มาละเหวย มาละวา คณะกลองยาวของเราก็มา

มาละเหวย มาละวา คณะกลองยาวของเราก็มา

โดย : ต้องแต้ม

Loading

“อ่านเอาเล่าเรื่อง” คอลัมน์ที่รวมบทความจากผู้เข้าอบรมในโครงการ อ่านเอาเล่าเรื่อง ที่จัดโดยเว็บไซต์อ่านเอา โดยโครงการนี้ เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้นำเรื่องราวที่ประทับใจของตัวเองมาถ่ายทอดในรูปแบบเรื่องเล่า และสานฝันสำหรับทุกคนที่อยากเริ่มต้นสู่เส้นทางการเป็นนักเขียน

บ่อยครั้งที่ฉันนั่งดูยูทูป แล้วไปเจอเรื่องราวหลายอย่างที่ทำให้ย้อนคิดถึงอดีตในวัยเด็กที่จดจำได้ดี แม้แต่เสียงโห่ฮิ้วจากคณะกลองยาวก็นึกไปถึงเสียงโห่ฮิ้วร้องเป็นเพลงจากคณะกลองยาวศรัทธาวัดชัยศรีภูมิ หรือวัดปันต๋าเกิ๋น มีคุณตาฉันเป็นเจ้าของคณะ ร้องรับเป็นลูกคู่ โห่ร้องตามเสียงร้องของน้าชายฉัน พร้อมเสียงฆ้องตีดังมง..มง เสียงกรับเสียงกลองรับจังหวะตีดังขึ้นมา

พวกเราคณะกลองยาวหรือบางทีก็เรียก กลองถิ่งบอม ก็ร้องเป็นเพลง ตีกลองไป แห่ตามงานต่างๆ ส่วนใหญ่มักเป็นงานปอยจะเป็นงานบุญ ฉลอง มีงานรื่นเริง ถ้าเป็นงานบุญใหญ่อย่างงานสมโภชต่างๆ มักเรียก “ปอยหลวง” จำได้สมัยเด็กๆ ฉันเป็นช่างฟ้อนตัวน้อยของคณะ เวลาไปงานปอย ก็มักจะรำอยู่แถวหน้า นำขบวนของพระหรือศรัทธาวัดที่ไปร่วมงาน ขากลับก็มักจะได้ของเป็นพวกสบู่ จำได้ว่าเด็กๆ ไม่เคยซื้อสบู่ใช้เลย และมักได้อยู่สองยี่ห้อคือ Lux หรือไม่ก็นกแก้ว ซึ่งสมัยก่อนมีสีเดียวคือสีเขียว นานๆ ทีจะได้เป็นเงินสดกับเขาบ้าง ผู้ใหญ่คนละยี่สิบบาท เด็กไม่ต้องไปหวัง ได้มาเป็นสบู่ แต่ความรู้สึกในตอนนั้น มันช่างสนุกจริงๆ ลุ้นว่าวันนี้จะได้สบู่ยี่ห้ออะไร

งานปอย งานบุญเมื่อสามสิบสี่สิบปีก่อน วัดต่างๆ มักจะส่งตัวแทนวัดไปร่วมงานเสมอ มีทั้งคณะกลองยาว บางวัดก็จะเป็นขบวนช่างฟ้อนเล็บที่อย่าได้ไปตามเชียว จะทำให้ขบวนเราเข้าวัดได้ช้ามาก เพราะคณะฟ้อนเล็บกว่าจะก้าวแต่ละก้าวได้เชื่องช้า แต่งดงามในท่าฟ้อน กระซิบว่าฉันก็ฟ้อนเล็บเป็นนะ บางวัดก็จะเป็นขบวนแห่กลองปูเจ่ที่จะมีกลองช่วงยาวกว่ากลองยาว (แต่ขนาดสั้นกว่า)  คณะกลองปูเจ่จะเน้นตีฆ้องกับฉาบเสียส่วนใหญ่ จำได้ว่างานปอยนี่น่าจะงานวัดดีๆ ในสมัยนี้ มีขนมมาขาย พอนำขบวนเข้าในวัด ตุ๊เจ้า พระที่มาด้วยก็จะแยกเข้าไปร่วมพิธี พวกเราคณะกลองยาวก็จะอยู่ข้างนอก เดินเที่ยวในงาน เป็นที่อิ่มท้อง บางที่จัดอาหารเลี้ยงคณะ ฉันผู้ไม่ชอบกินผัก แต่เวลาไปกับคณะกลองยาว ฉันกินทุกอย่างจนคุณตาฉันบอกต้องพาออกงานบ่อยๆ น่าจะดี

เวลาซ้อมรำกลองยาว ก็จะมาซ้อมกันที่ลานหน้าบ้านฉัน เดี๋ยวนี้ถนนขยายกว้างขึ้น ถมถนนสูงกว่าบ้านฉันแล้ว ตอนเด็กๆ ทำไมเหมือนมีที่กว้าง หรือเพราะเราตัวเล็ก มักจะมีการซ้อมกันในเวลาหัวค่ำ ที่คนเลิกจากการทำงานกันแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนในชุมชน ช่างฟ้อนก็จะมีตั้งแต่รุ่นเด็กอย่างฉันไปจนถึงวัยรุ่นหน่อย ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ส่วนช่างกลอง ช่างตีฆ้อง ฉิ่ง ฉาบ ก็จะเป็นคนในละแวกชุมชน ท่าฟ้อนเราก็คิดกันเอง จังหวะกลองก็คิดเอง มีตัดจังหวะเปลี่ยนท่าฟ้อนในแต่ละท่า ฉันได้ทั้งฟ้อน และตีกลอง ซึ่งต่อมาฉันก็ทำได้หมด ไม่ว่าจะตีฆ้อง ฉิ่ง ฉาบ ซึ่งฉันว่ายากสุดก็ตีฆ้องแหละผิดจังหวะหรืองง ก็ผิดไปเลย

ส่วนกลองนั้นที่บ้านก็ทำเอง สั่งไม้ที่เขาเกลาออกมาเป็นกลองแล้ว คุณตาฉันจะตัดหนังวัวเป็นวงกลมเล็กๆ ตามหน้ากลองที่วัดไว้ ตัดเอง เอาไม้มาขูดๆ ขนวัวออก เอาไปตากแดด ถึงมาขึงกับกลอง สายขึงก็ตัดเองจากหนังวัวที่ซื้อมาเป็นแผ่นใหญ่ๆ เสร็จคุณตาฉันก็จะวาดลวดลายบนหน้ากลองเอง ส่วนแม่จะเย็บเสื้อที่สวมกลองให้ เรียกได้ว่า ทำงานเป็นทีม

ที่พี่น้องที่บ้าน น่าจะมีฉันคนเดียว ที่เป็นช่างฟ้อนของคณะ พี่สาวฉันเข้าร่วมด้วยไม่นาน เด็กๆ ฉันน่าจะชอบด้วยแหละ นอกจากงานปอย ที่คณะยังเข้าร่วมงานสงกรานต์ของเชียงใหม่ ดำหัวผู้ว่าทุกปี เวลาสงกรานต์มักมีเพื่อนจากต่างจังหวัดมาเที่ยวเชียงใหม่ ก็จะมาร่วมขบวนด้วย จำได้ว่าฉันตัวเล็กๆ แบกกลองเดินสั่นหงักๆ ไปตลอดทาง คงเพราะตัวเล็ก เลยเป็นที่เอ็นดูสำหรับทุกคนที่รุมรดน้ำมาที่ฉันตลอดเวลาจนหนาวสั่น แต่ก็สนุกดีนะ เสียแต่ความรู้สึกฉันว่าเดินไกลมาก

คณะศรัทธาแทบทุกวัดจะมีการแสดง บ้างก็เป็นคณะกลองยาว บ้างก็เป็นฟ้อนเล็บ บางวัดก็มีแสดงฟ้อนดาบ จำได้ว่าพี่ชายของเพื่อนรักฉันเคยร่วมขบวนแสดงด้วย แต่ปัจจุบันไม่มี ขบวนแห่จะนำหน้าพระพุทธรูปของวัดนั้นๆ

เดี๋ยวนี้ไม่เห็นบรรยากาศแบบนี้เลย ขบวนแห่จากวัดต่างๆ ที่มาร่วมงานปอย ถ้าจะมีก็น้อยมาก มีให้เห็นก็มักจะเป็นงานสมโภชพัดยศ แต่ก็ไม่คึกคักเหมือนแต่ก่อน ที่เห็นก็จะมีศรัทธามาร่วมงาน กลองยาวเหมือนจะมีน้อยลง เห็นเป็นขบวนแห่กลองสะบัดชัย หรือกลองปูเจ่ เยอะขึ้น ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม ทั้งที่ในยุคหนึ่ง ก็ตอนฉันยังเด็กแหละ มีคณะกลองยาวเยอะมาก เห็นได้ชัดตอนแห่ปีใหม่เมือง หรือสงกรานต์ ที่สาดน้ำกันอย่างสนุกสนานมาก อาจจะเป็นเพราะเครื่องดนตรีเยอะชิ้นด้วย กลองยาวคณะของคุณตาฉันมีกลองทั้งสิ้นก็ประมาณสิบกว่าใบได้ นอกจากนั้นเครื่องดนตรียังมีฆ้อง ฉิ่ง ฉาบ กรับไม้ (ก่อนจะตีกลองเป็น ฉันก็เริ่มจากตีกรับไม้นี่แหละ) ตอนนั้นก็จะมีคนบอกตีกรับไม้ให้พร้อมกับจังหวะฆ้อง งงก็ฟังฆ้องเอา  แต่พอฉันหัดตีฆ้อง เขาก็บอกให้ฟังกรับไม้เอา สรุปโดนหลอกไหมหนอ แต่พอคล่องก็จะจับจังหวะได้เอง ไม่ต้องไปฟังอะไร ถ้าครั้งไหนที่มีคนมาร่วมขบวนกลองยาวเยอะ คุณตาฉันก็มักจะตีฉาบเล็ก พร้อมกับออกลวดลายฟ้อนไปด้วย เป็นที่ชื่นชอบของทุกคน

ทุกวันนี้ฉันก็ยังคงตีกลองยาวได้อยู่ ตีฉิ่งฉาบได้ ตีฆ้องได้ มันคงฝังอยู่ในสายเลือดไปแล้ว เรียกว่าซึมซับไปโดยไม่รู้ตัว แม้ว่ากลองยาวจะมีพื้นถิ่นเป็นทางภาคกลาง แต่ก็เป็นที่นิยมมากในงานบุญของภาคเหนือในยุคสมัยหนึ่ง ซึ่งแม้แต่ปัจจุบันนี้ฉันว่า ศิลปะดนตรีด้านกลองยาว เหมือนจะห่างหายความนิยมในยุคสมัยนี้ ไม่ค่อยพบเจอมากนัก แต่กลองยาวก็อยู่ในช่วงจังหวะชีวิตในวัยเด็กของฉันที่ไม่มีวันลบเลือนไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม โดยเฉพาะกลองยาวคณะ ส.สว่าง ศรัทธาวัดชัยศรีภูมิ

 

Don`t copy text!