วนตัวคิดว่า Peter Sís อาจจะตั้งใจให้ข้อความเหล่านั้นเป็นเหมือนดาวเคราะห์แต่ละดวงที่เราต้องเข้าไปศึกษาและใช้เวลาอ่านรายละเอียดของมัน

Peter Sis เลือกที่จะเล่าเรื่องชีวิตของ อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี ด้วยภาพที่มีสีสันไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะใช้สีน้ำตาล เหลือง และฟ้า เป็นหลัก ให้ความรู้สึกเหมือนกับอยู่ในทะเลทราย มีเพียงเฉพาะช่วงที่เล่าถึงสงครามโลกและการรุกรานประเทศฝรั่งเศสจากกองทัพนาซีเยอรมันเท่านั้นที่เขาจะวาดท้องฟ้าเป็นสีแดงและใช้สีน้ำในการถ่ายถอดความน่ากลัวสยอดสยอง ชีวิตของแซงเตก-ซูเปรีนั้นโรแมนติกและน่าหลงใหล เขาชื่นชอบการผจญภัยและเดินทางไปยังเส้นทางใหม่ๆ อยู่เสมอ นวนิยายเรื่องแรกของเขาคือ ไปรษณีย์ใต้ (Courrier Sud) ซึ่งมาจากประสบการณ์การเป็นนักบินที่มีหน้าที่ส่งวิทยุติดต่อกับศูนย์หน่วยงาน รวมถึงส่งไปรษณีย์ และตามหานักบินที่อาจประสบอุบัติเหตุ ตอนจบของหนังสือเล่มนี้มีประโยคที่อาจบีบคั้นหัวใจของใครหลายคน “But he never returned. Some say he forgot his oxygen mask and vanished at sea. Maybe Antoine found his own glittering planet next to the stars..”

ผมว่าถึงตอนนี้หลายคนคงรู้แล้วว่า อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี หายไปไหน… การหายไปอย่างลึกลับของเขาเคยทำให้ ‘เจ้าชายน้อย’ มีมนต์ขลังขึ้นมาอย่างประหลาด ความเหงา ความเศร้า ความโดดเดี่ยว ความรักอันอ่อนโยน และมิตรภาพที่แสนบริสุทธิ์จะคอยผสมอยู่ทุกครั้งที่เราหยิบเขาขึ้นมาอ่าน แต่ละวรรค แต่ละตอน แต่ตัวละครที่เข้ามา ภาพทะเลทรายอันเวิ้งว้าง ดินแดนที่ปราศจากเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และเส้นแบ่งใดๆ แม้ว่าดาวเคราะห์น้อย B612 จะได้รับการยืนยันว่าไม่มีอยู่จริง แม้ว่าจะมีชาวประมงพบสร้อยข้อมือสลักชื่อ อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแล้วก็ตาม… แต่ผมเชื่อว่าหลายคนก็ยังคงแอบมีความเชื่อบางอย่างเป็นของตัวเองเก็บเอาไว้ในใจ บางทีการไม่รู้อะไรก็ทำให้ใจเราไม่เศร้าไปมากกว่านี้..

ป.ล. วันที่ 31 กรกฎาคม 2021 จะครบรอบ 77 ปี ของการเดินทางจากโลกมนุษย์ไปของ อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี

 

*Hlavy – ภาษาเช็ก แปลว่า ศีรษะ

**ประเทศเชโกสโลวาเกีย – ถูกแยกออกเป็นรัฐอิสระสองประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐเช็ก และสโลวาเกีย ตั้งแต่ปี 2536

Don`t copy text!