เปอร์เซียเงาสะท้อนของอิหร่าน : อิสฟาฮาน (Esfahan) จุดครึ่งหนึ่งของโลก

เปอร์เซียเงาสะท้อนของอิหร่าน : อิสฟาฮาน (Esfahan) จุดครึ่งหนึ่งของโลก

โดย : สองตา

Loading

อ่านสองตา คอลัมน์ที่ ‘สองตา’ เจ้าของเพจ “บันทึกของสองตา” จะพาคุณผู้อ่านเดินทางสู่โลกกว้างด้วยงบประมาณอันน้อยนิด เพราะเพียงแค่คลิกเดียวคุณก็จะได้ขึ้นเครื่องออนทัวร์อย่างเพลิดเพลินไปกับเรื่องราวต่างแดนที่เธอคนนี้ได้นำมาแบ่งปันให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์

ก่อนเที่ยวต่อ ขอเกริ่นแนะนำ ‘อิสฟาฮาน’ ให้รู้จักกันแบบฉบับย่อก่อนนะคะ

เมืองอิสฟาฮานมีขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของอิหร่าน เป็นเมืองที่มีความเจริญมาอย่างต่อเนื่อง มีประชากร 2.5 ล้าน ส่วนใหญ่อยู่ในเมือง คนที่นี่มีสำเนียงการพูดต่างจากชิราซ อันนี้เราฟังไม่รู้หรอก  ไกด์บอกมา

เมืองตั้งอยู่ในสมรภูมิที่ดี คืออยู่กลางเขตที่ราบสูงของอิหร่าน มีภูเขาโอบล้อมเป็นปราการทางธรรมชาติ มีแม่น้ำซายันเดเป็นสายน้ำหล่อเลี้ยงชีวิต  และด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้พระเจ้าอับบาสมหาราชทรงเลือกตั้งอิสฟาฮานให้เป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของเปอร์เซีย และทุ่มเทสร้างนครแห่งนี้ให้เป็นนครที่ยิ่งใหญ่และมั่งคั่งที่สุดของโลกในต้นศตวรรษที่ 17 เป็นเมืองที่พ่อค้าจากซีกโลกตะวันออกมาพบปะเจรจาค้าขายกับพ่อค้าจากซีกโลกตะวันตก นี่คือคำตอบว่า ทำไมอิสฟาฮานจึงได้รับคำนิยามว่าเป็น ‘จุดครึ่งหนึ่งของโลก’

ถนนปูหินแข็งแกร่ง สวนสวยด้วยต้นไม้นานาพรรณ สะพานหินหลายแห่ง และจัตุรัสกลางเมืองที่ออกแบบอย่างตั้งใจ กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวย่านประวัติศาสตร์ ของนครอิสฟาฮานที่ไม่มีทัวร์ใดพลาดได้

ความประทับใจแรกเมื่อมาถึงอิสฟาฮานคือร้านอาหารทันสมัย ถนนหนทางในเมืองคึกคัก รวมถึงโรงแรม Abbasi โรงแรมดังประจำเมืองอิสฟาฮานที่เราพักก็สวยมาก อดีตโรงแรมเคยเป็นที่พักแรมอันหรูหราของกองคาราวานที่ขนส่งสินค้าราคาแพง  ตอนก้าวเข้าไปในล็อบบี้ก็อื้อหือกันแล้ว นวลบอกว่า ขอให้ตื่นมาเดินในสวนจะเห็นภาพสวนเปอร์เซียแบบที่เราไปดูเมื่อวานชัดขึ้น แต่ตอนนี้สวนเปิดเป็นร้านอาหารกลางแจ้งมีลูกค้าชาวเมืองมาใช้บริการนั่งกันชิลๆ เนืองแน่นทีเดียว

ฉันตื่นเช้ามาเดินในสวนตามที่นวลเชิญชวนไว้ สดชื่นมาก สวนสวยจริง มีต้นไม้หลากหลายกว่าสวนที่ชิราซ ฉันเดินถ่ายรูปต้นไม้สักพัก ก่อนไปกินอาหารเช้าในห้องอาหารที่สวยและอาหารจัดเต็มมาก อิ่มแล้วก็พร้อมไปรู้จักเมืองสำคัญนี้

จุดแรกที่เราแวะคือสะพานคาจู (Khaju Bridge) ที่เมื่อคืนรถขับผ่านให้ได้ชมแสงสียามค่ำไปแล้ว วันนี้เราจะมาเดินชมสะพานนี้กัน เป็นสะพานประวัติศาสตร์ ที่ได้รับการยกย่องว่าออกแบบได้อย่างชาญฉลาด นับเป็นอีกหนึ่งสถาปัตยกรรมที่สวยงามและมีความสำคัญของเมืองอิสฟาฮาน สร้างขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 17 โดยชาห์อับบาสที่ 2 แห่งเปอร์เซีย (Shah Abbas II) ข้ามแม่น้ำซอยันเดร์ (Zayandeh) เพื่อเชื่อมระหว่างเมืองอิสฟาฮานทางตอนเหนือและทางตอนใต้ที่จะไปยังเมืองชิราซ สะพานไม่ได้ยาวมาก แต่กว้าง มีความยาวประมาณ 132 เมตร กว้าง 12 เมตร สร้างเป็นสองชั้น วันนี้แม่น้ำไม่มีน้ำเราจึงสามารถเดินลงไปด้านล่างของสะพานได้

ชั้นล่างออกแบบสวยงามตามแบบศิลปะเปอร์เซีย มีซุ้มโค้งประตู เป็นสถานที่ชมวิวแม่น้ำและนั่งพักผ่อนยามเย็นที่สวยงามมากๆ จึงมีที่ประทับของเชื้อพระวงศ์ด้วย  ซึ่งนอกจากจะสร้างขึ้นเพื่อเป็นเส้นทางสัญจรไปมาของเมืองแล้ว ก็ยังเป็นเขื่อนขนาดเล็กในแม่น้ำอีกด้วย จากสะพานคาจู รถมาส่งคณะของเราลงที่หน้าพระราชวังเซเฮลโซตุน (Sehel Sotun Palace)

“ก่อนลงจากรถ หยิบข้าวของที่จำเป็นลงไปด้วยนะครับ เพราะจากนี้เราจะไม่ได้กลับมาที่รถอีกเลยจนถึงตอนค่ำที่จะกลับโรงแรม”

อาจารย์ต้นเตือนทุกคนอีกครั้ง เพราะวันนี้สถานที่ท่องเที่ยวในลิสต์จะอยู่ในบริเวณที่เดินถึงกันได้หมดตั้งแต่เช้าจรดค่ำ

เริ่มจากพระราชวังเซเฮลโซตุน หรือวัง 40 เสา หนึ่งในกลุ่มพระราชวังในอุทยานหลวงของราชสำนักซาฟาวิด  ที่ในอดีตพระเจ้าอับบาสใช้เป็นวังสำหรับทรงพักผ่อน ต้อนรับแขก แต่ปัจจุบันถูกแยกออกจากอุทยานด้วยถนนเส้นหนึ่งที่ตัดผ่าน

จริงๆ เสาที่ค้ำยันเพดานโถงด้านหน้าทางเข้าของพระราชวังแห่งนี้มีเพียง 20 ต้น แต่เมื่อเสาสูงทอดเงาลงในสระน้ำที่ยาวถึง 110 เมตร  บริเวณตรงกลางด้านหน้าอาคาร ก็เลยกลายเป็นเสา 40 ต้น

ตำหนักภายนอกอาจจะดูเรียบง่ายทั้งสีและโครงสร้าง แต่เมื่อเข้าไปภายในท้องพระโรงแล้ว ภาพเขียนสีเฟรสโกที่สมบูรณ์ที่สุดของอิหร่าน โดยเฉพาะภาพพระเจ้าอับบาสมหาราช ในฉลองพระองค์สีทอง ทรงจัดเลี้ยงรับรองวาลีมุฮัมหมัดข่านแห่งเติร์กเมนิสถาน และภาพเขียนขนาดใหญ่รอบๆ ห้อง และลวดลายบนเพดานสะกดทุกสายตาให้ต้องแหงนมองไปรอบๆ แบบละสายตาไม่ได้ พยายามดูรายละเอียดในแต่ละภาพให้ได้มากที่สุด เพราะเป็นงานที่ต่างจากที่เคยเห็นมาจากเมืองอื่น ภาพเขียนมีผู้คน มีเรื่องราว มีสีสัน มีวัฒนธรรมแทรกในแต่ละภาพ

จากท้องพระโรงเลี้ยวซ้ายไปดูห้องอื่นๆ ด้านใน ก่อนออกมาเดินชมอาคารโดยรอบ  ได้ใช้เวลาพอสมควรแล้ว ไกด์ก็เดินนำคณะข้ามถนนไปยังสวนอีกฝั่ง ที่เป็นเขตอุทยานเดิม เดินไปเรื่อยๆ จนถึงพระราชวังอะลีคาปู (Ali Qapu Palace) หรือ ‘ประตูแห่งอาลี’ ที่อยู่ในบริเวณทิศตะวันตกของจตุรัส Naqsh-e Jahan (ที่มีชื่อใหม่ว่า Imam Square) กลางเมือง  พระราชวังแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นพลับพลาที่ประทับ ต้อนรับขุนนางและราชทูต ให้ได้เห็นความเป็นไปของเมืองในมุมสูง โดยเฉพาะช่วงที่มีการแข่งขันโปโล ในสนามกลางจตุรัสที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก เป็นรองเพียงจัตุรัสเทียนอันเหมินของจีน ทั้งขนาดและอายุ (จัตุรัสเทียนอันเหมิน สร้างเมื่อปี ค.ศ. 1417  ในสมัยราชวงศ์หมิง ส่วนจัตุรัสอิหม่าม สร้างในช่วงปี ค.ศ. 1598-1629)

เดี๋ยวค่อยมาเล่าเรื่องจัตุรัสนะคะ ตามมาชมพระราชวังอะลีคาปูกันก่อน

ตัวพระราชวังไม่ได้ใหญ่โตในแนวกว้าง หากแต่ลึก และเป็นแนวดิ่ง ที่สูงถึง 6 ชั้น คือพอผ่านประตูเข้าไปอยู่ยืนอยู่ใต้โดมซุ้มประตู จะมีช่องบันไดแคบๆ 2 ข้าง ขึ้นไปชั้นบน ที่มีห้องหับตามชั้นต่างๆ เดินขึ้นนี่มีหอบนิดหน่อยคงเพราะเราใส่หน้ากากด้วย

ชั้นที่เราขึ้นไปคือชั้น 3 มีห้องรับแขกและลานพลับพลา สำหรับชมกีฬา งานเทศกาลและวิวของเมือง ลานพลับพลามีเสาขนาดใหญ่ที่งดงาม  มีบ่อน้ำที่พื้นกรุด้วยแผ่นเงินฉลุลายวิจิตร มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ภาพวาด และงานปูนปลาสเตอร์ที่สวยเด่นไม่เป็นรองใคร ส่วนงานกระเบื้องที่นี่ไม่ได้ใช้สีสันสดใสเหมือนที่ชิราซ ทุกอย่างดูเป็นโครงสีธรรมชาติ

ส่วนชั้นอื่นๆ ตอนนี้อยู่ในช่วงการบูรณะ ครั้งนี้เราเลยไม่ได้ขึ้นไปชมโดยเฉพาะห้องดนตรีที่อยู่บนชั้น 6 เขาว่าตกแต่งอลังการทีเดียว เรียกว่าจัดเต็มทุกจุดเพื่ออวดแขกบ้านแขกเมืองได้อย่างภาคภูมิใจ

เรามองไปรอบๆ จัตุรัสที่กว้างใหญ่ ลานใหญ่ตรงกลางมีรถม้าบริการนำชม มีอาคารโอบล้อมทั้งสี่ทิศ แต่ละทิศมีสถาปัตยกรรมที่สำคัญให้เราค้นหาความหมายและความงามอีกในภาคบ่าย

ตอนนี้ขอพักกินอาหารกลางวันที่ร้านในจัตุรัสนี่แหละก่อนนะคะ

หลังอาหารกลางวัน นวลกับอาจารย์ต้นพาไปชมพรมสวยๆ ฟังเรื่องราวการทอพรมที่ร้าน Carpet Lover Club กัน พรมสวยมากจริงๆ ยิ่งทอจากเส้นไหมสีสันยิ่งเจิดจ้า เงางาม ให้สัมผัสที่นุ่มมาก และแน่นอน ราคาก็แพงจับใจมากเช่นกัน เลยได้แต่ชื่นชม

อย่างที่เคยบอกว่า หนึ่งในสิ่งสำคัญในการใช้ชีวิตของชาวเปอร์เซียก็คือพรม ที่เมื่อคราวที่ยังเร่ร่อนพรมเป็นเหมือนบ้านที่อบอุ่นให้ได้นอนหลับพักผ่อน พรมยิ่งเก่ายิ่งสวยและร่ำรวยเรื่องราว

ภาคบ่าย เรากลับเข้ามายังจัตุรัส Naqsh-e Jahan เพื่อเข้าชม 2 มัสยิดที่สวยที่สุดในอิหร่าน คือ  มัสยิดอิหม่าม (Masjed-e Imam) หรือมัสยิดหลวง (Masjed-e Shah) และมัสยิดชีคลอตฟุลเลาะห์ (Masjed-e Sheikh Lotfollah) ซึ่งอยู่ทางใต้ของจัตุรัส

เราเริ่มที่มัสยิดอิหม่าม ที่มีจุดเด่นคือโดมขนาดใหญ่ (เส้นผ่านศูนย์กลาง  21 เมตร ต้องสร้างโดมเป็นสองชั้นเพื่อช่วยรับน้ำหนัก)

พระเจ้าอับบาสมหาราช เริ่มสร้างมัสยิดแห่งนี้หลังจากทรงครองราชย์ได้ 24 ปี มอบหมายให้ อาลี อัคบาร์ อิสฟาฮานี เป็นสถาปนิกออกแบบ สร้างให้มัสยิดหลวงมีความหนักแน่น มั่นคง โดยใช้เสามินาเรตสูงกว่า 40 เมตรมาลดทอนความเทอะทะของอาคารลง

จุดดึงดูดสายตาและดึงทุกคนให้ก้าวเข้าไปหามัสยิดหลวงคือโถงประตูทางเข้า เพราะสถาปัตยกรรมแบบรวงผึ้งที่ประดับด้วยโมเสคสีฟ้าเทอร์ควอยซ์และน้ำเงินนั้นสวยติดตายิ่งกว่าสีใดๆ ในบริเวณนั้น แล้วตอนมองจากภายนอกเราจะไม่รู้เลยว่าข้างในใหญ่โตอลังการขนาดนั้น โดมด้านนอกสูง 52 เมตร ดูสูงชันคล้ายหัวหอม ส่วนโดมด้านในลดสัดส่วนลงมา สูงจากพื้น 38 เมตร

ด้วยเหตุที่มัสยิดแห่งนี้สร้างในช่วงหลังๆ และพระเจ้าอับบาสมหาราช ทรงต้อง การให้เป็นมัสยิดประจำรัชสมัย จึงเร่งการสร้างทำให้เกิดการคิดค้นเทคนิคการทำกระเบื้องให้ได้ทีละมากๆ เพราะมัวแต่มาเขียนลายมาติดทีละชิ้น ไม่มีวันเสร็จแน่ จึงเกิดกระเบื้อง 7 สี ที่เอาเข้าจริงคุณภาพก็สู้งานฝีมือแบบเดิมไม่ได้  แล้วก็ไม่สามารถช่วยให้งานเสร็จทันในรัชสมัยของพระองค์  แต่ต่อมาเทคนิคกระเบื้องนี้ถูกนำไปใช้ในการสร้างมัสยิดในเมืองอื่นๆ อีกหลายแห่ง

วันนี้มัสยิดอิหม่ามก็ยิ่งใหญ่ดังที่ผู้ให้สร้างตั้งใจ เราเข้าไปที่นี่แล้วรู้สึกเหลือตัวนิดเดียว

ส่วนมัสยิด Sheikh Lotfollah มีขนาดเล็กเพื่อให้สมดุลกับพระราชวังอะลีคาปูที่อยู่ตรงข้าม  และเป็นมัสยิดที่ใช้เฉพาะราชวงศ์จึงไม่ต้องมีขนาดใหญ่ แต่ยังแน่นด้วยรายละเอียดเหมือนมัสยิดหลวง โดยเฉพาะเรื่องการใช้แสงที่สวยและฉลาดมาก เช่น ใช้ที่ให้แสงลอดเข้ามาตามระเบียงเพียงรำไรๆ ก่อนจะนำไปพบแสงสว่างภายในมัสยิด

ส่วนการวางกรอบทางเข้าที่ให้มีขนาดลดหลั่นลงตามลำดับนั้น เป็นความตั้งใจของผู้ออกแบบที่ต้องการใช้การหักมุมทางเดินเพื่อปรับแกนอาคารให้เข้ากับทิศที่หันไปทางกรุงเมกกะฮ์ โถงด้านในทั้งกว้างและสูง สูงแบบต้องแหงนมองและหมุนตัวไปรอบๆ เพื่อชมความความงดงามของการประดับกระเบื้องกันคอเคล็ดเลย

ออกจากมัสยิดก็ได้เวลาช้อปปิ้ง บริหารเงินหลายสิบล้านเรียลที่เหลืออยู่

รอบจัตุรัสเป็นบาซาร์จะมีร้านอยู่ตลอด แต่ด้านตรงข้ามพระราชวังอะลีคาปู จะมีซุ้มประตูเคย์ซาริเยห์ (Qeysariyeh) หรือประตูพระเจ้าชาห์ ที่เป็นทางเข้าของแขกเมือง พระเจ้าอับบาสมหาราชต้องการให้ผู้ที่ผ่านซุ้มประตูเข้ามา ได้เห็นความกว้างใหญ่ของจตุรัสแห่งนี้เป็นอย่างแรก เพื่อสร้างความประทับใจ

สำหรับนักช้อป เมื่อผ่านซุ้มประตูนี้เข้าไป จะได้สนุกกับการซื้อสินค้า ตั้งแต่เครื่องเทศ เครื่องทองเหลือง ผ้า พรม เครื่องประดับ ผลไม้  ยิ่งเดินเข้าไปลึกยิ่งสนุกเพราะเป็นตลาดที่ชาวเมืองมาจับจ่ายซื้อของกันด้วย แต่ขอเตือนว่าต้องสังเกตทางเข้าออกดีๆ เพราะมีสิทธิ์หลงทิศผิดทางได้

ในตลาดนี้จะมีคอร์ตยาร์ดเล็กๆ หลายจุด มีร้านขายของเก่า คาเฟ่ และร้านอาหาร รายรอบอาคารสองชั้น ที่คืนนี้เราก็จะฝากท้องไว้กับร้านดังในจัตุรัสนี้

หลังอาหารมื้อค่ำ เราเดินตัดสนามตรงกลางจากฝั่งบาซาร์เพื่อไปยังทางออกด้านข้างพระราชวังอะลีคาปู ตอนเดินมาเกือบสุด ฉันเหลียวหลังกลับไปเห็นจันทร์เต็มดวงในวันออกพรรษาที่ลอยเด่นอยู่เหนือบาซาร์ เลยยกมือถือขึ้นเก็บภาพที่บอกตัวเองว่า

“สวยจัง”

ในอดีตที่นี่เป็นดั่งศูนย์กลางของการปกครอง ศาสนา และการค้า ที่พระเจ้าอับบาสมหาราชตั้งใจรวมหัวใจสำคัญไว้ด้วยกันบนพื้นที่สี่เหลี่ยมนี้  ปัจจุบันที่นี่ก็ยังเป็นหัวใจทางเศรษฐกิจของอิสฟาฮานอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง

วันต่อมาเราเก็บกระเป๋า โบกมือลาอิสฟาฮาน เดินทางขึ้นเหนือเพื่อไปขึ้นเครื่องบินที่เตหะราน แต่ระหว่างการเดินทางยังมีที่ให้เราได้แวะเที่ยวชมอีกหน่อย

เริ่มจากขึ้นเขาไปเที่ยวที่อะบียาเนห์ (Abyaneh) หมู่บ้านที่สร้างบ้านอยู่ตามไหล่เขาด้วยดินสีแดง ที่นี่มีผู้คนอาศัยอยู่ไม่มาก กลางวันที่ผู้ชายไปทำงาน ในหมู่บ้านจึงมีคนแก่และเด็กเสียเป็นส่วนใหญ่

หมู่บ้านนี้แม้จะเล็กแต่มีเสน่ห์ มีสีสัน มีของให้ช้อปปิ้งกัน คือผ้าคลุมลายดอกไม้ สีสันจัดจ้าน ผลไม้แห้งที่ชาวบ้านทำเอง พวกเราเลยได้ชม ชิมและช้อปจบในที่เดียว

จุดแวะพักอีกที่คือเมืองคาซาน (Casan) เพื่อรับประทานอาหารกลางวัน ที่ Manouchehri  บูติกโฮเต็ลระดับ 5 ดาว ที่นำบ้านเก่าของคหบดีมาเปิดเป็นโรงแรม มีร้านอาหาร มี tea room ใต้อาคาร ที่หันออกไปหาสวนเปอร์เซีย เราจึงได้ชมบ้านที่แม้จะแปลงเป็นที่พักแล้วก็ยังสวยงาม  เป็นของหวานหลังอาหาร

กองคาราวานชาวไทยที่ร่วมเดินทางด้วยกัน ไม่มีใครที่ไม่ประทับใจกับการเดินทางครั้งนี้เลย แม้ความสนใจจะต่างกัน แต่ดูเหมือนทุกคนได้เติมเต็มความสุขในแบบของตนเองกันถ้วนหน้า และกลับถึงบ้านกันอย่างปลอดภัย

Don`t copy text!