เปอร์เซียเงาสะท้อนของอิหร่าน : พลาดบางสิ่งก็ทำให้ไปเจอกับบางอย่าง
โดย : สองตา
อ่านสองตา คอลัมน์ที่ ‘สองตา’ เจ้าของเพจ “บันทึกของสองตา” จะพาคุณผู้อ่านเดินทางสู่โลกกว้างด้วยงบประมาณอันน้อยนิด เพราะเพียงแค่คลิกเดียวคุณก็จะได้ขึ้นเครื่องออนทัวร์อย่างเพลิดเพลินไปกับเรื่องราวต่างแดนที่เธอคนนี้ได้นำมาแบ่งปันให้ชาวอ่านเอาได้อ่านออนไลน์
คณะได้ข้อมูลเรื่องเปลี่ยนโปรแกรมเที่ยวของวันที่ 2 ในเมืองหลวงตั้งแต่อยู่บนรถก่อนเข้าที่พักในเตหะราน และคอนเฟิร์มในตอนเช้าว่า เปลี่ยนแน่นอน
โปรแกรมที่ต้องพับไปคือ การไปชม ‘พระราชวังสวนกุหลาบ’ (Golestan Palace) ประตูบานแรกที่นำฉันย้อนกลับไปสู่อดีตของอิหร่าน ภาพจำของคนที่เคยมาและเคยเห็นภาพคือ วังที่ตกแต่งด้วยกระจกและเซรามิกหลากสีสัน ปัจจุบันเป็นอนุสรณ์แห่งความศิวิไลซ์ของราชวงศ์กาจา (Qajar) และปาห์เลวี (Pahlavi)
เขาว่า… ที่นี่สวย สมบูรณ์แบบ จนได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกจากยูเนสโก
เมื่อพลาดวังนี้ก็ต้องพลาดสถานที่อีกแห่งที่อยู่ใกล้กันในย่านเมืองเก่าด้วย นั่นคือ ‘พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ’ ที่อาจารย์ต้นบอกว่า จะพาเรามาทำความรู้จักกับภูมิศาสตร์ของประเทศนี้ต่อจากของจริงที่เห็นเมื่อวาน และชมศิลปวัตถุชิ้นสำคัญๆ อันแสดงถึงพัฒนาการของอารยธรรมเปอร์เซียตั้งแต่ 7,000 ปีที่แล้ว
พอรู้ว่าหมดหวังว่าจะได้ไปจริงๆ ฉันก็อดหน้าจ๋อย แอบพูดเสียดายเบาๆ ไม่ได้ แต่ผู้จัดการที่ดีต้องมีแผนสองเสมอ รถของเราจึงเบนเข็มทิศออกจากย่านเมืองเก่ากลางเมือง ขึ้นไปทางเหนือสู่ย่านเมืองใหม่ ที่แค่เข้าเขตและมองผ่านหน้าต่างรถออกไป ภาพเมืองที่เห็นก็ต่างจากเมื่อวานไปเลย อาคารต่างๆ ดูทันสมัยเข้ากับต้นไม้ใหญ่ข้างทาง ให้ความรู้สึกเหมือนถนนหลายสายในกรุงปารีส
สรุปคือ เรากำลังจะไปชมพระราชวังซาดาอาบัด (Sa’Adabad Museum Complex) พระราชวังที่เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้เข้าชม หลังการปฏิวัติใน ค.ศ. 1979 จัดเป็นหนึ่งในวังที่สวยที่สุดในอิหร่าน ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้นยอดเขาดาร์บันด์ ครอบคลุมเนื้อที่ 650 ไร่ มีตำหนักที่ประทับและอาคารอื่นๆ กระจายอยู่ในบริเวณถึง 18 หลัง แต่ละหลังเป็นที่จัดแสดงเรื่องราวต่างๆ ถ้ามีเวลาเดินเที่ยวชมหรือนั่งรถแวะเวียนไปจนครบก็ได้ ต้นไม้ใหญ่ในพระราชวังนั้นสวยมาก เข้ามาแล้วร่มรื่นเหมาะแก่การพักผ่อน เดินๆ อยู่นึกว่ามาเที่ยวในอุทยานสักแห่ง
ไกด์บอกว่าอาคารที่พลาดไม่ได้ ต้องเข้าชมมี 2 หลังคือ White Palace และ Green Palace โดยเริ่มกันที่พระราชวังสีเขียวที่อยู่ลึกเข้าไปก่อน เมื่อทางขึ้นเป็นเนิน เราจึงออมแรงด้วยการนั่งรถขึ้นไปแล้วค่อยเดินลงมา
ชื่อพระราชวังตั้งตามสีของหินอ่อนลวดลายสีเขียวที่ใช้ก่อสร้างอาคาร เคยเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ในฤดูร้อนของพระเจ้าเรซาชาห์ (Reza Shah) หรือชาห์ผู้พ่อ แห่งราชวงศ์ปาห์เลวี ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของอิหร่านและมีกษัตริย์เพียง 2 พระองค์
ถ้าพูดถึงฮวงจุ้ยของพระราชวังสีเขียวต้องบอกว่าตั้งอยู่ในจุดที่ดี คือ หลังเป็นภูเขา ด้านหน้าพระตำหนักมีบ่อน้ำเสริมกัน ดูภายนอกสวยงามแบบเรียบโก้ แต่เมื่อก้าวสู่ส่วนโถงเล็กๆ หน้าบันไดทางขึ้นตรงกลางแล้วก้าวขึ้นไปก็ต้องตะลึงกับความวาววับของกระจกตัดเป็นรูปทรงเรขาคณิต ที่ประดับตกแต่งทั้งห้อง (ย้ำว่าทั้งห้อง หมายรวมถึงผนังและเพดานด้วย) สร้างขึ้นตามแบบสถาปัตยกรรมอิหร่าน คือ มีโดม หรือเพดานโค้ง
ห้องนี้จึงชื่ออะไรไม่ได้แล้ว นอกจาก Mirror Hall เป็นห้องสำหรับงานพิธีการ รับแขกอย่างเป็นทางการของพระเจ้าเรซาชาห์ ทั้งห้องปูพรมผืนเดียว ขนาด 71 ตารางเมตรเต็มพื้นที่ เป็นพรมลวดลายดอกไม้ที่สั่งทอพิเศษ เมื่อใช้รับแขกในห้องจึงมีแต่ชุดเก้าอี้ โซฟา จากฝรั่งเศส และรูปปั้นสัมฤทธิ์ของพระเจ้าเรซาชาห์ ส่วนแชนเดอเลียร์ช่อนี้เพิ่งเปลี่ยนในปี 1971 ความน้อยขององค์ประกอบอื่นๆ ยิ่งส่งให้กระจกแต่ละชิ้นได้อวดความงามของตัวเอง เป็นความฉลาดของคนออกแบบและความเก่งของช่างฝีมือ
เมื่อก่อนประตูห้องนี้คงปิด แขกที่มาเข้าเฝ้า ต้องไปรอในห้อง Waiting Room ด้านขวามือก่อน เป็นห้องสีขาว ประดับงานกระจกน้อยๆ พองาม (เพื่อให้ไปตื่นตาในห้องกระจกจริง) และแต่งด้วยปูนปั้นวิจิตร ลวดลายเพดานทั้ง 2 อย่างได้แรงบันดาลใจจากพรมเปอร์เซียนทอมือที่ปูในห้อง เฟอร์นิเจอร์ แชนเดอเลียร์ สไตล์ยุโรป
ห้องข้างๆ ขนาดไม่ใหญ่ เป็นห้องทรงงานและพักผ่อนพระอิริยาบถส่วนพระองค์ การตกแต่งต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกันกับห้องรอเข้าเฝ้า เพิ่มเติมคือมีพรมผืนงามแขวนบนผนัง 2 ข้างหลังโต๊ะทรงงาน มีตู้จัดแสดงของใช้ส่วนพระองค์ตั้งข้างกำแพง
จากห้องส่วนพระองค์ มีประตูเข้าสู่ห้องกระจก ซึ่งพอเป็นพิพิธภัณฑ์แล้วประตูห้องด้านหน้าจะเปิดไว้ให้เราตะลึง อยากพุ่งเข้าไปตั้งแต่แรกเห็น ถ้าไม่ติดกระจกกั้นที่ตั้งจากพื้นขึ้นมา โดยไม่บดบังการมองเห็นเหมือนกับทุกห้อง
ประตูอีกด้านของห้องเชื่อมไปยังห้องบรรทม มีห้องสรงอยู่ด้านประตูห้องตรงข้ามห้องรอเฝ้า การตกแต่งฝั่งนี้สานต่องานกระจกมาแบบเต็มๆ ส่วนชั้นใต้ดินเป็นห้องเสวย เรียกว่าพระตำหนักไม่ได้ใหญ่โตมโหฬาร เป็นเหมือนบ้านและที่ทำงานที่อบอุ่นของคนคนหนึ่ง
ลงจากพระตำหนัก เราเดินชมภายนอก อ้อมมาด้านหลังที่เห็นภูเขาและเมืองที่อยู่ด้านล่าง มีต้นสนใหญ่และกุหลาบนานาพันธุ์ ซึ่งจากนี้ไปที่ไหนเราจะเห็นต้นกุหลาบแห่งเปอร์เซียอยู่เรื่อยๆ รวมถึงสินค้าที่ทำจากดอกกุหลาบด้วย
อากาศเดือนตุลาคมเย็นสบาย ฉันเดินช้าๆ ชมสองข้างทางลงมาจนถึงพระราชวังสีขาว ที่อยู่บริเวณด้านหน้า ตัวอาคารตั้งอยู่บนฐานสูง ดูเหมือนที่ทำการอะไรสักอย่าง แต่จริงๆ เป็นที่ประทับและรับแขกอย่างไม่เป็นทางการ
ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ นอกจากห้องต่างๆ ที่เปิดให้ชมจากภายนอกพร้อมเฟอร์นิเจอร์ และการตกแต่งในแบบเดิมทั้ง 2 ชั้นแล้ว ยังจัดแสดงงานศิลปะ วัตถุ ของที่ระลึกที่ราชวงศ์ปาห์เลวีได้รับการถวายจากประเทศต่างๆ ให้ชมด้วย
ฉันเห็นงาช้างคู่หนึ่งในห้องอาหารทางขวามือ รู้ว่าเป็นของจากประเทศไทย พออ่านข้อมูลก็ใช่จริงๆ รัฐบาลไทยสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นผู้ถวาย
เดินออกจากอาคาร ลงบันไดมานั่งที่ม้านั่งใต้ต้นไม้ มองกลับไปที่พระราชวังสีขาวที่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้าแล้วรู้สึกว่า คงเป็นโชคที่ที่นี่ไม่ถูกทำลายระหว่างการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ร่องรอยการล้มล้างที่ทิ้งไว้เป็นหลักฐานมีเพียงรูปปั้นสัมฤทธิ์ของพระเจ้าชาห์ ปาห์เลวี ที่น่าจะเคยตั้งอยู่ด้านหน้าพระตำหนักแบบเต็มองค์ แต่วันนี้ส่วนบนของรูปปั้นถูกตัด ทำลาย หายไปแล้ว เหลือเพียงขาสองข้างตั้งแต่เหนือเข่าลงมาถึงรองเท้าบู๊ตตั้งไว้ด้านข้างบันไดทางขึ้นเป็นเครื่องเตือนใจ ว่า
….ณ พระราชวังอันสวยงามนี้เคยมีใครอยู่มาก่อน
- READ เปอร์เซียเงาสะท้อนของอิหร่าน : ยินดีที่ได้รู้จักอิหร่าน
- READ เปอร์เซียเงาสะท้อนของอิหร่าน : อิสฟาฮาน (Esfahan) จุดครึ่งหนึ่งของโลก
- READ เปอร์เซียเงาสะท้อนของอิหร่าน : เยือนเปอร์เซโพลิส (Persepolis) นครที่ร่ำรวยที่สุดใต้ดวงตะวัน
- READ เปอร์เซียเงาสะท้อนของอิหร่าน : ชิราซยังมีสวน-ป้อม-ตลาด-สุสาน
- READ เปอร์เซียเงาสะท้อนของอิหร่าน : ชิราซ (Shiraz) ไม่ได้มีแต่องุ่น
- READ เปอร์เซียเงาสะท้อนของอิหร่าน : พลาดบางสิ่งก็ทำให้ไปเจอกับบางอย่าง
- READ เปอร์เซียเงาสะท้อนของอิหร่าน : สวัสดีอิหร่าน
- READ บันทึกญี่ปุ่นของสองตา : นั่งรถไฟไป Chihiro Art Museum Tokyo
- READ บันทึกญี่ปุ่นของสองตา : ไปเดินเที่ยวนิงเงียวโจ
- READ บันทึกญี่ปุ่นของสองตา : ท่องถนนหนังสือ
- READ เปอร์เซียเงาสะท้อนของอิหร่าน : ชมอีกวังก่อนบอกลาเตหะราน