วัดแวดบ้าน
โดย : ต้องแต้ม
ซะป๊ะเรื่องเล่าหมู่เฮาคนเมือง คอลัมน์โดย ต้องแต้ม ชาวเชียงใหม่ ผู้หลงใหลในเรื่องราวของล้านนา เกิดในครอบครัวที่สืบสานงานวัฒนธรรมพื้นเมืองที่มีมาแต่โบราณ แต่ไปเติบโตในเมืองกรุง พอกลับมาอยู่บ้านถึงได้รู้ว่า “มีเรื่องเล่าดีๆ ของบ้านเราที่อยากเล่าให้ฟัง”
เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีวัดเยอะมาก เพื่อนชาวกรุงของฉันขอให้ฉันพาไปไหว้พระ 9 วัด ฉันพาเดินจากวัดพระสิงห์ไปยังประตูท่าแพ ได้ครบ 9 วัด และถ้าเราเลี้ยวซ้ายหรือขวาไปตามแยกใหญ่ ก็จะมีวัดอยู่ไม่ห่างกันนัก จนเพื่อนมักอุทานว่า “วัดในเมืองเชียงใหม่เยอะจริงๆ”
ไม่แค่ในเวียงเก่าที่อยู่ในคูเมืองนะ นอกคูเมือง รอบๆ คูเมืองที่เป็นชุมชนนอกเวียง ก็มีการสร้างวัดไม่ห่างกันนัก บางวัดห่างกันไม่ถึงร้อยเมตรเสียด้วยซ้ำ ฉันถึงว่า “วัดแวดบ้าน” จริงๆ คือ วัดอยู่รอบๆ บ้านเราไง
เมื่อก่อนก็ไม่ได้สังเกต แต่พอเริ่มอยู่นิ่งๆ เริ่มสังเกตรอบๆ ตัว เออ..แถวบ้านฉันก็มีวัดเยอะแยะไปหมด ข้ามถนนช้างม่อยไป จะเจอวัดแสนฝางวัดเก่าแก่ตามตำนานว่าสร้างตั้งแต่สมัยพระญาแสนภู ราชวงศ์มังราย ประมาณ พ.ศ. 2119 สี่ร้อยกว่าปีเลย มีเจดีย์ที่จำลองจากเจดีย์ชเวดากองของพม่า มีเรื่องราวประวัติเก่าแก่มากมาย มีหนังสือเป็นเล่มที่กล่าวถึง
มีวัดหนองคำที่สร้างโดยคหบดีชาวพม่าผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง คือ หม่องปันโหย่ว หรือ หลวงโยนการพิจิตร ต้นตระกูลอุปโยคิน พ่อค้าไม้สักเชื้อสายพม่าสร้างประมาณ พ.ศ.2380 ราวๆ 180 กว่าปี เป็นวัดของชนเผ่าปะโอ
นอกจากนั้นยังมีวัดชัยศรีภูมิหรือวัดปันตาเกิ๋น วัดนี้ได้ชื่อว่าเป็น ศรีเมือง สร้างราวๆ พ.ศ. 1985-2000 เกือบๆ 600 ปี เรียกว่าอยู่ท่ามกลางส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เก่าแก่ของเชียงใหม่เลยนะ แถมยังมีเจดีย์ร้างเก่าแก่ที่เห็นมาตั้งแต่เด็กๆ อยู่สองเจดีย์ คือเจดีย์ร้างวัดร่มโพธิ์ และเจดีย์ร้างวัดหนองหล่มอยู่ระหว่างทางด้วย
หากเราเริ่มต้นจากถนนช้างม่อยเก่าที่มีป้ายชื่อถนนเป็นจุดเช็กอินที่โด่งดังในปัจจุบันนี้ ผ่านวัดชมพูไปไม่ไกลนัก จะมีเจดีย์ร้างวัดร่มโพธิ์สูงเด่นเป็นสง่าให้เห็นอย่างชัดเจน และหากเลยไปอีกนิด จะเป็นสามแยก ที่เป็นจุดที่เชื่อว่า “ประตูช้างม่อย” ตั้งอยู่บริเวณนั้น แต่เราจะเลี้ยวซ้ายไปยังทิศทางที่ไปวัดชัยศรีภูมิ จะเห็นเจดีย์ใหญ่อีกหนึ่งแห่ง เรียกว่า เจดีย์ร้างวัดหนองหล่ม
เคยตั้งคำถามเหมือนกันว่าทำไมเจดีย์ถึงมาตั้งอยู่ตรงนี้ ทั้งที่ไม่มีวัด ซึ่งเจดีย์ควรจะอยู่ในวัด แสดงว่าในอดีตบริเวณนี้คงจะมีวัดเล็กๆ ตั้งอยู่ แต่หายไปตั้งแต่สมัยไหนก็ไม่ทราบได้ ในตอนแรกฉันถามคนแถวนั้นก็ไม่ได้รู้อะไรมากนัก รู้แค่ว่าเจดีย์ร้างทรงป้อมๆ ไม่มียอดเรียกเจดีย์วัดหนองหล่ม ละแวกนั้นเรียกหนองหล่ม เพราะสมัยก่อนแถวนั้นมีหนองน้ำใหญ่ชื่อหนองหล่ม เจดีย์ที่มียอดฉัตรด้านบนเรียกเจดีย์วัดร่มโพธิ์
หากเดินยาวต่อๆ ไปก็จะมีวัดอีกมากมายราวกับใยแมงมุมทีเดียว แต่…ที่ฉันสะดุดตาและสงสัยเสมอว่า ทำไมมีพระธาตุเจดีย์ร้าง สร้างด้วยอิฐเก่าๆ อยู่สองแห่ง เห็นมาตั้งแต่จำความได้ แต่ตอนนั้นก็ประมาณภาพคุ้นชินมากกว่าที่จะสงสัยว่าอะไรยังไง เคยนึกสงสัยอยู่บ้างเหมือนกันว่า ที่มาที่ไปของเจดีย์ร้างที่แทรกตัวอยู่ตามบ้านเรือนเหล่านี้คืออะไรหนอ พยายามหาข้อมูลก็มีไม่มากนัก น่าจะยังหาหลักฐานอะไรได้ไม่มากนัก
พระธาตุเจดีย์ร้างแห่งแรก มาทราบภายหลังว่าคือ พระธาตุเจดีย์วัดร่มโพธิ์ ตั้งอยู่ริมถนนช้างม่อยเก่า อยู่ห่างจากวัดชมพู ไปประมาณ 100 เมตร ภาพเจดีย์เก่าๆ ตั้งอยู่ท่ามกลางบ้านเรือนในชุมชนช้างม่อย สูงตระหง่านเด่นเป็นสง่า สำหรับฉันพระธาตุเจดีย์ร่มโพธิ์นี้ค่อนข้างที่จะสมบูรณ์มาก รูปทรงสูงใหญ่สวยงาม ไม่ได้เป็นเจดีย์เก่าผุพังแต่อย่างใด ปัจจุบันนี้ส่วนหนึ่งของเจดีย์ตั้งอยู่ในพื้นที่ของอพาร์ทเม้นท์เล็กๆ แห่งหนึ่ง ฉันอดคิดไม่ได้ คนที่พักอาศัยที่นี่เขามองเจดีย์จะรู้สึกอย่างไร จะแอบจินตนาการไปไกลแบบฉันไหม สมัยเด็กๆ ฉันเคยได้ยินผู้ใหญ่มักจะเรียกโซนทางนั้นว่า ซอยร่มโพธิ์ ฉันก็คิดไปถึงต้นโพธิ์สูงใหญ่ที่อยู่ใกล้ๆ วัดพันต๋าเกิ๋น หรือวัดชัยศรีภูมิ เพิ่งมาเอะใจว่า น่าจะเรียกตามชื่อวัดร้างแห่งนี้
จากรูปแผนที่เมืองเชียงใหม่ที่วาดโดย อ.วรชาติในปี พ.ศ. 2346 แผนที่ได้ถูกสำรวจในปี พ.ศ. 2428-2439 ไม่ได้มีชื่อวัดร่มโพธิ์ และวัดหนองหล่ม สันนิษฐานว่าในปีนั้นไม่น่าจะมีทั้งสองวัดอยู่แล้วจึงไม่ปรากฎในแผนที่ (จุดสีเขียวคือประมาณที่ตั้งของเจดีย์ร้างวัดร่มโพธิ์และเจดีย์ร้างวัดหนองหล่ม)
พระธาตุเจดีย์วัดร่มโพธิ์ตั้งอยู่ริมถนนช้างม่อยเก่าด้านซ้ายมือ เส้นทางคมนาคมสำคัญในสมัยโบราณ จากประตูท่าแพใน ไปประตูช้างม่อย (โบราณ) เพื่อออกประตูเมืองชั้นนอก สู่ท่าเรือวังสิงห์คำหรือท่าเจดีย์กิ่ว (ส่วนหนึ่งของท่าวังสิงห์คำ) ส่วนเส้นทางจากประตูท่าแพใน ไปออกกำแพงเมืองชั้นนอกที่ประตูท่าแพนอก ตรงร้านแว่นตาฯหน้าเยื้องวัดแสนฝางนั้นจะไปยังท่าสินค้า “ท่าแพ” ตีนสะพานนวรัฐด้านตะวันตก
(จากเพจเลาะเวียง ลว. 7 สิงหาคม 2564)
เมื่อได้เจอและพูดคุยแลกเปลี่ยนกับพี่แอดมินเพจเลาะเวียง ได้สร้างแรงบันดาลใจอย่างมากให้กับฉันคนในพื้นที่ หาข้อมูลเพิ่มเติม คุยกับพี่ป้าน้าอา คนเก่าแก่ในชุมชนช้างม่อย เกี่ยวกับเจดีย์ร้างทั้งสองแห่งนี้ รื้อหนังสือต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ชุมชนช้างม่อยและชุมชนใกล้เคียง มานั่งอ่าน เพราะเป็นความชอบความสนใจด้านนี้เป็นการส่วนตัวด้วย เพราะเป็นชุมชนเก่าแก่ ที่ไม่ใหญ่มากเหมือนชุมชนอื่น แต่ก็มีเรื่องราวเก่าๆ เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ที่ไม่มีใครพูดถึงนัก อาจจะด้วยเพราะข้อมูลมีให้ได้รู้ได้ศึกษาน้อยมาก คนเก่าคนแก่ของชุมชนก็เหลือน้อยเต็มที
คนเรามักไม่ค่อยเห็นคุณค่ากับสิ่งใกล้ตัว อาจจะเพราะเป็นความคุ้นชิน ฉันก็เพิ่งมาว้าว กับชุมชนที่ฉันอาศัยอยู่ว่ามีเรื่องราวต่างๆ มากมาย น่าศึกษาเรียนรู้ และภาคภูมิใจ มันทำให้ฉันอยากจะถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ เหล่านั้นออกมาให้คนอื่นได้รู้จัก นอกเหนือจากเป็นจุดเช็กอินถ่ายรูปแล้ว ยังนับว่าเป็นโบราณสถานเก่าแก่ของเวียงเชียงใหม่ทีเดียว
ถ้าเป็นสายท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ยังมีวัดมากมายที่มีประวัติมีเรื่องราวน่าสนใจ วัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ในเวียงเก่า คือ เวียงชั้นใน หรือตั้งอยู่เวียงชั้นนอก เพราะครั้งโบราณเมืองเชียงใหม่มีกำแพงเมืองสองชั้น คือกำแพงชั้นนอกและชั้นใน ซึ่งมีวัดอยู่ไม่ห่างกันมาก แทบทุกร้อยเมตรจะต้องมีวัดหนึ่งวัด ฉันเลยขอพูดถึงเรื่องราวของวัดที่อยู่ใกล้ๆ ตัวฉัน เห็นมาตั้งแต่เด็ก เดินเล่นมาทุกวัด แต่ก็ไม่ได้สนใจเรื่องราวอะไรมากนัก อาจจะเพราะเรายังเป็นเด็กน้อย
แต่ตอนนี้ค่อยๆ สะสมข้อมูล มีเรื่องเล่ามากมายที่อยากเล่า อยากส่งต่อให้คนได้รู้จัก ไม่ให้มันเลือนหายไปกับกาลเวลาอีกต่อไป
ขอขอบพระคุณ
- แอดมินเพจเลาะเวียงเอื้อเฟื้อภาพเก่า และข้อมูลดีๆ
- แม่ อาปา ป้านาย และชาวบ้านชุมชนช้างม่อยที่เล่าเรื่องราวที่พอจำได้เกี่ยวกับเจดีย์ร้างในชุมชน
- ภาพแผนที่เมืองเชียงใหม่โบราณ วาดโดย อ.วรชาติ ในปี พ.ศ.2436 จากเพจหอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่
- READ วัดแวดบ้าน
- READ หาบเปี้ยดใส่ผักไปก๊าตี้กาดหลวง กาดเก๊าลำไย
- READ มาแอ่วเจียงใหม่กับเรื่องง่ายๆ ตี้ควรฮู้
- READ กี่ทศวรรษที่เดียวดายของประตูช้างม่อย
- READ มาละเหวย มาละวา คณะกลองยาวของเราก็มา
- READ ค่าวอะหยัง เจี้ยจะได ซอม่วนๆ เจ้า
- READ เสน่ห์ตั๋วเมือง
- READ ตุงเหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน
- READ เดือน 9 เหนือ กับพิธีกรรมไหว้ผีครู