หาบเปี้ยดใส่ผักไปก๊าตี้กาดหลวง กาดเก๊าลำไย
โดย : ต้องแต้ม
ซะป๊ะเรื่องเล่าหมู่เฮาคนเมือง คอลัมน์โดย ต้องแต้ม ชาวเชียงใหม่ ผู้หลงใหลในเรื่องราวของล้านนา เกิดในครอบครัวที่สืบสานงานวัฒนธรรมพื้นเมืองที่มีมาแต่โบราณ แต่ไปเติบโตในเมืองกรุง พอกลับมาอยู่บ้านถึงได้รู้ว่า “มีเรื่องเล่าดีๆ ของบ้านเราที่อยากเล่าให้ฟัง”
ฮั่นแน่…สงสัยแล้วใช่ไหมคะว่าฉันหมายถึงอะไร มาค่ะจะขยายความให้เข้าใจ ชื่อตอนนี้หมายถึง “หาบกระบุงใส่ผักไปขายที่ตลาดวโรรส ตลาดต้นลำไย” ค่ะ
คนสมัยก่อนที่คนรุ่นปัจจุบันเรียกว่า “คนบ่าเก่า” แต่จริงๆ แล้วหมายถึงคนยุคเก่า ยุคโบราณ ที่เวลาไปขายของยังกาดก้อม ตลาดเล็กๆ ของชุมชน ของหมู่บ้านลานกว้างโล่งที่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านเอาผักใส่เปี้ยด (กระบุง) ใส่ซ้า (ตะกร้า) ก๊า (เป็นสำเนียงการออกเสียงของคนเหนือ หมายถึงคำว่า ค้า คำเต็มๆ ก็ค้าขายนั่นแหละค่ะ) หาบมาขาย ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ หมาก เมี่ยง ที่ปลูกไว้ เป็นวิถีชีวิตของคนในยุคนั้น ตลาดวโรรสและตลาดต้นลำไยนับว่าเป็นตลาดใหญ่ของเมืองเชียงใหม่
ตลาดของคนยุคก่อนๆ ชาวบ้านมักจะปลูกผัก ผลไม้ใส่กระบุงมาขายในที่ๆ มีการซื้อขายกันมาก จึงกลายเป็นตลาดเล็กๆ เมื่อมีพ่อค้าแม่ค้าเพิ่มมากขึ้น คนซื้อมากขึ้นตลาดเล็กๆ ที่คนเหนือเรียก “กาดก้อม” เมื่อคนมากขึ้นขยายตัวมากขึ้นก็จะเรียกกาดหลวง
แรกเริ่มเดิมทีที่มาที่ไปของทั้งสองกาด มีมาตั้งแต่สมัยเจ้าอินทวิชชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 (ตรงกับในหลวงรัชกาลที่ 5 ของสยาม คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)
ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิงเดิมเป็นลานกว้าง เป็นกู่หรือสุสานของเจ้านายฝ่ายเหนือ มีที่เผาศพหรือเรียกว่าเมรุ ทั่วไปจะเรียกละแวกนั้นว่า “ข่วงเมรุ” คำว่า “ข่วง” จะมีลักษณะเป็นลานกว้าง บริเวณนั้นชาวบ้านบางทีก็เรียกว่า “ป่าเห้วเจ้า” หมายถึงป่าช้าของเจ้านายทางเหนือ
ต่อมาเจ้าดารารัศมีทรงมีพระดำริให้ย้ายกู่เก็บพระอัฐิไปยังสถานที่ที่เหมาะสมกว่าเดิมคือ บริเวณวัดสวนดอก เจ้าราชวงศ์ เจ้าดารารัศมี พระโอรสและพระธิดาของเจ้าหลวงอินทวิชชยานนท์ ได้เปิดตลาดแม่ข่า และเจ้าราชวงศ์ก็ขายที่แห่งนี้ให้กับเจ้าอินทวโรรส น้องชายของเจ้าทั้งสอง ซึ่งได้สร้างตลาดขึ้นในบริเวณดังกล่าว และตั้งชื่อตลาดว่า “ตลาดวโรรส” ตามชื่อของท่าน ภายหลังได้ประสบปัญหาเป็นระยะ เจ้าดารารัศมีจึงซื้อตลาดมาบริหารด้วยพระองค์เอง ด้วยทุน 1,800 รูปี ซึ่งกู้มาจากพระคลังข้างที่ ในยุคก่อนชาวล้านนาหรือชาวเหนือนั้น จะใช้เงินรูปีเป็นค่าเงินมาตรฐาน และในภายหลังได้แบ่งหุ้นให้เจ้านายบุตรหลานของตระกูล ณ เชียงใหม่ ซึ่งเป็นสายตรงของพระองค์ร่วมกันถือหุ้น เจ้าดารารัศมี เข้ามาพัฒนาตลาด สร้างห้องแถวไม้นับเป็นวิวัฒนาการจากขายของตามลานกว้าง เริ่มมาขายในห้องแถวไม้
มีการสร้างขัวไม้สักข้ามแม่น้ำปิง โดยนายแพทย์ เอ็ม เอ ชีค ในปี พ.ศ. 2427 ทำให้เชื่อมสองฝั่งแม่น้ำปิง ทำให้สองชุมชนคือ บ้านวัดเกตการามและบ้านช้างม่อย ชาวบ้านข้ามขัวค้าขายกันและกันมากขึ้น ก่อให้เกิดความเจริญแก่ชุมชนบ้านช้างม่อย เกิดย่านการค้าแห่งใหม่ คือ กาดเก๊าลำไย หรือตลาดต้นลำไย
กาดเก๊าลำไยในช่วงแรกๆ เดิมเป็นแหล่งเลี้ยงช้างและที่อาบน้ำช้างของเจ้าหลวง ต่อมาหม่องปันโหย่ว หรือ หลวงโยนการพิจิตร ต้นตระกูลอุปโยคิน พ่อค้าไม้สักเชื้อสายพม่าได้มาจับจองขอเช่าเป็นที่เลี้ยงช้างชักลากไม้ซุงที่ล่องมาตามแม่น้ำปิง หม่องปันโหย่วหรือหลวงโยนการพิจิตรได้สร้าง”เฮือนแป” สร้างห้องแถวติดน้ำปิงให้คนงานส่วนหนึ่งซึ่งเป็นชาวม่าน เงี๊ยว และขมุ อาศัยอยู่ ไม่นานมีชาวจีนเข้ามาขอเช่าอาศัย ด้านหน้าบ้านเฮือนแป เป็นลานข่วงมีต้นลำไยสามต้นเป็นร่มเงาให้พ่อค้าแม่ค้าบังแดดวางขายสินค้าหาบเร่ ในขณะที่กาดหลวงวโรรส มีพ่อค้าชาวไทย คนเมืองและชาวชนบทมาตั้งร้านค้าถาวรมากขึ้น จนเริ่มเป็นชุมชนชาวกาด
หลังจากหลวงโยนการพิจิตรพ่อค้าไม้ได้สร้างกาดหลวงโยนขึ้น (เรียกตามชื่อของหลวงโยนการ ว่ากาดหลวงโยน) เริ่มมีชุมชนชาวกาดเข้ามา ต่อมาธุรกิจค้าไม้เริ่มประสบปัญหา จึงได้ยืมเงินจากเพื่อนๆ เช่น อาแปะจุ้น (อี้จุ้นหลี) ทำสัญญาเงินกู้จากหลวงอนุสารสุนทร และแปะอุย แซ่เหลียว (เหลียวย่งง้วน) ต่อมากิจการได้เปลี่ยนเจ้าของมาเป็นของสองตระกูลคือ ชุติมา และตระกูลเลียว กาดต้นลำไยได้พัฒนาขึ้น มีการสร้างโฮงขายสินค้า พ่อค้าแม่ค้าจากต่างอำเภอนั่งรถคอกหมูนำของมาขาย ตลาดต้นลำไยในตอนนั้นจึงดูเหมือนสถานีขนส่งผลิตผลจากชนบทสู่ในเมือง
ได้เกิดไฟไหม้ตลาดครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ. 2511 ทั้งตลาดวโรรสและตลาดต้นลำไยได้รับความเสียหายอย่างหนัก ยุคนี้ที่บ้านฉันยังทันเหตุการณ์ไฟไหม้ตลาด แม่เล่าว่าควันไฟสีดำเต็มท้องฟ้า เพราะสินค้าส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้า เป็นผ้าพับที่ตัดแบ่งขาย พ่อค้าบางคนก็หอบของลงไปยังแม่น้ำปิงที่อยู่ใกล้ๆ กันนั้น บ้านฉันไม่ได้ไกลจากตลาดวโรรสนัก สามารถเดินไปได้ ไฟไหม้ครั้งนี้นับเป็นไฟไหม้ครั้งใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่
หลังจากนั้นได้มีการปรับปรุงโครงสร้างของทั้งสองตลาดใหม่ สร้างเป็นอาคารรูปทรงตะวันตก ตลาดวโรรสได้มีการเปลี่ยนหุ้นส่วนจากตระกูล ณ เชียงใหม่ เป็นตระกูลนิมมานเหมินท์ และตระกูลชุติมา (ทั้งสองตระกูลนี้เป็นเครือญาติกัน) ชั้นล่างของตลาดจะขายพวกพืช ผัก อาหารสด ชั้นสองจะเป็นพวกเสื้อผ้า
ภายในตลาดต้นลำไยมีขายแบบตลาดสด ขายข้าวปลา และอาหารสด อาหารแห้ง ด้านหลังตลาดขายดอกไม้สด เป็นที่นิยมของทั้งชาวบ้านที่ยังคงมาจับจ่ายซื้ออาหารสด อาหารแห้ง ผัก ผลไม้ มีร้านขายอาหารพื้นเมืองเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว มาเที่ยวเชียงใหม่ก็มักจะมาซื้อจิ๊นปิ้ง ไส้อั่ว จิ๊นส้ม (แหนม) หรือขนมของฝากมากมายที่ตลาดวโรรส และตลาดต้นลำไยนี้
ปัจจุบันนี้ผู้บริหารของตลาดวโรรสและตลาดต้นลำไย ยังคงเป็นของลูกหลานตระกูลชุติมา ตระกูลนิมมานเหมินทร์ เพิ่มเติมในส่วนของตลาดต้นลำไยมีลูกหลานตระกูลเลี่ยวบริหารร่วมด้วย แม้ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนยุคเปลี่ยนสมัยจากพ่อค้าแม่ค้าหาบใส่กระบุงมาขายของยังตลาดสดทั้งสองแห่งนี้ มาสู่ยุคที่เป็นตึกแถวมีแผง มีโซนขายสินค้าอย่างเป็นสัดส่วน และไม่ว่าตลาดในเชียงใหม่จะมีเพิ่มมากมายขึ้นแค่ไหน แต่ทั้งตลาดวโรรส และตลาดต้นลำไย ยังคงเป็นที่นิยมมีผู้คน นักท่องเที่ยวมาจับจ่ายซื้อของอยู่เช่นเดิม
ทั้งยังเป็นชุมชนชาวกาดที่รักและผูกพันกันมาอย่างยาวนาน มีเรื่องราวมากมายเล่าจากรุ่นสู่รุ่น แม้ปัจจุบันจะเป็นยุคการค้าเชิงพาณิชย์กันเสียส่วนใหญ่ แต่เรื่องราวของทั้งสองตลาดที่มีมายาวนานนับร้อยๆ ปี จะยังคงเป็นที่จดจำของชาวเชียงใหม่ต่อไป
ขอขอบพระคุณข้อมูลจาก
- การสัมภาษณ์คุณอดิศักดิ์ สุจริตรักษ์ ผู้จัดการตลาดต้นลำไย
- ตลาดวโรรส ตลาดต้นลำไย เชียงใหม่, ศ.อัน นิมมานเหมินท์, เรื่องเล่าจาวกาด เล่ม 1
- ตลาดต้นลำไยในรอบศตวรรษ, เสรินทร์ จิรคุปต์, หนังสือเรื่องเล่าจาวกาด เล่ม 1
- ตลาดวโรรสในรอบทศวรรษ, เสรินทร์ จิรคุปต์, หนังสือเรื่องเล่าจาวกาด เล่ม 7
- หนังสือสิงห์ล้านนา, ทศ คณนาพร
- รูปภาพเก่าจากหนังสือภาพถ่ายฟิลม์กระจก, หลวงอนุสารสุนทร
- READ เมื่อน้ำท่วมบ้านครั้งแรกในรอบร้อยปี
- READ วัดแวดบ้าน
- READ หาบเปี้ยดใส่ผักไปก๊าตี้กาดหลวง กาดเก๊าลำไย
- READ มาแอ่วเจียงใหม่กับเรื่องง่ายๆ ตี้ควรฮู้
- READ กี่ทศวรรษที่เดียวดายของประตูช้างม่อย
- READ มาละเหวย มาละวา คณะกลองยาวของเราก็มา
- READ ค่าวอะหยัง เจี้ยจะได ซอม่วนๆ เจ้า
- READ เสน่ห์ตั๋วเมือง
- READ ตุงเหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน
- READ เดือน 9 เหนือ กับพิธีกรรมไหว้ผีครู